คดีเรียกบุตรคืน

เด็กที่เกิดจากหญิง ซึ่งมิได้มีการจดทะเบียนสมรสกับชาย กฎหมายให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิง จึงต้องอยู่ในอำนาจปกครองของมารดาแต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ชายจะยินยอมให้บุตรใช้นามสกุล และทะเบียนบ้านระบุว่าเป็นบิดาก็ตาม ก็ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย

  ซึ่งชายจะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ต้องเป็นกรณีจดทะเบียนสมรสกับมารดาบุตร หรือจดทะเบียนรับรอบบุตร หรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่กรณีเป็นเพียงบุตรนอกกฎหมาย ตามกฎหายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน บุตรมีเพียงสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ของบิดาเท่านั้น

    ดังนั้น เมื่ออำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาแต่เพียงผู้เดียว หากบิดาไม่ยินยอมคืนบุตร อันถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ มารดาย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกบุตรคืนจากบิดาได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2543
โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น ดังนั้น จึงถือได้ว่าเด็กชาย จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ดังนั้นอำนาจปกครองเด็กชาย จ. นั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1566 วรรคหนึ่ง คือต้องอยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยมิได้เป็นบิดาตามความหมายของมาตรา 1566 ดังกล่าว การตกลงระหว่างโจทก์จำเลยที่ให้เด็กชาย จ. อยู่ในความปกครองของจำเลยจึงไม่มีผลผูกพันเป็นเหตุให้จำเลยมีอำนาจปกครองเด็กชาย จ. ตามมาตรา 1566 วรรคสอง (6) จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะกำหนดที่อยู่ของเด็กชาย จ. ให้อยู่กับตนตามมาตรา 1567 (1) ได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยส่งมอบเด็กชาย จ. คืนจากจำเลยตามมาตรา 1567 (4)

    คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเพียงคำให้การแก้ฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตเท่านั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นจึงไม่เป็นคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ดังนั้น ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องแย้ง แม้โจทก์จะไม่ได้แก้ข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ให้การไว้ก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงนี้ตามที่จำเลยได้ให้การได้ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องยื่นคำให้การแก้คำให้การของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2523
โจทก์ฟ้องเรียกบุตรคืนเมื่อแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์จำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจำเลยไม่ได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรข้อเท็จจริงจึงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป

    ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและได้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนอำนาจปกครองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดีที่มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกบุตรคืนจากจำเลยหรือไม่ศาลมีอำนาจงดสืบพยานหลักฐานได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง

    ข้อที่จำเลยฎีกาว่าขณะนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของบุตรทั้งจำเลยจดทะเบียนว่าเป็นบุตรแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้ส่งบุตรคืน นั้น จำเลยกล่าวอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกามิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

คำพิพากษาฎีกาที่ 16395/2557
ผู้เยาว์เป็นบุตรเกิดจากโจทก์ซึ่งเป็นหญิงที่มิได้สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1546 ให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้อ้างว่าเป็นบิดาของผู้เยาว์ แต่เมื่อผู้เยาว์มิได้เกิดจากบิดามารดาที่สมรสกัน การจะอ้างว่าผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อบิดามารดาสมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้มีลักษณะที่ปรากฏตามความดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิใดๆในตัวผู้เยาว์ไม่ ทั้งนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 1547 ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียวผู้เดียว เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองดูแลเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนผู้เยาว์แก่โจทก์ได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 1567(1)และ(4) ที่โจทก์เป็นผู้กำหนดที่อยู่ของบุตร และเรียกคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบได้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าดูแลผู้เยาว์ดีกว่าโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใดๆในตัวผู้เยาว์ไม่อาจอ้างเหตุเหนือสิทธิของโจทก์ผู้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2541
บุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(4) หมายถึง บุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งได้แก่ บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร จำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ จำเลยจึงไม่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ ตามกฎหมายย่อมไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) ถึง (4) การที่จำเลยกักบุตรผู้เยาว์ไว้จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้เป็นมารดาของผู้เยาว์ย่อมมีสิทธิเรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517
บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546

มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็น บุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น

มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คำวินิจฉัยที่ ยช.1/40 ฟ้องเรียกบุตรคืนโดยอ้างว่าเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566,1567(1) ตามบรรพ 5 ถือว่าเป็นคดีครอบครัว

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า