ถอนคืนการให้

คดีฟ้องขอถอนคืนการให้

การให้ คือ สัญญาซึ่งผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ซึ่งจะถอนการให้ไม่ได้ เว้นแต่เหตุผู้รับเนรคุณ

ความสมบูรณ์ : ต่อเมื่อ “ส่งมอบทรัพย์สินให้”
» อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม หรือตึกแถว ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
» ที่ดินมือเปล่า สมบูรณ์ด้วยการส่งมอบ เพราะถือว่าผู้ให้ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินแล้ว
» การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ทางสาธารณะ หรือที่ดินสำหรับสร้างวัด ย่อมตกเป็นของแผ่นดินตามเจตนาของผู้อุทิศทันที โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

อายุความ : ผู้ให้ต้องยังไม่ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้น และต้องฟ้องถอนคืนการให้ภายใน 6 เดือนนับแต่เมื่อทราบถึงเหตุประพฤติเนรคุณ แต่ไม่เกิน 10 ปี ภายหลังเหตุการณ์ประพฤติเนรคุณนั้น

การให้ที่ไม่สามารถที่จะฟ้องขอเพิกถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณ ได้แก่

1 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณแล้ว
2 เมื่อผู้ให้ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ฟ้องคดีไว้ ทายาทจะฟ้องเองไม่ได้
3 ให้เป็นบำเเหน็จสินจ้างโดยแท้ (ตอบแทนการทำงาน)
4 ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
5 ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ตามหน้าที่ศีลธรรม
6 ให้ในการสมรส
7 เมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้ว 6 เดือน นับแต่ได้ทราบเหตุเนรคุณ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เหตุเนรคุณนั้นเกิดขึ้น

ค่าธรรมเนียมศาล : ร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์ (ราคาประเมิน)

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น อายุความ การบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ยากไร้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 388/2536

    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 บัญญัติว่า อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้…(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ และมาตรา 533 บัญญัติว่า…หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุ – เช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าในชั่วชีวิตของโจทก์จะขอสิ่งจำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีวิตของโจทก์จากจำเลยได้เพียงครั้งเดียว การขาดแคลนสิ่งจำเป็นเพื่อเลี้ยงชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังมีชีวิตอยู่และยากไร้โจทก์ย่อมขอสิ่งเหล่านั้นจากจำเลยได้เสมอตามความจำเป็นและจำเลยยังสามารถให้ได้ การที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้เงินแก่โจทก์นำไปรักษาตัวเนื่องจากเจ็บป่วยก่อนโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ประมาณ 1 เดือน ในขณะที่โจทก์ยากไร้และชราภาพโดยมีอายุถึง 84 ปี และจำเลยอยู่ในฐานะจะให้เงินแก่โจทก์ได้ จึงเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ที่ดินจากจำเลยได้โดยคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2341/2537

    การกล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ให้และเป็นผู้ยากไร้เมื่อจำเลยสามารถจะให้ได้นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ขอสิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตต่อจำเลยแล้ว จำเลยบอกปัดไม่ยอมให้และเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมิได้นำสืบและอุทธรณ์ในข้อนี้แสดงว่าจำเลยยอมรับ และมิใช่หน้าที่ศีลธรรมอันดีของผู้รับการให้จะพึงปฏิบัติต่อผู้ให้ด้วยการให้สิ่งตอบแทนแก่ผู้ให้ตามวิสัยแต่อย่างใดดังนั้น การที่โจทก์แยกไปอยู่กับ ซ. แล้วจำเลยไม่ตามไปเลี้ยงดูโจทก์ จะฟังว่าจำเลยแสดงเจตนาบอกปัดไม่ยอมเลี้ยงดูให้สิ่งของจำเป็นแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้ และจำเลยสามารถให้ได้อันเป็นการประพฤติเนรคุณที่จะเรียกถอนคืนการให้หาได้ไม่

ประเด็น ทำร้ายร่างกาย และดูหมิ่น

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 412/2528

    การที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดาจนได้รับอันตรายแก่กาย ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยขาดความกตัญญู แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่ถึงสาหัสก็ถือได้ว่าจำเลยได้ประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2553

    ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า “อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้

    ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 413 วรรคหนึ่งและมาตรา 534

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า