ความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒

ถูกฟ้องคดียักยอกทรัพย์ ต้องทำอย่างไร

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง
มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือ ทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วย ประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของ ผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
มาตรา 355 ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อนหรือฝัง ไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอา ทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

อายุความฟ้องคดี 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด
  มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความ ผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ มาตรา 97 ในการฟ้องขอให้กักกัน ถ้าจะฟ้องภายหลังการฟ้อง คดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน ต้องฟ้องภายในกำหนด หกเดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีนั้น มิฉะนั้น เป็นอันขาดอายุความ 

อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 95 มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิด มายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอัน ขาดอายุความ
(1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
( 2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึง หนึ่งปี
(5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือน ลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำ ความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกิน กำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกันหมายเรียกหมายนัดที่ผู้ถูกฟ้องจะไ้ด้รับมี ๒ กรณี คือ

๑.หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา

เป็นกรณีที่ โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเองโดยว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องคดีโดยตรงต่อศาล  มิได้ดำเนินการผ่านตำรวจหรือพนักงานสอบสวน

    เมื่อได้รับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วดูรายละเอียดในหมายว่า ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันใด และคำฟ้องมีสาระสำคัญประการใด ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ หากท่านประสงค์จะขอประนีประนอมกับโจทก์ ก็สามารถเจรจากันได้ซึ่งหากโจทก์ยินยอมตามที่ตกลงกัน และยินยอมถอนฟ้องคดีก็เป็นอันจบไป ในคดีอาญาที่ไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ตามกฎหมายศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนว่าคดีมีมูลหรือไม่ หากมีมูลศาลก็จะประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป ถ้าศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องของ โจทก์           
หากท่านได้รับหมายนัดจึงต้องดูรายละเอียดว่าศาลกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันใด และควรรีบนำสำเนาคำฟ้องข้อเท็จจริงในคดี พร้อมพยานหลักฐานปรึกษาทนายความทันที เพื่อให้ทนายความทำการถามค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง หากคดีไม่มีมูลศาลจะยกฟ้อง โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องท่านไม่จำเป็นต้องไปศาล เนื่องจากหากไปศาลในวันดังกล่าว และศาลได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ศาลก็จะประทับฟ้อง ท่านจะตกเป็นจำเลยและถูกควบคุมตัว ซึ่งจะต้องมีการยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวต่อไป

 ๒. หมายเรียกผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
กรณีนี้แม้จะยังไม่ใช่หมายศาล แต่ท่านควรจะไปพบพนักงานสอบสวนตามกำหนดนัด หากไม่สามารถไปตามกำหนดนัดได้ เพราะมีเหตุผลอันสมควร ก็อาจจะทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนขอเลื่อนวันเข้าพบออกไปหรือมอบหมายให้ทนายความทำหนังสือขอเลื่อนวันนัดออกไปก่อน  หากท่านไม่ไปตามกำหนดนัดตามหมายเรียก จำนวน ๒ ครั้ง พนักงานสอบสวนอาจขอใหศาลออกหมายจับท่านมาดำเนินคดีต่อไป  ในชั้นสอบสวนหากไม่ได้กระทำความผิดหรือประสงค์จะต่อสู้คดีหรือ ต้องมีทนายเข้าไปดูแลคดี ควารติดต่อทนายความร่วมฟังการสอบสวนหรือให้ปากคำตั้งแต่ชั้นสอบสวนเพราะ คำให้การชั้นสอบสวนนนั้นถือว่าเป็นสาระสำคัญที่จะให้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพนักงานอัยการและชั้นพิจารณาคดีของศาล ต่อไป

คำพิพากษาฎีกาที่ 2716/2554
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกันต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป
พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใดการที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาฎีกาที่ 457/2503
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158, 161ป.อ. มาตรา 352 ตามฟ้องของโจทก์นี้ (ดูฟ้องโจทก์) แปลได้ว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกเงินค่าจำนำวิทยุ (ไม่ใช่ยักยอกเครื่องวิทยุ) จึงไม่มีมูลคดีอาญา (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2503) 2. ในความผิดฐานยักยอกต้องทราบสาระสำคัญเพิ่มเติมว่า “ความผิดฐานยักยอกไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวผู้ครอบครอง” ให้พิจารณาศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3595/2532
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 352, 354 ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ ข้อที่ว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์”นั้น มิใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวผู้กระทำ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำอันหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคารยักยอกทรัพย์ของธนาคาร จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 แม้จำเลยจะร่วมกระทำผิดกับผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนก็เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เฉพาะวรรคสอง)

คำพิพากษาฎีกาที่ 532/2553
ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 86, 353, 354 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมากก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86

 

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า