ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                   ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2466 พรรษา ปัตยุบันกาล

สุกรสังวัจฉร เอกาทศมทิน พฤศจิกายนมาส อาทิตยวาร กาลกำหนด

                   พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษ

บรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงศ อติศัยพงศวิมลรัตน วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนารถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูรสันตติวงศวิสิษฐสุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค มหาชโนต ตะมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผล อุดมบรมสุขุมาลย ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติ คุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ

บุริมศักดิสมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศลประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลกมหาปริวารนายก อนันตมหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร บรมชนกาดิศรสมมตประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัตินพปฎลเสวตรฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษอดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกล

ไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมรารถบพิตรพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

                   ทรงพระราชดำริห์ว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้อยู่เวลานี้ยังกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง สมควรจะนำมารวมรวมไว้แห่งเดียวกัน และจัดเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สมแก่กาลสมัย ความเจริญและพาณิชยกรรมแห่งบ้านเมือง และความสัมพันธ์กับนานาประเทศ

                   ส่วนหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งศาลยุติธรรมได้เคยยกขึ้นปรับสัตย์ตัดสินคดีเนือง ๆ มา โดยธรรมเนียมประเพณีอันควรแก่ยุติธรรมนั้น  สมควรจะบัญญัติไว้ให้เป็นหลักฐาน และกิจการบางอย่างในส่วนแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่มีในกฎหมายที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้ ก็ควรจะบัญญัติขึ้นไว้ด้วย

                   และทรงพระราชดำริว่า  ทางที่จะให้ถึงซึ่งผลอันนี้ ควรจะประมวลและบัญญัติบทกฎหมายที่กล่าวแล้ว เข้าเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามแบบอย่างซึ่งประเทศอื่น ๆ ได้ทำมา

                   อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า  การชำระประมวลกฎหมายซึ่งทำอยู่ ณ บัดนี้ ได้ดำเนินไปมากแล้ว สมควรจะประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ส่วนที่สำคัญและเป็นประโยชน์ตอนหนึ่งก่อนได้  ส่วนอื่น ๆ เมื่อสำเร็จบริบูรณ์จะได้ประกาศให้ใช้เพิ่มเติมในภายหลัง

*[2]

“ข้อความเบื้องต้น

                   มาตรา 1  กฎหมายนี้ให้เรียกว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

                   มาตรา 2  ให้ใช้ประมวลกฎหมายนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมกราคมพระพุทธศักราช

2468 เป็นต้นไป

                   มาตรา 3  ตั้งแต่วันที่ใช้ประมวลกฎหมายนี้สืบไป ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้หรือ ซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายนี้

บรรพ 1

หลักทั่วไป

ลักษณะ 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 4  อันกฎหมายนั้น ท่านว่าต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

                   เมื่อใดไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น

                   ถ้าและไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ท่านให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนี้ก็ไม่มีด้วยไซร้ ท่านให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

                   มาตรา 5  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ท่านว่าบุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

                   มาตรา 6  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต

                   มาตรา 7  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และดอกเบี้ยนั้นมิได้กำหนดอัตราไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันใดอันหนึ่งชัดแจ้งไซร้ ท่านให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

                   มาตรา  8  คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า  เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น

                   มาตรา 9  เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือไซร้ท่านว่าบุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

                   ถ้าบุคคลผู้ใดใช้ตราประทับแทนลงลายมือชื่ออยู่เป็นปกติ การประทับตรา

เช่นนั้น ท่านว่าเสมอกับลงลายมือชื่อ

                   ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงใด ฤาเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี ทำลงใน

เอกสาร หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ท่านว่าเสมอกับลงลายมือชื่อ

                   มาตรา 10  เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้เป็นสองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ท่านให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล

                   มาตรา 11  ในกรณีที่มีข้อสงสัย ท่านให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น

                   มาตรา 12  ลงจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารด้วยตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับเลขทั้งสองอย่างนั้นไม่ตรงกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ไซร้ ให้ฟังเอาจำนวนเงินหรือปริมาณซึ่งเขียนเป็นตัวอักษรนั้นเป็นประมาณ

                   มาตรา 13  ถ้าจำนวนเงินหรือปริมาณได้แสดงไว้เปนตัวอักษรหลายแห่ง

ฤาตัวเลขหลายแห่ง แต่ที่แสดงไว้หลายแห่งนั้นไม่ตรงกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ไซร้ ให้ฟังเอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ

                   มาตรา 14  ถ้าเอกสารทำขึ้นไว้เป็นสองภาษา เป็นภาษาไทยภาษาหนึ่งภาษาอื่นภาษาหนึ่ง แต่ข้อความในสองภาษานั้นแตกต่างกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะให้ใช้ภาษาใดบังคับไซร้ ท่านถือเอาภาษาไทยบังคับ

ลักษณะ 2

บุคคล

หมวด 1

บุคคลธรรมดา

ส่วนที่ 1

สภาพบุคคล

                   มาตรา 15  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสุดสิ้นลงเมื่อตาย

                   ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถจะมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังเกิดมารอดอยู่

                   มาตรา 16  ถ้าเป็นพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้วันเกิดของบุคคลผู้ใด ท่านให้นับอายุบุคคลผู้นั้นตั้งแต่วันต้นแห่งปีประดิทินหลวงซึ่งเป็นปีที่บุคคลผู้นั้นเกิด

                   มาตรา 17  ถ้าบุคคลหลายคนถึงชีวิตันตรายในเหตุภยันตรายร่วมกันและเป็นการพ้นวิสัยจะกำหนดได้ว่าคนไหนถึงชีวิตันตรายก่อนหลังไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตายพร้อมกัน

                   มาตรา 18  สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้นถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อยู่มาใช้นามเดียวกัน โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้เจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลอื่นนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

ส่วนที่ 2

ความสามารถ

                   มาตรา 19  เมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ

                   มาตรา 20  ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำเมื่อฝ่ายชายผู้เยาว์มีอายุสิบเจ็ดปี และฝ่ายหญิงผู้เยาว์มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว

                   มาตรา 21  อันผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  บรรดาการใด ๆ อันผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้น ท่านว่าเป็นโมฆียะ เว้นแต่ที่จะกล่าวไว้ในมาตราทั้งสี่ต่อไปนี้

                   มาตรา 22  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากน่าที่อันใดอันหนึ่ง

                   มาตรา 23  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว

                   มาตรา 24  ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นเพื่อเลี้ยงชีพตามสมควร

                   มาตรา 25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

                   มาตรา 26  ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุให้ ท่านว่าผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุให้นั้น ก็ทำได้ตามใจสมัคร  อนึ่งถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร

                   มาตรา 27  ผู้เยาว์จะขออนุญาตผู้แทนโดยชอบธรรม เพื่อทำกิจการค้าขายรายหนึ่ง หรือหลายรายก็ได้  ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมไม่อนุญาต และผู้เยาว์ร้องขอต่อศาล ๆ จะมีคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้เยาว์ทำกิจการค้าขายก็ได้เมื่อเห็นว่าการนั้นจะเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้เยาว์

                   มาตรา 28  ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตให้ทำกิจการค้าขายรายหนึ่ง หรือหลายรายแล้ว ในความเกี่ยวพันกับกิจการค้าขายอันนั้น ท่านว่าผู้เยาว์ย่อมมีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วฉะนั้น

                   ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้เยาว์ไม่สามารถจัดการค้าขายนั้นได้ ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือศาลจะกลับถอนคืนอนุญาตเสียก็ได้ สุดแล้วแต่กรณี

                   มาตรา 29  บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าภริยาสามีก็ดี ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ ก็ดี ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งให้บุคคลผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

                   คำสั่งศาลอันนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา 30  บุคคลผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นท่านว่าต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล

                   มาตรา 31  การใด ๆ อันบุคคลผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำลง การนั้นท่านว่าเป็นโมฆียะ

                   มาตรา 32  การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตได้ทำลง แต่หากบุคคลนั้นศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถไซร้ ท่านว่าการนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าทำลงในเวลาซึ่งบุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วว่าผู้ทำเป็นคนวิกลจริต

                   มาตรา 33  ถ้าเหตุอันทำให้ไร้ความสามารถได้สุดสิ้นไปแล้ว และเมื่อตัวบุคคลผู้นั้นเองฤาบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 29 นั้นร้องขอต่อศาล ก็ให้ศาลถอนคำที่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นให้

                   คำสั่งของศาลถอนคำสั่งเดิมนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา 34  บุคคลผู้ใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้เพราะกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบก็ดี เพราะความประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณก็ดี เพราะเป็นคนติดสุรายาเมาก็ดี เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดดังระบุไว้ในมาตรา 29 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลผู้นั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความพิทักษ์ก็ได้

                   คำสั่งศาลนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา 35  บุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวต่อไปนี้ได้ คือ

                   (1) รับ หรือใช้เงินทุน

                   (2) ทำสัญญากู้ยืม หรือรับประกัน

                   (3) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มา หรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

                   (4) ทำการอันหนึ่งอันใดเกี่ยวด้วยคดีความในศาล เว้นแต่การร้องขอ

ถอนผู้พิทักษ์

                   (5) ให้โดยเสน่หา หรือปรานีประนอมยอมความ หรือทำความตกลงให้

อนุญาโตตุลาการพิจารณาคดี

                   (6) รับ หรือบอกสละความเป็นทายาท

                   (7) บอกปัดไม่รับเมื่อเขาได้ให้โดยเสน่หา หรือไม่รับส่วนทรัพย์มรดก

หรือรับเอาทรัพย์เขาให้ หรือทรัพย์มฤดกอันมีค่าภาระติดพัน

                   (8) ก่อสร้าง ปลูกสร้างซ่อมแปลง หรือขยายโรงเรือนให้ใหญ่ขึ้น หรือ

ทำการซ่อมแซมอย่างใหญ่

                   (9) เช่า หรือให้เช่าทรัพย์สินเป็นสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดนานกว่าหกเดือน

หรือเป็นอสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดนานกว่าสามปี

                   อนึ่งในพฤติการอันสมควร ศาลจะสั่งว่าบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน เพื่อทำการอื่นใดนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นอีกก็ได้

                   การใดอันกระทำลงฝ่าฝืนบทบัญญัติทั้งหลายซึ่งกล่าวข้างบนนี้ ท่านว่าเป็น

โมฆียะ

                   มาตรา 36  ถ้าเหตุอันทำให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถนั้นได้สุดสิ้นไปแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 33 มาใช้บังคับตามแต่กรณี

                   มาตรา 37  หญิงมีสามีนั้น ในส่วนที่เกี่ยวด้วยสินส่วนตัว ย่อมมีฐานะอย่างบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ

                   มาตรา 38  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายต่อไปนี้ หญิงมีสามี ถ้ามิได้รับอนุญาตของสามีหาอาจทำการอันหนึ่งอันใดที่จะผูกพันสินบริคณห์ได้ไม่

                   การใดอันกระทำลงฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ท่านว่าเป็นโมฆียะ

                   มาตรา 39  ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ หญิงมีสามีย่อมทำการอันผูกพันส่วนของตนในสินบริคณห์ได้โดยมิพักต้องได้รับอนุญาตของสามี คือ

                   (1) เมื่อเป็นการไม่แน่นอนว่าสามียังมีชีวิตอยู่ ฤาตายแล้ว

                   (2) เมื่อสามีได้สละละทิ้งตน

                   (3) เมื่อสามีถูกศาลสั่งแสดงให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือน

ไร้ความสามารถ

                   (4) เมื่อสามีวิกลจริตต้องเข้าอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อพิทักษ์รักษา

                   (5) เมื่อสามีต้องคำพิพากษาลงอาญาจำคุกปีหนึ่งขึ้นไป หรืออาญาแรงกว่านั้นและกำลังรับโทษอยู่

                   มาตรา 40  หญิงมีสามีอาจทำพินัยกรรมว่าด้วยส่วนของตนในสินบริคณห์ได้

มิพักต้องได้อนุญาตของสามี

                   มาตรา 41  ถ้าหญิงมีสามีได้รับอนุญาตของสามีให้ทำกิจการค้าขายอันใดอันหนึ่งแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว จะทำนิติกรรมและอรรถคดีอย่างใด ๆ ภายในขอบแห่งกิจการค้าขายอันนั้น ก็หาจำเป็นต้องมีอนุญาตของสามีอีกชั้นหนึ่งไม่

                   ถ้าหญิงนั้นทำกิจการค้าขายเช่นนั้นด้วยความรู้เห็นของสามีและสามีก็มิได้

ทักท้วงประการใดไซร้ ท่านให้ถือว่าสามีได้อนุญาตแล้วโดยปริยาย

                   อนึ่งกรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม หญิงมีสามีจะทำการผูกพันถึงสินบริคณห์ได้

แต่เฉพาะเพียงที่เป็นส่วนของตนเท่านั้น

                   มาตรา 42  สามีจะถอนคืนหรือจำกัดข้ออนุญาตอันตนได้ให้ไว้นั้นก็ได้แต่การถอนคืนฤาจำกัดเช่นว่านี้หาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลผู้ทำการโดยสุจริตได้ไม่

                   มาตรา 43  ถ้าสามีหน่วงหรือถอนการอนุญาตโดยปราศจากเหตุอันสมควร

หญิงมีสามีจะร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งอนุญาตให้ตนจัดการแก่ส่วนของตนในสินบริคณห์ก็ได้

                   เวลาพิจารณาคำร้องต้องเรียกสามีมาสู่ศาลด้วย

                   เมื่อศาลเห็นว่าการนั้นจะเป็นคุณประโยชน์แก่หญิงนั้น จะออกคำสั่งอนุญาต

ก็ได้ และศาลจะถอนคืนฤาจำกัดข้อคำสั่งอนุญาตนั้นก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร

ส่วนที่ 3

ภูมิ์ลำเนา

                   มาตรา 44  ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดาได้แก่ ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ

                   มาตรา 45  ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไปก็ดี หรือมีหลักแหล่งที่ทำการเป็นปกติต่างแห่งหลายแห่งก็ดี ท่านให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งดังกล่าวมาก่อน และหลังนั้นว่าเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น

                   มาตรา 46  ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ท่านให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เปนภูมิลำเนา

                   มาตรา 47  บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่งก็ดี หรือเป็นผู้ครองชีพในการเดินทางไปมาปราศจากสำนักหลักแหล่งที่ทำการงานก็ดี พบตัวในถิ่นไหน ท่านให้ถือเอาว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น

                   มาตรา 48  ภูมิลำเนาย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่ พร้อมด้วยเจตนาปรากฏว่าจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนา

                   มาตรา 49  ถ้าได้เลือกเอาถิ่นใดเป็นภูมิลำเนา แต่เฉพาะการ เพื่อจะทำการอันใดอันหนึ่ง ท่านให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาในการอันนั้น

                   มาตรา 50  หญิงมีสามีถือเอาภูมิลำเนาของสามี ถ้าสามีไปตั้งภูมิลำเนาในถิ่นต่างประเทศ และหญิงนั้นมิได้ตามไปอยู่ด้วย และไม่จำต้องตามไปอยู่ด้วยไซร้ท่านว่าหญิงนั้นย่อมมิได้ถือเอาภูมิลำเนาของสามี

                   มาตรา 51  ภูมิลำเนาของผู้เยาว์หรือของบุคคลผู้ไร้ความสามารถนั้นได้แก่ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรม

                   มาตรา 52  ข้าราชการทั้งปวงนั้น ท่านถือว่าย่อมมีภูมิลำเนา ณ ถิ่นอันเป็นที่ทำการตามตำแหน่งน่าที่ หากมิใช่เป็นตำแหน่งที่ชั่วคราวชั่วระยะเวลาหรือเป็นเพียงแต่งตั้งไปเฉพาะการครั้งหนึ่งครั้งเดียว

ส่วนที่ 4

สาบสูญ

                   มาตรา 53  ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ทั้งมิได้ตั้งตัวแทนมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรไซร้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ๆ จะสั่งการให้ทำพลางตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลนั้นก็ได้

                   อนึ่งเมื่อเวลาได้ล่วงไปปีหนึ่งแล้ว นับแต่วันที่บุคคลนั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเลยก็ดี หรือปีหนึ่งนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็น หรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังที่สุดก็ดี ศาลจะตั้งแต่งผู้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้นั้นขึ้นก็ได้

                   มาตรา 54  ถ้าผู้ไม่อยู่นั้นได้ตั้งตัวแทนมอบอำนาจทั่วไปไว้ แต่หากการมอบอำนาจนั้นถึงที่สุดลงก็ดี หรือปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทรัพย์สินนั้นเกลือกจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ก็ดี ท่านให้นำบทบัญญัติตามความในมาตราก่อนนี้มาใช้

                   มาตรา 55  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง หรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปให้จัดการทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นขึ้นก็ได้

                   มาตรา 56  ถ้าเป็นการจำเป็นที่ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปจะต้องทำการอันใดอันหนึ่ง เกินขอบอำนาจที่ได้รับไว้ เมื่อขออนุญาตต่อศาลได้แล้วจะทำการเช่นนั้นก็ได้

                   มาตรา 57  ผู้จัดการที่ศาลได้ตั้งแต่ขึ้น ต้องทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ในขณะเมื่อเข้าจัดการ บัญชีทรัพย์สินนี้ต้องทำต่อหน้าพยานสองคน และให้ลงลายมือชื่อพยานในบัญชีนั้นด้วย

                   มาตรา 58  ผู้จัดการนั้นมีอำนาจอย่างตัวแทนซึ่งได้รับมอบอำนาจทั่วไป เมื่อจะทำการใด ๆ เกินขอบอำนาจต้องได้รับอนุญาตของศาลก่อนแล้วจึงทำได้

                   มาตรา 59  ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งแต่งตัวแทนมอบอำนาจเฉภาะการอันใดไว้ผู้จัดการหาอาจจะสอดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการที่เป็นอำนาจเฉพาะการเช่นนั้นได้ไม่  แต่ถ้ามาพิจารณาเห็นปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นเกลือกจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ไซร้ ก็อาจจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียได้

                   มาตรา 60  ศาลจะสั่งเองในขณะใด ๆ หรือจะมีคำสั่งเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอขึ้น ในการเหล่านี้ก็สั่งได้ คือ

                   (1) ให้ผู้จัดการหาประกันให้ไว้เพื่อการที่จัดทำ และเพื่อส่งคืนทรัพย์สินที่มอบไว้

                   (2) ให้ผู้จัดการแจ้งรายงานให้ทราบว่าทรัพย์สินที่ว่ามาแล้วนั้นเป็นอยู่อย่างไร ๆ

                   (3) ถอดถอนผู้จัดการออกเสียโดยมีเหตุอันสมควร และตั้งแต่งผู้อื่นให้จัดการแทนผู้นั้นต่อไป

                   มาตรา 61  ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้จัดการได้รับสินจ้างคิดจ่ายจากทรัพย์สิน

ของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้

                   มาตรา 62  อำนาจของผู้จัดการนั้นย่อมสุดสิ้นลงในกรณีดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) เมื่อผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา

                   (2) เมื่อได้หลักฐานเป็นแน่ชัดว่าผู้ไม่อยู่นั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือถึงแก่

ความตาย

                   (3) เมื่อผู้จัดการลาออกหรือถึงแก่ความตาย

                   (4) เมื่อศาลมีคำสั่งแสดงความสาบสูญ

                   (5) เมื่อศาลถอดถอนผู้จัดการ

                    มาตรา 63  กฎหมายลักษณะตัวแทนดังกล่าวไว้ในลักษณะ 15 แห่งบรรพ 3 นั้น ท่านให้ใช้บังคับในการจัดทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่เพียงที่ไม่ขัดขวางหรือไม่แย้งกับความในส่วนนี้

                   มาตรา 64  ถ้าบุคคลได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และตราบเท่าเจ็ดปีไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ๆ จะสั่งให้บุคคลเช่นนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

                   วิธีเดียวกันนี้ทราบให้ใช้ตลอดถึงบุคคลซึ่งได้ไปถึงสมรภูมิแห่งสงครามหรือไปตกอยู่ในเรือเมื่ออับปาง หรือไปตกต้องในฐานที่จะเป็นภยันตรายแก่ชีวิตประการอื่นใด หากนับแต่เวลาเมื่อสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว หรือนับแต่เมื่อเรืออับปาง หรือนับแต่เมื่อภยันตรายประการอื่น ๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้วนั้น ได้เวลาถึงสามปียังไม่มีใครทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร

                   มาตรา 65  บุคคลอันศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วนั้น ท่านให้ถือว่าถึงความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังได้ระบุไว้ในมาตราก่อนนั้น

                   มาตรา 66  ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลที่สาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตราก่อนนั้นก็ดี เมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือผู้ใดผู้หนึ่งผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ๆ จะต้องถอนคำสั่งแสดงความสาบสูญนั้นให้ แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลาย อันได้ทำไปโดยสุจริตในระวางเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งแสดงความสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

                   อนึ่งบุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลที่สั่งแสดงสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งแสดงสาบสูญนั้น จำต้องส่งคืนทรัพย์สินแต่เพียงเท่าที่ยังได้เป็นลาภแก่ตนอยู่เท่านั้น

                   มาตรา 67  คำสั่งศาลแสดงสาบสูญก็ดี คำสั่งถอนคำสั่งนั้นก็ดี ท่านให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

หมวด 2

นิติบุคคล

ส่วนที่ 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 68  อันว่านิติบุคคลนั้น จะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติทั้งหลายของประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

                   มาตรา 69  นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมายภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของตน ดังมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง

                   มาตรา 70  ภายในบังคับแห่งบทมาตราก่อนนี้ นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เว้นเสียแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งว่าโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น

                   มาตรา 71  ภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้นได้แก่ถิ่นที่สำนักงานแห่งใหญ่หรือที่ตั้งทำการ หรือถิ่นที่ได้เลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง

                   อนึ่งถิ่นที่มีสาขาสำนักงานจะจัดว่าเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันทำ ณ ที่นั้นด้วยก็ได้

                    มาตรา 72  จำพวกที่กล่าวต่อไปนี้ ย่อมเป็นนิติบุคคล คือ

                   (1) ทบวงการเมือง

                   (2) วัดวาอาราม

                   (3) ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว

                   (4) บริษัทจำกัด

                   (5) สมาคม

                   (6) มูลนิธิได้รับอำนาจแล้ว

                   มาตรา 73  ทบวงการเมืองนั้น คือ กระทรวงและกรมในรัฐบาลเทศาภิบาลปกครองท้องที่ และประชาบาลทั้งหลาย

                   มาตรา 74  การจัดควบคุมทบวงการเมืองและวัดวาอาราม ย่อมเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งปวงที่ว่าด้วยการนั้น

                   มาตรา 75  อันความประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้น

                   มาตรา 76  ผู้จัดการทั้งหลายก็ดี ผู้แทนอื่น ๆ ก็ดี ของนิติบุคคล หากทำการตามหน้าที่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่บุคคลอื่นไซร้ท่านว่านิติบุคคลจำต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ตัวผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหายได้ภายหลัง

                   ถ้าและความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้นเกิดแต่ทำการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งมิได้อยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์แห่งนิติบุคคลนั้นไซร้ ท่านว่าสมาชิก หรือผู้จัดการทั้งหลายเหล่านั้นบรรดาที่ได้ออกเสียงลงมติให้ทำการเช่นนั้น กับทั้งผู้จัดการและผู้แทนอื่น ๆ ทั้งหลายบรรดาที่ได้เป็นผู้ลงมือทำการ จะต้องรับผิดร่วมกันออกใช้ค่าสินไหมทดแทน

                   มาตรา 77  ถ้ามีผู้จัดการหลายคน และมิได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งก็ดี มิได้บัญญัติไว้เป็นประการอื่นโดยกฎหมายก็ดีการจะทำความตกลงต่าง ๆ ในทางอำนวยกิจการของนิติบุคคลนั้น ท่านให้เป็นไปตามเสียงข้างมากในหมู่ผู้จัดการหลายด้วยกัน

                   มาตรา 78  ข้อจำกัดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้จัดการทั้งหลายในการเป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้นอย่างใด ๆ ก็ดี ท่านว่าหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตได้ไม่

                   มาตรา 79  ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้จัดการ และมีเหตุควรวิตกว่าทิ้งตำแหน่งว่างไว้ช้าไปเกลือกจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ไซร้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ๆ จะตั้งแต่งผู้จัดการชั่วคราวขึ้นก็ได้

                   มาตรา 80  ในการอันใดถ้าประโยชน์ทางได้ทางเสียของนิติบุคคลฝ่ายหนึ่งกับของตัวผู้จัดการอีกฝ่ายหนึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่กัน ท่านว่าในการอันนั้นผู้จัดการเป็นอันไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้ ในกรณีเช่นนี้ต้องตั้งแต่งผู้แทนขึ้นเฉพาะการนั้นตามบทบัญญัติมาตราก่อนนี้

ส่วนที่ 2

มูลนิธิ

                   มาตรา 81  มูลนิธินั้น ได้แก่ทรัพย์สินอันจัดสรรไว้เป็นแพนกเพื่อบำเพ็ญทาน การศาสนา วิทยาศาสตร์ วรรณคดี หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ และไม่ได้หมายค้ากำไร

                   มาตรา 82  มูลนิธินั้นจะต้องก่อตั้งขึ้นด้วยทำตราสารลงไว้ มีข้อความสำคัญตามรายการต่อไปนี้

                   (1) ชื่อของมูลนิธิ

                   (2) วัตถุที่ประสงค์ของมูลนิธิ

                   (3) สำนักงานของมูลนิธิ แม้จะพึงมี

                   (4) ข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินของมูลนิธิ

                   (5) ข้อกำหนดว่าด้วยการตั้งแต่งและถอดถอน ผู้จัดการทั้งหลายของมูลนิธิ

                   มาตรา 83  ถ้ามูลนิธิก่อตั้งขึ้นด้วยนิติธรรมทำยกให้แต่ยังมีชีวิต ท่านให้ใช้บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะให้ อนุโลมตามควรแก่บท

                   ถ้ามูลนิธิก่อตั้งขึ้นด้วยพินัยกรรม ท่านให้ใช้บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะมรดก อนุโลมตามควรแก่บท

                   มาตรา 84  ถ้าผู้ตั้งมูลนิธิตายเสียแต่ยังมิทันได้ทำข้อกำหนดว่าด้วยชื่อ หรือสำนักงานของมูลนิธิ หรือว่าด้วยวิธีตั้งแต่งและถอดถอนผู้จัดการของมูลนิธิไซร้ การเหล่านี้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ก็ให้ศาลกำหนดให้

                   มาตรา 85  มูลนิธินั้นจะจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลด้วยรัฐบาลให้อำนาจเช่นนั้นก็ได้

                   อนึ่งภายในเวลาสิบสี่วันนับแต่รัฐบาลได้ให้อำนาจแล้ว ให้เสนาบดีผู้เป็นเจ้าหน้าที่จัดการให้เก็บใจความแห่งข้อสำคัญของของมูลนิธินั้นโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา 86  การให้อำนาจแก่มูลนิธินั้น ย่อมสุดแล้วแต่อำเภอใจของรัฐบาล และจะบังคับให้มีข้อไขอย่างไร ๆ แล้วจึงอนุญาตตามที่เห็นควรก็ได้

                   มาตรา 87  ในกรณีที่เป็นมูลนิธิอันได้รับอำนาจแต่รัฐบาล ท่านว่าทรัพย์สินอันได้จัดสรรไว้โดยนิติกรรมทำยกให้แต่ยังมีชีวิตนั้น ย่อมตกเป็นของมูลนิธิตั้งแต่เวลาที่รัฐบาลให้อำนาจเป็นต้นไป

                   มาตรา 88  ในความเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอกมูลนิธิที่ได้รับอำนาจแล้ว มีผู้จัดการทั้งหลายเป็นผู้แทนของมูลนิธินั้น

                   มาตรา 89  ในส่วนความเกี่ยวพันระหว่างมูลนิธิที่ได้รับอำนาจกับผู้จัดการทั้งหลายของมูลนิธินั้นเองก็ดี ระหว่างผู้จัดการเหล่านั้นกับบุคคลภายนอกก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะตัวแทน

                   มาตรา 90  มูลนิธิทุกรายย่อมตกอยู่ในบังคับความดูแลตรวจตราของรัฐบาล
เจ้าพนักงานผู้ใดอันรัฐบาลได้ตั้งแต่งไปเพื่อการนั้นแล้ว ให้เข้าดูสมุดหนังสือกับบัญชีของมูลนิธิได้ในเวลาใด ๆ อันสมควร เจ้าพนักงานผู้นั้นอาจจะสอบสวนผู้จัดการและตัวแทน หรือลูกจ้างในมูลนิธิด้วยข้อความใด ๆ ที่เกี่ยวกับมูลนิธินั้นได้

                   มาตรา 91  ถ้าผู้จัดการทั้งหลายจัดการผิดพลาดเสื่อมเสียก็ดี ทำการฝ่าฝืนข้อความแห่งตราสารก่อตั้งมูลนิธินั้นก็ดี เมื่อพนักงานอัยการ หรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอต่อศาล ๆ จะถอดถอนผู้จัดการและตั้งแต่ผู้จัดการขึ้นใหม่คนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้

                   มาตรา 92  มูลนิธินั้นย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุประการใดประการหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) เลิกตามบทบัญญัติที่กล่าวไว้ในตราสารตั้งมูลนิธินั้น

                   (2) เมื่อวัตถุที่ประสงค์แห่งมูลนิธินั้นสำเร็จบริบูรณ์แล้ว หรือกลายเป็นการพ้นวิสัย

                   (3) เมื่อมูลนิธินั้นล้มละลาย

                   (4) เมื่อมีคำสั่งของศาลตามข้อความในมาตราต่อไปนี้

                   มาตรา 93  เมื่อพนักงานอัยการ หรือผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสียด้วยยื่นคำร้องต่อศาล ๆ จะมีคำสั่งให้เลิกมูลนิธินั้นเสีย และตั้งแต่ผู้ชำระบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคน ในกรณีที่กล่าวต่อไปนี้อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ คือ

                   (1) ถ้ามูลนิธินั้นได้ก่อตั้งขึ้นขัดต่อบทบัญญัติในส่วนนี้ หรือว่ามูลนิธินั้นทำการขัดต่อกฎหมายก็ดี หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยฤาศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ด้วยเหมือนกัน

                   (2) ถ้าว่าเป็นอันจะจัดการมูลนิธินั้นให้ดำเนินอยู่ต่อไปอีกไม่ได้ ไม่เลือกว่าเพราะเหตุประการใด ๆ

                   (3) ถ้ามูลนิธิทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในตราสารตั้งมูลนิธินั้นเอง หรือฝ่าฝืนข้อไขซึ่งรัฐบาลได้ให้อำนาจไว้

                   อนึ่งศาลจะสั่งถอดถอนผู้จัดการทั้งหลายและแต่งตั้งผู้จัดการขึ้นใหม่คนหนึ่งหรือหลายคนแทนสั่งเลิกมูลนิธิก็ได้

                   มาตรา 94  ภายในเวลาสิบสี่วันนับแต่มูลนิธิอันได้รับอำนาจจากรัฐบาลได้ถึงที่สิ้นสุดลงนั้น ผู้จัดการทั้งหลายต้องทำหนังสือแจ้งความนั้นแก่ทบวงการเจ้าหน้าที่ และให้เจ้าหน้าที่นำความออกประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาภายในสิบสี่วันนับแต่เมื่อได้รับแจ้งความ

                   มาตรา 95  ในการชำระบัญชีของมูลนิธินั้น ให้ใช้บทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนและบริษัทบังคับ อนุโลมตามควรแก่บทนั้น ๆ

                   มาตรา 96  เมื่อมูลนิธิสิ้นสุดลง ทรัพย์สินของมูลนิธินั้นให้โอนไปยังนิติบุคคล ตามที่จะพึงระบุไว้ในตราสารตั้งมูลนิธินั้น

