สัญญาซื้อขาย คือ สัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้น ผู้ขายจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ในฐานะคู่สัญญาซื้อขายต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ดังนี้
» ผู้ขาย มีสิทธิ – หน้าที่ คือ รับชำระราคา โอนกรรมสิทธิ์ ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง รอนสิทธิ ข้อสัญญายกเว้นความรับผิด
» ผู้ซื้อ มีสิทธิ – หน้าที่ คือ รับมอบสินค้า ชำระราคา จัดการรับโอนกรรมสิทธิ์
สิทธิของผู้ซื้อ กรณีผู้ขายผิดสัญญา
ผู้ซื้อย่อมบอกเลิกสัญญาได้ และเรียกมัดจำ หรือเงินชำระหนี้บางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย หรือฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา และอาจเรียกค่าเสียหายด้วยก็ได้
สิทธิของผู้ซื้อ ในกรณีผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขาดตกบกพร่อง หรือล้ำจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 465
» ส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ : บอกปัดเสียไม่รับเอาเลย หรือจะรับไว้และใช้ราคาตามส่วน
» ส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ : รับไว้แต่เพียงตามสัญญา นอกนั้นบอกปัดเสีย หรือบอกปัดเสียไม่รับเอาเลยทั้งหมด หรือรับไว้ทั้งหมดและใช้ราคาตามส่วน
» ส่งมอบทรัพย์สินระคนกับทรัพย์ที่กำหนดในสัญญา : รับไว้เฉพาะตามสัญญา นอกนั้นบอกปัดเสีย หรือหรือบอกปัดเสียทั้งหมดก็ได้
ความรับผิดของผู้ขาย หากทรัพย์ที่ขายนั้น ชำรุดบกพร่อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472-473
ในกรณีทรัพย์ที่ส่งมอบถูกต้องแล้ว แต่มีความชำรุดบกพร่อง : ความชำรุดบกพร่องอันผู้ขายต้องรับผิด ต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดก่อน หรือขณะทำสัญญาซื้อขาย ไม่ว่าผู้ขายจะได้รู้ถึงความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่
ลักษณะของความชำรุดบกพร่อง ที่ผู้ขายต้องรับผิด ในกรณีดังนี้
1 การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา เช่น สีของรถยนต์ไม่เหมือนกันตลอดทั้งคัน เบาะที่นั่งไม่ตรงตามแบบของรุ่น เป็นต้น
2 การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เช่น อาหารที่ซื้อขายมีสารปนเปื้อน เป็นต้น
3 การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์มุ่งหมายโดยสัญญา เช่น พระเครื่องมีตำหนิและมีการซ่อมแซมใหม่ให้เหมือนเดิม เป็นต้น
อายุความคดีซื้อขาย (นับแต่วันที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้อง)
1 ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญา 10 ปี
2 ซื้อไปใช้เอง 2 ปี
3 ซื้อไปเพื่อดำเนินกิจการต่อ 5 ปี