การอุทธรณ์คดีอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 193 ทวิ

มาตรา 193  คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ

มาตรา 193 ทวิ  ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
(1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
(2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ
(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 193 ทวิ คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงคือคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ปัญหามีว่า ในคดีอาญาอย่างไรเรียกปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 12795/2558 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริง การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากันเป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้ความจากการนำสืบจากทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ
ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่า เหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบเป็นดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมยกเอาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงแล้วนำเอาหลักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องมาปรับเพื่อให้เป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6755/2553
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 218 การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายทั้งสิบสองรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อไร และร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 15, 193 ทวิป.วิ.พ. มาตรา 249 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไถดินบนทางพิพาทอันเป็นทางสาธารณะ โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยไถคันดินและโค่นต้นไม้ในที่ดินของโจทก์ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไถทางและต้นไม้เข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า