                   เมื่อไม่มีความกล่าวไว้ถึงนิติบุคคลเช่นว่านี้ ถ้าพนักงานอัยการ หรือผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสียด้วยมีคำร้องของต่อศาลไซร้ ศาลจะสั่งจัดสรรทรัพย์สินนั้นให้แก่นิติบุคคลซึ่งปรากฏว่ามีวัตถุที่ประสงค์ใกล้ชิดกับวัตถุเดิมของมูลนิธินั้น

                   ถ้าหากว่าจัดสรรทรัพย์สินอย่างนี้มิอาจจะทำได้ก็ดี หรือว่ามูลนิธินั้นต้องบังคับให้เลิกเสียเพราะเหตุเป็นการขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแห่งประชาชนก็ดี ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของมูลนิธิตกไปเป็นของแผ่นดินก็ได้

                   มาตรา 97  ข้อบังคับสำหรับการให้อำนาจ การจดทะเบียนและการดูแลตรวจตรามูลนิธิตามความที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ ให้เสนาบดีผู้รับผิดชอบในการปกครองท้องที่เปนผู้ออกกฎข้อบังคับ

                   ให้เสนาบดีจัดการให้มีบัญชีรายนามมูลนิธิทั้งหลายอันได้ให้อำนาจแล้วนั้น

รักษาไว้พร้อมทั้งรายการข้อสำคัญอันได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา

ลักษณะ 3

ทรัพย์

                   มาตรา 98  อันว่าทรัพย์นั้น โดยนิตินัยได้แก่วัตถุมีรูปร่าง

                   มาตรา 99  ทรัพย์สินนั้น ท่านหมายความรวมทั้งทรัพย์ ทั้งวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาได้และถือเอาได้

                   มาตรา 100  อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ที่ดินกับทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินนั้นหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น  อนึ่ง คำว่า อสังหาริมทรัพย์ ท่านหมายรวมถึงสิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิในที่ดินด้วย

                   มาตรา 101  สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ทรัพย์ทั้งหลายอันอาจขนเคลื่อนจากที่

แห่งหนึ่งไปแห่งอื่นได้ ไม่ว่าเคลื่อนด้วยแรงเดินแห่งตัวทรัพย์นั้นเอง หรือเคลื่อนด้วยกำลังภายนอก  อนึ่ง คำว่า สังหาริมทรัพย์ ท่านหมายรวมทั้งกำลังแรงแห่งธรรมชาติอันอาจถือเอาได้ และทั้งสิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวด้วยสังหาริมทรัพย์ด้วย

                   มาตรา 102  สังกมะทรัพย์ ได้แก่สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกติอาจใช้ของอื่นอันเป็นประเภทและชนิดเดียวกันมีปริมาณเท่ากันแทนได้  อสังกมะทรัพย์ได้แก่สังหาริมทรัพย์อันมิอาจจะใช้ของอื่นแทนเช่นนั้นได้

                   มาตรา 103  โภคยทรัพย์ ได้แก่สังหาริมทรัพย์ซึ่งเมื่อใช้ย่อมเสียภาวะเสื่อมสลายไปในทันใดเพราะการใช้นั้น หรือซึ่งใช้ในที่สุดย่อมสิ้นเปลืองหมดไป

                   มาตรา 104  ทรัพย์แบ่งได้นั้น คือทรัพย์อันอาจจะแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว

                   มาตรา 105  ทรัพย์แบ่งไม่ได้ คือทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะแห่งทรัพย์ กับทั้งทรัพย์ซึ่งตามกฎหมายท่านถือว่าแบ่งไม่ได้

                   มาตรา 106  ทรัพย์นอกพาณิชย์ ได้แก่ทรัพย์เช่นที่ไม่สามารถจะถือเอาได้ และทรัพย์ซึ่งไม่โอนให้กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

                   มาตรา 107  ส่วนควบของทรัพย์นั้น คือส่วนซึ่งว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจจะแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย หรือทำบุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง

                   ใครเป็นเจ้าของทรัพย์อันใด ย่อมมีกรรมสิทธิในบรรดาส่วนควบทั้งหลายของทรัพย์อันนั้น

                   มาตรา 108  ไม้ยืนต้น นับว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ปลูกไม้นั้น

                   ไม้ล้มลุกและธัญญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ย่อมไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน และนับว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ด้วย

                   มาตรา 109  ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวย่อมไม่กลายเป็นส่วนควบ วิธีอย่างเดียวกันนี้ย่อมใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น อันผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกทำลงไว้ในที่ดินนั้น

                   มาตรา 110  เครื่องอุปกรณ์ ได้แก่สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่น หรือโดยเจตนาชัดแจ้งแห่งผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เป็นประธาน ย่อมเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์เป็นประธานนั้นเป็นอาจิณ เพื่อประโยชน์แก่การที่จะจัดดูแล หรือใช้สอย หรือรักษาทรัพย์เป็นประธานนั้นเอง และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์เป็นประธานด้วยนำมาติดต่อ หรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นในฐานะเป็นเครื่องใช้ประกอบกับตัวทรัพย์เป็นประธานนั้น

                   เครื่องอุปกรณ์เช่นว่านี้ ถึงจะแยกออกจากทรัพย์เป็นประธานชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากเป็นเครื่องอุปกรณ์ของทรัพย์เป็นประธานนั้น

                   อนึ่งเครื่องอุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์เป็นประธาน เว้นไว้แต่จะได้ตกลงกันจำหน่ายเป็นพิเศษประการอื่น

                   มาตรา 111  ดอกผลทั้งหลายของทรัพย์นั้น มีความหมายดังนี้

                   (1) ดอกผลธรรมดา กล่าวคือว่า บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งได้มาเพราะใช้ของนั้นอันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน ดังเช่นว่า ผลไม้ น้ำนม ขน และลูกของสัตว์ เหล่านี้ย่อมสามารถจะถือเอาได้เวลาเมื่อขาดตกออกจากสิ่งนั้น ๆ

                   (2) ดอกผลนิตินัย กล่าวคือว่า ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล หรือลาภอื่น ๆ ที่ได้เป็นครั้งเป็นคราวแก่เจ้าทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อที่ได้ใช้ทรัพย์นั้นดอกผลเหล่านี้ย่อมคำนวนและถือเอาได้ตามรายวัน

ลักษณะ 4

นิติกรรม

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 112  อันว่านิติธรรมนั้น ได้แก่การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

                   มาตรา 113  การใดมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามขัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี เป็นการพ้นวิสัยก็ดี เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี การนั้นท่านว่าเป็นโมฆะกรรม

                   มาตรา 114  การใดเป็นการผิดแผกแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายใด ๆ ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว เพียงแต่เหตุเท่านั้น ท่านว่าการนั้นหาเป็นโมฆะไม่

                   มาตรา 115  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่มีกฎหมายบังคับไว้ การนั้น

ท่านว่าเป็นโมฆะ

                   มาตรา 116  การใดมิได้เป็นไปตามบทบังคับอันว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นท่านว่าเป็นโมฆียะกรรม

หมวด 2

แสดงเจตนา

                   มาตรา 117  การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ตนได้แสดงออกมานั้นก็ดี ท่านว่าหาเป็นมูลทำให้การแสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

                   มาตรา 118  การแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านว่าเป็นโมฆะ แต่ข้อไม่สมบูรณ์อันนี้ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้น

                   ถ้านิติกรรมอันหนึ่งทำด้วยเจตนาจะอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งไซร้ ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยนิติกรรมอำพราง

                   มาตรา 119  การแสดงเจตนา ถ้าทำด้วยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ท่านว่าเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสำคัญผิดนั้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนาไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหาอาจจะถือเอาความไม่สมบูรณ์นั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนได้ไม่

                   มาตรา 120  การแสดงเจตนา ถ้าทำด้วยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ ซึ่งตามปกติย่อมนับว่าเป็นสาระสำคัญนั้นไซร้ แสดงเจตนาอย่างนี้ท่านว่าเป็นโมฆียะ

                   มาตรา 121  การแสดงเจตนาอันได้มาเพราะกลฉ้อฉลก็ดี เพราะข่มขู่ก็ดี ท่านว่าเป็นโมฆียะ

                   ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งได้แสดงเจตนาเพราะกลฉ้อฉลของบุคคลภายนอก การจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ฤาควรจะได้รู้กลฉ้อฉลนั้น

                   ถ้าทำกลฉ้อฉลลวงให้เขาบอกล้างการแสดงเจตนา การบอกล้างเช่นนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

                   มาตรา 122  การอันจะเป็นโมฆียะกรรมเพราะกลฉ้อฉลนั้นต่อเมื่อถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น การอันนั้นก็คงจะมิได้ทำขึ้นเลย

                   มาตรา 123  ถ้ากลฉ้อฉลนั้นเป็นแต่เพื่อเหตุ กล่าวคือว่า เพียงได้จูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับเอาซึ่งข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติไซร้ ท่านว่าคู่กรณีนั้นได้แต่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน จะบอกล้างการอันนั้นเสียทีเดียวหาได้ไม่

                   มาตรา 124  ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริง หรือข้อคุณสมบัติอันใดอันหนึ่ง อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้นั้น ท่านถือว่าเป็นการ
ฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมอันนั้นก็คงจะมิได้ทำขึ้นเลย

                   มาตรา 125  ถ้าคู่กรณีต่างได้ทำการด้วยกลฉ้อฉลทั้งสองฝ่ายด้วยกันท่านว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะหยิบยกข้อฉ้อฉลนั้นขึ้นอ้างเพื่อบอกล้างการนั้น หรือเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนหาได้ไม่

                   มาตรา 126  การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นอันถึงขนาดที่จะจูงใจผู้ถูกข่มขู่ให้มีมูลต้องกลัวจะเกิดความเสียหายเป็นภัยแก่ตนเอง แก่สกุลแห่งตน หรือแก่ทรัพย์สินของตน เป็นภัยอันใกล้จะถึงและอย่างน้อยร้ายแรงเท่ากับที่จะพึงกลัวต่อการอันเขากรรโชกเอานั้น

                   มาตรา 127  การขู่ว่าจะใช้สิทธิอันใดอันหนึ่งตามปรกตินิยมก็ดีเพียงแต่ความกลัวเพราะนับถือยำเกรงก็ดี ท่านหาจัดว่าเป็นการข่มขู่ไม่

                   มาตรา 128  การข่มขู่ย่อมทำให้นิติกรรมเสื่อมเสีย แม้ถึงบุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่

                   มาตรา 129  ในการวินิจฉัยคดีข้อสำคัญผิดก็ดี กลฉ้อฉลก็ดี ข่มขู่ก็ดีท่านให้พิเคราะห์ถึงเพศ อายุ ฐานะ อนามัยและนิสัยใจคอของผู้เจ้าทุกข์ตลอดถึงพฤติการอื่นทั้งปวงอันอาจเป็นน้ำหนักแก่การนั้นด้วย

                   มาตรา 130  การแสดงเจตนาทำให้แก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทางย่อมมีผลนับแต่เวลาที่ไปถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นต้นไป แต่ถ้าบอกถอนไปถึงผู้นั้นก่อนแล้ว หรือพร้อมกันไซร้ แสดงเจตนานั้นก็ย่อมตกเป็นอันไร้ผล

                   อนึ่งเมื่อเจตนาได้ส่งไปแล้ว ถึงแม้ว่าในภายหลังผู้แสดงเจตนาจะตายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถก็ตาม ท่านว่าหาเป็นเหตุให้ความสมบูรณ์แห่งการแสดงเจตนานั้นเสื่อมเสียไปไม่

                   มาตรา 131  ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อได้รับซึ่งการแสดงเจตนานั้นเป็นผู้เยาว์ก็ดี เป็นผู้ที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ดี การแสดงเจตนานั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กรณีนั้น แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากปรากฏว่าผู้แทนโดยชอบธรรมได้รู้ด้วยแล้ว

                   มาตรา 132  ในการตีความแสดงเจตนานั้น ท่านให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร

หมวด 3

โมฆะและโมฆียะกรรม

                   มาตรา 133  อันความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้น ท่านว่าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้

                   มาตรา 134 โมฆะกรรมนั้น ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้

                   มาตรา 135  ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ ท่านว่านิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะด้วยกันทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณี ว่าคู่กรณีได้เจตนาจะให้ส่วนที่สมบูรณ์นั้นแยกออกหากจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ได้

                   มาตรา 136  การใดเป็นโมฆะกรรมแต่เข้าแบบเป็นนิติกรรมอย่างอื่นโมฆะกรรมนั้นท่านว่าย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยฐานเป็นนิติกรรมอย่างอื่นนั้น หากเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีคู่กรณีได้รู้ว่าการตามจำนงนั้นไม่สมบูรณ์ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นอย่างหลังนี้

                   มาตรา 137  โมฆียะกรรมนั้น ท่านว่าบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ผู้ไร้ความสามารถก็ดี หรือผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดยวิปริตก็ดี หรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้พิทักษ์ หรือทายาทของบุคคลเช่นว่านั้นก็ดี จะบอกล้างเสียก็ได้

                   โมฆียะกรรมอันหญิงมีสามีได้ทำลงนั้น ท่านว่าสามีจะบอกล้างเสียก็ได้

                   มาตรา 138  โมฆียะกรรม เมื่อบอกล้างแล้ว ท่านให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก

                   ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ท่านให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นไม่สมบูรณ์

                   ในการนี้ให้ผู้เป็นคู่กรณีได้กลับคืนยังฐานะเดิม และถ้าเป็นพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

                   มาตรา 139  ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดดังระบุไว้ในมาตรา 137 ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ท่านให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ข้อนี้หาอาจจะกระทบกระทั่งถึงสิทธิทั้งหลายของบุคคลภายนอกได้ไม่

                   มาตรา 140  ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแห่งโมฆียะกรรมนั้น เป็นบุคคลมีตัวกำหนดแน่นอน การนั้นท่านว่าย่อมบอกล้างหรือให้สัตยาบันได้ด้วยแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้นั้น

                   มาตรา 141  ในการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น ท่านว่าสัตยาบันจะสมบูรณ์ก็แต่เมื่อทำให้ภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว

                   บุคคลผู้ที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าได้มารู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรม
เช่นว่านี้เมื่อตนได้กลับเปนผู้มีความสามารถแล้ว จะให้สัตยาบันได้ต่อภายหลังเวลาที่ได้รู้เช่นนั้น

                   บทบัญญัติที่ว่ามาในสองวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้ถึงกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรม

หรือผู้พิทักษ์เป็นผู้ให้สัตยาบัน

                   มาตรา 142  ถ้าในภายหลังเวลาอันจะพึงให้สัตยาบันได้ตามความในมาตราก่อนนั้น มีข้อความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมไซร้ ถ้ามิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใดท่านให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน ทั้งนี้คือเช่นว่า

                   (1) ได้มีการชำระหนี้อันหากก่อขึ้นด้วยโมฆียะกรรมนั้นแล้วสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน

                   (2) ได้มีการเรียกทวงให้ชำระหนี้ตามโมฆียะกรรมนั้นแล้ว

                   (3) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่

                   (4) ได้มีการวางประกันเพื่อหนี้นั้น

                   (5) ได้มีการโอนซึ่งสิทธิ ฤาความรับผิดอันเกิดแต่โมฆียะกรรมนั้นสิ้นเชิง

หรือแต่บางส่วน

                   มาตรา 143  อันโมฆียะกรรมนั้น ท่านห้ามมิให้บอกล้างเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่จะอาจให้สัตยาบันได้  อนึ่ง ถ้าเวลาได้ล่วงไปถึงสิบปีนับแต่เมื่อได้ทำโมฆียะกรรมนั้นแล้ว ก็เป็นอันจะบอกล้างไม่ได้ดุจกัน

หมวด 4

เงื่อนไข และเงื่อนเวลาเริ่มต้น หรือเวลาสิ้นสุด

                   มาตรา 144  ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน ข้อความเช่นนั้นท่านเรียกว่าเงื่อนไข

                   มาตรา 145  นิติกรรมใดมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

                   นิติกรรมใดมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

                   ถ้าคู่กรณีแห่งนิติกรรมได้แสดงเจตนาไว้ด้วยกัน ว่าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสำเร็จ ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเช่นนั้น

                   มาตรา 146  ในระหว่างที่เงื่อนไขยังมิได้สำเร็จนั้น คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแห่งนิติกรรมอันอยู่ในบังคับเงื่อนไขจะต้องงดเว้นไม่ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่เสื่อมเสียประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้แต่ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้น

                   มาตรา 147  ในระหว่างที่เงื่อนไขยังมิได้สำเร็จนั้น สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของคู่กรณีมีอย่างไร จะจำหน่าย จะรับมฤดก จะจัดการป้องกันรักษาหรือจะทำประกันไว้ประการใดตามกฎหมายก็ย่อมทำได้

                   มาตรา 148  ถ้าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายไหนเสียเปรียบและคู่กรณีฝ่ายนั้นเข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้สำเร็จได้ด้วยเจตนาทุจริตไซร้ ท่านให้ถือว่าเงื่อนไขอันนั้นเป็นอันได้สำเร็จแล้ว

                   ถ้าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายไหนได้เปรียบ และคู่กรณีฝ่ายนั้นขวนขวายจัดทำให้เงื่อนไขนั้นสำเร็จขึ้นด้วยเจตนาทุจริตไซร้ ท่านให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันมิได้สำเร็จเลย

                   มาตรา 149  ถ้าเงื่อนไขได้สำเร็จแล้วแต่ในเวลาทำนิติกรรม หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์ปราศจากเงื่อนไข หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

                   ถ้าในเวลาทำนิติกรรม เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้ หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์ปราศจากเงื่อนไข

                   ในกรณีดังกล่าวมาในสองวรรคก่อนนี้ ตราบใดคู่กรณียังไม่ว่าเงื่อนไขได้สำเร็จแล้ว หรือมิอาจจะสำเร็จได้ ตราบนั้นท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 146 และ 147 บังคับ แล้วแต่กรณี

                   มาตรา 150  นิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี ขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี นิติกรรมนั้นท่านว่าเป็นโมฆะ

                   มาตรา 151  นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน และเงื่อนไขนั้นเป็นการอันพ้นวิสัย ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

                   นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลังและเงื่อนไขนั้นเป็นการอันพ้นวิสัย ท่านว่า

นิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์ปราศจากเงื่อนไข

                   มาตรา 152  นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน และเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่ สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้เท่านั้นไซร้ นิติกรรมนั้นท่านว่าเป็นโมฆะ

                   มาตรา 153  ถ้านิติกรรมมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ท่านห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมก่อนถึงเวลากำหนด

                   ถ้านิติกรรมมีเงื่อนเวลาสุดสิ้นกำหนดไว้ ท่านว่านิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลากำหนด

                   มาตรา 154  อันเงื่อนเวลาเริ่มต้น หรือเวลาสุดสิ้นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าย่อมกำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะปรากฏโดยเนื้อความแห่งตราสาร หรือโดยพฤติการแห่งกรณีว่าได้ตั้งใจจะให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าหนี้หรือแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยกัน

                   อนึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้น ฝ่ายใดจะสละเสียก็ได้ แต่การสละนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับแต่เงื่อนเวลานั้น

                   มาตรา 155  ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านห้ามมิให้ฝ่ายลูกหนี้ถือเอา

ประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลาเริ่มต้น หรือเวลาสุดสิ้น คือ

                   (1) ถ้าลูกหนี้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

                   (2) ถ้าลูกหนี้ได้ทำลาย หรือทำให้ลดน้อยถอยลงซึ่งประกันอันได้ให้ไว้

                   (3) ถ้าลูกหนี้ไม่ให้ประกันในเมื่อจำต้องให้

ลักษณะ 5

ระยะเวลา

                   มาตรา 156  วิธีการกำหนดนับระยะเวลาทั้งปวง ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยกฎหมายหรือกฎ ข้อบังคับ โดยคำสั่งศาล หรือโดยนิติกรรม

                   มาตรา 157  ระยะเวลานั้น ท่านให้คำนวนเป็นวัน

                   ถ้าระยะเวลานับเป็นชั่วโมง ท่านว่าระยะเวลาย่อมเริ่มต้นในทันใดนั้น

                   มาตรา 158  ถ้าระยะเวลานับเป็นวันก็ดี สัปดาห์ก็ดี เดือนหรือปีก็ดีท่านมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวนเข้าด้วย เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มทำการงานกันตามประเพณี

                   มาตรา 159  ถ้าระยะเวลานับเป็นสัปดาห์ก็ดี เดือนหรือปีก็ดี ท่านให้คำนวนตามประดิทินในราชการ

                   ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ก็ดี วันต้นแห่งเดือนหรือปี

ก็ดี ท่านว่าระยะเวลาย่อมสุดสิ้นลงในวันก่อนน่าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือนหรือปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ท่านว่าวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสุดสิ้นระยะเวลา

                   มาตรา 160  ระยะเวลานั้นถ้าผ่อนออกไป ท่านให้นับเอาวันซึ่งต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมนั้นเป็นวันต้นแห่งระยะเวลาซึ่งผ่อนออกไป

                   มาตรา 161  ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุดซึ่งตามประเพณีงดเว้น
การงาน ท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย

                   มาตรา 162  ในทางความ ในทางราชการ และทางการค้าขายนั้นวัน หมายความว่าเวลาทำการงานตามปกติ

ลักษณะ 6

อายุความ

                   มาตรา 163  อันสิทธิเรียกร้องอย่างใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับเสียภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ ท่านว่าตกเป็นอันขาดอายุความ ห้ามมิให้ฟ้องร้อง

                   มาตรา 164  อันอายุความนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้มีกำหนดสิบปี

                   มาตรา 165  สิทธิเรียกร้องดังจะกล่าวต่อไปนี้มีกำหนดอายุความสองปี คือ

                   (1) บุคคลผู้เป็นพ่อค้า ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้เป็นช่างฝีมือ และบุคคลจำพวกประกอบศิลปะอุตสาหกรรม เรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ ทำของ และค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดลองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง

                   (2) บุคคลผู้ประกอบกสิกรรม หรือการป่าไม้ เรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบสิ่งอันเป็นผลแห่งกสิกรรม หรือป่าไม้ เพียงที่เป็นการสำหรับใช้สอยในบ้านเรือนของฝ่ายลูกหนี้

                   (3) บุคคลผู้ขนส่งทางรถไฟ ผู้รับบรรทุกของ คนเรือ คนขับรถจ้าง และคนเดินหนังสือ เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป

                   (4) บุคคลผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรม และบุคคลจำพวกที่ค้าในการจำหน่าย

อาหารและเครื่องดื่ม เรียกเอาค่าที่ได้จัดที่พักอาศัยและจัดอาหารให้ หรือค่าการงานอย่างอื่นอันได้ทำให้แก่แขกอาศัยเพื่อสำเร็จความต้องการ รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปด้วย

                   (5) บุคคลจำพวกที่ขายตั๋วสลากกินแบ่ง เรียกเอาค่าที่ได้ขายตั๋ว เว้นแต่

เป็นการที่ได้ส่งมอบตั๋วเพียงสำหรับให้ขายต่อไป

                   (6) บุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า

                   (7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (1) แต่เป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปด้วย

                   (8) บุคคลผู้รับจ้างใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาเงินจ้าง ค่าจ้างหรือสินจ้างชนิดอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปด้วยกับทั้งนายจ้างเรียกเอาเงินเช่นที่ว่านั้นอันตนได้จ่ายล่วงหน้าให้ไปแล้วนั้นก็ด้วยเหมือนกัน

                   (9) คนงาน ผู้ช่วยงาน ลูกมือฝึกหัด คนประจำโรงงาน หัตถกรรม กรรมกร

รายวันและช่างฝีมือ เรียกเอาเงินจ้างและเงินอื่นอันได้ตกลงกันว่าจะจ่ายให้แทนหรือให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินจ้าง รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป กับนายจ้างเรียกเอาเงินเช่นที่ว่านั้นอันตนได้จ่ายล่วงหน้าให้ไปแล้วนั้นก็ด้วยเหมือนกัน

                   (10) ครูผู้สอนลูกมือฝึกหัด เรียกเอากำนลและค่าการงานอย่างอื่น ตามที่

ได้ตกลงกันไว้โดยสัญญาลูกมือฝึกหัด รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปแทนลูกมือฝึกหัดนั้นด้วย

                   (11) สาธารณสถานที่ศึกษา ที่ฝึกสอน ที่พิทักษ์ราคาคนเจ็บไข้ และเจ้าของสถานของเอกชนอันเป็นที่ทำการทำนองเช่นว่ามานั้น เรียกเอาค่าศึกษา ค่าที่ได้ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้ และค่าที่ได้ออกเงินไปเกี่ยวกับการนั้น ๆ

                   (12) บุคคลจำพวกที่รับคนเข้าไว้บำรุงเลี้ยง หรือฝึกสอน เรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำไป และค่าที่ได้ออกเงินจ่ายไปทำนองเช่นระบุไว้ในอนุมาตรา 11

                   (13) ครูอาจารย์ เรียกเอาค่าสอน

                   (14) บุคคลผู้ประกอบการแพทย์ รวมทั้งศัลยแพทย์ สูติแพทย์ ทันตแพทย์และ

ช่างฟัน และสัตวแพทย์ กับทั้งนางผดุงครรภ์ นางพยาบาล เรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปด้วย

                   (15) หมอความ ทนายความ รวมทั้งบรรดาบุคคลที่ทางราชการได้ตั้งแต่งหรืออนุญาตให้จัดกิจการเฉพาะบางอย่าง เรียกเอาค่าธรรมเนียม และค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปเพียงที่มิใช่เป็นเงินอันอยู่ในประเภทจะต้องส่งเข้าท้องพระคลัง

                   (16) บุคคลผู้เป็นคู่ความ เรียกเอาเงินที่ได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ทนายความของตน

                   (17) บุคคลผู้เป็นพยาน และผู้เชี่ยวชาญ เรียกเอาค่าธรรมเนียม และค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป

                   สิทธิเรียกร้องเช่นระบุไว้ในวรรค 1 อนุมาตรา 1, 2 และ 5 นั้นอย่างใดไม่เข้าอยู่ในบังคับอายุความสองปี ท่านให้มีกำหนดอายุความห้าปี

                   มาตรา 166  ในการเรียกเอาดอกเบี้ยค้างส่งก็ดี เรียกเอาจำนวนเงินอันพึงส่งนอกจากดอกเบี้ยเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ นั้นก็ดี ในการเรียกเอาค่าเช่าทรัพย์สินค้างส่ง นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 165 วรรค 1 อนุมาตรา 6 นั้นก็ดีในการเรียกเอาเงินค่าจ่าย คือ เงินปี เงินเดือน เงินเบี้ยบำนาญ เงินค่าบำรุงรักษา และเงินอื่น ๆ บรรดาที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลานั้นก็ดี สิทธิเรียกร้องเหล่านี้ท่านให้มีกำหนดอายุความห้าปี

                   มาตรา 167  สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากร ท่านให้มีกำหนดอายุความสิบปี เรียกเพื่อหนี้อย่างอื่นท่านให้บังคับตามบทบัญญัติสามมาตราก่อนนี้

                   มาตรา 168  สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาชั้นที่สุดของศาลก็ดี โดยคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการก็ดี โดยประนีประนอมยอมความก็ดีท่านให้มีกำหนดอายุความสิบปี แม้ทั้งที่เป็นประเภทอันอยู่ในบังคับอายุความกำหนดน้อยกว่านั้น

                   มาตรา 169  อันอายุความนั้น ท่านให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องเพื่อให้งดเว้นการอย่างใดอย่างหนึ่งท่านให้นับอายุความเริ่มแต่เวลาแรกที่ละเมิดสิทธินั้นเป็นต้นไป

                   มาตรา 170  ถ้าเจ้าหนี้อยู่ในฐานที่จะทวงถามให้ชำระหนี้มิได้ จนกว่าจะได้บอกกล่าวแก่ลูกหนี้ก่อนไซร้ ท่านให้นับอายุความเริ่มแต่เวลาแรกที่จะอาจส่งคำบอกกล่าวได้

                   ถ้าลูกหนี้ยังไม่จำต้องชำระหนี้จนกว่าระยะเวลาอันหนึ่งอันใดจะได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่เวลาที่ได้บอกกล่าวนั้นไซร้ ท่านยังมิให้เริ่มนับอายุความจนกว่าระยะเวลาอันนั้นจะได้สิ้นไปแล้ว

                   มาตรา 171  ถ้าสิทธิเรียกร้องจะเกิดมีขึ้นได้ต่อเมื่ออาศัยการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิบอกล้างอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ท่านให้นับอายุความเริ่มแต่ขณะแรกที่จะอาจบอกล้างได้

                   มาตรา 172  ถ้าลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้ก็ตาม ด้วยใช้เงินให้บางส่วน ด้วยส่งดอกเบี้ยฤาด้วยให้ประกันก็ตาม หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้นก็ตาม ท่านว่าอายุความย่อมสะดุดหยุดลง

                   มาตรา 173  ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องก็ดีเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้องก็ดี หรือทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันเช่น ยื่นคำร้องขอพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลาย หรือมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก็ดี ท่านว่าอายุความย่อมสะดุดหยุดลง

                   มาตรา 174  การฟ้องคดี ท่านไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง หากว่าคดีนั้นได้ถอนเสีย ละทิ้งเสีย หรือต้องยกฟ้อง

                   มาตรา 175  เมื่อฟ้องคดียังศาลแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดอยู่จนกว่าคดีนั้นจะได้วินิจฉัยถึงที่สุด หรือเสร็จไปเป็นประการอื่น

                   มาตรา 176  ถ้าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล และกำหนดอายุความสิ้นไปแล้วในระหว่างพิจารณาก็ดี หรือจะสิ้นลงในระหว่างหกเดือนภายหลังที่ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดก็ดี ท่านให้ขยายอายุความนั้นออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น

                   มาตรา 177  การยื่นคำร้องขอพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลาย ท่านไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง หากว่าใบพิสูจน์หนี้นั้นได้ถอนเสีย ละทิ้งเสียหรือต้องยกเสียแล้ว

                   มาตรา 178  ในการพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลายนั้น อายุความสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะยกเลิกการล้มละลาย หรือจนกว่าจะเฉลี่ยทรัพย์รายได้เป็นครั้งที่สุด

                   ถ้ามีจำนวนเงินใดยึดไว้ เพราะข้อพิสูจน์หนี้หรือสิทธิเรียกร้องยังเป็นที่โต้แย้งอยู่ อายุความก็คงสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะได้วินิจฉัยข้อพิสูจน์หรือสิทธิเรียกร้องนั้นเสร็จถึงที่สุด

                   มาตรา 179  ในกรณีที่มอบให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 174 มาตรา 175 และ 176 บังคับอนุโลมตามควร

                   มาตรา 180  เจ้าหนี้ผู้จะได้รับใช้เงินเป็นคราว ๆ ตามมูลแห่งหนี้มีสิทธิที่จะให้ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ในเวลาหนึ่งเวลาใดก่อนอายุความครบบริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าอายุความสะดุดหยุดลง

                   มาตรา 181  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ได้ล่วงไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้าในอายุความ

                   เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสุดสิ้นเวลาใด ท่านให้เริ่มนับอายุความขึ้นใหม่แต่เวลานั้นสืบไป

                   มาตรา 182  อันอายุความ เมื่อครบกำหนดบริบูรณ์แล้ว ย่อมให้ผลย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่เริ่มนับอายุความ

                   มาตรา 183  ถ้าเวลาหนึ่งเวลาใดในหกเดือนก่อนอายุความครบกำหนดนั้น ผู้เยาว์ก็ดี หรือบุคคลวิกลจริตอันศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือหาไม่ก็ดี มิได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมไซร้ ท่านว่าอายุความอันให้โทษแก่บุคคลเช่นนั้นยังไม่ครบบริบูรณ์ จนกว่าจะสิ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือนับแต่เวลาเมื่อความที่ขาดตัวผู้แทนโดยชอบธรรมอยู่นั้นได้สิ้นไปแล้ว

