คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายความถึง คดีแพ่งที่มีมูลมาจากการกระทำความผิดทางอาญา หรือความรับผิดในทางแพ่งเกิดจากผลของการกระทำความผิดอาญาโดยตรง เช่น ความผิดทางอาญาเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ผู้เสียหายที่ได้รับอันตราย หรือเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวนั้นย่อมเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งได้
          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
          มาตรา 40  “การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง”

ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายอันเนื่องมาจากจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2542  การพิจารณาว่าคดีแพ่งใดเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนั้นว่าเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดในคดีอาญาหรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในทางแพ่งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายอันเนื่องมาจากจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม ก็โดยอาศัยเหตุจากที่โจทก์เคยแจ้งความร้องทุกข์ให้อัยการศาลมณฑลทหารบกฟ้องจำเลยคดีก่อนในทางอาญาเรื่องจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว ซึ่งศาลมณฑลทหารบกพิพากษาลงโทษจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว นับได้ว่าทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาต่างมีประเด็นสำคัญโดยตรงเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนั้น ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ว่าจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมหรือไม่ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ก่อนที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 (มาตรา 168 เดิม) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสามคดีอาญาก่อนถึงที่สุดวันที่ 28 เมษายน 2538 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2538 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์ ไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาว่าโจทก์ปลอมสัญญาจะซื้อจะขาย คดีแพ่งจึงเป็นคดีที่มีมูลคดีเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144-1146/2553   จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาว่าปลอมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามฉบับในคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งสามฉบับดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีมูลคดีเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาดังกล่าว และโจทก์จำเลยในคดีแพ่งกับคดีอาญาเป็นคู่ความเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาทั้งสองเรื่องดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5237-5238/2539 การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งในคดีส่วนอาญาดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสี่ฉบับ (ซึ่งรวมถึงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.11, จ.22 และ จ.25 ด้วย) เป็นเอกสารปลอม เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์

          สำหรับคดีแพ่งที่มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น
          (1) คดีอาญาเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ส่วนคดีแพ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายลักษณะตั๋วเงินหรือเช็ค มิได้อาศัยมูลความผิดทางอาญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2540   ในคดีส่วนอาญาจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค  ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามเช็คอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
          (2) ฟ้องคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งขอให้ใช้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7283/2541   คดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเครื่องรับโทรทัศน์ และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป ซึ่งการขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมา แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้คำขอบังคับจะเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 คืนเครื่องรับโทรทัศน์หรือใช้ราคาเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีอาญาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น มาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาเช่าซื้อเมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างประกอบกับคำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องการผิดสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะพนักงานอัยการในคดีอาญาจึงไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องสัญญาเช่าซื้อมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้กรณีมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
          คดีก่อนศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
          (3) ฟ้องคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยืมโดยอาศัยมูลหนี้เรื่องยืม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2547   โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระโขนง จากมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองไม่คืนวาล์วประตูน้ำพิพาทแก่โจทก์ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งไม่ใช่เป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยืมโดยอาศัยมูลหนี้ในเรื่องยืม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
          (4) คดีอาญาโกงเจ้าหนี้ ส่วนคดีแพ่งขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2551   โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยรู้หรือสมคบกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด และคดีส่วนอาญาของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2539   คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา
          (5) คดีอาญาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ส่วนคดีแพ่งเป็นเรื่องการสมรสที่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2536   เมื่อคดีอาญาที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องเป็นเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาและมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ปรากฏในสำนวนคดีแพ่งได้
          (6) คดีอาญาผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าปลอมลายมือชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงลงในบันทึกถ้อยคำ แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อดำเนินการออกใบจองให้จำเลย อันเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ส่วนคดีแพ่งโจทก์ขอให้เพิกถอนใบจองที่ออกทับที่ดินของโจทก์ สิทธิการฟ้องคดีแพ่งไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6405/2550   คดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้เสียหายกล่าวหาว่า จำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงในบันทึกถ้อยคำ แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อดำเนินการออกใบจองให้จำเลย อันเป็นการปลอมและใช้เอกสารปลอม ส่วนคดีนี้โจทก์ขอให้เพิกถอนใบจองที่ออกทับที่ดินของโจทก์ สิทธิการฟ้องคดีนี้จึงไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม กรณีจึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46
          (7) คดีอาญายักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาสัยมูลความผิดฐานยักยอกทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2551  ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่า ร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอกนั้น ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลยรับจำนองแทนโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงพระโขนง ศาลมิได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์เพียงแต่สงสัยเท่านั้นและคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์  อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า