ขายฝากบ้าน

สัญญาขายฝาก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ๔๙๑

มาตรา 491  “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

การขายฝาก คืออะไร การขายฝาก คือ การซื้อขายอย่างหนึ่งซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อ ฝากทันทีแต่มีข้อตกลงว่า ผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ภายในเวลาที่กำหนดทรัพย์สินใด ขายฝากได้บ้าง ทรัพย์สินทุกชนิดขายฝากได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน รถยนต์ เรือ นาฬิกา แต่การซื้อขายทรัพย์บางอย่างต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว

แบบของสัญญาขายฝาก         
1. ถ้าเป็นการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้) เช่น บ้าน หรือที่ ดิน หรือขายฝากเรือกำปั่น หรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่มี ระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป เรือนแพที่คนอยู่อาศัย สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า โค เป็นต้น ทรัพย์สินเหล่านี้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ถ้าไม่ทำตามนี้เป็นอันว่าสัญญาขายฝากนี้ใช้ไม่ได้         
2. ถ้าเป็นการขายฝากสังหาริมทรัพย์ ที่มีราคา 500 บาทหรือเรียกว่า 500 บาท ขึ้นไป การขายฝากนี้จะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ ให้ผู้ขายและผู้ซื้อลงชื่อไว้ในหนังสือ หรือต้องมีการวางมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วนไปแล้ว มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้ศาล บังคับไม่ได้

การไถ่ทรัพย์คืนหรือการซื้อกลับคืน         
1. สินไถ่ คือ จำนวนเงินที่ผู้ขายฝากต้องนำมาชำระแก่ผู้รับซื้อฝาก เพื่อขอไถ่เอา ทรัพย์คืนซึ่งอาจจะตกลงไว้ในสัญญาขายฝากหรือไม่ได้ตกลงไว้ก็ได้ และสินไถ่จะต้องเป็น เงินเสมอและไถ่ถอนกันด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นไม่ได้
          2. ระยะเวลาการไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝาก              
2.1 การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ต้องกำหนดไถ่ถอนกันภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี             2.2 การขายฝากสังหาริมทรัพย์ ต้องกำหนดไถ่ถอนกันภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี
          3. การไถ่ทรัพย์คืนมีข้อพิจารณาดังนี้ 
            3.1 ต้องไถ่ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ จะไถ่เมื่อเกินกำหนดแล้วไม่ได้ และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของผู้ซื้อฝากอย่างเด็ดขาด ผู้ขายฝากหมดสิทธิไถ่              3.2 ขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืนสามารถทำได้ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้รับไถ่
          4. บุคคลที่มีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืนได้ 
            4.1 ผู้ขายฝากหรือทายาทของผู้ขายฝาก 
            4.2 ผู้รับโอนสิทธิการไถ่ทรัพย์สินคืน 
            4.3 บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้
          5. บุคคลที่มีสิทธิให้ไถ่คืนได้ 
            5.1 ผู้รับซื้อฝากหรือถ้าหากผู้รับซื้อฝากตายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ ผู้ขาย ฝาก ต้องไปขอไถ่จากทายาทของผู้รับฝาก 
            5.2 ผู้รับโอนทรัพย์สินที่ขายฝากนั้น จากผู้ซื้อฝากเดิม  ดอกผลของทรัพย์สินที่ขายฝากซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝาก ค่าธรรมเนียมตอนทำสัญญาขายฝาก ผู้ซื้อฝากเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม

ข้อพิจารณา กรณีที่ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

(1) ถ้อยคำที่จะถือว่าเป็นข้อตกลงให้ไถ่ทรัพย์คืน จะใช้ถ้อยคำอย่างไรไม่สำคัญ เพียงให้ได้ความเข้าใจได้ว่าให้มีการไถ่คืนก็ใช้ได้ เช่น ซื้อกลับคืน ซื้อกลับมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 594/2486
 ขายที่ดินต่อกันแล้วมีข้อตกลงไว้ท้ายสัญญานั้นว่าถ้าผู้ขายต้องการซื้อคืนผู้ซื้อยอมขายให้ดังนี้ ถือว่าเป็นเรื่องขายฝาก การขายฝากที่ไม่ได้ตกลงว่าจะไถ่คืนเท่าไรก็ต้องไถ่คืนเท่าราคาที่ขายต่อกัน

(2) ข้อตกลงให้ไถ่คืนหรือซื้อคืนจะต้องเกิดในขณะทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินนั้น จึงจะทำให้เป็นสัญญาขายฝาก แต่ถ้าผู้ซื้อให้สิทธิผู้ขายไถ่คืนได้ในภายหลัง ก็เป็นเพียงคำมั่นว่าจะขายนอกเหนือไปจากสัญญาซื้อขายนั้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2528  ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาต่อกันอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนได้ภายใน 10 ปี ดังนี้ สัญญาที่ทำต่อกัน ไม่ใช่สัญญาขายฝากหรือนิติกรรมอำพราง แต่ข้อกำหนดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจาก จำเลยได้ภายใน 10 ปี เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้

(3) ถ้าพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว ต่อมามีการตกลงจะซื้อคืนกัน ก็จะกลายเป็นสัญญาซื้อขายขึ้นใหม่ต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2535  
หลังจากครบกำหนดการขายฝากแล้ว ส. ผู้ซื้อฝากกับ บ.ผู้ขายฝากทำหนังสือสัญญากันมีข้อความว่า “บ. ได้ให้เงิน ส.ค่าไถ่ถอนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 33,000 บาท ส. ขายคืนที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ บ.” ในวันที่ ส. รับเงินจาก บ.นั้น ส. และ บ. ได้พากันไปสำนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ. แต่ยังโอนกันไม่ได้เพราะ บ.ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมการโอน ได้ตกลงกันว่าก่อนปีใหม่ 2-3 วันจะไปโอนกันใหม่ แต่ ส. ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนแสดงว่า ส. จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้ บ.ภายหลัง จึงมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการขยายเวลาการขายฝาก เนื่องจากได้ครบกำหนดการขายฝากและ บ.หมดสิทธิไถ่คืนการขายฝากไปก่อนแล้ว

(4) ข้อตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ถ้าทรัพย์นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษแล้วจะต้องจดทะเบียนข้อตกลงดังกล่าวไว้ด้วย กล่าวคือต้องทำนิติกรรมตามแบบที่กฎหมายในเรื่องซื้อขายกำหนดไว้ในมาตรา 456 เพราะเหตุว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544  
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้ว ยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2546  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. แต่โจทก์ยังไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่า ส่วนจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. มารดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมมาก่อน แม้สัญญาเช่าระหว่าง ส. กับวัด พ. ระงับไปแล้วถือว่าจำเลยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน มิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยลำพัง
          ส่วนที่ ส. ทำสัญญาขายฝากบ้านพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทแก่ ล. ภริยาโจทก์ แม้ระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาขายฝากเฉพาะสังหาริมทรัพย์ แต่เนื้อหาสัญญาระบุขายฝากบ้านพร้อมที่ดินพิพาท ทั้งเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน ล. อาศัยสัญญาขายฝากไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. ทันที และคำฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะประสงค์เข้าอยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง พฤติการณ์มีเหตุผลน่าเชื่อว่า ล. รับซื้อฝากบ้านพิพาทเพื่ออยู่อาศัย มิใช่รื้อถอนไปอย่างสังหาริมทรัพย์จึงเป็นการขายฝากบ้านในลักษณะอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคู่สัญญาทำสัญญากันเองโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 491โจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า