                   มาตรา 184  ในส่วนสิทธิของผู้เยาว์ หรือของบุคคลวิกลจริต ไม่ว่าศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือหาไม่ อันจะว่ากล่าวเอาแก่ผู้แทนโดยชอบธรรมของตนนั้น อายุความไม่ครบบริบูรณ์จนกว่าจะพ้นปีหนึ่งภายหลังบุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือจนกว่าจะได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมขึ้นใหม่

                   วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงสิทธิของบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถอันจะว่ากล่าวเอาแก่ผู้พิทักษ์ของตนด้วยโดยอนุโลม

                   มาตรา 185  สิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา อายุความไม่ครบบริบูรณ์จนกว่าจะขาดจากสามีภริยากันแล้วปีหนึ่ง

                   มาตรา 186  อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลเมื่อเวลาตายนั้น ถ้าจะขาดลงภายในเวลาต่ำกว่าปีหนึ่งนับแต่วันตายไซร้ท่านให้ขยายอายุความนั้นออกไปเป็นปีหนึ่งนับแต่วันตาย

                   มาตรา 187  ถ้าในเวลาที่อายุความจะสุดสิ้นลงนั้น มีเหตุสุดวิสัยมากีดกันมิให้เจ้าหนี้สามารถทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ไซร้ ท่านว่าอายุความนั้นยังไม่ครบบริบูรณ์จนกว่าจะพ้นเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่อุปสรรคเช่นนั้นได้สูญสิ้นไป

                   มาตรา 188  เมื่อกำหนดอายุความได้ล่วงพ้นไปแล้ว ฝ่ายลูกหนี้ชอบที่จะบอกปัดการชำระหนี้ได้

                   ถ้ามีการชำระหนี้อย่าใด ๆ ไปตามสิทธิเรียกร้องอันขาดอายุความแล้วเป็นราคามากน้อยเท่าใด ท่านว่าจะเรียกคืนหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าการชำระหนี้นั้นจะได้ทำไปเพราะไม่รู้กำหนดอายุความก็เรียกคืนไม่ได้

                   วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการรับสภาพความรับผิดชอบโดยสัญญาและการที่ลูกหนี้ให้ประกันด้วย

                   มาตรา 189  เหตุที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ ย่อมไม่ห้ามผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ หรือผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สิน หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินอันตนได้ยึดถือไว้ในการที่จะใช้สิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองจำนำ หรือยึดถือไว้นั้น แต่เมื่อใช้สิทธิอันนี้ท่านห้ามมิให้เจ้าหนี้คิดเอาดอกเบี้ยที่ค้างกว่าห้าปีขึ้นไป

                   มาตรา 190  เมื่อสิทธิเรียกร้องในส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความแล้วสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นอุปกรณ์อันต้องอาศัยส่วนที่เป็นประธานนั้นก็ตกเป็นอันขาดอายุความตามกันไปด้วย แม้ถึงว่าอายุความอันพึงใช้เฉพาะแก่สิทธิเรียกร้องส่วนอุปกรณ์อันนั้นจะยังไม่ครบบริบูรณ์ก็ตาม

                   มาตรา 191  อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นผู้ใดหาอาจจะขยายออกหรือย่นเข้าได้ไม่

                   มาตรา 192  ประโยชน์แห่งอายุความนั้น จะอาจละเสียได้ต่อเมื่ออายุความครบบริบูรณ์แล้ว แต่การที่ละเสียเช่นนี้ย่อมไม่ลบล้างสิทธิของบุคคลภายนอก

                   อนึ่งการที่ลูกหนี้ชั้นต้นละเสียซึ่งอายุความนั้น ย่อมไม่ลบล้างสิทธิของผู้ค้ำประกัน

                   มาตรา 193  เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ท่านว่าศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้

บรรพ 2

หนี้

ลักษณะ 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

หมวด 1

วัตถุแห่งหนี้

                   มาตรา 194  ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

                   มาตรา 195  เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตามสภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณีไม่อาจจะกำหนดได้ว่าทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลาง

                   ถ้าลูกหนี้ได้กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการ

แล้วก็ดี หรือถ้าลูกหนี้ได้เลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้จำเดิมแต่เวลานั้นไป

                   มาตรา 196  ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินสยามก็ได้

                   การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน

                   มาตรา 197  ถ้าหนี้เงินจะพึงส่งใช้ด้วยเงินตราชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเฉพาะ อันเป็นชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้วในเวลาที่จะต้องส่งเงินใช้หนี้นั้นไซร้ การส่งใช้เงินท่านให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดนั้น

                   มาตรา 198  ถ้าการอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่างแต่จะต้องกระทำเพียงการใดการหนึ่งอย่างเดียวไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกทำการอย่างใดนั้นตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 199  การเลือกนั้นท่านให้ทำด้วยแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

                   การชำระหนี้ได้เลือกทำเป็นอย่างใดแล้ว ท่านให้ถือว่าอย่างนั้นอย่างเดียวเป็นการชำระหนี้อันกำหนดให้กระทำแต่ต้นมา

                   มาตรา 200  ถ้าจะต้องเลือกภายในระยะเวลาอันมีกำหนด และฝ่ายที่มีสิทธิจะเลือกมิได้เลือกภายในระยะเวลานั้นไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกนั้นย่อมตกไปอยู่แก่อีกฝ่ายหนึ่ง

                   ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาให้เลือกไซร้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ฝ่ายที่ไม่มีสิทธิจะเลือกอาจกำหนดเวลาพอสมควรแก่เหตุ แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายโน้นใช้สิทธิเลือกภายในเวลาอันนั้น

                   มาตรา 201  ถ้าบุคคลภายนอกจะพึงเป็นผู้เลือก ท่านให้กระทำด้วยแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ และลูกหนี้จะต้องแจ้งความนั้นแก่เจ้าหนี้

                   ถ้าบุคคลภายนอกนั้นไม่อาจจะเลือกได้ก็ดี หรือไม่เต็มใจจะเลือกก็ดีท่านว่าสิทธิที่จะเลือกตกไปอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้

                   มาตรา 202  ถ้าการอันจะพึงต้องทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่างและอย่างใดอย่างหนึ่งตกเป็นอันพ้นวิสัยจะทำได้มาแต่ต้นก็ดี หรือกลายเป็นพ้นวิสัยในภายหลังก็ดี ท่านให้จำกัดหนี้นั้นไว้เพียงการชำระหนี้อย่างอื่นที่ไม่พ้นวิสัย อนึ่งการจำกัดอันนี้ย่อมไม่เกิดมีขึ้น หากว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายที่ไม่มีสิทธิจะเลือกนั้นต้องรับผิดชอบ

หมวด 2

ผลแห่งหนี้

ส่วนที่ 1

การไม่ชำระหนี้

                   มาตรา 203  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

                   ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

                   มาตรา 204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

                   ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งประดิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวนนับได้โดยประดิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

                   มาตรา 205  ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่

                   มาตรา 206  ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลลเะมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด

                   มาตรา 207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

                   มาตรา 208  การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง

                   แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่าจะไม่รับชำระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะชำระหนี้จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่าได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้นเท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีเช่นนี้ท่านว่าคำบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคำขอปฏิบัติการชำระหนี้

                   มาตรา 209  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น จะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด

                   มาตรา 210  ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ส่วนของตนต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้ขอปฏิบัตินั้นแล้วก็ดี หากไม่เสนอที่จะทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงต้องทำ เจ้าหนี้ก็เป็นอันได้ชื่อว่าผิดนัด

                   มาตรา 211  ในเวลาที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นก็ดี หรือในเวลาที่กำหนดไว้ให้เจ้าหนี้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 นั้นก็ดี ถ้าลูกหนี้มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ไซร้ท่านว่าเจ้าหนี้ยังหาผิดนัดไม่

                   มาตรา 212  ถ้ามิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ก็ดี หรือถ้าลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ได้ก่อนเวลากำหนดก็ดี การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชำระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้นั้น หาทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าวการชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันสมควร

                   มาตรา 213  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

                   เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

                   ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

                   อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่

                   มาตรา 214  เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

                   มาตรา 215  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้

                   มาตรา 216  ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้

                   มาตรา 217  ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระวางเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้น ถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง

                   มาตรา 218  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

                   ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นจะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นแล้วและเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้

                   มาตรา 219  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

                   ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้

ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น

                   มาตรา 220  ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 373 หาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่

                   มาตรา 221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

                   มาตรา 222  การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

                   เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว

                   มาตรา 223  ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

                   วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

                   มาตรา 224  หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

                   ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด

                   การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

                   มาตรา 225  ถ้าลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุอันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัดก็ดี หรือวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัดก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่จะต้องใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็ได้ วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่ลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำ เพราะวัตถุนั้นเสื่อมเสียลงในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย

ส่วนที่ 2

รับช่วงสิทธิ

                   มาตรา 226  บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

                   ช่วงทรัพย์ ได้แก่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่ง ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน

                   มาตรา 227  เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย

                   มาตรา 228  ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้นเป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้

                   ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ และถ้าใช้สิทธินั้นดังได้ระบุไว้ในวรรคต้นไซร้ ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมลดจำนวนลงเพียงเสมอราคาแห่งของแทนซึ่งลูกหนี้ได้รับไว้ หรือเสมอจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ลูกหนี้จะเรียกร้องได้นั้น

                   มาตรา 229  การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำ จำนอง

                   (2) บุคคลผู้ใดไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป

                   (3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกันผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น

                   มาตรา 230  ถ้าในการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์อันหนึ่งอันใดของลูกหนี้นั้น บุคคลผู้ใดจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์อันนั้นเพราะการบังคับยึดทรัพย์ไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นมีสิทธิจะเข้าใช้หนี้เสียแทนได้ อนึ่งผู้ครองทรัพย์อันหนึ่งอันใด ถ้าจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิครองทรัพย์นั้นไปเพราะการบังคับยึดทรัพย์ ก็ย่อมมีสิทธิจะทำได้เช่นเดียวกับที่ว่ามานั้น

                   ถ้าบุคคลภายนอกผู้ใดมาใช้หนี้แทนจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องอันนี้จะบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่

                   มาตรา 231  ถ้าทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรืออยู่ในบังคับบุริมสิทธิประการอื่นนั้นเป็นทรัพย์อันได้เอาประกันภัยไว้ไซร้ ท่านว่าสิทธิจำนอง จำนำหรือบุริมสิทธิอย่างอื่นนั้นย่อมครอบไปถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ประกันภัยด้วย

                   ในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่ามีจำนองหรือบุริมสิทธิอย่างอื่นไซร้ ท่านยังมิให้ผู้รับประกันภัยใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัย จนกว่าจะได้บอกกล่าวเจตนาเช่นนั้นไปยังผู้รับจำนอง หรือเจ้าหนี้มีบุริมสิทธิคนอื่นแล้ว และมิได้รับคำคัดค้านการที่จะใช้เงินนั้นมาภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันบอกกล่าว แต่สิทธิอย่างใด ๆ ที่ได้จดทะเบียน ณ หอทะเบียนที่ดินนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นอันรู้ถึงผู้รับประกันภัย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการจำนองสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้นั้นด้วย

                   ในกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรงก็ได้ เว้นแต่ตนจะได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าทรัพย์นั้นตกอยู่ในบังคับจำนำหรือบุริมสิทธิ
อย่างอื่น

                   ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมาหรือได้จัดของแทนให้

                   วิธีเดียวกันนี้ท่านให้อนุโลมใช้บังคับแก่กรณีบังคับซื้อกับทั้งกรณีที่ต้องใช้ค่าเสียหายอันควรจะได้แก่เจ้าของทรัพย์สิน เพราะเหตุทรัพย์สินทำลายหรือบุบสลายนั้นด้วย

                   มาตรา 232  ถ้าตามความในมาตราก่อนนี้เป็นอันว่าจะเอาเงินจำนวนหนึ่งให้แทนทรัพย์สินที่ทำลายหรือบุบสลายไซร้ เงินจำนวนนี้ท่านยังมิให้ส่งมอบแก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ หรือเจ้าหนี้มีบุริมสิทธิคนอื่น ก่อนที่หนี้ซึ่งได้เอาทรัพย์นี้เป็นประกันไว้นั้นจะถึงกำหนด และถ้าคู่กรณีไม่สามารถจะตกลงกับลูกหนี้ได้ไซร้ ท่านว่าต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้นำเงินจำนวนนั้นไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน เว้นแต่ลูกหนี้จะหาประกันให้ไว้ตามสมควร

ส่วนที่ 3

การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

                   มาตรา 233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

                   มาตรา 234  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

                   มาตรา 235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้

                   แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

                   มาตรา 236  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใด ๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

ส่วนที่ 4

เพิกถอนการฉ้อฉล

                   มาตรา 237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

                   บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

                   มาตรา 238  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

                   อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

                   มาตรา 239  การเพิกถอนนั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้หมดทุกคน

                   มาตรา 240  การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น

ส่วนที่ 5

สิทธิยึดหน่วง

                   มาตรา 241  ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด

                   อนึ่งบทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                   มาตรา 242  สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย

                   มาตรา 243  ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้เจ้าหนี้มีสิทธิจะยึดหน่วงทรัพย์สินไว้ได้ แม้ทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดเรียกร้องถ้าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถใช้หนี้นั้นได้เกิดเป็นขึ้นหรือรู้ถึงเจ้าหนี้ต่อภายหลังเวลาที่ได้ส่งมอบทรัพย์สินไซร้ ถึงแม้ว่าจะไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ไว้เดิม หรือไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก็ดี เจ้าหนี้ก็อาจจะใช้

สิทธิยึดหน่วงได้

                   มาตรา 244  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจะใช้สิทธิของตนแก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่ยึดหน่วงไว้นั้นจนกว่าจะชำระหนี้สิ้นเชิงก็ได้

                   มาตรา 245  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจะเก็บดอกผลแห่งทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้และจัดสรรเอาไว้เพื่อการชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้คนอื่นก็ได้

                   ดอกผลเช่นว่านี้จะต้องจัดสรรเอาชำระดอกเบี้ยแห่งหนี้นั้นก่อน ถ้ายังมีเหลือจึงให้จัดสรรใช้ต้นเงิน

                   มาตรา 246  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจำต้องจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้นั้นตามสมควร เช่นจะพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะเช่นนั้น

                   อนึ่งทรัพย์สินซึ่งยึดหน่วงไว้นั้น ถ้ามิได้รับความยินยอมของลูกหนี้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหาอาจจะใช้สอยหรือให้เช่า หรือเอาไปทำเปนหลักประกันได้ไม่ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับไปถึงการใช้สอยเช่นที่จำเป็นเพื่อจะรักษาทรัพย์สินนั้นเอง

                   ถ้าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติใดที่กล่าวมานี้ ท่านว่าลูกหนี้จะเรียกร้องให้ระงับสิทธินั้นเสียก็ได้

                   มาตรา 247  ถ้าผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงต้องเสียค่าใช้จ่ายไปตามที่จำเป็นเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอันตนยึดหน่วงไว้นั้นเพียงใด จะเรียกให้เจ้าทรัพย์ชดใช้ให้ก็ได้

                   มาตรา 248  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 189 การใช้สิทธิยึดหน่วงหาทำให้อายุความแห่งหนี้สะดุดหยุดลงไม่

                   มาตรา 249  ลูกหนี้จะเรียกร้องให้ระงับสิทธิยึดหน่วงด้วยหาประกันให้ไว้ตามสมควรก็ได้

                   มาตรา 250  การครองทรัพย์สินสูญสิ้นไป สิทธิยึดหน่วงก็เป็นอันระงับสิ้นไปด้วย แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ทรัพย์สินอันยึดหน่วงไว้นั้นได้ให้เช่าไปหรือจำนำไว้ด้วยความยินยอมของลูกหนี้

ส่วนที่ 6

บุริมสิทธิ

                   มาตรา 251  ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือบทกฎหมายอื่น

                   มาตรา 252  บทบัญญัติแห่งมาตรา 244 นั้น ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงบุริมสิทธิด้วยตามแต่กรณี

1 บุริมสิทธิสำคัญ

                   มาตรา 253  ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้คือ

                   (1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน

                   (2) ค่าปลงศพ

                   (3) ค่าภาษีอากร

                   (4) ค่าจ้างเสมียน คนใช้ และคนงาน

                   (5) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน

                   มาตรา 254  บุริมสิทธิในมูลค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันนั้นใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายอันได้เสียไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้หมดทุกคนร่วมกันเกี่ยวด้วยการรักษา การชำระบัญชี หรือการเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้

                   ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมิได้เสียไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้หมดทุกคนไซร้บุริมสิทธิย่อมจะใช้ได้แต่เฉพาะต่อเจ้าหนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการนั้น

                   มาตรา 255  บุริมสิทธิในมูลค่าปลงศพนั้น ใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายในการปลงศพตามควรแก่ฐานานุรูปของลูกหนี้

                   มาตรา 256  บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรนั้น ใช้สำหรับเอาบรรดาค่าภาษีอากรในที่ดิน ทรัพย์สิน หรือค่าภาษีอากรอย่างอื่นที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง

                   มาตรา 257  บุริมสิทธิในมูลค่าจ้างเสมียน หรือคนใช้ เพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้นั้น ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือน แต่ไม่ให้เกินสามร้อยบาทต่อเสมียนหรือคนใช้คนหนึ่ง ๆ

                   บุริมสิทธิในมูลค่าจ้างคนงานนั้น ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปสองเดือน แต่ไม่ให้เกินร้อยห้าสิบบาทต่อคนงานคนหนึ่ง ๆ

                   มาตรา 258  บุริมสิทธิในมูลค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันนั้นใช้สำหรับเอาค่าเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งยังค้างชำระอยู่นับถอยหลังขึ้นไปหกเดือนเช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม โคมไฟ ฟืน ถ่าน อันจำเป็นเพื่อการทรงชีพของลูกหนี้และบุคคลในสกุลซึ่งอยู่กับลูกหนี้และซึ่งลูกหนี้จำต้องอุปการะ กับทั้งคนใช้ของลูกหนี้ด้วย

2 บุริมสิทธิพิเศษ

(ก) บุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์

                   มาตรา 259  ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์เฉพาะอย่างของลูกหนี้ คือ

                   (1) เช่าอสังหาริมทรัพย์

                   (2) พักอาศัยในโรงแรม

                   (3) รับขนคนโดยสาร ฤาของ

                   (4) รักษาสังหาริมทรัพย์

                   (5) ซื้อขายสังหาริมทรัพย์

                   (6) ค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ ฤาปุ๋ย

                   (7) ค่าแรงงานกสิกรรม ฤาอุตสาหกรรม

                   มาตรา 260  บุริมสิทธิในมูลเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และหนี้อย่างอื่นของผู้เช่าอันเกิดจากความเกี่ยวพันในเรื่องเช่า และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ของผู้เช่าซึ่งอยู่ในฤาบนอสังหาริมทรัพย์นั้น

                   มาตรา 261  บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าที่ดินนั้นมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายอันผู้เช่าได้นำเข้ามาไว้บนที่ดินที่ให้เช่า หรือนำเข้ามาไว้ในเรือนโรงอันใช้ประกอบกับที่ดินนั้น และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์เช่นสำหรับที่ใช้ในที่ดินนั้น กับทั้งเหนือดอกผลอันเกิดจากที่ดินซึ่งอยู่ในครอบครองของผู้เช่านั้นด้วย

                   บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าเรือนโรงย่อมมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้เช่านำเข้ามาไว้ในเรือนโรงนั้นด้วย

                   มาตรา 262  ถ้าการเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้โอนไปก็ดี หรือได้ให้เช่าช่วงก็ดี บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าเดิมย่อมครอบไปถึงสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้รับโอนหรือผู้เช่าช่วงได้นำเข้ามาไว้ในทรัพย์สินนั้นด้วย ความที่กล่าวนี้ท่านให้ใช้ได้ตลอดถึงเงินอันผู้โอนหรือผู้ให้เช่าช่วงจะพึงได้รับจากผู้รับโอนหรือผู้เช่าช่วงนั้นด้วย

                   มาตรา 263  ในกรณีที่ผู้เช่าต้องชำระบัญชีเฉลี่ยทรัพย์สินทั่วไปนั้นบุริมสิทธิของผู้ให้เช่าย่อมมีอยู่แต่เฉพาะสำหรับเอาใช้ค่าเช่าและหนี้อย่างอื่นเท่าที่มีในระยะกำหนดส่งค่าเช่าเพียงสามระยะ คือปัจจุบันระยะหนึ่ง ก่อนนั้นขึ้นไประยะหนึ่ง และต่อไปภายน่าอีกระยะหนึ่งเท่านั้น และใช้สำหรับเอาค่าเสียหายซึ่งเกิดขึ้นในระยะกำหนดส่งค่าเช่าปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกระยะหนึ่งด้วย

                   มาตรา 264  ในการเรียกร้องของผู้ให้เช่า ถ้าผู้ให้เช่าได้รับเงินประกันไว้ ผู้ให้เช่าย่อมมีบุริมสิทธิแต่เพียงในส่วนที่ไม่มีเงินประกัน

                   มาตรา 265  บุริมสิทธิในมูลพักอาศัยในโรงแรมนั้น ใช้สำหรับเอาเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่เจ้าสำนักเพื่อการพักอาศัยและการอื่น ๆ อันได้จัดให้สำเร็จความปรารถนาแก่คนเดินทาง หรือแขกอาศัย รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปและมีอยู่เหนือเครื่องเดินทาง หรือทรัพย์สินอย่างอื่นของคนเดินทาง หรือแขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น

                   มาตรา 266  ผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือเจ้าสำนักโรงแรม โฮเต็ลหรือสถานที่เช่นนั้น จะใช้บุริมสิทธิของตนบังคับทำนองเดียวกับผู้รับจำนำก็ได้บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับจำนำนั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

                   มาตรา 267  บุริมสิทธิในมูลรับขนนั้น ใช้สำหรับเอาค่าระวางพาหนะในการรับขนคนโดยสารหรือของ กับทั้งค่าใช้จ่ายอันเป็นอุปกรณ์ และเป็นบุริมสิทธิมีอยู่เหนือของและเครื่องเดินทางทั้งหมดอันอยู่ในมือของผู้ขนส่ง

                   มาตรา 268  ในกรณีดังได้ปรารภไว้ในความแปดมาตราก่อนนี้นั้น ผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ดี เจ้าสำนักโรงแรมก็ดี หรือผู้ขนส่งก็ดี จะใช้บุริมสิทธิของตนเหนือสังหาริมทรัพย์อันเปนของบุคคลภายนอกก็ได้ เว้นแต่ตนจะได้รู้ในเวลาอันควรรู้ได้ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเปนของบุคคลภายนอก

                   ถ้าสังหาริมทรัพย์นั้นถูกลักหรือสูญหาย ท่านให้บังคับตามบทกฎหมายว่าด้วย

การแสวงคืนครองทรัพย์

                   มาตรา 269  บุริมสิทธิในมูลรักษาสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสังหาริมทรัพย์ และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์อันนั้น

                   อนึ่งบุริมสิทธินี้ยังใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอันได้เสียไปเพื่อที่จะสงวนสิทธิ หรือรับสภาพสิทธิ หรือบังคับสิทธิ อันเกี่ยวด้วยสังหาริมทรัพย์นั้นอีกด้วย

                   มาตรา 270  บุริมสิทธิในมูลซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาราคาซื้อขายและดอกเบี้ยในราคานั้น และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์อันนั้น

                   มาตรา 271  บุริมสิทธิในมูลค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ยนั้น ใช้สำหรับเอาราคาค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย และดอกเบี้ยในราคานั้น และมีอยู่เหนือดอกผลอันเกิดงอกในที่ดิน เพราะใช้สิ่งเหล่านั้นภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ใช้

                   มาตรา 272  บุริมสิทธิในมูลค่าแรงงานเพื่อกสิกรรมและอุตสาหกรรมนั้นในส่วนบุคคลที่ได้ทำการงานกสิกรรม ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปปีหนึ่งและในส่วนบุคคลที่ได้ทำการงานอุตสาหกรรม ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปสามเดือน และเป็นบุริมสิทธิมีอยู่เหนือดอกผลหรือสิ่งของที่ประดิษฐ์ขึ้นอันเกิดแต่แรงงานของบุคคลนั้น ๆ

(ข) บุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์

                   มาตรา 273  ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์เฉพาะอย่างของลูกหนี้ คือ

                   (1) รักษาอสังหาริมทรัพย์

                   (2) จ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์

                   (3) ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

                   มาตรา 274  บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอสังหาริมทรัพย์ และมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้น

                   อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 269 วรรคสองนั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ด้วย

                   มาตรา 275  บุริมสิทธิในมูลจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาสินจ้าง ค่าทำของเป็นการงานอันผู้ก่อสร้างสถาปนิก หรือผู้รับจ้างได้ทำลงบนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ และมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้น

                   อนึ่งบุริมสิทธินี้ย่อมเกิดขึ้นต่อเมื่ออสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาเพิ่มขึ้นในปัจจุบันเพราะการที่ได้ทำขึ้นนั้น และมีอยู่เพียงเหนือราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

                   มาตรา 276  บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ใช้สำหรับเอาราคาอสังหาริมทรัพย์และดอกเบี้ยในราคานั้นและมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้น

3 อันดับแห่งบุริมสิทธิ

                   มาตรา 277  เมื่อมีบุริมสิทธิสามัญหลายรายแย้งกัน ท่านให้ถือว่าบุริมสิทธิทั้งหลายนั้นมีลำดับที่จะให้ผลก่อนหลังดังที่ได้เรียงลำดับไว้ในมาตรา

                   เมื่อมีบุริมสิทธิสามัญแย้งกับบุริมสิทธิพิเศษ ท่านว่าบุริมสิทธิพิเศษย่อมอยู่ในลำดับก่อน แต่บุริมสิทธิในมูลค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกันนั้นย่อมอยู่ในลำดับก่อนในฐานที่จะใช้สิทธินั้นต่อเจ้าหนี้ผู้ได้รับประโยชน์จากการนั้นหมดทุกคนด้วยกัน

                   มาตรา 278  เมื่อมีบุริมสิทธิแย้งกันหลายรายเหนือสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านให้ถือลำดับก่อนหลังดังที่เรียงไว้ต่อไปนี้ คือ

                   (1) บุริมสิทธิในมูลเช่าอสังหาริมทรัพย์ พักอาศัยในโรงแรมและรับขน

                   (2) บุริมสิทธิในมูลรักษาสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้ามีบุคคลหลายคนเป็นผู้รักษา

ท่านว่าผู้ที่รักษาภายหลังอยู่ในลำดับก่อนผู้ที่ได้รักษามาก่อน

                   (3) บุริมสิทธิในมูลซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย

และค่าแรงงานกสิกรรมและอุตสาหกรรม

                   ถ้าบุคคลผู้ใดมีบุริมสิทธิอยู่ในลำดับเป็นที่หนึ่ง และรู้อยู่ในขณะที่ตนได้ประโยชน์แห่งหนี้มานั้น ว่ายังมีบุคคลอื่นซึ่งมีบุริมสิทธิอยู่ในลำดับที่สองหรือที่สามไซร้ ท่านห้ามมิให้บุคคลผู้นั้นใช้สิทธิในการที่ตนอยู่ในลำดับก่อนนั้นต่อบุคคลอื่นเช่นว่ามา และท่านห้ามมิให้ใช้สิทธินี้ต่อผู้ที่ได้รักษาทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้มีบุริมสิทธิในลำดับที่หนึ่งนั้นเองด้วย

                   ในส่วนดอกผล ท่านให้บุคคลผู้ได้ทำการงานกสิกรรมอยู่ในลำดับที่หนึ่งผู้ส่งเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย อยู่ในลำดับที่สอง และให้ผู้เช่าที่ดิน อยู่ในอันดับที่สาม

                   มาตรา 279  เมื่อมีบุริมสิทธิพิเศษแย้งกันหลายรายเหนืออสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านให้ถือลำดับก่อนหลังดังที่ได้เรียงลำดับไว้ในมาตรา 273

                   ถ้าได้ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นสืบต่อกันไปอีกไซร้ ลำดับก่อนหลังในระหว่างผู้ขายด้วยกันนั้น ท่านให้เป็นไปตามลำดับที่ได้ซื้อขายก่อนและหลัง

มาตรา 280  เมื่อบุคคลหลายคนมีบุริมสิทธิในลำดับเสมอกันเหนือทรัพย์อันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านให้ต่างคนต่างได้รับชำระหนี้เฉลี่ยตามส่วนมากน้อยแห่งจำนวนที่ตนเป็นเจ้าหนี้

4 ผลแห่งบุริมสิทธิ

                   มาตรา 281  บุริมสิทธิอันมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์นั้น ท่านห้ามมิให้ใช้เมื่อบุคคลภายนอกได้ทรัพย์นั้นจากลูกหนี้ และได้ส่งมอบทรัพย์ให้กันไปเสร็จแล้ว

                   มาตรา 282  เมื่อมีบุริมสิทธิแย้งกับสิทธิจำนำสังหาริมทรัพย์ ท่านว่าผู้รับจำนำย่อมมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทรงบุริมสิทธิในลำดับที่หนึ่งดังที่เรียงไว้ในมาตรา 278 นั้น

                   มาตรา 283  บุคคลผู้มีบุริมสิทธิสามัญต้องรับชำระหนี้เอาจากสังหาริมทรัพย์

ของลูกหนี้ก่อน ต่อเมื่อยังไม่พอจึงให้เอาชำระหนี้จากอสังหาริมทรัพย์ได้

                   ในส่วนอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ต้องรับชำระหนี้เอาจากอสังหาริมทรัพย์ อันมิได้ตกอยู่ในฐานเป็นหลักประกันพิเศษเสียก่อน

                   ถ้าบุคคลใดมีบุริมสิทธิสามัญและละเลยด้วยความประมาทเลินเล่อไม่สอดเข้าแย้งขัดในการแบ่งเฉลี่ยทรัพย์ตามความที่กล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างบนนี้ไซร้อันบุคคลนั้นจะใช้บุริมสิทธิของตนต่อบุคคลภายนอกผู้ได้จดทะเบียนสิทธิไว้แล้ว เพื่อจะเอาใช้จนถึงขนาดเช่นที่ตนจะหากได้รับเพราะได้สอดเข้าแย้งขัดนั้น ท่านว่าหาอาจจะใช้ได้ไม่

                   อนึ่งบทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคทั้งสามข้างต้นนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากว่าเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์ได้นั้นจะพึงต้องเอามาแบ่งเฉลี่ยก่อนเงินที่ขายทรัพย์สินอย่างอื่นก็ดี หรือหากว่าเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์อันตกอยู่ในฐานเป็นหลักประกันพิเศษนั้นจะพึงต้องเอามาแบ่งเฉลี่ยก่อนเงินที่ขายอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นก็ดุจกัน

                   มาตรา 284  บุริมสิทธิสามัญนั้น ถึงแม้จะมิได้ไปลงทะเบียนเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ก็ดี ย่อมจะยกขึ้นเปนข้อต่อสู้เจ้าหนี้ใด ๆ ที่ไม่มีหลักประกันพิเศษนั้นได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้ไปลงทะเบียนสิทธิไว้

                   มาตรา 285  บุริมสิทธิในมูลรักษาอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าหากว่าเมื่อทำการเพื่อบำรุงรักษานั้นสำเร็จแล้ว ไปบอกลงทะเบียนไว้โดยพลันไซร้บุริมสิทธิก็คงให้ผลต่อไป

                   มาตรา 286  บุริมสิทธิในมูลจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น หากทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอกลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือทำการไซร้ บุริมสิทธิก็คงให้ผลต่อไป แต่ถ้าราคาที่ทำจริงนั้นล้ำราคาที่ได้ประมาณไว้ชั่วคราว ท่านว่าบุริมสิทธิในส่วนจำนวนที่ล้ำอยู่นั้นหามีไม่

