พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534

พระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และประกาศอื่นในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“การเล่นแชร์” หมายความว่า การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย

“นิติบุคคล” หมายความรวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนด้วย

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕  ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์

มาตรา ๖  ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(๒) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(๓) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(๔) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย

มาตรา ๗  บทบัญญัติในมาตรา ๖ ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์

มาตรา ๘  ห้ามมิให้นิติบุคคลสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์

มาตรา ๙  ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์

มาตรา ๑๐  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันและรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำที่รัฐมนตรีประกาศอยู่แล้วในวันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๑  ในกรณีที่มีกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๔ กำหนดให้การรวมทุนในลักษณะอื่นเป็นการเล่นแชร์ตามพระราชบัญญัตินี้ และการเล่นแชร์ดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ผู้ที่เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์นั้นอยู่แล้วในวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ อาจดำเนินกิจการดังกล่าวเฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จ แต่ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ

ในกรณีที่ผู้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล และประสงค์จะดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไป ให้ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการการเล่นแชร์ตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ

นิติบุคคลใดมีวัตถุประสงค์เป็นนายวงแชร์หรือเป็นผู้จัดให้มีการรวมทุนในลักษณะอื่นซึ่งมีกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นการเล่นแชร์ตามพระราชบัญญัตินี้อยู่แล้วในวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่นิติบุคคลนั้นจะเป็นนิติบุคคลที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามวรรคหนึ่ง ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นอย่างช้าต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ

ในกรณีที่นิติบุคคลใดละเลยไม่ดำเนินการตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นมีอำนาจขีดวัตถุประสงค์ดังกล่าวออกจากทะเบียนได้ แต่การใช้อำนาจของนายทะเบียนไม่เป็นเหตุให้นิติบุคคลดังกล่าวพ้นความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๒  ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในสถานที่ใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบได้

(๒) ยึดหรืออายัดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี

(๓) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ส่งบัญชีเอกสารหลักฐานหรือสิ่งอื่นใดที่จำเป็นมาประกอบการพิจารณาได้  ทั้งนี้ โดยให้เวลาบุคคลนั้นตามสมควร

มาตรา ๑๓  ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๑๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๕  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๑๖  นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์

มาตรา ๑๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๘  นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา ๑๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

มาตรา ๒๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๒๑  นิติบุคคลใดไม่ยื่นรายงานตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง หรือยื่นรายงานอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา ๒๒  นิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา ๒๓  ผู้ใดขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๔  ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๒๖  ในกรณีที่นิติบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๘ กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารงานของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นด้วย

มาตรา ๒๗  นิติบุคคลซึ่งเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อาจดำเนินกิจการดังกล่าวเฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จ แต่ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่ผู้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคลและประสงค์จะดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไป ให้ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการการเล่นแชร์ตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

นิติบุคคลใดมีวัตถุประสงค์เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่นิติบุคคลนั้นจะเป็นนิติบุคคลที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามวรรคหนึ่ง ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น อย่างช้าต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่นิติบุคคลใดละเลยไม่ดำเนินการตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้นมีอำนาจขีดวัตถุประสงค์ดังกล่าวออกจากทะเบียนได้ แต่การใช้อำนาจของนายทะเบียนไม่เป็นเหตุให้นิติบุคคลดังกล่าวพ้นความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

นิติบุคคลใดไม่ยื่นรายงานตามวรรคสอง หรือยื่นรายงานอันเป็นเท็จ หรือไม่ปฏิบัติตามวรรคสาม ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๒ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๒๘  บทบัญญัติในมาตรา ๘ ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่นิติบุคคลได้กระทำไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๒๙  ให้ผู้ซึ่งใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่เป็นผู้ที่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามมาตรา ๒๗

มาตรา ๓๐  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศ  ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์  ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า