ความผิดฐานบุกรุก

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓

มาตรา ๓๖๒  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๖๓  ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2540
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 (1) การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นครอบครองอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,365 หรือไม่นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เข้าไปหรือใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายจำเลยเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีสิทธิหรือไม่ ซึ่งศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเป็นสำคัญ ภาพถ่ายที่โจทก์นำสืบเพื่อให้ศาลเห็นว่าขณะที่ผู้เสียหายถูกจำเลยลากตัวไปยังบ้านของจำเลย ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้เสียหายยืนอยู่ ณ จุดใดภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายศาลก็ชอบที่จะใช้ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุกได้ ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยกระชากลากตัวผู้เสียหายออกมาจากบริเวณบ้านของผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายยืนอยู่บริเวณใต้ชายคาบ้านของผู้เสียหายดังที่ปรากฏในภาพถ่ายเท่ากับจำเลยยอมรับว่าจุดที่ผู้เสียหายยืนอยู่ในขณะที่ผู้เสียหายถูกจำเลยกระชากลากตัวไปอยู่ภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายตามที่ปรากฏในภาพถ่ายจากจุดที่ผู้เสียหายยืนอยู่ดังนี้ การที่จำเลยจะกระชากลากตัวผู้เสียหายให้ออกไปจากบริเวณบ้านของผู้เสียหายได้ แม้จำเลยจะยืนอยู่นอกบริเวณบ้านของผู้เสียหายแต่จำเลยก็จะต้องเอื้อมมือเข้าไปภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายเพื่อจับและฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกไป การเอื้อมมือเข้าไปฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกไปในลักษณะนี้ ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปกระทำการใด ๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขโดยใช้กำลังประทุษร้ายเข้าองค์ประกอบแห่งความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362และมาตรา 365(1) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2549
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 59 โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ไปล็อกกุญแจปิดร้านอาหารเพื่อมิให้โจทก์เช่าต่อไป โดยจำเลยที่ 1 คิดว่าตนเองมีอำนาจกระทำการได้ ตามสัญญาเช่าที่ระบุว่าถ้าผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ให้เช่าย่อมทรงสิทธิในการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญานี้โดยพลัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการขาดเจตนาที่จะกระทำผิดฐานบุกรุก ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2546
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 1(4), 278, 364 จำเลยที่ 1 นำบันไดวางริมหน้าต่างชั้นบนบ้านผู้เสียหายและปีนไปเรียกผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายเปิดประตูออกมา จำเลยที่ 1 กอดอุ้มผู้เสียหายและกระทำอนาจารปลุกปล้ำผู้เสียหายที่บริเวณสนามหญ้าข้างหน้าบ้านพักผู้เสียหาย แม้สนามหญ้ากับบ้านพักไม่มีรั้วล้อมรอบ และไม่มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักแต่ก็อยู่ข้างหน้าบ้านพักซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขและกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นการกระทำต่อเนื่องไม่ขาดตอนกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2538
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95, 96, 362, 365(3), 366 จำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์แต่ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวันหรือกลางคืนจึงฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 บทเดียว หาเป็นความผิดตาม มาตรา 365 (3) อีกบทหนึ่งไม่ซึ่งมาตรา 366 บัญญัติว่า เป็นความผิดอันยอมความได้อายุความฟ้องร้องตามมาตรา95 ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 96 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมิฉะนั้นขาดอายุความโจทก์มาร้องทุกข์เมื่อวันที่7พฤษภาคม 2534 ทั้งๆที่ทราบเรื่องจำเลยบุกรุกตั้งแต่ต้นปี 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า