                   ส่วนการที่จะวินิจฉัยว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพราะการอันได้ทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์มากน้อยเพียงใดนั้น ท่านให้ศาลตั้งแต่งผู้เชี่ยวชาญขึ้นเป็นผู้กะประมาณ ในเวลาที่มีแย้งขัดในการแบ่งเฉลี่ย

                   มาตรา 287  บุริมสิทธิใดได้ไปจดลงทะเบียนแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตราทั้งสองข้างบนนี้ บุริมสิทธินั้นท่านว่าอาจจะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนอง

                   มาตรา 288  บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าเมื่อไปลงทะเบียนสัญญาซื้อขายนั้น บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่าราคาหรือดอกเบี้ยในราคานั้นยังมิได้ชำระไซร้บุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไป

                   มาตรา 289  ว่าถึงผลแห่งบุริมสิทธิ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา281 ถึง 288 นี้แล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งลักษณะจำนองมาใช้บังคับด้วยตามแต่กรณี

หมวด 3

ลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคน

                   มาตรา 290  ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นลูกหนี้ก็ดี มีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านว่าลูกหนี้แต่ละคนจะต้องรับผิดเพียงเปนส่วนเท่า ๆ กัน และเจ้าหนี้แต่ละคนก็ชอบที่จะได้รับแต่เพียงเป็นส่วนเท่า ๆ กัน

                   มาตรา 291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกแต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

                   มาตรา 292  การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย

                   ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้หาได้ไม่

                   มาตรา 293  การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดให้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย

                   มาตรา 295  ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

                   ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

                   มาตรา 296  ในระวางลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เปนอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไรลูกหนี้คนอื่น ๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้วส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

                   มาตรา 297  ถ้าในสัญญาอันหนึ่งอันใดมีบุคคลหลายคนร่วมกันผูกพันตนในอันจะทำการชำระหนี้ไซร้ หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องรับผิดเช่นอย่างเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าเป็นการอันจะแบ่งกันชำระหนี้ได้

                   มาตรา 298  ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ไซร้ แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือเจ้าหนี้ร่วมกัน) ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้แม้ทั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว

                   มาตรา 299  การที่เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งผิดนัดนั้น ย่อมเป็นโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วย

                   ถ้าสิทธิเรียกร้องและหนี้สินนั้นเป็นอันเกลื่อนกลืนกันไปในเจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง สิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ อันมีต่อลูกหนี้ก็ย่อมเปนอันระงับสิ้นไป

                   นอกจากนี้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 292, 293 และ 295 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม กล่าวโดยเฉพาะก็คือ แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไป ก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วยไม่

                   มาตรา 300  ในระหว่างเจ้าหนี้ร่วมกันนั้น ท่านว่าต่างคนชอบที่จะได้รับชำระหนี้เป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เปนอย่างอื่น

                   มาตรา 301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

                   มาตรา 302  ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระมิได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้  ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกันไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น อนึ่งเจ้าหนึ่งแต่ละคนจะเรียกให้ลูกหนี้วางทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้หมดทุกคนด้วยกันก็ได้ หรือถ้าทรัพย์นั้นไม่ควรแก่การจะวางไว้ ก็ให้ส่งแก่ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลจะได้ตั้งแต่งขึ้น

                   นอกจากนี้ ข้อความจริงใดที่ท้าวถึงเจ้าหนี้คนหนึ่งเท่านั้น หาเป็นไปเพื่อคุณหรือโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วยไม่

หมวด 4

โอนสิทธิเรียกร้อง

                   มาตรา 303  สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้

                   ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่นการแสดงเจตนาเช่นว่านี้ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเปนข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

                   มาตรา 304  สิทธิเรียกร้องเช่นใด ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดไม่ได้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้น ท่านว่าจะโอนกันหาได้ไม่

                   มาตรา 305  เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจำนองหรือจำนำที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย

                   อนึ่งผู้รับโอนจะใช้บุริมสิทธิใด ๆ ที่ตนมีอยู่เกี่ยวด้วยสิทธิเรียกร้องในกรณีบังคับยึดทรัพย์หรือล้มละลายนั้นก็ได้

                   มาตรา 306  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวว่าความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

                   ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้ ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

                   มาตรา 307  ถ้าพิพาทอ้างสิทธิในการโอนต่างราย โอนรายใดได้บอกกล่าวหรือตกลงกันก่อน โอนรายนั้นมีสิทธิดีกว่าโอนรายอื่น ๆ

                   มาตรา 308  ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา 306 โดยมิได้อิดเอื้อน ท่านว่าจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่ แต่ถ้าเพื่อจะระงับหนี้นั้น ลูกหนี้ได้ใช้เงินให้แก่ผู้โอนไปไซร้ ลูกหนี้จะเรียกคืนเงินนั้นก็ได้ หรือถ้าเพื่อการเช่นกล่าวมานั้นลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อผู้โอน จะถือเสมือนหนึ่งว่าหนี้นั้นมิได้ก่อขึ้นเลยก็ได้

                   ถ้าลูกหนี้เป็นแต่ได้รับคำบอกกล่าวการโอน ท่านว่าลูกหนี้มีข้อต่อสู้ผู้โอนก่อนเวลาที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นฉันใด ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่ผู้รับโอนได้ฉันนั้น ถ้าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากผู้โอน แต่สิทธินั้นยังไม่ถึงกำหนดในเวลาบอกกล่าวไซร้ ท่านว่าจะเอาสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักกลบลบกันก็ได้ หากว่าสิทธินั้นจะได้ถึงกำหนดไม่ช้ากว่าเวลาถึงกำหนดแห่งสิทธิเรียกร้องอันได้โอนไปนั้น

                   มาตรา 309  การโอนหนี้อันพึ่งต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกคนอื่นได้ แต่เฉพาะเมื่อการโอนนั้นได้สลักหลังไว้ในตราสาร และตัวตราสารนั้นได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับโอนไปด้วย

                   มาตรา 310  ในมูลหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ลูกหนี้มีสิทธิที่จะสอบสวนถึงตัวผู้ทรงตราสาร หรือสอบสวนความถูกต้องแท้จริงแห่งลายมือชื่อหรือดวงตราของผู้ทรงได้ แต่ก็หามีความผูกพันที่จะต้องทำถึงเพียงนั้นไม่ แต่ถ้าลูกหนี้ทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไซร้ การชำระหนี้นั้นก็ไม่เป็นอันสมบูรณ์

                   มาตรา 311  บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่มีกำหนดตัวเจ้าหนี้ระบุไว้ในตราสารซึ่งมีข้อความจดไว้ด้วยว่า ให้ชำระหนี้แก่ผู้ทรงตราสาร

                   มาตรา 312  ในมูลหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ซึ่งมีต่อเจ้าหนี้เดิมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนโดยสุจริตนั้นหาได้ไม่ เว้นแต่ที่ปรากฏในตัวตราสารนั้นเอง หรือที่มีขึ้นเปนธรรมดาสืบจากลักษณะแห่งตราสารนั้น

                   มาตรา 313  บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงหนี้อันพึงต้องชำระแก่ผู้ถือนั้นด้วย แล้วแต่กรณี

หมวด 5

ความระงับหนี้

ส่วนที่ 1

การชำระหนี้

                   มาตรา 314  อันการชำระหนี้นั้น ท่านว่าบุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระ หรือจะขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้

                   บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้นั้น จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่

                   มาตรา 315  อันการชำระหนี้นั้นต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้  การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์

                   มาตรา 316  ถ้าการชำระหนี้นั้นได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ ท่านว่าการชำระหนี้นั้นจะสมบูรณ์ก็แต่เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ได้กระทำการโดยสุจริต

                   มาตรา 317  นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตราก่อน การชำระหนี้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับนั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์เพียงเท่าที่ตัวเจ้าหนี้ได้ลาภงอกขึ้นแต่การนั้น

                   มาตรา 318  บุคคลผู้ถือใบเสร็จเป็นสำคัญ ท่านนับว่าเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้ ถ้าบุคคลผู้ชำระหนี้รู้ว่าสิทธิเช่นนั้นหามีไม่ หรือไม่รู้เท่าถึงสิทธินั้น เพราะความประสาทเลินเล่อของตน

                   มาตรา 319  ถ้าศาลสั่งให้ลูกหนี้คนที่สามงดเว้นทำการชำระหนี้แล้วยังขืนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของตนเองไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ผู้ที่ร้องขอให้ยึดทรัพย์จะเรียกให้ลูกหนี้คนที่สามนั้นทำการชำระหนี้อีกให้คุ้มกับความเสียหายอันตนได้รับก็ได้

                   อนึ่งข้อความซึ่งกล่าวมาในวรรคข้างต้นนี้หาเป็นข้อขัดขวางในการที่ลูกหนี้คนที่สามจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เจ้าหนี้ของตนเองนั้นไม่

                   มาตรา 320  อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่

                   มาตรา 321  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

                   ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอแก่ใจเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้

                   ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอน หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงิน หรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงิน หรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว

                   มาตรา 322  ถ้าเอาทรัพย์ก็ดี สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกก็ดีหรือสิทธิอย่างอื่นก็ดี ให้แทนการชำระหนี้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องรับผิด เพื่อชำรุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย

                   มาตรา 323  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าบุคคลผู้ชำระหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาที่จะพึงส่งมอบ

                   ลูกหนี้จำต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้ด้วยความระมัดระวังเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้น

                   มาตรา 324  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยการประการอื่น ท่านว่าต้องชำระณ สถานที่ซึ่งเปนภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้

                   มาตรา 325  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้ในข้อค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ท่านว่าฝ่ายลูกหนี้พึงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเจ้าหนี้ย้ายภูมิลำเนาก็ดี หรือเพราะการอื่นใดเจ้าหนี้ได้กระทำก็ดีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าใดเจ้าหนี้ต้องเป็นผู้ออก

                   มาตรา 326  บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้นั้น และถ้าหนี้นั้นได้ชำระสิ้นเชิงแล้ว ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือให้ขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย ถ้าและเอกสารนั้นสูญหาย บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะจดแจ้งให้ความข้อระงับหนี้ลงไว้ในใบเสร็จ หรือในเอกสารอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ได้

                   ถ้าหนี้นั้นได้ชำระแต่บางส่วนก็ดี หรือถ้าเอกสารนั้นยังให้สิทธิอย่างอื่นใดแก่เจ้าหนี้อยู่ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จไว้เป็นคู่มือ และให้จดแจ้งการชำระหนี้นั้นลงไว้ในเอกสาร

                   มาตรา 327  ในกรณีชำระดอกเบี้ย หรือชำระหนี้อย่างอื่นอันมีกำหนดชำระเป็นระยะเวลานั้น ถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆ นั้นด้วยแล้ว

                   ถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อการชำระต้นเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับดอกเบี้ยแล้ว

                   ถ้าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ได้เวนคืนแล้วไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว

                   มาตรา 328  ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป

                   ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายไหนถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดนั้น รายใดเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ตกหนักแก่ลูกหนี้เท่า ๆ กัน ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน และถ้ามีหนี้สินหลายรายเก่าเท่า ๆ กัน ก็ให้หนี้ทุกราย

เป็นอันได้เปลื้องไปตามส่วนมากและน้อย

                   มาตรา 329  ถ้านอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธาน ลูกหนี้ยังจะต้องชำระดอกเบี้ยและเสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกด้วยไซร้ หากการชำระหนี้ในครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ได้ราคาเพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ท่านให้เอาจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อน แล้วจึงใช้ดอกเบี้ย และในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน

                   ถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้เป็นประการอื่น ท่านว่าเจ้าหนี้จะบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ได้

                   มาตรา 330  เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ ก็เป็นอันปลดเปลื้องไป นับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้น

                   มาตรา 331  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน

                   มาตรา 332  ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้จะต้องชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะกำหนดว่าต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทนจึงให้มีสิทธิรับเอาทรัพย์ที่วางไว้นั้นก็ได้

                   มาตรา 333  การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้

                   ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับเฉพาะการในเรื่องสำนักงาน

วางทรัพย์ เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอ ศาลจะต้องกำหนดสำนักงานวางทรัพย์และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ที่วางนั้นขึ้น

                   ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน

                   มาตรา 334  ลูกหนี้มีสิทธิจะถอนทรัพย์ที่วางนั้นได้ ถ้าลูกหนี้ถอนทรัพย์นั้นท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้วางทรัพย์ไว้เลย

                   สิทธิถอนทรัพย์นี้เปนอันขาดในกรณีต่อไปนี้

                   (1) ถ้าลูกหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าตนยอมละสิทธิที่จะถอน

                   (2) ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์ว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น

                   (3) ถ้าการวางทรัพย์นั้นได้เปนไปโดยคำสั่งหรืออนุมัติของศาล และได้บอกกล่าวความนั้นแก่สำนักงานวางทรัพย์

                   มาตรา 335  สิทธิถอนทรัพย์นั้น ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดหาได้ไม่

                   เมื่อได้ฟ้องคดีล้มละลายเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิถอนทรัพย์ในระหว่างพิจารณาคดีล้มละลาย

                   มาตรา 336  ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการชำระหนี้ไม่ควรแก่การจะวางไว้ก็ดี หรือเป็นที่พึงวิตกว่าทรัพย์นั้นจะเกลือกจะเสื่อมเสีย หรือทำลายหรือบุบสลายได้ก็ดี เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล บุคคลผู้ชำระหนี้จะเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด แล้วเอาเงินที่ได้แต่การขายวางแทนทรัพย์นั้นก็ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ค่ารักษาทรัพย์จะแพงเกินควรนั้นด้วย

                   มาตรา 337  ท่านไม่อนุญาตให้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดจนกว่าจะได้บอกให้เจ้าหนี้รู้ตัวก่อน การบอกนี้จะงดเสียก็ได้ถ้าทรัพย์นั้นอาจเสื่อมทรามลงหรือภัยมีอยู่ในการที่จะหน่วงการขายทอดตลาดไว้

                   ในการที่จะขายทอดตลาดนั้น ท่านให้ลูกหนี้บอกกล่าวแก่เจ้าหนี้โดยไม่ชักช้าถ้าจะละเลยเสียไม่บอกกล่าว ลูกหนี้จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน

                   การบอกให้รู้ตัวและบอกกล่าวนี้ ถ้าไม่เป็นอันจะทำได้จะงดเสียก็ได้

                   เวลาและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด กับทั้งคำพรรณนาลักษณะแห่งทรัพย์นั้นท่านให้ประกาศโฆษณาให้ประชาชนทราบ

                   มาตรา 338  ค่าฤชาธรรมเนียมในการวางทรัพย์หรือขายทอดตลาดนั้นให้ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้ออก เว้นแต่ลูกหนี้จะได้ถอนทรัพย์ที่วาง

                   มาตรา 339  สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อพ้นเวลาสิบปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์

                   อนึ่งเมื่อสิทธิของเจ้าหนี้ระงับสิ้นไปแล้วถึงแม้ลูกหนี้จะได้ละสิทธิถอนทรัพย์ ก็ยังชอบที่จะถอนทรัพย์นั้นได้

ส่วนที่ 2

ปลดหนี้

                   มาตรา 340  ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

                   ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย

ส่วนที่ 3

หักกลบลบหนี้

                   มาตรา 341  ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้

                   บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ หากเป็นการขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ แต่เจตนาเช่นนี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเปนข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

                   มาตรา 342  หักกลบลบหนี้นั้น ทำได้ด้วยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงเจตนาเช่นนี้ท่านว่าจะมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสิ้นสุดอีกด้วยหาได้ไม่

                   การแสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านว่ามีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบหนี้กันได้เป็นครั้งแรก

                   มาตรา 343  การหักกลบลบหนี้นั้น ถึงแม้ว่าสถานที่ซึ่งจะต้องชำระหนี้ทั้งสองจะต่างกัน ก็หักกันได้ แต่ฝ่ายผู้ขอหักหนี้จะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกิดแต่การนั้น

                   มาตรา 344  สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่  อนึ่งอายุความย่อมไม่ตัดรอนการหักกลบลบหนี้แม้สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว แต่ว่าในเวลาที่อาจจะหักกลบลบกันสิทธิเรียกร้องฝ่ายอื่นได้นั้น สิทธิยังไม่ขาด

                   มาตรา 345  หนี้รายใดเกิดแต่การอันมิชอบด้วยกฎหมายเป็นมูล ท่านห้ามมิให้ลูกหนี้ถือเอาประโยชน์แห่งหนี้รายนั้นเพื่อหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้

                   มาตรา 346  สิทธิเรียกร้องรายใด ตามกฎหมาย ศาลจะสั่งยึดมิได้สิทธิเรียกร้องรายนั้นหาอาจจะเอาไปหักกลบลบหนี้ได้ไม่

                   มาตรา 347  ลูกหนี้คนที่สามหากได้รับคำสั่งศาลห้ามมิให้ใช้เงินแล้ว จะยกเอาหนี้ซึ่งตนได้มาภายหลังแต่นั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ผู้ที่ขอให้ยึดทรัพย์นั้น ท่านว่าหาอาจจะยก
ได้ไม่

                   มาตรา 348  ถ้าคู่กรณีต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเรียกร้องหลายราย อันควรแก่การที่จะใช้หักกลบลบหนี้ได้ไซร้ ฝ่ายผู้ที่ขอหักหนี้จะระบุก็ได้ว่าพึงเอาสิทธิเรียกร้องรายใดบ้างเข้าหักกลบลบกัน ถ้าการหักกลบลบหนี้ได้แสดงโดยมิได้ระบุเช่นนั้นก็ดี หรือถ้าระบุ แต่อีกฝ่ายหนึ่งท้วงขัดข้องโดยไม่ชักช้าก็ดี ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 328 วรรค 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                   ถ้าฝ่ายที่ขอหักกลบลบหนี้ยังเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ นอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธานนั้นด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 329 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนที่ 4

แปลงหนี้ใหม่

                   มาตรา 349  เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่

                   ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น

                   ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง

                   มาตรา 350  แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่

                   มาตรา 351  ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่

                   มาตรา 352  คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำ หรือจำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้นไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้ เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายนอกนั้นด้วยจึงโอนได้

ส่วนที่ 5

หนี้เกลื่อนกลืนกัน

                   มาตรา 353  ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน

ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป เว้นแต่เมื่อหนี้นั้นตกไปอยู่ในบังคับแห่งสิทธิของบุคคลภายนอก หรือเมื่อสลักหลังตั๋วเงินกลับคืนตามความในมาตรา 917 วรรค 3

ลักษณะ 2

สัญญา

หมวด 1

ก่อให้เกิดสัญญา

                   มาตรา 354  คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้

                   มาตรา 355  บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง และ

มิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่านว่าหากอาจจะถอนได้ไม่

                   มาตรา 356  คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉภาะหน้า โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้นความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย

                   มาตรา 357  คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป

                   มาตรา 358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดไซร้ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้าเว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

                   ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าว

สนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

                   มาตรา 359  ถ้าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ท่านให้ถือว่าคำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่

                   คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย

นั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว

                   มาตรา 360  บทบัญญัติแห่งมาตรา 130 วรรค 2 นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

                   มาตรา 361  อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ

                   ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือตามปกติประเพณีไม่จำเป็นจะต้องมีคำบอกกล่าวสนองไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้น อันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ

                   มาตรา 362  บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด ท่านว่าจำต้องให้รางวัลแก่บุคคลใด ๆ ผู้ได้กระทำการอันนั้น แม้ถึงมิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล

                   มาตรา 363  ในกรณีที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้ เมื่อยังไม่มีใครทำการสำเร็จดังบ่งไว้นั้นอยู่ตราบใด ผู้ให้คำมั่นจะถอนคำมั่นของตนเสียโดยวิธีเดียวกับที่โฆษณานั้นก็ได้ เว้นแต่จะได้แสดงไว้ในโฆษณานั้นว่าจะไม่ถอน

                   ถ้าคำมั่นนั้นไม่อาจจะถอนโดยวิธีดังกล่าวมาก่อน จะถอนโดยวิธีอื่นก็ได้แต่ถ้าเช่นนั้นการถอนจะเป็นอันสมบูรณ์ใช้ได้เพียงเฉพาะต่อบุคคลที่รู้

                   ถ้าผู้ให้คำมั่นได้กำหนดระยะเวลาให้ด้วยเพื่อทำการอันบ่งนั้นไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ให้คำมั่นได้สละสิทธิที่จะถอนคำมั่นนั้นเสียแล้ว

                   มาตรา 364  ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันบ่งไว้ในโฆษณา ท่านว่าเฉพาะแต่คนที่ทำได้ก่อนใครหมดเท่านั้นมีสิทธิจะได้รับรางวัล

                   ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันนั้นได้พร้อมกัน ท่านว่าแต่ละคนมีสิทธิจะได้รับ

รางวัลเป็นส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน แต่ถ้ารางวัลนั้นมีสภาพแบ่งไม่ได้ก็ดี หรือถ้าตามข้อความแห่งคำมั่นนั้น บุคคลแต่คนเดียวจะพึงรับรางวัลก็ดี ท่านให้วินิจฉัยด้วยวิธีจับสลาก

                   บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างต้นนั้นท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าในโฆษณา

นั้นแสดงไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 365  คำมั่นว่าจะให้รางวัลอันมีความประสงค์เป็นการประกวดชิงรางวัลนั้น จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กำหนดระยะเวลาไว้ในคำโฆษณาด้วย

                   การที่จะตัดสินว่าผู้ประกวดคนไหนได้กระทำสำเร็จตามเงื่อนไขคำมั่นภายใน

เวลากำหนดหรือไม่ก็ดี หรือตัดสินในระหว่างผู้ประกวดหลายคนนั้นว่าคนไหนดีกว่ากันอย่างไรก็ดี ให้ผู้ชี้ขาดซึ่งได้ระบุชื่อไว้ในโฆษณานั้นเป็นผู้ตัดสิน ฤาถ้ามิได้ระบุชื่อผู้ชี้ขาดไว้ ก็ให้ผู้ให้คำมั่นเป็นผู้ตัดสิน คำตัดสินอันนี้ย่อมผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทุกฝ่าย

                   ถ้าได้คะแนนทำดีเสมอกัน ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 364 วรรค 2 มาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

                   การโอนกรรมสิทธิในทรัพย์ที่ทำขึ้นประกวดนั้น ผู้ให้คำมั่นจะเรียกให้โอนแก่ตนได้ต่อเมื่อระบุไว้ในโฆษณาว่าจะพึงโอนเช่นนั้น

                   มาตรา 366  ข้อความใด ๆ แห่งสัญญาอันคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้เป็นสาระสำคัญอันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้น หากคู่สัญญายังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใด เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันการที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่าง ถึงแม้ว่าจะได้จดลงไว้ก็หาเป็นการผูกพันไม่

                   ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ

                   มาตรา 367  สัญญาใดคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นอันได้ทำกันขึ้นแล้ว แต่แท้จริงยังมิได้ตกลงกันในข้อหนึ่งข้อใดอันจะต้องทำความตกลงให้สำเร็จ ถ้าจะพึงอนุมานได้ว่า ถึงหากจะไม่ทำความตกลงกันในข้อนี้ได้ สัญญานั้นก็จะได้ทำขึ้นไซร้ ท่านว่าข้อความส่วนที่ได้ตกลงกันแล้วก็ย่อมเป็นอันสมบูรณ์

                   มาตรา 368  สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย

หมวด 2

ผลแห่งสัญญา

                   มาตรา 369  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

                   มาตรา 370  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญเสียหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

                   ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 195 วรรค 2 นั้นไป

                   มาตรา 371  บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนมีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ

                   ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ไม่ได้และเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้โดยลดส่วนอันจะต้องชำระหนี้ตอบแทนนั้นลง หรือเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ แล้วแต่จะเลือก  แต่ในกรณีที่ต้นเหตุเสียหายเกิดเพราะฝ่ายลูกหนี้นั้น ท่านว่าหากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่

                   มาตรา 372  นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

                   ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรบชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี หรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่น เป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดีมากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการอันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบ ในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้

                   มาตรา 373  ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลฤาความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะ

                   มาตรา 374  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

                   ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

                   มาตรา 375  เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

                   มาตรา 376  ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดังกล่าวมาในมาตรา 374 นั้นลูกหนี้อาจจะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้จะได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้

หมวด 3

มัดจำและกำหนดเบี้ยปรับ

                   มาตรา 377  เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย

                   มาตรา 378  มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้

                   (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น

                   (3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ

                   มาตรา 379  ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

                   มาตรา 380  ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป

                   ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้

                   มาตรา 381  ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้

                   ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรค 2

                   ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้

                   มาตรา 382  ถ้าสัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับไม่ใช่ใช้เป็นจำนวนเงินไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 379 ถึง 381 มาใช้บังคับ แต่ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไป

                   มาตรา 383  ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป

                   นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำฤางดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย

                   มาตรา 384  ถ้าการชำระหนี้ตามที่สัญญาไว้นั้นไม่สมบูรณ์ การที่ตกลงกันด้วยข้อเบี้ยปรับในการไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นก็ย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน แม้ถึงคู่กรณีจะได้รู้ว่าข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์

                   มาตรา 385  ถ้าลูกหนี้โต้แย้งการริบเบี้ยปรับโดยอ้างเหตุว่าตนได้ชำระหนี้แล้วไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องพิสูจน์การชำระหนี้ เว้นแต่การชำระหนี้อันตนจะต้องทำนั้นเป็นการให้งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง

หมวด 4

เลิกสัญญา

                   มาตรา 386  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

                   แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

                   มาตรา 387  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 388  ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดีหรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดังว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย

                   มาตรา 389  ถ้าการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้

                    มาตรา 390  ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเปนบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่ง

หรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลหลายคนเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในจำพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่น ๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย

                   มาตรา 391  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

                   ส่วนเงินอันจะต้องใช้อันในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

                   ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

                   การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

                   มาตรา 392  การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369

                   มาตรา 393  ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายที่มีสิทธิเลิกสัญญานั้นแถลงให้ทราบภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ว่าจะเลิกสัญญาหรือหาไม่ ถ้ามิได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญาภายในระยะเวลานั้น สิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับสิ้นไป

                    มาตรา 394  ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นบุบสลายไปในส่วนสำคัญเพราะการกระทำหรือเพราะความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาก็ดี หรือบุคคลนั้นได้ทำให้การคืนทรัพย์กลายเป็นพ้นวิสัยก็ดี เปลี่ยนแปลงทรัพย์นั้นให้ผิดแผกไปเป็นอย่างอื่นด้วยประกอบขึ้นหรือดัดแปลงก็ดี ท่านว่าสิทธิเลิกสัญญานั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

                   แต่ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาได้สูญหายหรือบุบสลายไปโดยปราศจาก

การกระทำหรือความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาไซร้ สิทธิเลิกสัญญานั้นก็หาระงับสิ้นไปไม่

ลักษณะ 3

จัดการงานนอกสั่ง

                   มาตรา 395  บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องจัดการงานไปในทางที่จะให้สมประโยชน์ของตัวการตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นความประสงค์ของตัวการ

                   มาตรา 396  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการก็ดี หรือขัดกับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ก็ดี และผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นแล้วด้วยไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ที่ได้เข้าจัดการนั้นแม้ทั้งผู้จัดการจะมิได้มีความผิดประการอื่น

                   มาตรา 397  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดซึ่งเป็นหน้าที่บังคับให้ตัวการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ดี หรือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะบำรุงรักษาผู้อื่นก็ดี และหากผู้จัดการมิได้เข้าทำแล้วกิจอันนั้นจะไม่สำเร็จภายในเวลาอันควรไซร้ การที่ได้ทำขัดกับความประสงค์ของตัวการเช่นนั้น ท่านมิให้ยกขึ้นเป็นข้อวินิจฉัย

                   มาตรา 398  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดเพื่อประสงค์จะปัดป้องอันตรายอันมีมาใกล้ตัวการ จะเป็นภัยแก่ตัวก็ดี แก่ชื่อเสียงก็ดี หรือแก่ทรัพย์สินก็ดี ท่านว่าผู้จัดการต้องรับผิดชอบแต่เพียงที่จงใจทำผิด หรือที่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น

                   มาตรา 399  ผู้จัดการต้องบอกกล่าวแก่ตัวการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ว่าตนได้เข้าจัดการงานแทน และต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตัวการ เว้นแต่ภัยจะมีขึ้นเพราะการที่หน่วงเนิ่นไว้  นอกจากนี้ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 809 ถึง 811 อันบังคับแก่ตัวแทนนั้นมาใช้บังคับแก่หน้าที่ของผู้จัดการด้วย โดยอนุโลม

                   มาตรา 400  ถ้าผู้จัดการเป็นผู้ไร้ความสามารถ ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงตามบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด และว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้เท่านั้น

                   มาตรา 401  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการสมประโยชน์ของตัวการและต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจะเรียกให้ชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่ตนเช่นอย่างตัวแทนก็ได้ และบทบัญญัติมาตรา 816 วรรค 2 นั้น ท่านก็ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

                   อนึ่งในกรณีที่กล่าวมาในมาตรา 397 นั้น แม้ถึงว่าที่เข้าจัดการงานนั้นจะเป็นการขัดกับความประสงค์ของตัวการก็ดี ผู้จัดการก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นอยู่

                   มาตรา 402  ถ้าเงื่อนไขดังว่ามาในมาตราก่อนนั้นมิได้มี ท่านว่าตัวการจำต้องคืนสิ่งทั้งหลายบรรดาที่ได้มาเพราะเขาเข้าจัดการงานนั้นให้แก่ผู้จัดการตามบทบัญญัติว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้

                   ถ้าตัวการให้สัตยาบันแก่การที่จัดทำนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

                   มาตรา 403  ถ้าผู้จัดการมิได้มีบุรพเจตนาจะเรียกให้ตัวการชดใช้คืนผู้จัดการก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้น

                   การที่บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย บำรุงรักษาผู้สืบสันดานเป็นทางอุปการะก็ดี หรือกลับกันเป็นทางปฏิการะก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีเจตนาจะเรียกให้ผู้รับประโยชน์ชดใช้คืน

                   มาตรา 404  ถ้าผู้จัดการทำแทนผู้หนึ่งโดยสำคัญว่าทำแทนผู้อื่นอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าผู้เป็นตัวการคนก่อนผู้เดียวมีสิทธิและหน้าที่อันเกิดแต่การที่ได้จัดทำไปนั้น

                   มาตรา 405  บทบัญญัติทั้งหลายที่กล่าวมาในสิบมาตราก่อนนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเข้าทำการงานของผู้อื่นโดยสำคัญว่าเป็นการงานของตนเอง

                   ถ้าบุคคลใดถือเอากิจการของผู้อื่นว่าเป็นของตนเองทั้งที่รู้แล้วว่าตนไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าตัวการจะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับโดยมูลดังบัญญัติไว้ในมาตรา 395, 396, 399 และ 400 นั้นก็ได้ แต่เมื่อได้ใช้สิทธิดังว่ามานี้แล้วตัวการจะต้องรับผิดต่อผู้จัดการดังบัญญัติไว้ในมาตรา 402 วรรค 1

ลักษณะ 4

ลาภมิควรได้

                   มาตรา 406  บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย

                   บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งมิได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

                   มาตรา 407  บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

                   มาตรา 408 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ คือ

                   (1) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น

                   (2) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความ

                   (3) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม

                   มาตรา 409  เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลาย หรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิกหลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์

                   บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ไม่ขัดขวางต่อการที่บุคคลผู้ได้ชำระหนี้นั้น

จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ถ้าจะพึงมี

                   มาตรา 410  บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิดผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์

                   มาตรา 411  บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

                   มาตรา 412  ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิได้ควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิได้ควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

                   มาตรา 413  เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงินและบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย

                   ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหาย

หรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

                   มาตรา 414  ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้นเองก็ดี หรือเพราะเหตุอย่างอื่นก็ดี และบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

                   ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยสุจริต ท่านว่าต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน

                   มาตรา 415  บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริตย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่

                   ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น

                   มาตรา 416  ค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การเพื่อรักษาบำรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ท่านว่าต้องชดใช้แก่บุคคลผู้คืนทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน

