ขับไล่

คดี ฟ้องขับไล่

สิทธิของผู้เป็นเจ้าของตามกฎหมาย ดังนี้

1 สิทธิอาศัย หากเจ้าของไม่ประสงค์ให้ผู้อาศัยอยู่เมื่อใด ก็มีสิทธิจะขับไล่ออกไปได้ทันที

2 ละเมิด เช่น บุกรุก เป็นต้น

3 สิทธิเหนือพื้นดิน คือ เจ้าของที่ดินยินยอมให้บุคคลอื่นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูกบนดินใต้ดิน แต่ไม่มีสิทธิในที่ดิน โดยโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูกนั้นไม่ตกเป็นส่วนควบกับที่ดิน

4 สิทธิเก็บกิน เป็นสิทธิเฉพาะตัว ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย สิทธินั้นย่อมสิ้นไป ตามป.พ.พ. มาตรา 1418

5 เช่า หากหมดสัญญาเช่าแล้ว สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ผู้เช่าตายสัญญาเช่าก็ระงับ

6 เช่าช่วง โดยชอบนั้น ผู้ให้เช่าเดิมต้องยินยอม หรือสัญญาเช่าเดิมยอมให้ทำได้ ผลคือ จะทำให้ผู้เช่าช่วงไม่มีฐานะเป็นบริวารของผู้เช่าเดิม แต่ในกรณีเช่าช่วงโดยมิชอบ ผู้เช่าช่วงมีฐานะเป็นเพียงบริวารของผู้เช่าเดิม เมื่อฟ้องขับไล่ผู้เช่าก็ขับไล่ผู้เช่าช่วงในฐานะบริวารได้ด้วย

7 ขายฝาก ในกรณีล่วงเลยกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน กรรมสิทธิ์เป็นของผู้รับขายฝากโดยสมบูรณ์

8 กรณีอื่นๆ เช่น กรณีการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของรวม ตามป.พ.พ. มาตรา 1360

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด สำนักงานบังคับคดี คู่สมรสจะร้องขอกันส่วนเพื่ออ้างในการอยู่อาศัยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8239/2551

    โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล เพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2554

    กรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ตามป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นขั้นตอนการบังคับคดีภายหลังจากโจทก์ฝ่ายชนะคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยฝ่ายแพ้คดีภายในระยะเวลา 10 ปี ตามป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้วจึงมิใช่กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาและมิใช่การใช้สิทธิของโจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีที่ให้นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 271 มาบังคับได้

ประเด็น การเช่า บอกเลิกสัญญาแล้ว สามารถฟ้องขับไล่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1709/2516

    มูลนิธิโจทก์ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากผู้ให้เช่าเดิม ย่อมรับมาทั้งสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการเช่า เมื่อมูลนิธิโจทก์บอกเลิกการเช่าแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้ จำเลยจะโต้เถียงสิทธิของมูลนิธิโจทก์ว่าเป็นเรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์ของมูลนิธิหาได้ไม่

    การที่ประธานกรรมการมูลนิธิโจทก์ลงนามในหนังสือบอกกล่าวเลิกการเช่าเพียงผู้เดียว โดยไม่มีกรรมการอื่นอีก 2 คนลงนามด้วย ให้ครบถ้วนถูกต้องนั้น แม้จะถือไม่ได้ว่าทำในฐานะผู้แทนมูลนิธิโจทก์ แต่ก็เห็นได้ว่าทำในฐานะตัวแทนของมูลนิธิโจทก์ ทั้งมูลนิธิโจทก์ก็ได้รับเอาผลแห่งนิติกรรมนั้น และฟ้องขับไล่จำเลยแล้ว จำเลยจะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ได้

    จำเลยมิได้ยกข้อที่ว่า การบอกกล่าวเลิกการเช่าของทนายโจทก์มิได้มีการมอบอำนาจโดยชอบ เพราะไม่มีกรรมการอื่นอีก 2 คนร่วมมอบอำนาจกับประธานกรรมการมูลนิธิโจทก์ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ประเด็น ขายฝาก จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ ศาลมีอำนาจงดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2521

   โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านที่จำเลยขายฝากแก่โจทก์ และสัญญาขายฝากพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยได้ใช้สิทธิขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์บ่ายเบี่ยงจนเลยกำหนดเวลาตามสัญญา โดยจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งขอให้สิทธิไถ่คืน ศาลย่อมมีอำนาจสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยได้ เพราะแม้จะพิจารณาได้ความตามคำให้การจำเลย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินก็ยังเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

ประเด็น ขายฝาก ไม่ได้ระบุบ้านไว้ในสัญญา ถือว่าขายฝากเฉพาะที่ดิน แต่มีอำนาจฟ้องขอให้รื้อถอนออกไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2559

   ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จำเลยขายฝากเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 252 ด้วย ซึ่งต้องแปลความว่าไม่รวมบ้านไม่มีเลขที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นการขายฝากสมบูรณ์เฉพาะที่ดินเท่านั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง คือ บ้านเลขที่ 252 กับบ้านที่ไม่มีเลขที่บ้านอีก 1 หลัง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจดทะเบียนขายฝากบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวด้วยไม่ได้ เพราะต้องประเมินราคาจึงจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดิน โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายบ้าน 2 หลัง เพิ่มเติมตามที่ตกลงกันตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับด้วย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อการขายฝากบ้านทั้งสองหลังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้สัญญาขายฝากที่ดิน และสัญญาซื้อขาย ยังทำวันเดียวกันแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกด้วย ดังนั้นโจทก์ไม่อาจอ้างว่าบ้านทั้งสองหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยหลักส่วนควบได้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านทั้งสองหลัง

   คู่สัญญาไม่ได้ตกลงขายฝากบ้านเลขที่ 252 ด้วย บ้านหลังดังกล่าวยังเป็นของจำเลยโดยไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1310 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 252 ในที่ดินของโจทก์ แม้ภายหลังขายฝากจำเลยจะได้ต่อเติมบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยต้องรื้อบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์

   ส่วนบ้านไม่มีเลขที่ ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินบ้านหลังไม่มีเลขที่บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวในที่ดินที่ขายฝากต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้ห้ามปราม จำเลยซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างย่อมเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จ เพราะเชื่อตามสัญญาขายฝากว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนได้ภายในกำหนดในสัญญา การปลูกสร้างบ้านไม่มีเลขที่บ้านของจำเลยจึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยเด็ดขาด กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะใช้ปรับได้โดยตรง จึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง อันได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยผู้สร้าง และการที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างบ้านต่อไปในที่ดินของโจทก์ โดยมิได้ห้ามปรามถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มให้แก่จำเลย

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า