การครอบครองแทน

การครอบครองทรัพย์สินแทนกัน หรือกรณีที่ถือว่าเป็นการครอบครองแทนกัน

ผู้ที่ได้ซึ่งสิทธิครอบครองจะต้องมีเจตนายึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนเท่านั้น ตามมาตรา 1367 และการยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนที่ทำให้ได้สิทธิครอบครองนั้น อาจทำโดยให้ผู้อื่นยึดถือไว้ให้ ตามมาตรา 1368 ซึ่งการครอบครองแทนกันนั้น ผู้ครอบครองแทนไม่ว่าจะครอบครองมาเป็นเวลายาวนานเท่าใดก็ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ที่มีสิทธิครอบครองเท่านั้น ไม่อาจอ้างประโยชน์ในการครอบครองดังกล่าวเพื่ออ้างเอาสิทธิครอบครองได้ โดยได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ดังนี้

กรณีครอบครองทรัพย์มรดก
ก. การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ถือว่าทายาทนั้นครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
               การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน ไม่ว่าทายาทผู้ครอบครองจะครอบครองทรัพย์มรดกนั้นยาวนานเพียงใดก็ต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542  
เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรม นอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสักเพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537  
การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 3 ได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่ การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้และจะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ


ข. การครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก ถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
กรณีการครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดกก็เช่นกัน ถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกจึงไม่สามารถอ้างว่าตนเองมีสิทธิครอบครองเพื่อต่อสู้ทายาทโดยธรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2544  
เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่จะตกทอดไปยังทายาทของ ป. ตามกฎหมาย บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. โจทก์จึงเป็นทายาทของ ป. แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับ บ. มารดา ดังนั้น จึงต้องถือว่า บ. ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมา บ. จะได้ ส. เป็นสามีและรับ ส. เข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ. และ ส. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป บ. และ ส. จึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอดเมื่อ บ. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า บ. ผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2544  
ครั้งแรกที่ ล. โอนที่ดินมรดกของ ท. มาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นทุกคน แม้จะมีการโอนที่ดินมรดกดังกล่าวมาเป็นของ ล. ในฐานะส่วนตัวแล้วก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินมรดกแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเพราะ ล. ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ทั้งปรากฏว่าก่อนหน้านี้ ล. ได้ถูก ป. ยื่นฟ้องในอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้นเรื่องขอแบ่งมรดก คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับ ส. กับ ป. ทายาทผู้ตายต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทของ ส. คำพิพากษาจึงผูกพัน ล. และจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ล. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ต้องถือว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นอยู่เช่นเดิม ล. ยังคงมีหน้าที่จะต้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น การจัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

กรณีครอบครองในฐานะเจ้าของรวม ถือว่าเจ้าของรวมนั้นครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
กรณีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน การที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก็ต้องถือว่าครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2536  แม้เดิมที่พิพาทจะเป็นของ ป. แต่ผู้เดียว แต่เมื่อออกโฉนดแล้ว ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อ ช. ด. และผู้คัดค้าน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของ ป.ว่า ต้องการให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อในโฉนดทุกคน การที่ ป.ยกที่ดินพิพาทให้แก่ ช. แต่ผู้เดียว โดยผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นมิได้แสดงเจตนายกให้โดยชัดแจ้ง ช. จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนของเจ้าของรวมคนอื่น โดยเฉพาะในส่วนของผู้คัดค้าน การที่ ช. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา จึงถือว่า ครอบครองแทนผู้คัดค้านและเจ้าของรวมคนอื่น ผู้ร้องสืบสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทต่อจาก ช.ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ช. ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้ร้องว่าเมื่อปลายปี 2532 ผู้คัดค้านได้มาพบเพื่อขอแบ่งที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธอ้างว่า ที่ดินเป็นของผู้ร้อง เท่ากับผู้ร้องเพิ่งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 นับแต่วันดังกล่าวถึงวันยื่นคำร้อง ยังไม่ครบ 10 ปีตามมาตรา 1382 ผู้ร้องจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2529  
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยคงมีสิทธิขายได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้นการที่จำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องจึงมีผลผูกพันเฉพาะส่วนของจำเลยส่วนของโจทก์ยังคงมีอยู่ตามเดิม
          ผู้ร้องเข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทก่อนจำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องนั้น เป็นการเข้าครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์จำเลย ส่วนหลังจากจำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องถือได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายซึ่งผู้ร้องได้สิทธิเฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้นที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาใช้บังคับไม่ได้
          ผู้ร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ดีเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทก็ดี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมได้รู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองต่อโจทก์ผู้ร้องจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า