มาตรา 172 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท”
มาตรา 174 “ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๒ หรือมาตรา ๑๗๓ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180 คำ
พิพากษาศาลฎีกาที่ 9637/2557
ความผิดตามมาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจโท ฉ. พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ผู้อื่นและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ทำให้ร้อยตำรวจโท ฉ. ออกหมายเรียกโจทก์เป็นผู้ต้องหาและรับคำร้องทุกข์ไว้ ความจริงแล้วโจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาและให้ถ้อยคำ แต่จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัวและเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นั้น เป็นการบรรยายฟ้องว่า มีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยหยิบยกเอาถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบของความผิดเท่านั้น มิได้บรรยายกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับความเท็จที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาโจทก์และให้ถ้อยคำต่อร้อยตำรวจโท ฉ. นั้นเป็นความผิดในทางอาญาหรือไม่ อย่างไร ส่วนสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารท้ายฟ้อง มีสาระเพียงว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ร้อยตำรวจโท ฉ. รับคำร้องทุกข์ของจำเลยตามที่กล่าวหาโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ไว้ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ 18 เวลา 16.15 นาฬิกา ของวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 มิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยว่าเป็นอย่างใด ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 174 วรรคสองอีกด้วย ฟ้องของโจทก์จึงมิได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942/2555
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น มิได้มีผลต่อบุคคลภายนอก ประกอบกับมาตรา 135 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังบัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใด ให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เมื่อโจทก์มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งและมิใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้อีกด้วย ส่วนที่การกระทำของจำเลยอาจทำให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โจทก์ก็เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 ได้อยู่แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2553
การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 นอกจากนี้ จำเลยยังมีเจตนายังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย