ครอบครองปรปักษ์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
าตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

องค์ประกอบการครอบครองปรปักษ์ที่ดิน

  1. ต้องครอบครองโดยความสงบ
  2.   ต้องครองครองโดยเปิดเผย
  3. ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556   การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป

จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ หาใช่การครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ ครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2556  
ขณะจำเลยทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ บิดาโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการขอรับโอนมรดกดินพิพาทได้เอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคคลที่ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ซึ่งไม่มีมูลความจริง และขัดต่อเหตุผลดังที่ระบุในสัญญาดังกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หากโจทก์สามารถดำเนินการจนทำให้จำเลยสามารถได้กรรมสิทธิ์ จำเลยจะแบ่งให้โจทก์ 6 ส่วน โดยจำเลยได้ 1 ส่วน ซึ่งผิดวิสัยของผู้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดเจนว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ป. โดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. แสดงว่าการที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ หาใช่การครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ การทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีใจความเช่นนี้จึงมีสาระสำคัญอันเป็นความเท็จ ซึ่งหลังจากทำสัญญาดังกล่าวมีการไปยื่นคำร้องขออันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อจนมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ย่อมต้องคำนึงถึงการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมตามความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับข่มขู่ หลอกลวง หรือกลฉ้อฉล สัญญาดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

การครอบครองโดยอาศัยสิทธิของผู้อื่นยังไม่ถือว่าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ดังนั้น แม้ครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ จนกว่าจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป จึงจะเริ่มนับระยะเวลาการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555  
จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9788/2553
การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3343/2553  
สภาพบ้านของผู้ร้องเป็นบ้านชั้นเดียวหลังคามุงด้วยสังกะสี ผนังบ้านกั้นด้วยกระเบื้องแผ่นเรียบ พื้นบ้านมีการยกพื้น โดยเป็นการปลูกสร้างอย่างง่ายๆ ใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ยากต่อการรื้อถอน ทางด้านขวาของบ้านผู้ร้องติดกับผนังของบ้านข้างเคียง ส่วนทางด้านซ้ายอยู่ห่างจากผนังบ้านข้างเคียงประมาณ 1 เมตร บริเวณด้านข้างและด้านหลังมีน้ำท่วมขังไม่สามารถใช้เป็นทางเดินได้ ลักษณะการปลูกสร้างบ้านและสภาพสิ่งแวดล้อมของบ้านผู้ร้องจึงมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการปลูกสร้างไม่แน่นหนาและถาวรเพื่อเป็นที่อาศัยพักพิงชั่วคราวดังเช่นบ้านในชุมชนแออัดทั่วไปซึ่งมักจะอาศัยโอกาสปลูกสร้างบ้านชั่วคราวในลักษณะเช่นนี้ในที่ดินว่างเปล่าของผู้อื่น โดยการปลูกสร้างหรือต่อเติมรวมทั้งการรื้อถอนโยกย้ายสามารถกระทำได้ง่ายตลอดเวลา นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้ร้องไม่เคยขอเลขที่บ้านหรือหลักฐานทะเบียนบ้านจากทางราชการ ทั้งได้ความว่าบุตรของผู้ร้องไปขอใช้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาให้ผู้ร้องโดยใช้บ้านเลขที่ของน้องต่างมารดาของผู้ร้อง และติดตั้งมาตรวัดน้ำและมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านดังกล่าวด้วย ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องยอมรับว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกสร้างชั่วคราวในที่ดินของผู้อื่น พฤติกรรมการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องเช่นนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7490/2541 
 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และ ม. ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยในสัญญาซื้อขายระบุว่าได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่ยังไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากโจทก์ที่ 2 และที่ 5 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วจะโอนทันที แสดงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้นเพราะยังมีข้อตกลงจะไปโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันตามข้อตกลงในสัญญากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงอยู่แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ถึงจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองแทนโจทก์ทั้งห้า จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ยันกับโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขับไล่โจทก์ทั้งห้าออกจากที่ดินพิพาท

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า