                   แต่บุคคลเช่นว่านี้จะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายตามธรรมดาเพื่อบำรุงซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น หรือค่าภาระติดพันที่ต้องเสียไปในระวางที่ตนคงเก็บดอกผลอยู่นั้นหาได้ไม่

                   มาตรา 417  ในส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาในวรรคต้นแห่งมาตราก่อนนั้น บุคคลผู้คืนทรัพย์สินจะเรียกให้ชดใช้ได้แต่เฉrาะที่เสียไปในระหว่างที่ตนทำการโดยสุจริต และเมื่อทรัพย์สินนั้นได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายนั้นในเวลาที่คืน และจะเรียกได้ก็แต่เพียงเท่าราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

                   มาตรา 418  ถ้าบุคคลรับทรัพย์สินอันมิควรได้ไว้ด้วยทุจริต และได้ทำการดัดแปลงหรือต่อเติมขึ้นในทรัพย์สินนั้น ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นต้องจัดทำทรัพย์สินนั้นให้คืนคงสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองแล้วจึงส่งคืน เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินจะเลือกให้ส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของจะใช้ราคาค่าทำดัดแปลงหรือต่อเติม หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นราคาทรัพย์สินเท่าที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ได้ แล้วแต่จะเลือก

                   ถ้าในเวลาที่จะต้องคืนทรัพย์นั้นเป็นพ้นวิสัยจะทำให้ทรัพย์สินคืนคงสภาพเดิมได้ หรือถ้าทำไปทรัพย์สินนั้นจะบุบสลายไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ได้รับไว้จะต้องส่งคืนทรัพย์สินตามสภาพที่เป็นอยู่ และไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเพราะการดัดแปลงหรือต่อเติมนั้นได้

                   มาตรา 419  ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น

ลักษณะ 5

ละเมิด

หมวด 1

ความรับผิดเพื่อละเมิด

                   มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

                   มาตรา 421  การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้นท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

                   มาตรา 422  ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์ เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ผู้ใดทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด

                   มาตรา 423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

                   ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

                   มาตรา 424  ในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าศาลไม่จำต้องดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่

                   มาตรา 425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

                   มาตรา 426  นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น

                   มาตรา 427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วย โดยอนุโลม

                   มาตรา 428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

                   มาตรา 429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

                   มาตรา 430  ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตนถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

                   มาตรา 431  ในกรณีที่กล่าวมาในสองมาตราก่อนนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 426 มาใช้บังคับด้วย โดยอนุโลม

                   มาตรา 432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

                   อนึ่งบุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำลเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

                   ในระวางบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

                   มาตรา 433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการอย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

                   อนึ่งบุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้

                   มาตรา 434  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

                   บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

                   ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดความเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

                   มาตรา 435  บุคคลใดจะประสพความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น บุคคลผู้นั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้

                   มาตรา 436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

                   มาตรา 437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

                   ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงบุคคลผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์

อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

หมวด 2

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด

                   มาตรา 438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

                   อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดฤาใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่าใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

                   มาตรา 439  บุคคลผู้จำต้องคืนทรัพย์อันผู้อื่นต้องเสียไปเพราะละเมิดแห่งตนนั้น ยังต้องรับผิดชอบตลอดถึงการที่ทรัพย์นั้นทำลายลงโดยอุบัติเหตุ หรือการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างอื่นโดยอุบัติเหตุ หรือทรัพย์นั้นเสื่อมเสียลงโดยอุบัติเหตุนั้นด้วย เว้นแต่เมื่อการที่ทรัพย์สินทำลาย หรือตกเป็นพ้นวิสัยจะคืน หรือเสื่อมเสียนั้น ถึงแม้จะมิได้มีการทำละเมิดก็คงจะต้องตกไปเป็นไปอย่างนั้นอยู่เอง

                   มาตรา 440  ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อื่นได้เอาของเขาไปก็ดี ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันลดน้อยลงเพราะบุบสลายก็ดี ฝ่ายผู้ต้องเสียหายจะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องใช้ คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคานั้นก็ได้

                   มาตรา 441  ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตนหรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน

                   มาตรา 442  ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

                   มาตรา 443  ในกรณีที่ทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

                   ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

                   ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

                   มาตรา 444  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

                   ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดี เป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีก็ได้

                   มาตรา 445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงาน ให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

                   มาตรา 446  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้ โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

                   อนึ่งหญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมี

สิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

                   มาตรา 447  บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือทั้งใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้

                   มาตรา 448  สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด

                   แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะ

อาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

หมวด 3

นิรโทษกรรม

                   มาตรา 449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดีกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

                   ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยลเมิดนั้นก็ได้

                   มาตรา 450  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องกันภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย

                   ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น

                   ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้วท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

                   มาตรา 451  บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้ และถ้ามิได้ทำในทันใด ภัยมีอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดังสิทธินั้นจะต้องประวิงไปมากหรือถึงแก่สาบสูญได้ไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้
ค่าสินไหมทดแทนไม่

                   การใช้กำลังดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าต้องจำกัดครัดเคร่งแต่เฉพาะที่จำเป็นเพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายเท่านั้น

                   ถ้าบุคคลผู้ใดกระทำการดังกล่าวมาในวรรคต้น เพราะหลงสันนิษฐานพลาดไปว่ามีเหตุอันจำเป็นที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลอื่น แม้ทั้งการที่หลงพลาดไปนั้นจะมิใช่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อ
ของตน

                   มาตรา 452  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

                   แต่ว่าผู้นั้นต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของสัตว์โดยไม่ชักช้า ถ้าและหาตัวเจ้าของสัตว์ไม่พบ ผู้ที่จับสัตว์ไว้ต้องจัดการตามสมควรเพื่อสืบหาตัวเจ้าของ”

*[1]

*[3]

“บรรพ 3

เอกเทศสัญญา

ลักษณะ 1

ซื้อขาย

หมวด 1

สภาพและหลักสำคัญของสัญญาซื้อขาย

ส่วนที่ 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 453  อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

                   มาตรา 454  การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้นจะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไป และคำบอกกล่าวเช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว

                   ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่นจะกำหนดเวลาพอสมควร และบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมา เป็นแน่นอนภายในเวลากำหนดนั้นก็ดี ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภายในกำหนดเวลานั้นไซร้ คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล

                   มาตรา 455  เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์

                   มาตรา 456  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่าเป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนตร์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

                   อนึ่งสัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดั่งว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

                   บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

                   มาตรา 457  ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย

ส่วนที่ 2

การโอนกรรมสิทธิ์

                   มาตรา 458  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

                   มาตรา 459  ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น

                    มาตรา 460  ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้นท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว

                   ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับชั่ง ตวง วัดหรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำแล้ว

หมวด 2

หน้าที่และความรับผิดของผู้ขาย

ส่วนที่ 1

การส่งมอบ

                   มาตรา 461  ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ

                   มาตรา 462  การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ

                   มาตรา 463  ถ้าในสัญญากำหนดว่าให้ส่งทรัพย์สินซึ่งขายนั้นจากที่แห่งหนึ่งไปถึงอีกแห่งหนึ่งไซร้ ท่านว่าการส่งมอบย่อมสำเร็จเมื่อได้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขนส่ง

                   มาตรา 464  ค่าขนส่งทรัพย์สินซึ่งได้ซื้อขายกันไปยังที่แห่งอื่น นอกจากสถานที่อันพึงชำระหนี้นั้น ผู้ซื้อพึงออกใช้

                   มาตรา 465  ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น

                   (1) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสียไม่รับเอาเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินไว้ ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

                   (2) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้แต่เพียงตามสัญญาและนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดไม่รับเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินอันเขาส่งมอบเช่นนั้นไว้ทั้งหมด ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

                   (3) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นมิได้รวมอยู่ในข้อสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินไว้แต่ตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดก็ได้

                   มาตรา 466  ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่ได้สัญญาไซร้ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก

                   อนึ่งถ้าขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอกและใช้ราคาตามส่วนแต่ว่าผู้ซื้ออาจจะเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญานั้น

                   มาตรา 467  ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่อง หรือล้ำจำนวนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ

                   มาตรา 468  ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาให้ใช้ราคาไซร้ผู้ขายชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินที่ขายไว้ได้จนกว่าจะใช้ราคา

                   มาตรา 469  ถ้าผู้ซื้อล้มละลายก่อนส่งมอบทรัพย์สินก็ดี หรือผู้ซื้อเป็นคนล้มละลายแล้วในเวลาซื้อขายโดยผู้ขายไม่รู้ก็ดี หรือผู้ซื้อกระทำให้หลักทรัพย์ที่ให้ไว้เพื่อประกันการใช้เงินนั้นเสื่อมเสียหรือลดน้อยลงก็ดี ถึงแม้ในสัญญาจะมีกำหนดเงื่อนเวลาให้ใช้ราคา ผู้ขายก็ชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินซึ่งขายไว้ได้ เว้นแต่ผู้ซื้อจะหาประกันที่สมควรให้ได้

                   มาตรา 470  ถ้าผู้ซื้อผิดนัด ผู้ขายซึ่งได้ยึดหน่วงทรัพย์สินไว้ตามมาตราทั้งหลายที่กล่าวมาอาจจะใช้ทางแก้ต่อไปนี้แทนทางแก้สัญญาในการไม่ชำระหนี้ได้ คือมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้ซื้อให้ใช้ราคากับค่าจับจ่ายเกี่ยวการภายในเวลาอันควรซึ่งต้องกำหนดลงไว้ในคำบอกกล่าวนั้นด้วย

                   ถ้าผู้ซื้อละเลยเสียไม่ทำตามคำบอกกล่าว ผู้ขายอาจนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดได้

                   มาตรา 471  เมื่อขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ผู้ขายหักเอาจำนวนที่ค้างชำระแต่ตนเพื่อราคาและค่าจับจ่ายเกี่ยวการนั้นไว้ถ้าและยังมีเงินเหลือ ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยพลัน

ส่วนที่ 2

ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง

                   มาตรา 472  ในกรณีย์ที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

                   ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

                   มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีย์ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

                   (2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

                   (3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

                   มาตรา 474  ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง

ส่วนที่ 3

ความรับผิดในการรอนสิทธิ

                   มาตรา 475  หากว่าบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

                   มาตรา 476  ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้นผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด

                   มาตรา 477  เมื่อใดการรบกวนขัดสิทธินั้นเกิดเป็นคดีขึ้นระหว่างผู้ซื้อกับบุคคลภายนอก ผู้ซื้อชอบที่จะขอให้ศาลเรียกผู้ขายเข้าเป็นจำเลยร่วมหรือเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ซื้อในคดีนั้นได้ เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน

                   มาตรา 478  ถ้าผู้ขายเห็นเป็นการสมควร จะสอดเข้าไปในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของบุคคลภายนอก ก็ชอบที่จะทำได้ด้วย

                   มาตรา 479  ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

                   มาตรา 480  ถ้าอสังหาริมทรัพย์ต้องศาลแสดงว่าตกอยู่ในบังคับแห่งภารจำยอมโดยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด เว้นไว้แต่ผู้ขายจะได้รับรองไว้ในสัญญาว่าทรัพย์สินนั้นปลอดจากภารจำยอมอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น หรือปลอดจากภารจำยอมอันนั้น

                   มาตรา 481  ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ปราณีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันปราณีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

                   มาตรา 482  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าไม่มีการฟ้องคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้ศูนย์ไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง หรือ

                   (2) ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า ถ้าได้เรียกเข้ามาคดีฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ หรือ

                   (3) ถ้าผู้ขายได้เข้ามาในคดี แต่ศาลได้ยกคำเรียกร้องของผู้ซื้อเสียเพราะความผิดของผู้ซื้อเอง

                   แต่ถึงกรณีจะเป็นอย่างไรก็ดี ถ้าผู้ขายถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดีและไม่ยอมเข้าว่าคดีร่วมเป็นจำเลยหรือร่วมเป็นโจทก์กับผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ขายคงต้องรับผิด

ส่วนที่ 4

ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิด

                   มาตรา 483  คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

                   มาตรา 484  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ย่อมไม่คุ้มผู้ขายให้พ้นจากการต้องส่งเงินคืนตามราคา เว้นแต่จะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

หมวด 3

หน้าที่ของผู้ซื้อ

                   มาตรา 486  ผู้ซื้อจำต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อและใช้ราคาตามข้อสัญญาซื้อขาย

                   มาตรา 487  อันราคาทรัพย์สินที่ขายนั้นจะกำหนดลงไว้ในสัญญาก็ได้หรือจะปล่อยไปให้กำหนดกันด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งได้ตกลงกันไว้ในสัญญานั้นก็ได้ หรือจะถือเอาตามทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันอยู่นั้นก็ได้

                   ถ้าราคามิได้กำหนดเด็ดขาดอย่างใดดั่งว่ามานั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ราคาตามสมควร

                   มาตรา 488  ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้

                   มาตรา 489  ถ้าผู้ซื้อถูกผู้รับจำนองหรือบุคคลผู้เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ขายนั้นขู่ว่าจะฟ้องเป็นคดีขึ้นก็ดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะถูกขู่เช่นนั้นก็ดี ผู้ซื้อก็ชอบที่จะยึดหน่วงราคาไว้ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ดุจกัน จนกว่าผู้ขายจะได้บำบัดภัยอันนั้นให้สิ้นไป หรือจนกว่าผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้

                   มาตรา 490  ถ้าได้กำหนดกันไว้ว่าให้ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นเวลาใดท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเวลาอันเดียวกันนั้นเองเป็นเวลากำหนดใช้ราคา

หมวด 4

การซื้อขายเฉพาะบางอย่าง

ส่วนที่ 1

ขายฝาก

                   มาตรา 491  อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

                   มาตรา 492  ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้น ถ้าไถ่ภายในเวลาที่กำหนดในสัญญาก็ดี หรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ดี ท่านให้ถือเป็นอันว่ากรรมสิทธิ์ไม่เคยตกไปแก่ผู้ซื้อเลย

                   มาตรา 493  ในการขายฝาก คู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้ ถ้าและผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้ ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น

                   มาตรา 494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

                   (1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

                   (2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

                   มาตรา 495  ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์

                   มาตรา 496  ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่ต่ำกว่าสิบปีหรือสามปีไซร้ท่านว่าหาอาจจะขยายเวลานั้นในภายหลังได้ไม่

                   มาตรา 497  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ

                   (1) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ

                   (2) ผู้รับโอนสิทธินั้น หรือ

                   (3) บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้

                   มาตรา 498  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ

                   (1) ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม หรือ

                   (2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิ
ไถ่คืน

                   มาตรา 499  สินไถ่นั้นถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

                   มาตรา 500  ค่าฤชาธรรมเนียมการขายฝากซึ่งผู้ซื้อได้ออกไปนั้น ผู้ไถ่ต้องใช้ให้แก่ผู้ซื้อพร้อมกับสินไถ่

                   ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ทรัพย์นั้นผู้ไถ่พึงออกใช้

                   มาตรา 501  ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

                   มาตรา 502  ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าบุคคลผู้ไถ่ย่อมได้รับคืนไปโดยปลอดจากสิทธิใด ๆ ซึ่งผู้ซื้อเดิม หรือทายาท หรือผู้รับโอนจากผู้ซื้อเดิมก่อให้เกิดขึ้นก่อนเวลาไถ่

                   ถ้าว่าเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างขายฝากอันได้จดทะเบียนเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วไซร้ ท่านว่าการเช่านั้นหากมิได้ทำขึ้นเพื่อจะให้เสียหายแก่ผู้ขาย กำหนดเวลาเช่ายังคงมีเหลืออยู่อีกเพียงใด ก็ให้คงเป็นอันสมบูรณ์อยู่เพียงนั้นแต่มิให้เกินกว่าปีหนึ่ง

ส่วนที่ 2

ขายตามตัวอย่าง ขายตามคำพรรณนา ขายเผื่อชอบ

                   มาตรา 503  ในการขายตามตัวอย่างนั้น ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามตัวอย่าง

                   ในการขายตามคำพรรณนา ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามคำพรรณนา

                   มาตรา 504  ในข้อรับผิดเพื่อการส่งของไม่ตรงตามตัวอย่าง หรือไม่ตรงตาม
คำพรรณนานั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ

                   มาตรา 505  อันว่าขายเผื่อชอบนั้น คือการซื้อขายกันโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสตรวจดูทรัพย์สินก่อนรับซื้อ

                   มาตรา 506  การตรวจดูทรัพย์สิน ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากันไว้ ผู้ขายอาจกำหนดเวลาอันสมควร และบอกกล่าวแก่ผู้ซื้อให้ตอบภายในกำหนดนั้นได้ว่าจะรับซื้อหรือไม่

                   มาตรา 507  ทรัพย์สินอันผู้ซื้อจะพึงตรวจดูก่อนที่จะส่งมอบแก่กันนั้น ถ้าผู้ซื้อไม่ตรวจรับภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าวของผู้ขาย ท่านว่าผู้ขายย่อมไม่มีความผูกพันต่อไป

                   มาตรา 508  เมื่อทรัพย์สินนั้นได้ส่งมอบแก่ผู้ซื้อเพื่อให้ตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ในกรณีย์ต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าผู้ซื้อมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าว หรือ

                   (2) ถ้าผู้ซื้อไม่ส่งทรัพย์สินคืนภายในกำหนดเวลาดั่งกล่าวมานั้น หรือ

                   (3) ถ้าผู้ซื้อใช้ราคาทรัพย์สินนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน หรือ

                   (4) ถ้าผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้น หรือทำประการอื่นอย่างใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อของนั้น

ส่วนที่ 3

ขายทอดตลาด

                   มาตรา 509  การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์ เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ถ้ายังมิได้แสดงเช่นนั้นอยู่ตราบใด ท่านว่าผู้สู้ราคาจะถอนคำสู้ราคาของตนเสียก็ยังถอนได้

                   มาตรา 510  ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขายและตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนปะเดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป

                   มาตรา 511  ท่านมิให้ผู้ทอดตลาดเข้าสู้ราคา หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคา ในการทอดตลาดซึ่งตนเป็นผู้อำนวยการเอง

                   มาตรา 512  ท่านห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคา เว้นแต่จะได้แถลงไว้โดยเฉพาะในคำโฆษณาบอกการทอดตลาดนั้นว่าผู้ขายถือสิทธิที่จะเข้าสู้ราคาด้วย

                   มาตรา 513  เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ

ผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้

                   มาตรา 514  ผู้สู้ราคาย่อมพ้นความผูกพันในราคาซึ่งตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้นไป ไม่ว่าการที่ผู้อื่นสู้นั้นจะสมบูรณ์หรือมิสมบูรณ์ประการใดอีกประการหนึ่งเมื่อใดถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการทอดตลาด  ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน

                   มาตรา 515  ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสด เมื่อการซื้อขายบริบูรณ์หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาบอกขาย

                   มาตรา 516  ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด

                   มาตรา 517  ถ้าเงินรายได้ในการทอดตลาดส่วนหนึ่งส่วนใดค้างชำระอยู่เพราะเหตุผู้ทอดตลาดละเลยไม่บังคับตามบทในมาตรา 515 หรือมาตรา 516 ไซร้ ท่านว่าผู้ทอดตลาดจะต้องรับผิด

ลักษณะ 2

แลกเปลี่ยน

                   มาตรา 518  อันว่าแลกเปลี่ยนนั้น คือสัญญาซึ่งคู่กรณีต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกัน

                   มาตรา 519  บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สิน ซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น

                   มาตรา 520  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งในสัญญาแลกเปลี่ยนตกลงจะโอนเงินเพิ่ม

เข้ากับทรัพย์สินสิ่งอื่นให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งไซร้ บททั้งหลายอันว่าด้วยราคาในลักษณะซื้อขายนั้น ให้ใช้ถึงเงินเช่นว่านั้นด้วย

ลักษณะ 3

ให้

                   มาตรา 521  อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สิน

ของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น

                   มาตรา 522  การให้นั้นจะทำด้วยปลดหนี้ให้แก่ผู้รับ หรือด้วยชำระหนี้ซึ่งผู้รับค้างชำระอยู่ก็ได้

                   มาตรา 523  การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้

                   มาตรา 524  การให้สิทธิอันมีหนังสือตราสารเป็นสำคัญนั้น ถ้ามิได้ส่งมอบ

ตราสารให้แก่ผู้รับ และมิได้มีหนังสือบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้น ท่านว่าการให้ย่อมไม่สมบูรณ์

                   มาตรา 525  การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและ

จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีย์เช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ

                   มาตรา 526  ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็น

หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้  แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้

                   มาตรา 527  ถ้าผู้ให้ผูกตนไว้ว่าจะชำระหนี้เป็นคราว ๆ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อผู้ให้หรือผู้รับตาย เว้นแต่จะขัดกับเจตนาอันปรากฏแต่มูลหนี้

                   มาตรา 528  ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้นั้นมีค่าภารติดพัน และผู้รับละเลยเสียไม่ชำระค่าภารติดพันนั้นไซร้ ท่านว่าโดยเงื่อนไขอันระบุไว้ในกรณีย์สิทธิเลิกสัญญาต่างตอบแทนกันนั้น ผู้ให้จะเรียกให้ส่งทรัพย์สินที่ให้นั้นคืนตามบทบัญญัติว่าด้วยคืนลาภมิควรได้นั้นก็ได้  เพียงเท่าที่ควรจะเอาทรัพย์นั้นไปใช้ชำระค่าภารติดพันนั้น

                   แต่สิทธิเรียกคืนอันนี้ย่อมเป็นอันขาดไป ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้มีสิทธิจะเรียกให้ชำระค่าภารติดพันนั้น

                   มาตรา 529  ถ้าทรัพย์สินที่ให้มีราคาไม่พอกับการที่จะชำระค่าภารติดพันไซร้

ท่านว่าผู้รับจะต้องชำระแต่เพียงเท่าราคาทรัพย์สินเท่านั้น

                   มาตรา 530  ถ้าการให้นั้นมีค่าภารติดพัน ท่านว่าผู้ให้จะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิเช่นเดียวกันกับผู้ขาย แต่ท่านจำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภารติดพัน

                   มาตรา 531  อันผู้ให้จะเรียนถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น

ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีย์ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

                   (1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาชญาอย่างร้ายแรงตาม

ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา หรือ

                   (2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

                   (3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่

ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

                   มาตรา 532  ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้

                   แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้

                   มาตรา 533  เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี

หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่

                   อนึ่งท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น

                   มาตรา 534  เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่ง

ประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยลาภมิควรได้

                   มาตรา 535  การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนการ

                   (1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้

                   (2) ให้สิ่งที่มีค่าภารติดพัน

                   (3) ให้ในการสมรส

                   มาตรา 536  การให้อันจะให้เป็นผลต่อเมื่อผู้ให้ตายนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทกฎหมายว่าด้วยมฤดกและพินัยกรรม

ลักษณะ 4

เช่าทรัพย์

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 537  อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

                   มาตรา 538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่ง

อย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

                   มาตรา 539  ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาเช่นนั้น คู่สัญญาพึงออกใช้เสมอกัน

ทั้งสองฝ่าย

                   มาตรา 540  อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้น ท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี

                   อนึ่งกำหนดเวลาเช่าดั่งกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา

                   มาตรา 541  สัญญาเช่านั้นจะทำกันเป็นกำหนดว่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือของผู้เช่าก็ให้ทำได้

                   มาตรา 542  บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านว่าทรัพย์ตกไปอยู่ในครอบครองผู้เช่าคนใดก่อนด้วยสัญญาเช่าทรัพย์นั้น คนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

                   มาตรา 543  บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาอสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัย

มูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านให้วินิจฉัยดั่งต่อไปนี้

                   (1) ถ้าการเช่านั้นเป็นประเภทซึ่งมิได้บังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน

ท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้ทรัพย์สินไปไว้ในครอบครองก่อนด้วยสัญญาเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

                   (2) ถ้าการเช่าทุก ๆ รายเป็นประเภทซึ่งบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน

ท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้จดทะเบียนการเช่าของตนก่อนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

                   (3) ถ้าการเช่ามีทั้งประเภทซึ่งต้องจดทะเบียนและประเภทซึ่งไม่ต้องจดทะเบียน

ตามกฎหมายยันกันอยู่ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าคนที่ได้จดทะเบียนการเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าเว้นแต่ผู้เช่าคนอื่นจะได้ทรัพย์สินนั้นไปไว้ในครอบครองด้วยการเช่าของตนเสียแต่ก่อนวันจดทะเบียนนั้นแล้ว

                   มาตรา 544  ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า

                   ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 545  ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบ ท่านว่าผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง ในกรณีย์เช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่

                   อนึ่งบทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า

หมวด 2

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า

                   มาตรา 546  ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว

                   มาตรา 547  ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเท่าใด ผู้ให้เช่าจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้เช่า เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย

                   มาตรา 548  ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นโดยสภาพไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 549  การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของให้ผู้เช่าในกรณีย์ชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดีผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร

                   มาตรา 550  ผู้ให้เช่าย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเช่า และผู้ให้เช่าต้องจัดการซ่อมแซมทุกอย่างบรรดาซึ่งเป็นการจำเป็นขึ้น เว้นแต่การซ่อมแซมชนิดซึ่งมีกฎหมายหรือจารีตประเพณีว่าผู้เช่าจะพึงต้องทำเอง

                   มาตรา 551  ถ้าความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่านั้นไม่เป็นเหตุถึงแก่

ผู้เช่าจะต้องปราศจากการใช้และประโยชน์และผู้ให้เช่ายังแก้ไขได้ไซร้ ผู้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้ให้เช่าจัดการแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นก่อน ถ้าและผู้ให้เช่าไม่จัดทำให้คืนดีภายในเวลาอันสมควร ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ หากว่าความชำรุดบกพร่องนั้นร้ายแรงถึงสมควรจะทำเช่นนั้น

หมวด 3

หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่า

                   มาตรา 552  อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่น นอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ หรือการดั่งกำหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่

                   มาตรา 553  ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

                   มาตรา 554  ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 552 มาตรา 553

หรือฝ่าฝืนข้อสัญญาผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้น ๆ ก็ได้ ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านว่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 555  ผู้เช่าจำต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าเข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว ในเวลาและระยะอันสมควร

                   มาตรา 556  ถ้าในระวางเวลาเช่ามีเหตุจะต้องซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเป็นการเร่งร้อน และผู้ให้เช่าประสงค์จะทำการอันจำเป็นเพื่อที่จะซ่อมแซมเช่นว่านั้นไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ทำนั้นไม่ได้ แม้ถึงว่าการนั้นจะเป็นความไม่สะดวกแก่ตน ถ้าการซ่อมแซมเป็นสภาพซึ่งต้องกินเวลานานเกินสมควร จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 557  ในกรณีย์อย่างใด ๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าทรัพย์สินที่เช่านั้นชำรุดควรที่ผู้ให้เช่าจะต้องซ่อมแซมก็ดี

                   (2) ถ้าจะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่ทรัพย์สินนั้นก็ดี

                   (3) ถ้าบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในทรัพย์สินที่เช่าหรือเรียกอ้างสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือทรัพย์สินนั้นก็ดี

                   ในเหตุดั่งกล่าวนั้นให้ผู้เช่าแจ้งเหตุแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน เว้นแต่ผู้ให้เช่าจะได้ทราบเหตุนั้นอยู่ก่อนแล้ว

                   ถ้าผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในเมื่อผู้ให้เช่าต้องเสียหายอย่างใด ๆ เพราะความละเลยชักช้าของผู้เช่านั้น

                   มาตรา 558  อันทรัพย์สินที่เช่านั้น ถ้ามิได้รับอนุญาติของผู้ให้เช่าก่อน

ผู้เช่าจะทำการดัดแปลงหรือต่อเติมอย่างหนึ่งอย่างใดหาได้ไม่ ถ้าและผู้เช่าทำไปโดยมิได้รับอนุญาติของผู้ให้เช่าเช่นนั้นไซร้ เมื่อผู้ให้เช่าเรียกร้อง ผู้เช่าจะต้องทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนคงสภาพเดิม  ทั้งจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในความศูนย์หายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การดัดแปลงต่อเติมนั้นด้วย

                   มาตรา 559  ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือโดยจารีตประเพณีว่าจะพึงชำระค่าเช่า ณ เวลาใด ท่านให้ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้ตกลงกำหนดกันไว้ทุกคราวไป กล่าวคือว่าถ้าเช่ากันเป็นรายปีก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นปี ถ้าเช่นนั้นเป็นรายเดือนก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นเดือน

                   มาตรา 560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

                   มาตรา 561  ถ้ามิได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาแสดงไว้ต่อกันว่าทรัพย์สินที่ให้เช่ามีสภาพเป็นอยู่อย่างไร ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เช่าได้รับทรัพย์สินที่เช่านั้นไปโดยสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลงผู้เช่าก็ต้องส่งคืนในสภาพเช่นนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิได้ซ่อมแซมไว้ดีในขณะที่ส่งมอบ

                   มาตรา 562  ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความศูนย์หายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ

อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง

                   แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความศูนย์หายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สิน

นั้นโดยชอบ

                   มาตรา 563  คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า

หมวด 4

ความระงับแห่งสัญญาเช่า

                   มาตรา 564  อันสัญญาเช่านั้น ท่านว่าย่อมระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ มิพักต้องบอกกล่าวก่อน

                   มาตรา 565  การเช่าถือสวนนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเช่ากันปีหนึ่ง

                   การเช่านาก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเช่ากันตลอดฤดูทำนาปีหนึ่ง

                   มาตรา 566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

                   มาตรา 567  ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าศูนย์หายไปทั้งหมดไซร้ ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย

                   มาตรา 568  ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าศูนย์หายไปแต่เพียงบางส่วน และมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้เช่า ท่านว่าผู้เช่าจะเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่ศูนย์หายก็ได้

                   ในกรณีย์เช่นนี้ ถ้าผู้เช่าไม่สามารถใช้สอยทรัพย์สินส่วนที่ยังคงเหลืออยู่นั้นสำเร็จประโยชน์ได้ดั่งที่ได้มุ่งหมายเข้าทำสัญญาเช่าไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

                   ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

                   มาตรา 570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

                   มาตรา 571  ถ้าสัญญาเช่าที่นาได้เลิกหรือระงับลง เมื่อผู้เช่าได้เพาะปลูกข้าวลงแล้วไซร้ ท่านว่าผู้เช่าย่อมมีสิทธิที่จะครองนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเกี่ยวเก็บ แต่ต้องเสียค่าเช่า

ลักษณะ 5

เช่าซื้อ

                   มาตรา 572  อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว

                   สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

                   มาตรา 573  ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง

                   มาตรา 574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

                   อนึ่งในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้นท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

ลักษณะ 6

จ้างแรงงาน

                   มาตรา 575  อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

                   มาตรา 576  ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้นจะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือเอาโดยปริยายว่ามีคำมั่นจะให้สินจ้าง

                   มาตรา 577  นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

                   ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

                   ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิก

สัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 578  ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้

                   มาตรา 579  การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควร และชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่าไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

                   มาตรา 580  ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือจารีตประเพณีว่าจะพึงจ่ายสินจ้างเมื่อไร ท่านว่าพึงจ่ายเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ ถ้าการจ่ายสินจ้างนั้นได้กำหนดกันไว้เป็นระยะเวลา ก็ให้พึงจ่ายเมื่อสุดระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป

                   มาตรา 581  ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

                   มาตรา 582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไรท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

                   อนึ่งในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

                   มาตรา 583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี

หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

                   มาตรา 584  ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสารสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้างท่านว่าสัญญาจ้างเช่นนั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง

                   มาตรา 585  เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร

                   มาตรา 586  ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้แต่จะต้องเป็นดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ

                   (2) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

ลักษณะ 7

จ้างทำของ

                   มาตรา 587  อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

                   มาตรา 588  เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้น ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา

                   มาตรา 589  ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี

                   มาตรา 590  ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จักหามาส่ง ท่านให้ผู้รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวังและประหยัดอย่าให้เปลืองเสียเปล่า เมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว มีสัมภาระเหลืออยู่ก็ให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง

