คดีเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์

อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ หลังจากสามีภริยาหย่าขาดจากกันแล้ว
แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีหย่าด้วยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่า ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด 

    แต่ถ้าตกลงกันว่าให้ฝ่ายใดเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตร ย่อมมิใช่ข้อตกลงให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย แต่ต้องถือว่าอำนาจปกครองยังอยู่กับบิดาและมารดา หากคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองก็ยังตกอยู่อีกคนหนึ่ง

กรณีหย่าโดยคำพิพากษาศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด โดยศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบุตรของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1582 และสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการเกินพิพากษาคำขอหรือไม่ แม้โจทก์ไม่ได้ขอมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็พิพากษาเกินคำขอในเรื่องนี้ได้

    แต่ถ้าปรากฎว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา 1520 ประพฤติไม่เหมาะสมควร หรือภายหลังพฤติการณืได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

เหตุในการถอนอำนาจปกครอง 5 กรณี

1 ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
2 ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ เช่น เฆี่ยนตีบุตรอย่างรุนแรง ยุยงส่งเสริมให้บุตรลักขโมย สอนบุตรสูบบุรี่ ดื่มสุรา ละทิ้ง ไม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ ลงโทษบุตรอย่างทารุน หรือปล่อยปละละเลยให้บุตรประพฤติชั่ว เป็นต้นฃ
3 ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติชั่วร้าย เช่น กระทำทางเพศต่อบุตร เป็นโรคเอดส์ บังคับให้บุตรเป็นโสเภณี หรือขอทาน ถูกจำคุก เป็นต้น
4 ผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลาย
5 ผู้ใช้อำนาจปกครองจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540 
 ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอดการให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2518
ตามปกติอำนาจปกครองย่อมอยู่กับบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1537 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นภริยาว่า จำเลยทะเลาะกับโจทก์แล้วหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่อื่น ขอให้บังคับจำเลยให้ส่งบุตรคืนแก่โจทก์ ก็เป็นการฟ้องเพื่อจะใช้อำนาจปกครองนั่นเอง แต่ศาลจะให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดาก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538(6) หากกรณีส่อแสดงว่าการให้บุตรอยู่กับมารดาจะเป็นการเหมาะสมกว่า(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1225/2508) เมื่อได้ความว่าบุตรอายุเพียง 2 ปี ยังไร้เดียงสาและได้อยู่กับจำเลยด้วยดีคลอดมา ไม่ปรากฏข้อบกพร่องเสียหาย การให้บุตรอยู่กับจำเลยระยะนี้บุตรจะได้รับความอบอุ่นมากกว่าอยู่กับโจทก์ และจำเลยก็รับว่าไม่รังเกลียดที่จะให้โจทก์เยี่ยมเยียน จึงควรให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยผู้เป็นมารดาไปก่อน หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปโจทก์ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาบุตรคืนได้ ชั้นนี้ศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2537
ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของ ก. กับ ส. ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก. ผู้เป็นบิดา ผู้ร้องเป็นน้องของบิดาของ ก. จึงมิใช่ญาติของผู้เยาว์ทั้งสองตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองของมารดาของผู้เยาว์ทั้งสอง และไม่อาจขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง

การเปลี่ยนตัวหรือการถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง ตามมาตรา 1521

     ถ้าปรากฎว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตาม ป.พ.พ มาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงได้ ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุก และประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552
ตามคำร้องของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของภริยา และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ภริยา ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่บัญญัติไว้ แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ภริยา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์ให้คดีสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท และทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครอง และแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่ โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องฉบับเดียวกัน

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า