จดทะเบียนรับรองบุตร

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546

มาตรา 1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา 1548  บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก
ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

จดทะเบียนรับรองบุตร

กฎหมายถือว่าเด็กซึ่งเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546

    ดังนั้น การรับรองบุตร เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้ โดยสิทธิต่างๆของบุตร มีผลย่อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิด โดยไม่คำนึงว่าเด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่

เด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถทำได้ 3 วิธี

1. เมื่อบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังหรือก่อน แม้การสมรสดังกล่าวจะเป็นโมฆะหรือโมฆียะก็ตาม มาตรา 1457
2. บิดาจดทะเบียนรับรองว่าเด็กเป็นบุตร หมายถึง ทะเบียนรับรองบุตร คร.11 สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ซึ่งวิธีการนี้ไม่ต้องจดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็ก แต่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาของเด็ก โดยทั้งสองคนต้องไปให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน แต่หากบุคคลทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น มารดาถึงแก่ความตายแล้วหรือมารดาวิกลจริต หรือกรณีเด็กไม่อาจแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ เช่น อายุยังน้อยเกินไป เป็นต้น กรณีนี้นายทะเบียนจะจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ได้ จนกว่าจะมีคำสั่งของศาล มาตรา 1548 วรรคสอง
3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ในกรณีบิดาไม่สมัครใจยินยอม

“ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของบิดาและบุตร ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป”

ผลเสียการไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

1 เสียสิทธิต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในลักษณะ 1 หมวด 2 แห่งบรรพ 5 
2 ไม่สามารถเรียกให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร 
3 หากบุคคลภายนอกทำละเมิดให้บิดาตาย บุตรไม่สามารถฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้
4 บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 คือบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว แต่ในความเป็นจริงมักจะถูกผู้จัดการมรดกปฏิเสธว่าไม่ใช่บุตร จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ความเป็นบุตรที่แท้จริง
5 หากบิดาเป็นข้าราชการ เมื่อบิดาตาย บุตรมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด แต่เมื่อบุตรไปขอรับเงินจากทางราชการ แต่ทางราชการจะปฏิเสธว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บุตรต้องมายื่นคำฟ้องต่อศาลก่อน ซึ่งจะทำให้ถูกทายาทเจ้ามรดกคัดค้านว่าไม่ใช่บุตร
6 การลดหย่อนภาษี
7 Visa ประเภทอุปการะเลี้ยงดูบุตร ในกรณีบิดาเป็นชาวต่างชาติ

คำพิพากษาฎีกาที่ 16395/2557
ผู้เยาว์เป็นบุตรเกิดจากโจทก์ซึ่งเป็นหญิงที่มิได้สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1546 ให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้อ้างว่าเป็นบิดาของผู้เยาว์ แต่เมื่อผู้เยาว์มิได้เกิดจากบิดามารดาที่สมรสกัน การจะอ้างว่าผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อบิดามารดาสมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้มีลักษณะที่ปรากฏตามความดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิใดๆในตัวผู้เยาว์ไม่ ทั้งนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 1547 ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียวผู้เดียว เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองดูแลเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนผู้เยาว์แก่โจทก์ได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 1567(1)และ(4) ที่โจทก์เป็นผู้กำหนดที่อยู่ของบุตร และเรียกคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบได้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าดูแลผู้เยาว์ดีกว่าโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใดๆในตัวผู้เยาว์ไม่อาจอ้างเหตุเหนือสิทธิของโจทก์ผู้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ได้

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า