                   มาตรา 591  ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้น

เพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดีท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

                   มาตรา 592  ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น

                   มาตรา 593  ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้างจนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย

                   มาตรา 594  ถ้าในระวางเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญา ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไปท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้

ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

                   มาตรา 595  ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะซื้อขาย

                   มาตรา 596  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพันเวลาอันสมควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลงหรือถ้าสารสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

                   มาตรา 597  ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อนผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

                   มาตรา 598  ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย

                   มาตรา 599  ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร

                   มาตรา 600  ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดินนอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

                   แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุด

บกพร่องนั้น

                   มาตรา 601  ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น

                   มาตรา 602  อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ

                   ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วน ๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ ไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น

                   มาตรา 603  ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลาย

หรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

                   ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้

                   มาตรา 604  ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลาย

หรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้รับจ้าง

                   ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ เว้นแต่ความวินาศนั้นเป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

                   มาตรา 605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใดผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

                   มาตรา 606  ถ้าสารสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างและผู้รับจ้างตายก็ดี หรือจำเป็นผู้ไม่สามารถทำการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่เพราะความผิดของตนก็ดี ท่านว่าสัญญานั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง

                   ถ้าและการส่วนที่ได้ทำขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ ท่านว่าผู้ว่าจ้างจำต้องรับเอาไว้และใช้สินจ้างตามสมควรแก่ส่วนนั้น ๆ

                   มาตรา 607  ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วน

ไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สารสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใด ๆ ของผู้รับ
จ้างช่วง

ลักษณะ 8

รับขน

                   มาตรา 608  อันว่าผู้ขนส่งภายในความหมายแห่งกฎหมายลักษณะนี้ คือ บุคคลผู้รับขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน

                   มาตรา 609  การรับขนของหรือคนโดยสารในหน้าที่ของกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงไทย และการขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขนั้น ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทะบวงการนั้น ๆ

                   รับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น

หมวด 1

รับขนของ

                   มาตรา 610  อันบุคคลผู้ทำความตกลงกับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนของส่งไปนั้น

เรียกว่าผู้ส่ง หรือผู้ตราส่ง

                   บุคคลผู้ซึ่งเขาส่งของไปถึงนั้น เรียกว่าผู้รับตราส่ง

                   บำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของนั้น เรียกว่าค่าระวางพาหนะ

                   มาตรา 611  อันว่าอุปกรณ์แห่งค่าระวางพาหนะนั้น ได้แก่ค่าใช้จ่ายอย่างใด ๆ

ตามจารีตประเพณีอันผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระวางขนส่ง

                   มาตรา 612  ถ้าผู้ขนส่งเรียกเอาใบกำกับของ ผู้ส่งต้องทำให้

                   ใบกำกับของนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้ คือ

                   (1) สภาพและน้ำหนัก หรือขนาดแห่งของที่ส่ง กับ สภาพ จำนวน และเครื่องหมายแห่งหีบห่อ

                   (2) ตำบลที่กำหนดให้ส่ง

                   (3) ชื่อหรือยี่ห้อ และสำนักของผู้รับตราส่ง

                   (4) ตำบลและวันที่ออกใบกำกับของนั้น

                   อนึ่งใบกำกับของนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ส่งเป็นสำคัญ

                   มาตรา 613  ถ้าผู้ส่งเรียกเอาใบตราส่ง ผู้ขนส่งก็ต้องทำให้

                   ใบตราส่งนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้ คือ

                   (1) รายการดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 612 อนุมาตรา 1, 2 และ 3

                   (2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ส่ง

                   (3) จำนวนค่าระวางพาหนะ

                   (4) ตำบลและวันที่ออกใบตราส่ง

                   อนึ่งใบตราส่งนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ขนส่งเป็นสำคัญ

                   มาตรา 614  แม้ว่าใบตราส่งจะได้ออกให้แก่บุคคลผู้ใดโดยนามก็ตาม ท่านว่า

ย่อมสลักหลังโอนให้กันได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามการสลักหลังไว้

                   มาตรา 615  ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กัน ท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้

ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่ง หรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร

                   มาตรา 616  ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้น

ศูนย์หายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการศูนย์หายหรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง

                   มาตรา 617  ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของศูนย์หายหรือบุบสลายหรือ

ส่งชักช้า อันเกิดแต่ความผิดของผู้ขนส่งคนอื่น หรือบุคคลอื่นซึ่งตนหากได้มอบหมาย

ของนั้นไปอีกทอดหนึ่ง

                   มาตรา 618  ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่า

ผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในการศูนย์หาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า

                   มาตรา 619  ถ้าของเป็นสภาพอันจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือเป็นสภาพ

เกลือกจะก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินไซร้ ผู้ส่งต้องแสดงสภาพแห่งของนั้นไว้ก่อนทำสัญญา ถ้ามิได้ทำเช่นนั้นผู้ส่งจะต้องรับผิดในการเสียหายไม่ว่าอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ของนั้น

                   มาตรา 620  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตรตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญญมณี และของมีค่าอย่างอื่น ๆ หากมิได้รับบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตน

                   แต่ถ้าของนั้นได้บอกราคา ท่านว่าความรับผิดของผู้ขนส่งก็ย่อมจำกัดเพียง

ไม่เกินราคาที่บอก

                   มาตรา 621  ค่าสินไหมทดแทนในการส่งมอบของชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้

คิดเกินกว่าจำนวนเช่นจะพึงกำหนดให้ในเหตุของศูนย์หายสิ้นเชิง

                   มาตรา 622  ของถึงเมื่อใด ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่ง

                   มาตรา 623  ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับ

เอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว

                   แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ของศูนย์หายหรือบุบสลายเห็น

ไม่ได้แต่สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวความสูญหายหรือบุบสลายแก่ผู้ขนส่งภายในแปดวันนับแต่วันส่งมอบ

                   อนึ่งบทบัญญัติทั้งหลายนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการทุจริตหรือประมาท

เลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะปรับเอาเป็นความผิดของผู้ขนส่งได้

                   มาตรา 624  ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลาย

หรือส่งของชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ส่งมอบ หรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ เว้นแต่ในกรณีที่มีการทุจริต

                   มาตรา 625  ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น

                   มาตรา 626  ตราบใดของยังอยู่ในมือผู้ขนส่ง ตราบนั้นผู้ส่ง หรือถ้าได้ทำใบตราส่ง ผู้ทรงใบตราส่งนั้น อาจจะให้ผู้ขนส่งงดการส่งของนั้นไป หรือให้ส่งกลับคืนมา หรือให้จัดการแก่ของนั้นเป็นอย่างอื่นประการใดก็ได้

                   ในเหตุเช่นนี้ ผู้ขนส่งชอบที่จะได้รับเงินค่าระวางพาหนะตามส่วนแห่งระยะทางที่ได้จัดการขนส่งไปแล้ว กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องเสียไปเพราะเหตุที่บอกงดหรือเพราะส่งของกลับคืน หรือเพราะจัดการเป็นประการอื่นนั้น

                   มาตรา 627 เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่ง และผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว ท่านว่าแต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่ง

                   มาตรา 628  ถ้าว่าของศูนย์หายไปเพราะเหตุสุดวิสัย ท่านว่าผู้ขนส่งไม่มีสิทธิจะได้เงินค่าระวางพาหนะ ถ้าและได้รับไปก่อนแล้วเท่าใดต้องส่งคืนจงสิ้น

                   มาตรา 629  ถ้าผู้ขนส่งคนใดส่งมอบของเสียแต่ก่อนได้รับค่าระวางพาหนะ

และอุปกรณ์ไซร้ ท่านว่าผู้ขนส่งคนนั้นยังคงต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งก่อน ๆ ตนเพื่อค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ซึ่งยังค้างชำระแก่เขา

                   มาตรา 630  ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงเอาของไว้ก่อนได้ตามที่จำเป็นเพื่อประกันการใช้เงินค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์

                   มาตรา 631  ถ้าหาตัวผู้รับตราส่งไม่พบก็ดี หรือถ้าผู้รับตราส่งบอกปัดไม่ยอมรับมอบของก็ดี ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวไปยังผู้ส่งทันที และถามเอาคำสั่งของผู้ส่ง

                   ถ้าหากว่าพฤติการณ์ขัดขวางไม่สามารถจะทำได้ดั่งนี้ก็ดี หรือถ้าผู้ส่งละเลยเสียไม่ส่งคำสั่งมาในเวลาอันควรก็ดี หรือส่งมาเป็นคำสั่งอันไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปได้ก็ดี ท่านว่าผู้ขนส่งมีอำนาจที่จะเอาของไปฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ได้

                   ถ้าของนั้นเป็นลหุภัณฑ์ของสดเสียได้ และการหน่วงช้าไว้ย่อมเป็นการเสี่ยงความเสียหายก็ดี หรือถ้าราคาของนั้นดูไม่น่าจะคุ้มค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ก็ดี ผู้ขนส่งจะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดเสียก็ได้

                   อนึ่งการเอาของไปฝากหรือเอาออกขายทอดตลาดเช่นว่านั้น ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมิให้ชักช้า เว้นแต่ไม่สามารถจะทำได้ถ้าและผู้ขนส่งละเลยเสียไม่บอกกล่าวไซร้ ท่านว่าจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย

                   มาตรา 632  เมื่อเอาของออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ผู้ขนส่งหักเอาไว้เป็นค่าระวางพาหนะและค่าอุปกรณ์ ถ้าและยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ต้องส่งมอบให้แก่บุคคลผู้ควรที่จะได้เงินนั้นโดยพลัน

                   มาตรา 633  ถ้าของนั้นได้ขนส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดท่านว่าผู้ขนส่งทอดหลังที่สุดอาจใช้สิทธิดั่งกล่าวในมาตรา 630, 631, 632 นั้นในการเรียกเงินค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์อันค้างชำระแก่ผู้ขนส่งทั่วทุกคนได้

หมวด 2

รับขนคนโดยสาร

                   มาตรา 634  ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา  หรือในความเสื่อมเสียอย่างใด ๆ อันเป็นผลโดยตรงแต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง

                   มาตรา 635  เครื่องเดินทางหากได้มอบหมายแก่ผู้ขนส่งทันเวลาท่านว่าต้องส่งมอบในขณะคนโดยสารถึง

                   มาตรา 636  ถ้าคนโดยสารไม่รับมอบเครื่องเดินทางของตนภายในเวลาเดือนหนึ่งนับแต่วันเครื่องเดินทางนั้นถึงไซร้ ผู้ขนส่งอาจเอาออกขายทอดตลาดเสียได้

                   ถ้าเครื่องเดินทางนั้นมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ ผู้ขนส่งอาจเอาออกขายทอดตลาดได้ เมื่อของนั้นถึงแล้วรออยู่ล่วงเวลากว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง

                   บทบัญญัติในมาตรา 632 นั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่คดีดั่งว่านี้ด้วยอนุโลมตามควร

                   มาตรา 637  สิทธิและความรับผิดของผู้ขนส่งเพื่อเครื่องเดินทางอันได้มอบหมายแก่ผู้ขนส่งนั้น แม้ผู้ขนส่งจะมิได้คิดเอาค่าขนส่งต่างหากก็ตามท่านให้บังคับตามความในหมวด 1

                   มาตรา 638  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเครื่องเดินทางซึ่งตนมิได้รับมอบหมาย เว้นแต่เมื่อเครื่องเดินทางนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปเพราะความผิดของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง

                   มาตรา 639  ตั๋ว ใบรับ หรือเอกสารอื่นทำนองเช่นว่านี้อันผู้ขนส่งได้ส่งมอบแก่คนโดยสารนั้น หากมีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งอย่างใด ๆ ท่านว่าข้อความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนโดยสารจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นนั้น

ลักษณะ 9

ยืม

หมวด 1

ยืมใช้คงรูป

                   มาตรา 640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

                   มาตรา 641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

                   มาตรา 642  ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

                   มาตรา 643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

                   มาตรา 644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

                   มาตรา 645  ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   มาตรา 646  ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

                   ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใด

ไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

                   มาตรา 647  ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น

ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย

                   มาตรา 648  อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม

                   มาตรา 649  ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้

คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

หมวด 2

ยืมใช้สิ้นเปลือง

                   มาตรา 650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงกันว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และประมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

                   สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

                   มาตรา 651  ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

                   มาตรา 652  ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไป ผู้ให้ยืม

จะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้

                   มาตรา 653  การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

                   ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

                   มาตรา 654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

                   มาตรา 655  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

                   ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดิรสะพัดก็ดี ในการ

ค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

                   มาตรา 656  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

                   ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

                   ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ท่านว่าเป็นโมฆะ

ลักษณะ 10

ฝากทรัพย์

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 657  อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ฝาก

ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตน แล้วจะคืนให้

                   มาตรา 658  ถ้าโดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่าเขารับฝากทรัพย์ก็เพื่อจะได้รับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์เท่านั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าเป็นอันตกลงกันแล้วโดยปริยายว่ามีบำเหน็จเช่นนั้น

                   มาตรา 659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

                   ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

                   ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขาย หรืออาชีวะอย่างหนึ่ง

อย่างใด ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

                   มาตรา 660  ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกใช้สอยเอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

                   มาตรา 661  ถ้าบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝากก็ดี หรือยึดทรัพย์สินนั้นก็ดี ผู้รับฝากต้องรีบบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน

                   มาตรา 662  ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ท่านว่าผู้รับฝากไม่มีสิทธิจะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้

                   มาตรา 663  ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สิน

ซึ่งฝากนั้นเมื่อไรก็ตาม ถ้าว่าผู้ฝากจะเรียกคืนในเวลาใด ๆ ผู้รับฝากก็ต้องคืนให้

                   มาตรา 664  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรไซร้ ผู้รับฝากอาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ

                   มาตรา 665  ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝากหรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น

                   แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท

                   มาตรา 666  เมื่อคืนทรัพย์ ถ้ามีดอกผลเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเท่าใดผู้รับฝากจำต้องส่งมอบพร้อมไปกับทรัพย์สินนั้นด้วย

                   มาตรา 667  ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย

                   มาตรา 668  ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นผู้ฝากจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงินค่าใช้จ่ายนั้นเอง

                   มาตรา 669  ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีต

ประเพณีว่าบำเหน็จค่าฝากทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไรไซร้ ท่านให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้เป็นระยะอย่างไร ก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป

                   มาตรา 670  ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น

                   มาตรา 671  ในข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายก็ดี ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

หมวด 2

วิธีเฉพาะการฝากเงิน

                   มาตรา 672  ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝากแต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

                   อนึ่งผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตามผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น

                   มาตรา 673  เมื่อใดผู้รับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝากผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้ หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน

หมวด 3

วิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรม

                   มาตรา 674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเตล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา

                   มาตรา 675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเตล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

                   ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้นใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ไซร้ ท่านจำกัดไว้เพียงห้าร้อยบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

                   แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

                   มาตรา 676  ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้นคนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนักโรงแรม โฮเตล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675

                   มาตรา 677  ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเตล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น

                   มาตรา 678  ในข้อความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่

วันที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้น

                   มาตรา 679  เจ้าสำนักชอบที่จะยึดหน่วงเครื่องเดินทางหรือทรัพย์สินอย่างอื่น

ของคนเดินทางหรือแขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเตล หรือสถานที่เช่นนั้นได้จนกว่าจะได้รับใช้เงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตน เพื่อการพักอาศัยและการอื่น ๆ อันได้ทำให้แก่คนเดินทางหรือแขกอาศัยตามที่เขาพึงต้องการนั้น รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปด้วย

                   เจ้าสำนักจะเอาทรัพย์สินที่ได้ยึดหน่วงไว้เช่นว่านั้นออกขายทอดตลาด แล้วหักเอาเงินใช้จำนวนที่ค้างชำระแก่ตน รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดนั้นจากเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ท่านมิให้เจ้าสำนักใช้สิทธิดั่งว่านี้ จนเมื่อ

                   (1) ทรัพย์สินนั้นตกอยู่แก่ตนเป็นเวลานานถึงหกสัปดาห์ยังมิได้รับชำระหนี้สิน

และ

                   (2) อย่างน้อยเดือนหนึ่งก่อนวันขายทอดตลาด ตนได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นฉบับหนึ่งแจ้งความจำนงที่จะขายทรัพย์สิน บอกลักษณะแห่งทรัพย์สินที่จะขายโดยย่อ กับถ้ารู้ชื่อเจ้าของก็บอกด้วย

                   เมื่อขายทอดตลาดหักใช้หนี้ดั่งกล่าวแล้ว มีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องคืนให้แก่เจ้าของ หรือฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ตามบทบัญญัติในมาตรา 331 และ 333

ลักษณะ 11

ค้ำประกัน

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 680  อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

                   อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

                   มาตรา 681  อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

                   หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

                   หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน

                   มาตรา 682  ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นได้

                   ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ท่านว่า
ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

                   มาตรา 683  อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภารติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย

                   มาตรา 684  ผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้จะต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่ถ้าโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้นั้นก่อนไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาต้องรับผิดเพื่อใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเช่นนั้นไม่

                   มาตรา 685  ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใดท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ในส่วนที่เหลือนั้น

หมวด 2

ผลก่อนชำระหนี้

                   มาตรา 686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่ต้น

                   มาตรา 687  ผู้ค้ำประกันไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดที่จะชำระ แม้ถึงว่าลูกหนี้จะไม่อาจถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสุดสิ้นได้ต่อไปแล้ว

                   มาตรา 688  เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต

                   มาตรา 689  ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน

                   มาตรา 690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

                   มาตรา 691  ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690

                   มาตรา 692  อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษ

แก่ผู้ค้ำประกันด้วย

หมวด 3

ผลภายหลังชำระหนี้

                   มาตรา 693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น

                   อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

                   มาตรา 694  นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย

                   มาตรา 695  ผู้ค้ำประกันซึ่งละเลยไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้เพียงเท่าที่ไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้ว่ามีข้อต่อสู้เช่นนั้น และที่ไม่รู้นั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของตนด้วย

                   มาตรา 695  ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ได้ ถ้าว่าตนได้ชำระหนี้แทนไปโดยมิได้บอกลูกหนี้ และลูกหนี้ยังมิรู้ความมาชำระหนี้ซ้ำอีก

                   ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ค้ำประกันก็ได้แต่เพียงจะฟ้องเจ้าหนี้เพื่อคืนลาภมิควรได้เท่านั้น

                   มาตรา 697  ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดีจำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

หมวด 4

ความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน

                   มาตรา 698  อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ

                   มาตรา 699  การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้

                   ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้

                   มาตรา 700  ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

                   แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

                   มาตรา 701  ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้

                   ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

ลักษณะ 12

จำนอง

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 702  อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่มอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

                   ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ

มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

                   มาตรา 703  อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใด ๆ

                   สังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกัน หากว่าได้จดทะเบียน

ไว้แล้วตามกฎหมาย คือ

                   (1) เรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนตร์

มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป

                   (2) แพ

                   (3) สัตว์พาหนะ

                   (4) สังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ

                   มาตรา 704  สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนอง

                   มาตรา 705  การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว

ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่

                   มาตรา 706  บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด

จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น

                   มาตรา 707  บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ใน

การจำนอง อนุโลมตามควร

                   มาตรา 708  สัญญาจำนองนั้นต้องมีจำนวนเงินระบุไว้เป็นเรือนเงินไทยเป็นจำนวนแน่ตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองนั้นตราไว้เป็นประกัน

                   มาตรา 709  บุคคลหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้

                   มาตรา 710  ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคน จะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้

                   และในการนี้คู่สัญญาจะตกลงกันดั่งต่อไปนี้ก็ได้ คือว่า

                   (1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้

                   (2) ให้ถือเอาทรัพย์สินแต่ละสิ่งเป็นประกันหนี้เฉพาะแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดที่ระบุไว้

                   มาตรา 711  การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใด นอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

                   มาตรา 712  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตามทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระวางเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

                   มาตรา 713  ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนอง ท่านว่าผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวด ๆ ก็ได้

                   มาตรา 714  อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน

ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

หมวด 2

สิทธิจำนองครอบเพียงใด

                   มาตรา 715  ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ

                   (1) ดอกเบี้ย

                   (2) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้

                   (3) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง

                   มาตรา 716  จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งแม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

                   มาตรา 717  แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตามท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง

                   ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลอดจากจำนองก็ให้ทำได้ แต่ความยินยอมดั่งว่านี้หากมิได้จดทะเบียนท่านว่าจะยกเอาขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่

                   มาตรา 718  จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สิน

ซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้

                   มาตรา 719  จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

                   แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

                   มาตรา 720  จำนองเรือนโรงหรือส่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วยฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

                   มาตรา 721  จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เว้นแต่ ในเมื่อผู้รับจำนองได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง

หมวด 3

สิทธิและหน้าที่ของผู้รับจำนองและผู้จำนอง

                   มาตรา 722  ถ้าทรัพย์สินได้จำนองแล้ว และภายหลังที่จดทะเบียนจำนองมี
จดทะเบียนภารจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่น โดยผู้รับจำนองมิได้ยินยอมด้วยไซร้ท่านว่าสิทธิจำนองย่อมเป็นใหญ่กว่าภารจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่นนั้น หากว่าเป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนอง ก็ให้ลบสิทธิที่กล่าวหลังนั้นเสียจากทะเบียน

                   มาตรา 723  ถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองบุบสลาย หรือถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่

สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายหรือบุบสลาย เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอแก่การประกันไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเสียในทันทีก็ได้ เว้นแต่เมื่อเหตุนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้จำนอง และผู้จำนองก็เสนอจะจำนองทรัพย์สินอื่นแทนให้มีราคาเพียงพอหรือเสนอจะรับซ่อมแซมแก้ไขความบุบสลายนั้นภายในเวลาอันสมควรแก่เหตุ

                   มาตรา 724  ผู้จำนองใดได้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระแล้ว และเข้าชำระหนี้เสียเองแทนลูกหนี้เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนองรู้ ท่านว่าผู้จำนองนั้นชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนที่ตนได้ชำระไป

                   ถ้าว่าต้องบังคับจำนอง ท่านว่าผู้จำนองชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับใช้หนี้จากการบังคับจำนองนั้น

                   มาตรา 725  เมื่อบุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้ ท่านว่าผู้จำนองซึ่งได้เป็นผู้ชำระหนี้ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งต้องบังคับจำนองนั้นหามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่
ผู้จำนองอื่น ๆ ต่อไปได้ไม่

                   มาตรา 726  เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกัน

หนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับไว้ด้วยไซร้ ท่านว่า การที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก่ผู้จำนองคนหนึ่งนั้น ย่อมทำให้ผู้จำนองคนหลัง ๆ ให้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น

                   มาตรา 727  ถ้าบุคคลคนเดียวจำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้อัน

บุคคลอื่นจะต้องชำระ ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 697, 700 และ 701 ว่าด้วยค้ำประกันนั้นบังคับอนุโลมตามควร

หมวด 4

การบังคับจำนอง

                   มาตรา 728  เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

                   มาตรา 729  นอกจากทางแก้ดั่งบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนั้น ผู้รับจำนองยังชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

                   (1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี

                   (2) ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวน

เงินอันค้างชำระ และ

                   (3) ไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สิน

อันเดียวกันนี้เอง

                   มาตรา 730  เมื่อทรัพย์สินอันหนึ่งอันเดียวได้จำนองแก่ผู้รับจำนองหลายคนด้วยกัน ท่านให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันและเวลาจดทะเบียน และผู้รับจำนองคนก่อนได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

                   มาตรา 731  อันผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่

                   มาตรา 732  ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง

                   มาตรา 733  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณ

ต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดีเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ต้องใช้จงครบ

                   มาตรา 734  ถ้าจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว

และมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนองจะใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินนั้น ๆ ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางสิ่งก็ได้ แต่ท่านห้ามมิให้ทำเช่นนั้นแก่ทรัพย์สินมากสิ่งกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้หนี้ตามสิทธิแห่งตน

                   ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน ท่านให้

แบ่งภารแห่งหนี้นั้นกระจายไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้น ๆ เว้นแต่ในกรณีที่ได้ระบุจำนวนเงินจำนองไว้เฉพาะทรัพย์สินแต่ละสิ่ง ๆ เป็นจำนวนเท่าใดท่านให้แบ่งกระจายไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้น ๆ

                   แต่ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งแต่เพียง

สิ่งเดียวไซร้ ผู้รับจำนองจะให้ชำระหนี้อันเป็นส่วนของตนทั้งหมดจากทรัพย์สินอันนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ท่านให้ถือว่าผู้รับจำนองคนถัดไปโดยลำดับย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองคนก่อนและจะเข้าบังคับจำนองแทนที่คนก่อนก็ได้แต่เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองคนก่อนจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามบทบัญญัติดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น

                   มาตรา 735  เมื่อผู้รับจำนองคนใดจำนงจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอน

ทรัพย์สินซึ่งจำนอง ท่านว่าต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเดือนหนึ่งก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้                                     

หมวด 5

สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง

                   มาตรา 736  ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองก็ได้ ถ้าหากมิได้เป็นตัวลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือเป็นทายาทของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน

                   มาตรา 737  ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองได้บอกกล่าวว่ามีจำนงจะบังคับจำนองไซร้ ผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจำนองภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันรับคำบอกกล่าว

                   มาตรา 738  ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น

                   คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ

                   (1) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง

                   (2) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์

                   (3) ชื่อเจ้าของเดิม

                   (4) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน

                   (5) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้

                   (6) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน

                   อนึ่งให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย

                   มาตรา 739  ถ้าเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดไม่ยอมรับคำเสนอเจ้าหนี้คนนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิจารณาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น แต่ว่าเจ้าหนี้นั้นจะต้องปฏิบัติการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ด้วย คือ

                   (1) ออกเงินทดรองค่าฤชาธรรมเนียมการขายทอดตลาด

                   (2) ต้องเข้าสู้ราคาเอง หรือแต่งคนเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่ผู้รับโอนเสนอจะใช้

                   (3) บอกกล่าวการที่ตนไม่ยอมนั้นให้ผู้รับโอนและเจ้าหนี้คนอื่น ๆ บรรดา

ได้จดทะเบียน กับทั้งเจ้าของทรัพย์คนก่อนและลูกหนี้ชั้นต้นทราบด้วย

                   มาตรา 740  ถ้าขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิล้ำจำนวนเงินที่ผู้รับโอนเสนอว่าจะใช้ ท่านให้ผู้รับโอนเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการขายทอดตลาดถ้าได้ไม่ถึงล้ำจำนวน ท่านให้เจ้าหนี้ผู้ร้องขอให้ขายทอดตลาดเป็นผู้ออก

                   มาตรา 741  เมื่อเจ้าหนี้ทั้งหลายได้สนองรับคำเสนอทั่วทุกคนแล้ว โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ดี ท่านว่าจำนองหรือบุริมสิทธิก็เป็นอันไถ่ถอนได้ด้วยผู้รับโอนใช้เงินหรือวางเงินตามจำนวนที่เสนอจะใช้แทนการชำระหนี้

                   มาตรา 742  ถ้าการบังคับจำนองก็ดี ถอนจำนองก็ดี เป็นเหตุให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุดมือไปจากบุคคลผู้ได้ทรัพย์สินนั้นไว้แต่ก่อนไซร้ ท่านว่าการที่ทรัพย์สินหลุดมือไปเช่นนั้นหามีผลย้อนหลังไม่ และบุริมสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้แห่งผู้ที่ทรัพย์หลุดมือไปอันมีอยู่เหนือทรัพย์สินและได้จดทะเบียนไว้นั้น ก็ย่อมเข้าอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิอันเจ้าหนี้ของผู้จำนอง หรือเจ้าของคนก่อนได้จดทะเบียนไว้

                   ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสิทธิใด ๆ อันมีอยู่เหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แต่ก่อนได้ระงับไปแล้วด้วยเกลื่อนกลืนกันในขณะที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาไซร้ สิทธินั้นท่านให้กลับคืนมาเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้นั้นได้อีก ในเมื่อทรัพย์สินซึ่งจำนองกลับหลุดมือไป

                   มาตรา 743  ถ้าผู้รับโอนได้ทำให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองเสื่อมราคาลงเพราะการกระทำหรือความประมาทเลินเล่อแห่งตน เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ทั้งหลายผู้มีสิทธิจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นต้องเสียหายไซร้ ท่านว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น  อย่างไรก็ดี อันผู้รับโอนจะเรียกเอาเงินจำนวนใด ๆ ซึ่งตนได้ออกไป หรือเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ตนได้ทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นนั้น ท่านว่าหาอาจจะเรียกได้ไม่ เว้นแต่ที่เป็นการทำให้ทรัพย์สินนั้นงอกราคาขึ้น

และจะเรียกได้เพียงเท่าจำนวนราคาที่งอกขึ้นเมื่อขายทอดตลาดเท่านั้น

หมวด 6

ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนอง

                   มาตรา 744  อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป

                   (1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ

                   (2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ

                   (3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น

                   (4) เมื่อถอนจำนอง

                   (5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง

                   (6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด

                   มาตรา 745  ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้

                   มาตรา 746  การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใด ๆ สิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดีการระงับหนี้อย่างใด ๆ ก็ดี การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี ท่านว่าต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย มิฉะนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก

ลักษณะ 13

จำนำ

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 747  อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

                   มาตรา 748  การจำนำนั้นย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ

                   (1) ดอกเบี้ย

                   (2) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้

                   (3) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนำ

                   (4) ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งจำนำ

                   (5) ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินจำนำซึ่งไม่เห็นประจักษ์

                   มาตรา 749  คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ก็ได้

                   มาตรา 750  ถ้าทรัพย์สินที่จำนำเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารและมิได้ส่งมอบตราสารนั้นให้แก่ผู้รับจำนำ ทั้งมิได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งการจำนำแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นด้วยไซร้ ท่านว่าการจำนำย่อมเป็นโมฆะ

                   มาตรา 751  ถ้าจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้สลักหลังไว้ที่ตราสารให้ปรากฏการจำนำเช่นนั้น

                   อนึ่งในการนี้ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งตราสาร

                   มาตรา 752  ถ้าจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลโดยนามและจะโอนกันด้วยสลักหลังไม่ได้ ท่านว่าต้องจดข้อความแสดงการจำนำไว้ให้ปรากฏในตราสารนั้นเอง และท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้แห่งตราสารหรือบุคคลภายนอกเว้นแต่จะได้บอกกล่าวการจำนำนั้นให้ทราบถึงลูกหนี้แห่งตราสาร

                   มาตรา 753  ถ้าจำนำใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บริษัทหรือบุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการจำนำนั้นไว้ในสมุดของบริษัทตามบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ 22 ว่าด้วยการโอนหุ้นหรือหุ้นกู้

                   มาตรา 754  ถ้าสิทธิซึ่งจำนำนั้นถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ซึ่งประกันไว้นั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้แห่งสิทธิต้องส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสิทธิให้แก่ผู้รับจำนำ และทรัพย์สินนั้นก็กลายเป็นของจำนำแทนสิทธิซึ่งจำนำ

                   ถ้าสิทธิซึ่งจำนำนั้นเป็นมูลหนี้ซึ่งต้องชำระเป็นเงิน และถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ซึ่งประกันไว้นั้นไซร้ ท่านว่าต้องใช้เงินให้แก่ผู้รับจำนำและผู้จำนำร่วมกัน ถ้าและเขาทั้งสองนั้นไม่ปรองดองตกลงกันได้ ท่านว่าแต่ละคนชอบที่จะเรียกให้วางเงินจำนวนนั้นไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ได้เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน

                   มาตรา 755  ถ้าจำนำสิทธิ ท่านห้ามมิให้ทำสิทธินั้นให้สิ้นไป หรือแก้ไขสิทธินั้นให้เสียหายแก่ผู้รับจำนำโดยผู้รับจำนำมิได้ยินยอมด้วย

