พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔

มาตรา ๔  ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๕  ความผิดตามมาตรา ๔ เป็นความผิดอันยอมความได้

ในคดีเกี่ยวกับเช็คนั้นในทางกฎหมายสามารถที่จะดำเนินคดีได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งในส่วนนี้จะกล่าวถึงในส่วนของคดีอาญา คดีเช็คในคดีอาญานั้นมีโทษทั้งปรับและจำคุก โดยจะมีความผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อผู้ที่ได้รับเช็คนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารแล้วปรากฎว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เช่น เงินในบัญชีของผู้ออกเช็คไม่พอจ่าย เป็นต้น ซึ่งทางที่ดีที่สุดของผู้ออกเช็คเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดในทางอาญาก็คือทำให้เงินในบัญชีตามเช็คสามารถที่จะขึ้นเงินได้ แต่อย่างไรก็ตามหากว่าเกิดปัญหาไม่ว่าจะด้วยเหตุใดหากเช็คขึ้นเงินไม่ได้และถูกดำเนินคดีอาญาก็มีทางออกดังนี้

  1. ตรวจสอบมูลหนี้ตามเช็ค กล่าวคือ ความผิดในทางคดีอาญาในเรื่องเช็คนั้นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นต้องไม่ใช่มูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน หรือหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ออกเช็คเพื่อค้ำประกันหนี้ของผู้อื่น หรือไม่มีมูลหนี้กันอยู่จริง เป็นต้น ซึ่งหากมีมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายแล้วหรือไม่มีมูลหนี้กันอยู่จริงแม้เช็คจะเด้งก็ไม่มีความผิดในทางอาญา แต่หากเช็คนั้นเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้โดยหนี้นั้นเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและหนี้นั้นบังคับได้ตามกฎหมายและผู้ออกเช็คมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นก็จะเป็นความผิดในทางอาญา

2. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของเช็ค กล่าวคือ เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา988 ได้กำหนดให้มีรายการต่างๆที่ระบุลงในเช็ค โดยหากไม่ได้ระบุแล้วจะไม่เป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมายจึงไม่อาจใช้เช็คนั้นได้ เมื่อไม่สมบูรณ์เป็นเช็คก็จะไม่มีความรับผิดทางอาญาในเรื่องเช็ค

            แต่หากปรากฏว่าเช็คนั้นสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว หากเช็คเด้ง ผู้ออกเช็คก็มีความผิดในทางอาญา ซึ่งก็สามารถมีวิธีที่จะทำให้ไม่ให้ถูกฟ้องเป็นคดี คือ การนำเงินไปชำระตามเช็คให้แก่ผู้ได้รับเช็คโดยสามารถให้ทนายความทำหลักฐานว่าได้ชำระหนี้ต่อกันแล้วและจะไม่ดำเนินคดีต่อกันอีก โดยอาจตกลงผ่อนผันการชำระหนี้กันได้ แต่หากว่าถูกดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลแล้ว ผู้ถูกดำเนินคดีควรไปศาลตามที่ได้รับหมายเรียกทุกครั้งและควรมีทนายไปด้วยเพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคดีเช็คนั้นมีโทษในส่วนของการจำคุกด้วยและหากไม่ไปศาลก็มีความเสี่ยงที่จะถูกออกหมายจับ ซึ่งเมื่อไปศาลแล้วก็สามารถที่จะขอประนีประนอมเพื่อผ่อนผันการชำระหนี้ได้ ซึ่งเมื่อได้โอกาสที่จะผ่อนผันการชำระหนี้แล้วก็ควรที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ให้ตรงกับข้อตกลงการชำระหนี้กันในศาลเพื่อเป็นการประกันได้ว่าหากท่านได้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ครบถ้วนแล้วคดีก็จะจบลงได้โดยที่ท่านไม่ต้องโทษทางอาญา
เรียบเรียงโดย ทนายอมรชัย อมรส่งเจริญ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อายุความคดีเช็ค
คดีเช็คยอมความได้หรือไม

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin