เหตุเพิกถอนผู้จัดการมรดก

การถอนผู้จัดการมรดก

เมื่อผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควร ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดย่อมจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ โดยจะต้องร้องขอต่อศาลเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้นลง ทั้งนี้ ตามมาตรา 1727

มาตรา 1727  “ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
          แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล”

1. ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า “ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป” ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6628/2550  การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ตายเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เลิกร้างกับผู้ตายแล้วได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดโดยผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินในส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองนี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จะมาร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากผู้คัดค้านที่ 1 มีข้อโต้แย้งอย่างใดหรือผู้ร้องได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ดังกล่าวอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องขอ ก็ชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2548  การที่โจทก์อ้างว่าเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ส. เจ้ามรดกและมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกเพราะทำมาหาได้ร่วมกัน ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้

2. ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2559  ผู้ตายเป็นผู้จัดการปกครองดูแลศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วจะต้องมีคุณสมบัติตามกฎเสนาบดีฯ ข้างต้น ซึ่งเป็นการประกอบกิจการอาชีพอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่เป็นมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 อันจะตกแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง
          ตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำเมื่อไม่มีทรัพย์สินที่ตามพินัยกรรมที่จะปันแก่ทายาท และทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายก็ไม่มีแล้วการจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13399/2556การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า