คดีกู้ยืมเงิน

การยืม เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคู่กรณีเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ยืม”

สัญญายืมนั้น เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมเพื่อใช้สอยทรัพย์สินนั้นและผู้ยืมก็ตกลงว่าจะส่งคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

ประเภทของสัญญายืม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.สัญญายืมใช้คงรูป และ 2.สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งการกู้ยืมเงินนั้นจัดอยู่ในประเภทของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาที่ผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญายืมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

ดังนั้น การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมสัญญาหรือตกลงว่าจะใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินนี้จะมีการกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว

> 2.หลักฐานการกู้ยืมเงิน <

แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1.กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้น แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย

2.กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใดและตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญคือต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วย

ดังนั้น เนื้อความในเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

1. วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน

2. ชื่อ ผู้ขอกู้เงินและผู้ให้กู้เงิน

3. จำนวนเงินที่กู้

4. กำหนดชำระ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)

5. ดอกเบี้ย (ไม่เกิน 15% ต่อปี) เเต่ถ้าไม่ได้กำหนดเอาไว้กฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 7 ได้ใช้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

6.ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ 2 คน)

> 3. ดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน <

ในการกู้ยืมเงินกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้คือ ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี (คืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ(พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)

กรณีกำหนดดอกเบี้ยไว้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีผลคือ

1.เป็นความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475

2.ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด ฟ้องบังคับไม่ได้เลย (แต่เงินต้นยังคงสมบูรณ์)

3.ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมชำระไปแล้ว เรียกคืนไม่ได้ (ถือว่าชำระหนี้ตามอำเภอใจ)

แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะตกเป็นโมฆะ แต่สำหรับดอกเบี้ยผิดนัด ผู้ให้กู้ยืมก็ยังคงบังคับได้

> 4.อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน <

การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน มีอายุความ 10 ปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน แต่หากสัญญากู้ยืมตกลงกันกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ เช่น รวมทั้งหมด 5 งวด จะเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ซึ่งจะมีอายุความเพียง 5 ปี

> 5.ข้อแนะนำและข้อควรระวังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน <

1.ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเด็ดขาด

2.ก่อนลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ต้องตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วนตามจำนวนเงินที่ได้รับไป และในสัญญาต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยเสมอ เช่น กู้ยืมเงินไปจำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

3.อย่านำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับการทำประโยชน์ในที่ดิน(น.ส.3)ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน

4.สัญญาต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยให้ผู้กู้ยืมถือไว้ด้วย 1 ฉบับ

5.ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วยอย่างน้อย 1 คน

6.การชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอรับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงินซึ่งมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมลงกำกับด้วยทุกครั้ง (เพื่อไว้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ชำระหนี้แล้ว)

7.เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดต้องขอสัญญากู้คืนจากผู้ให้กู้ยืมด้วย

วิธีทำสัญญากู้เงิน

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสียงของการไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้ควรหาหลักประกันดังนี้ (อันนี้สำคัญมากนะครับ)

– ประกันด้วยตัวบุคคล คือ มีผู้ค้ำประกัน การค้ำประกันคือการที่คนอื่นที่ไม่ใช่ผู้กู้ยอมเอาตนเข้าประกันหนี้เงินกู้ หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะยอมชำระหนี้แทน ผู้ให้กู้ก็สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ การทำสัญญาค้ำประกันนั้นก็ง่ายๆ แค่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ก็เพียงพอ

– ประกันด้วยทรัพย์ คือ จำนอง คือการประกันด้วยทรัพย์สินไม่ว่าทรัพย์สินของผู้จำนองหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ก็สามารถนำทรัพย์จำนองนั้นไปขายทอดตลาดเพื่อบังคับจำนองเอาเงินมาชำระหนี้กู้ยืมเงินได้ สำหรับสัญญาจำนองนั้นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

– เมื่อครบกำหนดคืนเงินแล้วผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินจะทำอย่างไร

เมื่อผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินตามที่กำหนดไว้ผู้ให้กู้สามารถทวงถามได้โดยการบอกกล่าวทวงถาม (โดยทำเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถาม หรือตามภาษาที่ทนายเรียกกันติดปากว่า โนติส (Notice)) ให้ผู้กู้คืนเงินโดยการทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ผู้กู้คืนเงิน เช่น ระยะเวลา 15วัน , 30 วัน หรือ 1 เดือน หากผู้กู้ไม่ยอมคืนย่อมถือว่าผิดนัดสามารถฟ้องคดีต่อเพื่อให้ศาลบังคับตามสัญญาต่อไป

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า