เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ในกรณีที่เจ้าพนักงานปลอมเอกสารให้พิจารณาตามมาตรา 161 มาตรา 161 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษ….”ข้อสังเกต จะเป็นความผิดตามมาตรา 161 ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ
1. ต้องเป็นเจ้าพนักงาน
2. ต้องมีหน้าที่ หากขาดข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นก็จะไม่มีความผิดตามมาตรา 161

คำพิพากษาฎีกาที่ 35/2521
ตำรวจได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เสมียนเปรียบเทียบ และได้ทำงานในหน้าที่นั้น แม้ไม่ได้เซ็นทราบคำสั่งถือว่าได้ทราบการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่แล้วการแก้หรือลงจำนวนเงินในสำเนาใบเสร็จให้น้อยลงกว่าต้นฉบับ แล้วส่งเงินต่ำกว่าจำนวนที่ได้รับจริง เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกตาม มาตรา 147 ฐานปลอมเอกสารในหน้าที่ของตนตาม มาตรา 161, 266(1) ต่างกระทงแต่ละรายที่ได้กระทำ ไม่ใช่ มาตรา 162 ซึ่งเป็นการทำเอกสารเท็จ การกระทำก่อนใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้ลงโทษตามกระทงที่หนักที่กระทำหลังจากนั้นต้องลงโทษทุกกรรมในกระทงความผิด ตามมาตรา 161,266 ลงโทษตาม มาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนัก

คำพิพากษาฎีกาที่ 3680/2531
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 161, 352 คำสั่งของบุคคลซึ่งมิได้เป็นผู้บังคับบัญชาที่ได้มอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติ เป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจกระทำการตามคำสั่งนั้น การที่จำเลยรับเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลของเทศบาลซึ่งมิใช่หน้าที่ของจำเลยแล้วเบียดบังไว้จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 และ 161 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แม้ต่อมาจำเลยจะได้นำเงินจำนวนที่ยักยอกไปดังกล่าวมาชดใช้คืนแก่เทศบาลก็ตาม ก็เป็นเพียงการกระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าเทศบาลซึ่งเป็นผู้เสียหายตกลงให้ระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญากับจำเลยเช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่า เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

คำพิพากษาฎีกาที่ 2245/2515
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 264 จำเลยที่ 4 เป็นนายทะเบียนตำบล มีหน้าที่ออกมรณบัตรในกรณีที่มีผู้ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 4 ได้ออกมรณบัตรให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความแสดงว่า นาย ท.ราษฎรในตำบลนั้น ได้ถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงนาย ท. ยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้เอกสารที่จำเลยที่ 4 ออกนั้น ได้ออกให้ตามหน้าที่ที่เป็นนายทะเบียน จึงเป็นเอกสารอันแท้จริงของจำเลยที่ 4 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริง ก็ไม่ทำให้เอกสารนั้นกลายเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 4 จึงยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า