                   มาตรา 756  การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนำ  รือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

                   มาตรา 757  บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ 13 นี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่สัญญาจำนำที่ทำกับผู้ตั้งโรงรับจำนำโดยอนุญาตรัฐบาลแต่เพียงที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือกฎข้อบังคับว่าด้วยโรงจำนำ

หมวด 2

สิทธิและหน้าที่ของผู้จำนำและผู้รับจำนำ

                   มาตรา 758  ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน

                   มาตรา 759  ผู้รับจำนำต้องรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ให้ปลอดภัย และต้องสงวนทรัพย์สินจำนำนั้นเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

                   มาตรา 760  ถ้าผู้รับจำนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเก็บรักษาโดยผู้จำนำมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนำจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจำนำนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

                   มาตรา 761  ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาหากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้นอย่างไร ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน  ละถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น

                   มาตรา 762  ค่าใช้จ่ายใด ๆ อันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินจำนำนั้นผู้จำนำจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับจำนำ เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา

                   มาตรา 763  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันส่งคืน หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนำ คือ

                   (1) ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลายอันผู้รับจำนำก่อให้เกิด

แก่ทรัพย์สินจำนำ

                   (2) ฟ้องเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาทรัพย์สินจำนำ

                   (3) ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่ผู้รับจำนำ

เพราะความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินจำนำซึ่งไม่เห็นประจักษ์

หมวด 3

การบังคับจำนำ

                   มาตรา 764  เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

                   ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด

                   อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

                   มาตรา 765  ถ้าไม่สามารถจะบอกกล่าวก่อนได้ ผู้รับจำนำจะเอาทรัพย์สิน

จำนำออกขายทอดตลาดเสียในเมื่อหนี้ค้างชำระมาล่วงเวลาเดือนหนึ่งแล้วก็ให้ทำได้

                   มาตรา 766  ถ้าจำนำตั๋วเงิน ท่านให้ผู้รับจำนำเก็บเรียกเงินตามตั๋วเงินนั้นในวันถึงกำหนด ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวก่อน

                   มาตรา 767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

                   ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

                   มาตรา 768  ถ้าจำนำทรัพย์สินสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวท่านว่าผู้รับจำนำจะเลือกเอาทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกขายก็ได้ แต่จะขายจนเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้เงินตามสิทธิแห่งตนนั้นหาได้ไม่

หมวด 4

ความระงับสิ้นไปแห่งการจำนำ

                   มาตรา 769  อันจำนำย่อมระงับสิ้นไป

                   (1) เมื่อหนี้ซึ่งจำนำเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ หรือ

                   (2) เมื่อผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ

ลักษณะ 14

เก็บของในคลังสินค้า

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 770  อันว่านายคลังสินค้านั้น คือบุคคลผู้รับทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน

                   มาตรา 771  บทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยฝากทรัพย์นั้น

ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่การเก็บของในคลังสินค้าด้วยเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในลักษณะนี้

                   มาตรา 772  บทบัญญัติมาตรา 616, 619, 623, 625, 630, 631 และ 632 อันว่าด้วยการรับขนนั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่การเก็บของในคลังสินค้าอนุโลมตามควรแก่บท

                   มาตรา 773  นายคลังสินค้าจำต้องยอมให้ผู้ทรงใบรับของคลังสินค้า หรือ

ผู้ทรงประทวนสินค้าตรวจสินค้าและเอาตัวอย่างไปได้ในเวลาอันควรระหว่างเวลาทำงานทุกเมื่อ

                   มาตรา 774  นายคลังสินค้าจะเรียกให้ผู้ฝากถอนสินค้าไปก่อนสิ้นระยะเวลาที่ตกลงกันไว้นั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ ถ้าไม่มีกำหนดเวลาส่งคืนสินค้านายคลังสินค้าจะส่งคืนได้ต่อเมื่อบอกกล่าวให้ผู้ฝากทราบล่วงหน้าเดือนหนึ่ง แต่ท่านมิให้ผู้ฝากต้องถูกบังคับให้ถอนสินค้าไปก่อนเวลาล่วงแล้วสองเดือน นับแต่วันที่ได้ส่งมอบฝากไว้

หมวด 2

ใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้า

                   มาตรา 775  ถ้าผู้ฝากต้องการไซร้ นายคลังสินค้าต้องส่งมอบเอกสารซึ่งเอาออกจากทะเบียนมีต้นขั้วเฉพาะการอันมีใบรับของคลังสินค้าฉบับหนึ่ง และประทวนสินค้าฉบับหนึ่งให้แก่ผู้ฝาก

                   มาตรา 776  อันใบรับของคลังสินค้านั้น ย่อมให้สิทธิแก่ผู้ฝากที่จะสลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าไปเป็นของผู้อื่นได้

                   มาตรา 777  อันประทวนสินค้านั้น ย่อมให้สิทธิแก่ผู้ฝากที่จะสลักหลังจำนำสินค้าซึ่งจดแจ้งไว้ในประทวนได้โดยไม่ต้องส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับสลักหลัง

                   แต่ว่าเมื่อผู้ฝากประสงค์จะจำนำสินค้า ต้องแยกประทวนออกเสียจากใบรับของคลังสินค้า และส่งมอบประทวนนั้นให้แก่ผู้รับสลักหลัง

                   มาตรา 778  ใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้าต้องมีเลขลำดับตรงกันกับเลขในต้นขั้ว และลงลายมือชื่อของนายคลังสินค้า

                   อนึ่งใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้านั้น ท่านให้มีรายละเอียดดั่งกล่าว

ต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อหรือยี่ห้อ และสำนักของผู้ฝาก

                   (2) ที่ตั้งคลังสินค้า

                   (3) ค่าบำเหน็จสำหรับเก็บรักษา

                   (4) สภาพของสินค้าที่เก็บรักษา และน้ำหนักหรือขนาดแห่งสินค้านั้น กับทั้ง

สภาพ จำนวน และเครื่องหมายหีบห่อ

                   (5) สถานที่และวันออกใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้านั้น

                   (6) ถ้าได้กำหนดกันไว้ว่าให้เก็บสินค้าไว้ชั่วเวลาเท่าใดให้แจ้งกำหนดนั้นด้วย

                   (7) ถ้าของที่เก็บรักษามีประกันภัย ให้แสดงจำนวนเงินที่ประกันภัยกำหนด

เวลาที่ประกันภัย และชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัยด้วย

                   อนึ่งนายคลังสินค้าต้องจดรายละเอียดทั้งนี้ลงไว้ในต้นขั้วด้วย

                   มาตรา 779  อันใบรับของคลังสินค้าก็ดี ประทวนสินค้าก็ดี ท่านว่าหาอาจออกให้หรือสลักหลังให้แก่ผู้ถือได้ไม่

                   มาตรา 780  เมื่อใดผู้ฝากสลักหลังประทวนสินค้าให้แก่ผู้รับจำนำ คู่สัญญาต้องจดแจ้งการที่สลักหลังนั้นลงไว้ในใบรับของคลังสินค้าด้วย

                   ถ้ามิได้จดแจ้งไว้ดั่งนั้น ท่านว่าการจำนำนั้นหาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ซื้อสินค้าสืบไปนั้นได้ไม่

                   มาตรา 781  เมื่อประทวนสินค้าได้สลักหลังและส่งมอบแก่ผู้รับจำนำแล้วให้ผู้ฝากกับผู้รับจำนำจดลงไว้ในประทวนสินค้าเป็นสำคัญ ว่าได้จดข้อความตามที่บัญญัติในมาตราก่อนไว้ในใบรับของคลังสินค้าแล้ว

                   มาตรา 782  เมื่อใดผู้ฝากจำนำสินค้าและส่งมอบประทวนสินค้าแก่ผู้รับสลักหลังแล้ว ผู้รับสลักหลังเช่นนั้นต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่นายคลังสินค้าให้ทราบจำนวนหนี้ซึ่งจำนำสินค้านั้นเป็นประกัน ทั้งจำนวนดอกเบี้ยและวันอันหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระ เมื่อนายคลังสินค้าได้รับคำบอกกล่าวเช่นนั้นแล้วต้องจดรายการทั้งนั้นลงในต้นขั้ว

                   ถ้าและมิได้จดในต้นขั้วเช่นนั้น ท่านว่าการจำนำนั้นหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ทั้งหลายของผู้ฝากได้ไม่

                   มาตรา 783  ผู้ทรงเอกสารอันมีทั้งใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้านั้น จะให้นายคลังสินค้าแยกสินค้าที่เก็บรักษาไว้ออกเป็นหลายส่วนและให้ส่งมอบเอกสารแก่ตนส่วนละใบก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ทรงเอกสารต้องคืนเอกสารเดิมแก่นายคลังสินค้า

                   อนึ่งค่าใช้จ่ายในการแยกสินค้าและการส่งมอบเอกสารใหม่นั้น ผู้ทรงเอกสารต้องรับใช้

                   มาตรา 784  กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่เก็บรักษาไว้นั้น ท่านว่าอาจโอนได้แต่ด้วยสลักหลังใบรับของคลังสินค้าเท่านั้น

                   มาตรา 785  สินค้าซึ่งเก็บรักษาไว้นั้นอาจจำนำได้แต่ด้วยสลักหลังประทวนสินค้า เมื่อประทวนสินค้าได้สลักหลังแล้ว สินค้านั้นจะจำนำแก่ผู้อื่นอีกชั้นหนึ่งด้วยสลักหลังใบรับของคลังสินค้าอย่างเดียวกับสลักหลังประทวนสินค้านั้นก็ได้

                   มาตรา 786  ตราบใดสินค้าที่เก็บรักษาไว้ไม่ได้จำนำ ท่านว่าจะโอนใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้าไปต่างหากจากกันไม่ได้อยู่ตราบนั้น

                   มาตรา 787  ในการสลักหลังลงในประทวนสินค้าครั้งแรกนั้น ต้องจดแจ้งจำนวนหนี้ที่จำนำสินค้าเป็นประกันทั้งจำนวนดอกเบี้ยที่จะต้องชำระและวันที่หนี้จะถึงกำหนดชำระด้วย

                   มาตรา 788  อันสินค้าที่เก็บรักษาไว้ในคลังสินค้านั้น จะรับเอาไปได้แต่เมื่อเวนคืนใบรับของคลังสินค้า

                   มาตรา 789  ถ้าได้แยกประทวนสินค้าออกสลักหลังจำนำแล้ว จะรับเอาสินค้าได้แต่เมื่อเวนคืนทั้งใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้า

                   แต่ว่าผู้ทรงใบรับของคลังสินค้าอาจให้คืนสินค้าแก่ตนได้ในเวลาใด ๆ เมื่อวางเงินแก่นายคลังสินค้าเต็มจำนวนหนี้ซึ่งลงไว้ในประทวนสินค้า กับทั้งดอกเบี้ยจนถึงวันกำหนดชำระหนี้นั้นด้วย

                   อนึ่งจำนวนเงินที่วางเช่นนี้นายคลังสินค้าต้องชำระแก่ผู้ทรงประทวนสินค้าในเมื่อเขาเวนคืนประทวนนั้น

                   มาตรา 790  ถ้าหนี้ซึ่งสินค้าจำนำเป็นประกันมิได้ชำระเมื่อวันถึงกำหนดไซร้ ผู้ทรงประทวนสินค้าเมื่อได้ยื่นคำคัดค้านตามระเบียบแล้ว ชอบที่จะให้นายคลังสินค้าขายทอดตลาดสินค้านั้นได้ แต่ท่านห้ามมิให้ขายทอดตลาดก่อนแปดวันนับแต่วันคัดค้าน

                   มาตรา 791  ผู้ทรงประทวนสินค้าต้องมีจดหมายบอกกล่าวให้ผู้ฝากทราบเวลาและสถานที่จะขายทอดตลาด

                   มาตรา 792  นายคลังสินค้าต้องหักเงินที่ค้างชำระแก่ตนเนื่องด้วยการเก็บรักษาสินค้านั้นจากจำนวนเงินสุทธิที่ขายทอดตลาดได้ และเมื่อผู้ทรงประทวนสินค้านำประทวนมาเวนคืน ต้องเอาเงินที่เหลือนั้นให้ตามจำนวนที่ค้างชำระแก่เขา

                   ถ้ามีเงินเหลือเท่าใด ต้องใช้แก่ผู้รับจำนำคนหลังเมื่อเขาเวนคืนใบรับของคลังสินค้า หรือถ้าไม่มีผู้รับจำนำคนหลังหรือผู้รับจำนำคนหลังได้รับชำระหนี้แล้ว ก็ให้ชำระเงินที่เหลืออยู่นั้นแก่ผู้ทรงใบรับของคลังสินค้า

                   มาตรา 793  ถ้าจำนวนเงินสุทธิที่ขายทอดตลาดได้ไม่พอชำระหนี้แก่ผู้ทรงประทวนสินค้าไซร้ นายคลังสินค้าต้องคืนประทวนสินค้าแก่เขา กับจดบอกจำนวนเงินที่ได้ชำระลงไว้ในประทวนสินค้านั้นแล้วจดลงไว้ในสมุดบัญชีของตนด้วย

                   มาตรา 794  ผู้ทรงประทวนสินค้ามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาจำนวนเงินที่ยังค้างชำระนั้นแก่ผู้สลักหลังคนก่อน ๆ ทั้งหมดหรือแต่คนใดคนหนึ่งได้ แต่ต้องได้ขายทอดตลาดภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันคัดค้าน

                   อนึ่งท่านห้ามมิให้ฟ้องไล่เบี้ยเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันขายทอดตลาด

                   มาตรา 795  บทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตั๋วเงินนั้นท่านให้ใช้ได้ถึงประทวนสินค้าและใบรับของคลังสินค้าซึ่งได้สลักหลังอย่างประทวนสินค้านั้นด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะนี้

                   มาตรา 796  ถ้าเอกสารมีทั้งใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้าหรือแต่อย่างหนึ่งอย่างใดสูญหายไป เมื่อผู้ทรงเอกสารนั้น ๆ ให้ประกันตามสมควรแล้ว จะให้นายคลังสินค้าออกให้ใหม่ก็ได้

                   ในกรณีเช่นนี้นายคลังสินค้าต้องจดหมายลงไว้ในต้นขั้วเป็นสำคัญ

ลักษณะ 15

ตัวแทน

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น

                   อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

                   มาตรา 798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

                   กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

                   มาตรา 799  ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทนท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้องผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทำ

                   มาตรา 800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

                   มาตรา 801  ถ้าตัวแทนได้มอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

                   แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ

                   (1) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

                   (2) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

                   (3) ให้

                   (4) ปราณีประนอมยอมความ

                   (5) ยื่นฟ้องต่อศาล

                   (6) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

                   มาตรา 802  ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะห้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหายท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะทำการใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำก็ย่อมมีอำนาจจะทำได้ทั้งสิ้น

                   มาตรา 803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

                   มาตรา 804  ถ้าในสัญญาอันเดียวตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียวกันไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้

                   มาตรา 805  ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้

                   มาตรา 806  ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นไม่ได้

หมวด 2

หน้าที่และความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการ

                   มาตรา 807  ตัวแทนต้องทำการตามคำสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มีคำสั่งเช่นนั้น ก็ต้องดำเนิรตามทางที่เคยทำกันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทำอยู่นั้น

                   อนึ่งบทบัญญัติมาตรา 659 ว่าด้วยการฝากทรัพย์นั้น ท่านให้นำมาใช้ด้วยโดยอนุโลมตามควร

                   มาตรา 808  ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วง

ทำการได้

                   มาตรา 809  เมื่อตัวการมีประสงค์จะทราบความเป็นไปของการที่ได้มอบหมายแก่ตัวแทนนั้นในเวลาใด ๆ ซึ่งสมควรแก่เหตุ ตัวแทนก็ต้องแจ้งให้ตัวการทราบ อนึ่งเมื่อการเป็นตัวแทนสิ้นสุดลงแล้วตัวแทนต้องแถลงบัญชีด้วย

                   มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

                   อนึ่งสิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

                   มาตรา 811  ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการหรือซึ่งควรจะใช้ในกิจของตัวการนั้นไปใชัสอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

                   มาตรา 812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

                   มาตรา 813  ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุตัวให้ตั้งท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้องรับผิดแต่เพียงในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การ หรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้วและมิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบหรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้น
เสียเอง

                   มาตรา 814  ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการ ฉันใดกลับกับก็ฉันนั้น

หมวด 3

หน้าที่และความรับผิดของตัวการต่อตัวแทน

                   มาตรา 815  ถ้าตัวแทนมีประสงค์ไซร้ ตัวการต้องจ่ายเงินทดรองให้แก่ตัวแทนตามจำนวนที่จำเป็น เพื่อทำการอันมอบหมายแก่ตัวแทนนั้น

                   มาตรา 816  ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอกเงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้

                   ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภารเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้

                   ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากตัวการก็ได้

                   มาตรา 817  ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทนถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็น

อย่างอื่น ท่านว่าบำเหน็จนั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สุดสิ้นลงแล้ว

                   มาตรา 818  การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น

ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ

                   มาตรา 819  ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินของใด ๆ ของตัวการ

อันตกอยู่ในความครอบครองของตนเพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

หมวด 4

ความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก

                   มาตรา 820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย

อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

                   มาตรา 821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี

รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

                   มาตรา 822  ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทนแต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี

                   มาตรา 823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี

หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

                   ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก

โดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

                   มาตรา 824  ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อและตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน

                   มาตรา 825  ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นอันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดี หรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่ เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย

หมวด 5

ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทน

                   มาตรา 826  อันสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไปด้วยตัวการถอนตัวแทน หรือ

ด้วยตัวแทนบอกเลิกเป็นตัวแทน

                   อนึ่งสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลาย เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญาหรือสภาพแห่งกิจการนั้น

                   มาตรา 827  ตัวการจะถอนตัวแทน และตัวแทนจะบอกเลิกเป็นตัวแทนเสีย

ในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ

                   คู่สัญญาฝ่ายซึ่งถอนตัวแทนหรือบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่

อีกฝ่ายหนึ่ง จะร้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นในความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น เว้นแต่ในกรณีที่เป็นความจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้

                   มาตรา 828  เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี ตัวการตกเป็นผู้ไร้ความหรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขาได้มอบหมายแก่ตนไป จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้

                   มาตรา 829  เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวแทนตายก็ดี ตัวแทน

ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าทายาทหรือบุคคลผู้รับหน้าที่ดูแลทรัพย์มฤดกของตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมายต้องบอกกล่าวแก่ตัวการและจัดการเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการไปตามสมควรแก่พฤติการณ์ จนกว่าตัวการอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้

                   มาตรา 830  อันเหตุที่ทำให้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปนั้นจะเกิดแต่ตัวการ

หรือตัวแทนก็ตาม ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จนกว่าจะได้บอกกล่าวเหตุนั้น ๆ ไปยังคู่สัญญาฝ่ายนั้นแล้ว หรือจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะได้ทราบเหตุแล้ว

                   มาตรา 831  อันความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทนนั้น ท่านห้ามมิให้ยกขึ้น

เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต เว้นแต่บุคคลภายนอกหากไม่ทราบความนั้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตนเอง

                   มาตรา 832  ในเมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป ตัวการชอบที่จะเรียกให้เวนคืนหนังสือมอบอำนาจอย่างใด ๆ อันได้ให้ไว้แก่ตัวแทนนั้นได้

หมวด 6

ตัวแทนค้าต่าง

                   มาตรา 833  อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ หรือขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

                   มาตรา 834  ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างชอบที่จะได้รับบำเหน็จโดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการอันขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไป

                   มาตรา 835  บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น

ท่านให้ใช้บังคับถึงตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้

                   มาตรา 836  บุคคลผู้ไร้ความสามารถหาอาจจะทำการเป็นตัวแทนค้าต่าง

ได้ไม่ เว้นแต่จะได้รับอำนาจโดยชอบให้ทำได้

                   มาตรา 837  ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการ

ค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อ

คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย

                   มาตรา 838  ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่าง

หาต้องรับผิดต่อตัวการเพื่อชำระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดในสัญญาหรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทนประพฤติต่อกัน หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

                   อนึ่งตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดั่งกล่าว

มาในวรรคก่อนนั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบำเหน็จพิเศษ

                   มาตรา 839  ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายเป็นราคาต่ำไปกว่าที่ตัวการกำหนด หรือทำการซื้อเป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใชัเศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้นตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ

                   มาตรา 840  ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด

หรือทำการซื้อได้ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้แก่ตัวการ

                   มาตรา 841  ตัวแทนค้าต่างทำการไปอย่างไรบ้าง ท่านให้แถลงรายงานแก่ตัวการ และเมื่อได้ทำการค้าต่างเสร็จลงแล้ว ก็ให้แจ้งแก่ตัวการทราบมิให้ชักช้า

                   มาตรา 842  เมื่อใดเขามอบหมายทรัพย์สินไว้แก่ตัวแทนค้าต่าง ท่านให้นำ

บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะฝากทรัพย์มาใช้บังคับ อนุโลมตามควร

                   อนึ่งในกรณีที่เป็นความจำเป็นอันมิก้าวล่วงเสียได้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างจะ

จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นตามวิธีการดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 631 ว่าด้วยรับขนนั้นก็ได้

                   มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมี

รายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญา ในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น ณ สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

                   เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น ถ้าไม่บอกปัดเสียในทันที ท่านให้ถือว่า

ตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

                   อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

                   มาตรา 844  ในระหว่างตัวการกับตัวแทนค้าต่าง ท่านให้ถือว่ากิจการอันตัวแทนได้ทำให้ตกลงไปนั้น ย่อมมีผลเสมือนดั่งว่าได้ทำให้ตกลงไปในนามของตัวการโดยตรง

ลักษณะ 16

นายหน้า

                   มาตรา 845  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

                   นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้

เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

                   มาตรา 846  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้นโดยพฤติการณ์เป็น

ที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

                   ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็น

จำนวนตามธรรมเนียม

                   มาตรา 847  ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับ

คำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่

                   มาตรา 848  ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้

ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง

                   มาตรา 849  การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น

ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา

ลักษณะ 17

ปราณีประนอมยอมความ

                   มาตรา 850  อันว่าปราณีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญา

ทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน

                   มาตรา 851  อันสัญญาปราณีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

                   มาตรา 852  ผลของสัญญาปราณีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การ

เรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

ลักษณะ 18

การพนัน และขันต่อ

                   มาตรา 853  อันการพนันหรือขันต่อนั้น ท่านว่าหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่

ได้ให้กันไปในการพนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้

                   ข้อบัญญัติที่กล่าวนี้ ท่านให้ใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใด

อันฝ่ายข้างเสียพนันขันต่อหากทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะใช้หนี้เงินพนันหรือขันต่อนั้นด้วย

                   มาตรา 854  อันการออกสลากกินแบ่งก็ดี ออกสลากกินรวบก็ดี ท่านว่าเป็นสัญญาอันจะผูกพันต่อเมื่อรัฐบาลได้ให้อำนาจหรือให้สัตยาบันแก่การนั้นเฉพาะรายนอกนั้นท่านให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 853

                   มาตรา 855  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 312 และ 916 ตั๋วเงิน

หรือเอกสารอย่างอื่นทุกฉบับซึ่งออกให้เต็มจำนวน หรือแต่โดยส่วน เพื่อแทนเงินใด ๆ อันได้แต่ชนะพนันหรือขัดต่อก็ดี ออกให้เพื่อใช้เงินที่ยืมมาใช้ในการพนันหรือขันต่อเช่นว่านั้นก็ดี ท่านว่าไม่สมบูรณ์

                   เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัตินี้ เงินรายได้ให้ยืมแก่บุคคลกำลังเล่นการพนัน

หรือขันต่อ ในเวลาหรือ ณ สถานที่เล่นเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงินนั้นได้ให้ยืมไปเพื่อเล่นการพนันหรือขันต่อ

ลักษณะ 19

บัญชีเดิรสะพัด

                   มาตรา 856  อันว่าสัญญาบัญชีเดิรสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลง

กันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลยภาค

                   มาตรา 857  การนำตั๋วเงินลงเป็นรายการในบัญชีเดิรสะพัดนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ลงด้วยเงื่อนไขว่าจะมีผู้ชำระเงินตามตั๋วนั้น ถ้าและตั๋วนั้นมิได้ชำระเงินไซร้ จะเพิกถอนรายการอันนั้นเสียก็ได้

                   มาตรา 858  ถ้าคู่สัญญามิได้กำหนดกันไว้ว่าให้หักทอนบัญชีโดยระยะเวลา

อย่างไรไซร้ ท่านให้ถือเอาเป็นกำหนดหกเดือน

                   มาตรา 859  คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดิรสะพัด และให้หักทอน

บัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้

                   มาตรา 860  เงินส่วนที่ผิดกันอยู่นั้นถ้ายังมิได้ชำระ ท่านให้คิดดอกเบี้ย

นับแต่วันที่หักทอนบัญชีเสร็จเป็นต้นไป

ลักษณะ 20

ประกันภัย

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 861  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งตกลงจะให้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย

                   มาตรา 862  ตามข้อความในลักษณะนี้

                   คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

                   คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า  บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหม

ทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้

                   อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

                   มาตรา 863  อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสีย

ในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

                   มาตรา 864  เมื่อคู่สัญญาประกันภัยยกเอาภัยใดโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อพิจารณา

ในการกำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัย และภัยเช่นนั้นสิ้นไปหามีไม่แล้ว ท่านว่าภายหน้าแต่นั้นไป ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดเบี้ยประกันภัยลงตามส่วน

                   มาตรา 865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

                   ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัย

ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญา

ก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

                   มาตรา 866  ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดั่งกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดั่งจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์

                   มาตรา 867  อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด

อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

                   ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอา

ประกันภัยฉบับหนึ่ง

                   กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย และมีรายการ

ดั่งต่อไปนี้

                   (1) วัตถุที่เอาประกันภัย

                   (2) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง

                   (3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้

                   (4) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย

                   (5) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย

                   (6) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย

                   (7) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย

                   (8) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย

                   (9) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี

                   (10) วันทำสัญญาประกันภัย

                   (11) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย

                   มาตรา 868  อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่ง

กฎหมายทะเล

หมวด 2

ประกันวินาศภัย

ส่วนที่ 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 869  อันคำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

                   มาตรา 870  ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมาน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้

                   อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน

                   ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกันท่านว่าผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อ ๆ กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ

                   มาตรา 871  ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันก็ดี

หรือสืบเนื่องเป็นลำดับกันก็ดี ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น ไม่กะทบกะทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ๆ

                   มาตรา 872  ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน

                   มาตรา 873  ถ้าในระวางอายุสัญญาประกันภัยนั้น มูลประกันภัยได้ลดน้อยถอยลงไปหนักไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ และลดจำนวนเงินเบี้ยประกันภัย

                   การลดจำนวนเบี้ยประกันภัยนั้น ให้เป็นผลต่อในอนาคต

                   มาตรา 874  ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัย

ชอบที่จะได้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวนสูงเกินไปหนัก และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนกับทั้งดอกเบี้ยด้วย

                   มาตรา 875  ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย

                   ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่งถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนังไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ

                   มาตรา 876  ถ้าผู้รับประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ผู้รับ

ประกันภัยจะเรียกให้หาประกันอันสมควรให้แก่ตนก็ได้ หรือจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

                   ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับตามควรแก่เรื่อง แต่กระนั้นก็ดี ถ้าเบี้ยประกันภัยได้ส่งแล้วเต็มจำนวนเพื่ออายุประกันภัยเป็นระยะเวลามากน้อยเท่าใดไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยบอกเลิกสัญญาก่อนระยะเวลานั้นสุดลง

                   มาตรา 877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

                   (2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

                   (3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

                   อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

                   ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

                   มาตรา 878  ค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยนั้น ท่านว่าผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกใช้

                   มาตรา 879  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่น

ซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

                   ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 880  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

                   ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

                   มาตรา 881  ถ้าความวินาศเกิดขึ้นเพราะภัยมีขึ้นดั่งผู้รับประกันภัยตกลงประกันภัยไว้ไซร้ เมื่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ทราบความวินาศนั้นแล้วต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับประกันภัยโดยไม่ชักช้า

                   ถ้ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อน ผู้รับประกันภัยอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้นได้เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้

                   มาตรา 882  ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย

                   ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสองปีนับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด

ส่วนที่ 2

วิธีเฉพาะการประกันภัยในการรับขน

                   มาตรา 883  อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น ย่อมคุ้มถึงความวินาศภัย

ทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งในระวางเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง และจำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้น ย่อมกำหนดตามที่ของซึ่งขนส่งนั้นจะได้มีราคาเมื่อถึงตำบลอันกำหนดให้ส่ง

                   มาตรา 884  ถ้าของซึ่งขนส่งนั้นได้เอาประกันภัยเมื่ออยู่ในระหว่างส่งเดินทางไป ท่านให้คิดมูลประกันภัยในของนั้นนับรวมทั้งราคาของ ณ สถานที่และในเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของ และให้เพิ่มค่าระวางส่งของไปยังสถานที่ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เนื่องด้วยการส่งของไปนั้นเข้าด้วย

                   กำไรอันจะพึงได้ในเวลาเมื่อส่งมอบของนั้นย่อมจะคิดรวมเข้าเป็นมูลประกันภัยได้ต่อเมื่อได้มีข้อตกลงกันไว้เช่นนั้นชัดแจ้ง

                   มาตรา 885  อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น ถึงแม้การขนส่งจะต้องสะดุดหยุดลงชั่วขณะหรือจะต้องเปลี่ยนทางหรือเปลี่ยนวิธีขนส่งอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเหตุจำเป็นในระวางส่งเดินทางก็ดี ท่านว่าสัญญานั้นก็ย่อมคงเป็นอันสมบูรณ์อยู่เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 886  อันกรมธรรม์ประกันภัยในการรับขนนั้นนอกจากที่ได้ระบุ

ไว้แล้วในมาตรา 867 ต้องมีรายการเพิ่มขึ้นอีกดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ระบุทางและวิธีขนส่ง

                   (2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขนส่ง

                   (3) สถานที่ซึ่งกำหนดให้รับและส่งมอบของ

                   (4) กำหนดระยะเวลาขนส่งตามแต่มี

ส่วนที่ 3

ประกันภัยค้ำจุน

                   มาตรา 887  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัย

ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

                   บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้น

จากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย

                   อนึ่งผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว

ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

                   มาตรา 888  ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษา

นั้นยังไม่คุ้มค่าวินาศภัยเต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสียหายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดั่งกล่าวไว้ในมาตราก่อน

หมวด 3

ประกันชีวิต

                   มาตรา 889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

                   มาตรา 890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียวหรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระวางคู่สัญญา

                   มาตรา 891  แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดีผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

                   ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 309 มาใช้บังคับ

                   มาตรา 892  ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา 865 ผู้รับประกันภัย

ต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น

                   มาตรา 893  การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลผู้ใด

แม้ได้แถลงอายุของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน

                   แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่ทำสัญญานั้น อายุที่ถูกต้อง

แท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

                   มาตรา 894  ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย

                   มาตรา 895  เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด

ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

                   (1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ

                   (2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

                   ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

                   มาตรา 896  ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย

                   มาตรา 897  ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมฤดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

                   ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมฤดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

ลักษณะ 21

ตั๋วเงิน

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 898  อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภท ๆ หนึ่ง คือตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่ง คือตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทหนึ่ง คือเช็ค

                   มาตรา 899  ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้

ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

                   มาตรา 900  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

                   ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นแกงได หรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตามท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่

                   มาตรา 901  ถ้าบุคคลคนใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น

                   มาตรา 902  ถ้าตั๋วเงินลงลายมือชื่อของบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลไซร้ ท่านว่าการนี้ย่อมไม่กะทบกะทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน

                   มาตรา 903  ในการใช้เงินตามตั๋วเงินท่านมิให้ให้วันผ่อน

                   มาตรา 904  อันผู้ทรงนั้น หมายความว่าบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

