พินัยกรรม

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว ดังนั้น การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ใครก็ได้ 

พินัยกรรม แบบธรรมดา มีหลักเกณฑ์ และข้อกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันพึงต้องปฏิบัติ ดังนี้ *สำคัญมาก*

1 ทำด้วยตนเอง และต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ 
2 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต โดยคำสั่งศาลแล้ว แต่กรณีเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์
3 ไม่ได้ถูกข่มขู่ สำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล
4 ผู้เขียน ผู้พิมพ์ หรือพยานในพินัยกรรม ตลอดรวมถึงคู่สมรส จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้
5 พินัยกรรมแบบพิมพ์ จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับหรือลงแกงไดไม่ได้
6 ต้องเป็นทำหนังสือ ลงวัน / เดือน / ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม หากไม่ลงเป็นโมฆะ
7 ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน
8 พยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ขณะนั้น 
9 การขูด ลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ มีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ ส่วนอื่นย่อมบังคับได้อยู่
10 ผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อของตน ทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน ถ้าเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตน

คุณสมบัติของพยานในพินัยกรรม

1 บรรลุนิติภาวะ
2 ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3 ไม่เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้ง 2 ข้าง
4 พยานต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลงแกงได หรือใช้ตราประทับไม่ได้

ตัวอย่าง ทรัพย์สินที่ “ไม่ใช่มรดก” เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้น “หลัง” จากที่เจ้ามรดกตาย 

» เงินฌาปนกิจสงเคราะห์
» เงินชดเชย
» สิทธิในการได้รับจากเงินประกันชีวิต
» สิทธิเบิกเงินกู้ตามวงเงินของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร
» เงินบำนาญพิเศษ ตามพรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2494

หมายเหตุ

    หากผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมตกไป และทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1698(1) และ 1699

กรณีพินัยกรรม ตกเป็นโมฆะ
» พินัยกรรมทำโดยผู้มีอายุไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ 
» พินัยกรรมที่ทำขึ้นอันขัดต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ ไม่ได้ทำตามแบบ
» การตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเอง โดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลภายนอกข้อกำหนด
» พินัยกรรมซึ่งกำหนดตัวบุคคล ซึ่งไม่ทราบตัวแน่นอนเป็นผู้รับพินัยกรรม
» พินัยกรรมระบุทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ชัดเจนไม่อาจทราบได้แน่นอนได้ หรือให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งกำหนดให้มากน้อยตามแต่ใจเขา
» พินัยกรรมทำโดยผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ถ้าทำขึ้นโดยผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต ซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ พินัยกรรมจะเสียเปล่าต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าทำในเวลาที่วิกลจริต

เอกสารแนบท้าย/ประกอบการเขียนพินัยกรรม
1 ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ทำ
2 ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับ
3 บัตรประจำตัวประชาชนของพยาน 2 คน
4 เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด สมุดเงินฝากธนาคาร ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน เป็นต้น
5 หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น คู่สมรสไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมเกินส่วนในสินสมรสของตน

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 505/2509

    บุคคลจะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายได้ก็ แต่เฉพาะทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายในทรัพย์สินของคนอื่นไม่ได้ หากเป็นทรัพย์สินที่สามีภริยามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินบริคณห์ให้ผู้อื่นเกินกว่าส่วนของตน
แม้ในพินัยกรรมจะปรากฏข้อความว่า “เพื่อมิให้ยุ่งยากจึงให้นางจ้อยภริยาของข้าพเจ้าเป็นพยานยกให้ด้วย” และภริยาได้พิมพ์ลายมือไว้ในช่องพยานด้วยก็ตาม ก็ไม่ใช่ในฐานะผู้ทำพินัยกรรม หากเป็นเพียงพยานรับรู้ว่าสามีได้ทำพินัยกรรมจริงเท่านั้น แม้จะถือว่าภริยายินยอมให้สามีทำพินัยกรรมพินัยกรรมก็ไม่มีผลผูกพันถึงสินบริคณห์ส่วนของภริยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2501

    สามีโจทก์ผู้ทำพินัยกรรมจะเอาส่วนสินสมรสของโจทก์ไปทำยกให้ผู้อื่นไม่ได้

ประเด็น การฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 306/2507 

    พินัยกรรมที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบ โดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2 คนนั้น มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น พินัยกรรมฉบับนั้นย่อมเป็นโมฆะ
    พินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยผู้ทำพินัยกรรมป่วยมาก แม้จะพูดไม่ได้ แต่ถ้ายังมีสติสมบูรณ์ดีใช้กริยาแสดงออกตอนอ่านพินัยกรรมให้ฟัง เมื่อเห็นด้วยหรือตรงกับเจตนาของตนก็พยักหน้า ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่ตรงกับเจตนาก็ส่ายหน้า เช่นนี้ ฟังได้ว่าพินัยกรรมนั้น ทำขึ้นโดยผู้ตายและเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย
    ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับหลัง ถ้าไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้จนเป็นโมฆะแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
    พินัยกรรมที่คู่สมรสของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานย่อมเป็นโมฆะเสียไป เฉพาะผู้รับพินัยกรรมผู้นั้นเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมคนอื่นๆ นั้นยังคงสมบูรณ์อยู่
    พินัยกรรมที่ผู้พิมพ์พินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรมตามมาตรา 1671 ด้วยนั้น หาเป็นโมฆะไม่ เพราะมาตรา 1705 ไม่ได้บัญญัติให้เป็นโมฆะ

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า