                   มาตรา 905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงิน

ไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีกท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้ว ท่านให้ถือ

เสมือนว่ามิได้มีเลย

                   ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นหาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริต หรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

                   อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

                   มาตรา 906  คำว่าคู่สัญญาคนก่อน ๆ นั้น รวมทั้งผู้สั่งจ่ายหรือผู้ออกตั๋วเงินและผู้สลักหลังคนก่อน ๆ ด้วย

                   มาตรา 907  เมื่อใดไม่มีที่ในตั๋วเงินซึ่งจะสลักหลังได้ต่อไปไซร้ ท่านอนุญาตให้เอากระดาษแผ่นหนึ่งผนึกต่อเข้ากับตั๋วเงินเรียกว่าใบประจำต่อ นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งตั๋วเงินนั้น

                   การสลักหลังในใบประจำต่อครั้งแรกต้องเขียนคาบบนตั๋วเงินเดิมบ้างบนใบประจำต่อบ้าง

หมวด 2

ตั๋วแลกเงิน

ส่วนที่ 1

การออกและสลักหลังตั๋วแลกเงิน

                   มาตรา 908  อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

                   มาตรา 909 อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน

                   (2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน

                   (3) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย

                   (4) วันถึงกำหนดใช้เงิน

                   (5) สถานที่ใช้เงิน

                   (6) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

                   (7) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน

                   (8) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

                   มาตรา 910  ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน เว้นแต่ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น

                   ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน

                   ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย

                   ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

                   มาตรา 911  ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยก็ได้ และในกรณีเช่นนั้น ถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน

                   มาตรา 912  อันตั๋วแลกเงินนั้นจะออกสั่งให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายก็ได้

                   อนึ่งจะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเอง หรือสั่งจ่ายเพื่อบุคคลภายนอกก็ได้

                   มาตรา 913  อันวันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินนั้น ท่านว่าย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้ หรือ

                   (2) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น หรือ

                   (3) เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ

                   (4) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น

                   มาตรา 914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่าเมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

                   มาตรา 915  ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ

                   (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน

                   (2) ข้อกำหนดยอมลดละให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหน้าที่ทั้งหลายอันผู้ทรงจะพึงต้องมีแก่ตนบางอย่างหรือทั้งหมด

                   มาตรา 916  บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

                   มาตรา 917  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

                   เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดั่งนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่า ตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ

                   อนึ่งตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะสลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้

                   มาตรา 918  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

                   มาตรา 919  คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อและต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง

                   การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้เรียกว่า“สลักหลังลอย”

                   มาตรา 920  อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน

                   ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดั่งกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้คือ

                   (1) ตรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

                   (2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

                   (3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่ตรอกความลงในที่ว่างและไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

                   มาตรา 921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

                   มาตรา 922  การสลักหลังนั้นต้องให้เป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไขถ้าและวางเงื่อนไขบังคับลงไว้อย่างใด ท่านให้ถือเสมือนว่าข้อเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนลงไว้เลย

                   อนึ่งการสลักหลังโอนแต่บางส่วน ท่านว่าเป็นโมฆะ

                   มาตรา 923  ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อความห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว

ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง

                   มาตรา 924  ถ้าตั๋วแลกเงินสลักหลังต่อเมื่อสิ้นเวลาเพื่อคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินนั้นแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปซึ่งสิทธิแห่งการรับรองตามแต่มีต่อผู้จ่าย กับสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังตั๋วเงินนั้น ภายหลังที่สิ้นเวลาเช่นนั้น

                   แต่ถ้าตั๋วเงินนั้นได้มีคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินมาแต่ก่อนสลักหลังแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปแต่เพียงสิทธิของผู้ซึ่งสลักหลังให้แก่ตนอันมีต่อผู้รับรองต่อผู้สั่งจ่าย และต่อบรรดาผู้ที่สลักหลังตั๋วเงินนั้นมาก่อนย้อนขึ้นไปจนถึงเวลาคัดค้านเท่านั้น

                   มาตรา 925  เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า “ราคาอยู่ที่เรียกเก็บ”

ก็ดี “เพื่อเรียกเก็บ” ก็ดี “ในฐานจัดการแทน” ก็ดี หรือความสำนวนอื่นใดอันเป็นปริยายว่าตัวแทนไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะสลักหลังได้เพียงในฐานเป็นตัวแทน

                   ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดอาจจะต่อสู้ผู้ทรงได้แต่เพียงด้วยข้อต่อสู้อันจะพึงใช้ได้ต่อผู้สลักหลังเท่านั้น

                   มาตรา 926  เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า “ราคาเป็นประกัน”

ก็ดี “ราคาเป็นจำนำ” ก็ดี หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้นแต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน

                   คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

ส่วนที่ 2

การรับรอง

                   มาตรา 927  อันตั๋วแลกเงินนั้นจะนำไปยื่นแก่ผู้จ่าย ณ ที่อยู่ของผู้จ่ายเพื่อให้รับรองเมื่อไร ๆ ก็ได้จนกว่าจะถึงเวลากำหนดใช้เงิน และผู้ทรงจะเป็นผู้ยื่นหรือเพียงแต่ผู้ที่ได้ตั๋วนั้นไว้ในครอบครองจะเป็นผู้นำไปยื่นก็ได้

                   ในตั๋วแลกเงินนั้น ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่าให้นำยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัดไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้

                   ผู้สั่งจ่ายจะห้ามการนำตั๋วแลกเงินยื่นเพื่อรับรองก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นตั๋วเงินอันได้ออกสั่งให้ใช้เงินเฉพาะ ณ สถานที่อื่นใดอันมิใช่ภูมิลำเนาของผู้จ่าย หรือได้ออกสั่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งนับแต่ได้เห็น

                   อนึ่งผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่ายังมิได้นำตั๋วยื่นเพื่อให้รับรองก่อนถึงกำหนดวันใดวันหนึ่งก็ได้

                   ผู้สลักหลังทุกคนจะลงข้อกำหนดไว้ว่า ให้นำตั๋วเงินยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัดไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ห้ามการรับรอง

                   มาตรา 928  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลากำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็นนั้น ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน หรือภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้

                   มาตรา 929  ภายในบังคับบทบัญญัติมาตรา 927 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมีสิทธิที่จะยื่นตั๋วเงินแก่ผู้จ่ายได้ในทันใดเพื่อให้รับรอง ถ้าและเขาไม่รับรองภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงไซร้
ผู้ทรงก็มีสิทธิที่จะคัดค้าน

                   มาตรา 930  ในการยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองนั้นผู้ทรงไม่จำต้องปล่อยตั๋วนั้นให้ไว้ในมือผู้จ่าย

                   อนึ่งผู้จ่ายจะเรียกให้ยื่นตั๋วแลกเงินแก่ตนอีกเป็นครั้งที่สองในวันรุ่งขึ้นแต่วันที่ยื่นครั้งแรกนั้นก็ได้ ท่านห้ามมิให้คู่กรณีที่มีส่วนได้เสียยกเอาการที่มิได้อนุวัตตามคำเรียกอันนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เว้นแต่การเรียกนั้นได้ระบุไว้ในคำคัดค้าน

                   มาตรา 931  การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า “รับรองแล้ว” หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย อนึ่งแต่เพียงลงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว

                   มาตรา 932  ตั๋วแลกเงินฉบับใดเขียนสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงินนั้น แต่หากมิได้ลงวันไว้ก็ดีหรือตั๋วเงินฉบับใดสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็น แต่หากคำรับรองตั๋วนั้นมิได้ลงวันไว้ก็ดี ตั๋วแลกเงินเช่นว่ามานี้ ท่านว่าผู้ทรงจะจดวันออกตั๋วหรือวันรับรองลงตามที่แท้จริงก็ได้แล้วพึงให้ใช้เงินตามนั้น

                   อนึ่งท่านบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ทรงทำการโดยสุจริตแต่ลงวันคลาดเคลื่อน

ไปด้วยสำคัญผิด และในกรณีลงวันผิดทุกสถาน หากว่าในภายหลังตั๋วเงินนั้นตกไปยังมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตั๋วเงินจะเสียไปเพราะเหตุนั้นก็หาไม่ท่านให้คงเป็นตั๋วเงินที่ใช้ได้ และพึงใช้เงินกันเสมือนดั่งว่าวันที่ได้จดลงนั้นเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง

                   มาตรา 933  ถ้าการรับรองมิได้ลงวัน ท่านให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาอันกำหนดไว้เพื่อรับรองนั้นเป็นวันรับรอง

                   มาตรา 934  ถ้าผู้จ่ายเขียนคำรับรองลงในตั๋วแลกเงินแล้ว แต่หากกลับขีดฆ่าเสียก่อนตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นไปจากมือตนไซร้ ท่านให้ถือเป็นอันว่าได้บอกปัดไม่รับรอง แต่ถ้าผู้จ่ายได้แจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ทรง หรือคู่สัญญาฝ่ายอื่นซึ่งได้ลงนามในตั๋วเงินว่าตนรับรองตั๋วเงินนั้นก่อนแล้ว จึงมาขีดฆ่าคำรับรองต่อภายหลังไซร้ ท่านว่าผู้จ่ายก็คงต้องผูกพันอยู่ตามเนื้อความที่ตนได้เขียนรับรองนั้นเอง

                   มาตรา 935  อันการรับรองนั้นย่อมมีได้สองสถาน คือ รับรองตลอดไปหรือรับรองเบี่ยงบ่าย

                   การรับรองตลอดไป คือยอมตกลงโดยไม่แก้แย้งคำสั่งของผู้สั่งจ่ายแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย

                   ส่วนการรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น กล่าวเป็นเนื้อความทำผลแห่งตั๋วเงินให้แผกไปจากที่เขียนสั่งไว้

                   กล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า ถ้าคำรับรองมีเงื่อนไขก็ดี หรือรับรองแต่เพียงบางส่วนก็ดี ท่านว่าเป็นรับรองเบี่ยงบ่าย

                   มาตรา 936  คำรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะบอกปัดเสียก็ได้ และถ้าไม่ได้คำรับรองอันไม่เบี่ยงบ่ายจะถือเอาว่าตั๋วเงินนั้นเป็นอันขาดความเชื่อถือรับรองก็ได้

                   ถ้าผู้ทรงรับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่าย และผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังมิได้ให้อำนาจแก่
ผู้ทรงโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้รับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่ายเช่นนั้นก็ดี หรือไม่ยินยอมด้วยในภายหลังก็ดี ท่านว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้น ๆ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วเงินนั้น แต่บทบัญญัติทั้งนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการรับรองแต่บางส่วนซึ่งได้บอกกล่าวก่อนแล้วโดยชอบ

                   ถ้าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วเงินรับคำบอกกล่าวการรับรองเบี่ยงบ่าย

แล้วไม่โต้แย้งไปยังผู้ทรงภายในเวลาอันสมควร ท่านให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้นเป็นอันได้ยินยอมด้วยกับการนั้นแล้ว

                   มาตรา 937  ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

ส่วนที่ 3

อาวัล

                   มาตรา 938  ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล”

                   อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้

                   มาตรา 939  อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเองหรือที่ใบประจำต่อ

                   ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

                   อนึ่งเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

                   ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุท่านให้ถือว่ารับประกัน
ผู้สั่งจ่าย

                   มาตรา 940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

                   แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้น จะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

                   เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น

ส่วนที่ 4

การใช้เงิน

                   มาตรา 941  อันตั๋วแลกเงินนั้น ย่อมจะพึงใช้เงินในวันถึงกำหนด และถึงกำหนดวันใดผู้ทรงต้องนำตั๋วเงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันนั้น

                   มาตรา 942  อันจะบังคับให้ผู้ตั๋วแลกเงินรับเงินใช้ก่อนตั๋วเงินถึงกำหนดนั้น

ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่

                   อนึ่งผู้จ่ายคนใดใช้เงินไปแต่ก่อนเวลาตั๋วเงินถึงกำหนด ท่านว่าย่อมทำเช่นนั้นด้วยเสี่ยงเคราะห์ของตนเอง

                   มาตรา 943  อันการถึงกำหนดแห่งตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันใดอันหนึ่งนับแต่วันได้เห็นนั้น ท่านให้กำหนดนับแต่วันรับรอง หรือวันคัดค้าน

                   ถ้าไม่มีคำคัดค้าน และคำรับรองมิได้ลงวัน ท่านให้ถือว่าผู้รับรองได้ให้คำรับรองนั้นในวันท้ายแห่งกำหนดเวลาซึ่งจำกัดไว้ตามกฎหมาย หรือตามสัญญาเพื่อการยื่นตั๋วนั้น

                   มาตรา 944  อันตั๋วแลกเงินซึ่งให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นนั้น ท่านว่าย่อมจะพึงใช้เงินในวันเมื่อยื่นตั๋ว ทั้งนี้ต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลา ซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น

                   มาตรา 945  การใช้เงินจะเรียกเอาได้ต่อเมื่อได้เวนตั๋วแลกเงินให้ผู้ใช้เงินจะให้ผู้ทรงลงลายมือชื่อรับเงินในตั๋วเงินนั้นก็ได้

                   มาตรา 946  อันตั๋วแลกเงินนั้น ถ้าเขาจะใช้เงินให้แต่เพียงบางส่วนท่านว่าผู้ทรงจะบอกปัดเสียไม่ยอมรับเอาก็ได้

                   ถ้าและรับเอาเงินที่เขาใช้แต่เพียงบางส่วน ผู้ทรงต้องบันทึกข้อความนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน และส่งมอบใบรับให้แก่ผู้ใช้เงิน

                   มาตรา 947  ถ้าตั๋วแลกเงินมิได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนดไซร้ท่านว่าผู้รับรองจะเปลื้องตนให้พ้นจากความรับผิดโดยวางจำนวนเงินที่ค้างชำระตามตั๋วนั้นไว้ก็ได้

                   มาตรา 948  ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่ายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้เป็นคู่สัญญาคนก่อน ๆ ซึ่งมิได้ตกลงในการผ่อนเวลานั้น

                   มาตรา 949  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1009 บุคคลผู้ใช้เงินในเวลาถึงกำหนดย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ตนจะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้จำต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสายแต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง

ส่วนที่ 5

การสอดเข้าแก้หน้า

                   มาตรา 950  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะระบุบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไว้ก็ได้ว่าเป็นผู้จะรับรอง หรือใช้เงินยามประสงค์ ณ สถานที่ใช้เงิน

                   ภายในเงื่อนบังคับดั่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดจะรับรองหรือใช้เงินตามตั๋วแลกเงินในฐานเป็นผู้สอดเข้าแก้หน้าบุคคลใดผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วนั้นก็ได้

                   ผู้สอดเข้าแก้หน้านั้นจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ แม้จะเป็นผู้จ่ายหรือบุคคลซึ่งต้องรับผิดโดยตั๋วเงินนั้นอยู่แล้วก็ได้ห้ามแต่ผู้รับรองเท่านั้น

                   ผู้สอดเข้าแก้หน้าจำต้องให้คำบอกกล่าวโดยไม่ชักช้า เพื่อให้คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนเข้าแก้หน้านั้นทราบการที่ตนเข้าแก้หน้า

(1) การรับรองเพื่อแก้หน้า

                   มาตรา 951  การรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้า ย่อมมีได้ในบรรดากรณีซึ่งผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยได้ก่อนถึงกำหนดตามตั๋วเงินอันเป็นตั๋วสามารถจะรับรองได้

                   การรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้านั้น ผู้ทรงจะบอกปัดเสียก็ได้ แม้ถึงว่าบุคคลผู้ซึ่งบ่งไว้ว่าจะเป็นผู้รับรอง หรือใช้เงินยามประสงค์นั้นจะเป็นผู้เสนอเข้ารับรองก็บอกปัดได้

                   ถ้าผู้ทรงยอมให้เขารับรองแล้ว ผู้ทรงย่อมเสียสิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนดเอาแก่คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตน

                   มาตรา 952  อันการรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้านั้น ย่อมทำด้วยเขียนระบุความลงบนตั๋วแลกเงิน และลงลายมือชื่อของผู้สอดเข้าแก้หน้าเป็นสำคัญอนึ่งต้องระบุลงไว้ว่าการรับรองนั้นทำให้เพื่อผู้ใด ถ้ามิได้ระบุไว้เช่นนั้น ท่านให้ถือว่าทำให้เพื่อผู้สั่งจ่าย

                   มาตรา 953  ผู้รับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้าย่อมต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วเงินนั้น

และรับผิดต่อผู้สลักหลังทั้งหลายภายหลังคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนเข้าแก้หน้าอย่างเดียวกันกับที่คู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องรับผิดอยู่เอง

(2) การใช้เงินเพื่อแก้หน้า

                   มาตรา 954  อันการใช้เงินเพื่อแก้หน้าย่อมมีได้ในบรรดากรณีซึ่งผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดหรือก่อนถึงกำหนด

                   การใช้เงินนั้น ท่านว่าอย่างช้าที่สุดต้องทำในวันรุ่งขึ้นแต่วันท้ายแห่งกำหนดเวลาซึ่งจำกัดอนุญาตไว้ให้ทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงิน

                   มาตรา 955  ถ้าตั๋วแลกเงินได้รับรองเพื่อแก้หน้าแล้วก็ดี หรือได้มีตัวบุคคลระบุว่าเป็นผู้จะใช้เงินยามประสงค์แล้วก็ดี ผู้ทรงต้องยื่นตั๋วเงินนั้นต่อบุคคลนั้น ๆ ณ สถานที่ใช้เงิน และถ้าจำเป็นก็ต้องจัดการทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงินอย่างช้าที่สุดในวันรุ่งขึ้นแต่วันท้ายแห่งกำหนดเวลาอันจำกัดไว้เพื่อทำคำคัดค้าน

                   ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนดเวลานั้น ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ได้ระบุตัวผู้ใช้เงินยามประสงค์ หรือคู่สัญญาฝ่ายซึ่งได้มีผู้รับรองตั๋วเงินให้แล้วนั้นกับทั้งบรรดาผู้สลักหลังในภายหลังย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

                   มาตรา 956  การใช้เงินเพื่อแก้หน้านั้น ใช้เพื่อคู่สัญญาฝ่ายใดต้องใช้จงเต็มจำนวนอันคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะต้องใช้ เว้นแต่ค่าชักส่วนลดดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 968 (4)

                   ผู้ทรงคนใดบอกปัดไม่ยอมรับเงินอันเขาใช้ให้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นย่อมเสียสิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งพอที่จะได้หลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการใช้เงินนั้น

                   มาตรา 957  การใช้เงินเพื่อแก้หน้าต้องทำให้เป็นหลักฐานด้วยใบรับเขียนลงในตั๋วแลกเงิน ระบุความว่าได้ใช้เงินเพื่อบุคคลผู้ใด ถ้ามิได้ระบุตัวไว้ดั่งนั้น ท่านให้ถือว่าการใช้เงินนั้นได้ทำไปเพื่อผู้สั่งจ่าย

                   ตั๋วแลกเงินกับทั้งคำคัดค้านหากว่าได้ทำคัดค้าน ต้องส่งให้แก่บุคคลผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้า

                   มาตรา 958  บุคคลผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้าย่อมรับช่วงสิทธิทั้งปวงของผู้ทรงอันมีต่อคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนได้ใช้เงินแทนไปและต่อคู่สัญญาทั้งหลายผู้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้น แต่หาอาจจะสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นอีกต่อไปได้ไม่

                   อนึ่งบรรดาผู้ซึ่งสลักหลังภายหลังคู่สัญญาฝ่ายซึ่งเขาได้ใช้เงินแทนไปนั้นย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

                   ในกรณีแข่งกันเข้าใช้เงินเพื่อแก้หน้า ท่านว่าการใช้เงินรายใดจะให้ผลปลดหนี้มากรายที่สุด พึงนิยมเอารายนั้นเป็นดียิ่ง

ถ้าไม่ดำเนิรตามวิธีดั่งกล่าวนี้ ท่านว่าผู้ใช้เงินทั้งที่รู้เช่นนั้นย่อมเสียสิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลทั้งหลายซึ่งพอที่จะได้หลุดพ้นจากความรับผิด

ส่วนที่ 6

สิทธิไล่เบี้ยเพราะเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน

                   มาตรา 959  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลังผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ

                   ก) ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน

                   ข) ไล่เบี้ยได้แม้ทั้งตั๋วเงินยังไม่ถึงกำหนดในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าเขาบอกปัดไม่รับรองตั๋วเงิน

                   (2) ถ้าผู้จ่ายหากจะได้รับรองหรือไม่ก็ตาม ตกเป็นคนล้มละลาย หรือได้งดเว้นการใช้หนี้ แม้การงดเว้นใช้หนี้นั้นจะมิได้มีคำพิพากษาเป็นหลักฐานก็ตาม หรือถ้าผู้จ่ายถูกยึดทรัพย์และการยึดทรัพย์นั้นไร้ผล

                   (3) ถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินชนิดไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใดรับรองนั้นตกเป็นคนล้มละลาย

                   มาตรา 960  การที่ตั๋วแลกเงินขาดรับรองหรือขาดใช้เงินนั้น ต้องทำให้เป็นหลักฐานตามแบบระเบียบด้วยเอกสารฉบับหนึ่ง เรียกว่าคำคัดค้าน

                   คำคัดค้านการไม่ใช้เงินต้องทำในวันซึ่งจึงใช้เงินตามตั๋วนั้น หรือวันใดวันหนึ่งภายในสามวันต่อแต่นั้นไป

                   คำคัดค้านการไม่รับรองต้องทำภายในจำกัดเวลาซึ่งกำหนดไว้เพื่อการยื่นตั๋วเงินให้เขารับรองหรือภายในสามวันต่อแต่นั้นไป

                   เมื่อมีคำคัดค้านการไม่รับรองขึ้นแล้วก็เป็นอันไม่ต้องยื่นเพื่อใช้เงินและไม่ต้องทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงิน

                   ในกรณีทั้งหลายซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 959 ข) (2) นั้น ท่านว่าผู้ทรงยังหาอาจจะใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ไม่ จนกว่าจะได้ยื่นตั๋วเงินให้ผู้จ่ายใช้เงินและได้ทำคำคัดค้านขึ้นแล้ว

                   ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 959 ข) (3) นั้น ท่านว่าถ้าเอาคำพิพากษาซึ่งสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายออกแสดง ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยได้

                   มาตรา 961  คำคัดค้านนั้นให้นายอำเภอ หรือผู้ทำการแทนนายอำเภอหรือทนายความผู้รับอนุญาตเพื่อการนี้เป็นผู้ทำ

                   เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการออกใบอนุญาตและการทำคำคัดค้าน รวมทั้งกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น

                   มาตรา 962  ในคำคัดค้านนั้นนอกจากชื่อ ตำแหน่ง และลายมือชื่อของผู้ทำ ต้องมีสำเนาตั๋วเงินกับรายการสลักหลังทั้งหมดตรงถ้อยตรงคำกับระบุความดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อ หรือยี่ห้อของบุคคลผู้คัดค้านและผู้ถูกคัดค้าน

                   (2) มูล หรือเหตุที่ต้องทำคำคัดค้านตั๋วเงิน การทวงถามและคำตอบถ้ามี หรือข้อที่ว่าหาตัวผู้จ่ายหรือผู้รับรองไม่พบ

                   (3) ถ้ามีการรับรอง หรือใช้เงินเพื่อแก้หน้า ให้แถลงลักษณะแห่งการเข้าแก้หน้าทั้งชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับรองหรือผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้าและชื่อบุคคลซึ่งเขาเข้าแก้หน้านั้นด้วย

                   (4) สถานที่และวันทำคำคัดค้าน

                   ให้ผู้ทำคำคัดค้านส่งมอบคำคัดค้านแก่ผู้ร้องขอให้ทำ และให้ผู้ทำคำคัดค้านรีบส่งคำบอกกล่าวการคัดค้านนั้นไปยังผู้ถูกคัดค้าน ถ้าทราบภูมิลำเนาก็ให้ส่งโดยจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ หรือส่งมอบไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นก็ได้ ถ้าไม่ทราบภูมิลำเนาก็ให้ปิดสำเนาคำคัดค้านไว้ยังที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่ว่าการอำเภอประจำท้องที่อันผู้ถูกคัดค้านมีถิ่นที่อยู่ครั้งหลังที่สุด

                   มาตรา 963  ผู้ทรงต้องให้คำบอกกล่าวการที่เขาไม่รับรองตั๋วแลกเงินหรือไม่ใช้เงินนั้นไปยังผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไปกับทั้งผู้สั่งจ่ายด้วยภายในเวลาสี่วันต่อจากวันคัดค้าน หรือต่อจากวันยื่นตั๋วในกรณีที่มีข้อกำหนดว่า “ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน”

                   ผู้สลักหลังทุก ๆ คนต้องให้คำบอกกล่าวไปยังผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไปภายในสองวัน ให้ทราบคำบอกกล่าวอันตนได้รับ จดแจ้งให้ทราบชื่อและสำนักของผู้ที่ได้ให้คำบอกกล่าวมาก่อน ๆ นั้นด้วย ทำเช่นนี้ติดต่อกันไปโดยลำดับจนกะทั่งถึงผู้สั่งจ่าย อนึ่งจำกัดเวลาซึ่งกล่าวมานั้น ท่านนับแต่เมื่อคนหนึ่ง ๆ ได้รับคำบอกกล่าวแต่คนก่อน

                   ถ้าผู้สลักหลังคนหนึ่งคนใดมิได้ระบุสำนักของตนไว้ก็ดี หรือได้ระบุแต่อ่านไม่ได้ความก็ดี ท่านว่าสุดแต่คำบอกกล่าวได้ส่งไปยังผู้สลักหลังคนก่อนก็เป็นอันพอแล้ว

                   บุคคลผู้จะต้องให้คำบอกกล่าว จะทำคำบอกกล่าวเป็นรูปอย่างใดก็ได้ทั้งสิ้น แม้เพียงแต่ด้วยส่งตั๋วแลกเงินคืนก็ใช้ได้ อนึ่งต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ส่งคำบอกกล่าวภายในเวลากำหนด

                   ถ้าส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือจดทะเบียนไปรษณีย์ หากว่าหนังสือนั้นได้ส่งไปรษณีย์ภายในเวลากำหนดดั่งกล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวเป็นอันได้ส่งภายในจำกัดเวลาบังคับแล้ว

                   บุคคลซึ่งมิได้ให้คำบอกกล่าวภายในจำกัดเวลาดั่งได้ว่ามานั้นหาเสียสิทธิไล่เบี้ยไม่ แต่จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ความประมาทเลินเล่อของตน แต่ท่านมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนในตั๋วแลกเงิน

                   มาตรา 964  ด้วยข้อกำหนดเขียนลงไว้ว่า “ไม่จำเป็นต้องมีคำคัดค้าน”

ก็ดี “ไม่มีคัดค้าน” ก็ดี หรือสำนวนอื่นใดทำนองนั้นก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะยอมปลดเปลื้องผู้ทรงจากการทำคำคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินก็ได้ เพื่อตนจะได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย

                   ข้อกำหนดอันนี้ ย่อมไม่ปลดผู้ทรงให้พ้นจากหน้าที่นำตั๋วเงินยื่นภายในเวลากำหนด หรือจากหน้าที่ให้คำบอกกล่าวตั๋วเงินขาดความเชื่อถือแก่ผู้สลักหลังคนก่อนหรือผู้สั่งจ่าย อนึ่งหน้าที่นำสืบว่าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดเวลาจำกัดนั้น ย่อมตกอยู่แก่บุคคลผู้แสวงจะใช้ความข้อนั้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน

                   ข้อกำหนดอันนี้ ถ้าผู้สั่งจ่ายเป็นผู้เขียนลงไปแล้ว ย่อมเป็นผลตลอดถึงคู่สัญญาทั้งปวงบรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้น ถ้าและทั้งมีข้อกำหนดดั่งนี้แล้ว ผู้ทรงยังขืนทำคำคัดค้านไซร้ ท่านว่าผู้ทรงต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น หากว่าข้อกำหนดนั้นผู้สลักหลังเป็นผู้เขียนลง และถ้ามีคัดค้านทำขึ้นไซร้ ท่านว่าค่าใช้จ่ายในการคัดค้านนั้นอาจจะเรียกเอาใช้ได้จากคู่สัญญา

อื่น ๆ บรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้น

                   มาตรา 965  ในกรณีตั๋วเงินภายในประเทศ ถ้าผู้จ่ายบันทึกลงไว้ในตั๋วแลกเงินเป็นข้อความบอกปัดไม่รับรองหรือไม่ยอมใช้เงิน ทั้งลงวันที่บอกปัดลงลายมือชื่อไว้ด้วยแล้ว ท่านว่าคำคัดค้านนั้นก็เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำและผู้ทรงต้องส่งคำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือไปยังบุคคลซึ่งตนจำนงจะไล่เบี้ยภายในสี่วันต่อจากวันเขาบอกปัดไม่รับรองนั้น

                   มาตรา 966  คำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือในกรณีไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินนั้น ต้องมีรายการคือวันที่ลงในตั๋วแลกเงิน ชื่อหรือยี่ห้อของผู้สั่งจ่ายและของผู้จ่าย จำนวนเงินในตั๋วเงิน วันถึงกำหนดใช้เงิน ชื่อหรือยี่ห้อและสำนักของผู้ทรงตั๋วเงิน วันที่คัดค้านหรือวันที่บอกปัดไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินกับข้อความว่าเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น

                   มาตรา 967  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

                   ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้องดำเนิรตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน

                   สิทธิเช่นเดียวกันนี้ ย่อมมีแก่บุคคลทุกคนซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินและเข้าถือเอาตั๋วเงินนั้น ในการที่จะใช้บังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตน

                   การว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนหนึ่ง ซึ่งต้องรับผิดย่อมไม่ตัดหนทางที่จะว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนอื่น ๆ แม้ทั้งจะเป็นฝ่ายอยู่ในลำดับภายหลังบุคคลที่ได้ว่ากล่าวเอาความมาก่อน

                   มาตรา 968  ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ

                   (1) จำนวนเงินในตั๋วแลกเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วย หากว่ามีข้อกำหนดไว้ว่าให้คิดดอกเบี้ย

                   (2) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนด

                   (3) ค่าใช้จ่ายในการคัดค้าน และในการส่งคำบอกกล่าวของผู้ทรงไปยังผู้สลักหลังถัดจากตนขึ้นไปและผู้สั่งจ่าย กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

                   (4) ค่าชักส่วนลดซึ่งถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ ท่านให้คิดร้อยละ 1/6 ในต้นเงินอันจะพึงใช้ตามตั๋วเงิน และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ท่านมิให้คิดสูงกว่าอัตรานี้

                   ถ้าใช้สิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนด ท่านให้หักลดจำนวนเงินในตั๋วเงินลงให้ร้อยละห้า

                   มาตรา 969  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งเข้าถือเอาและใช้เงินตามตั๋วแลกเงินอาจจะเรียกเอาเงินใช้จากคู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตนได้ คือ

                   (1) เงินเต็มจำนวนซึ่งตนได้ใช้ไป

                   (2) ดอกเบี้ยในจำนวนเงินนั้น คิดอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ได้ใช้เงินไป

                   (3) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันตนต้องออกไป

                   (4) ค่าชักส่วนลดจากต้นเงินจำนวนในตั๋วแลกเงินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 968 อนุมาตรา (4)

                   มาตรา 970  คู่สัญญาทุกฝ่ายซึ่งต้องรับผิดและถูกไล่เบี้ยหรืออยู่ในฐานจะถูกไล่เบี้ยได้นั้น อาจจะใช้เงินแล้วเรียกให้เขาสละตั๋วเงินให้แก่ตนได้รวมทั้งคำคัดค้านและบัญชีรับเงินด้วย

                   ผู้สลักหลังทุกคนซึ่งเข้าถือเอาและใช้เงินตามตั๋วแลกเงินแล้ว จะขีดฆ่าคำสลักหลังของตนเองและของเหล่าผู้สลักหลังภายหลังตนนั้นเสียก็ได้

                   มาตรา 971  ผู้สั่งจ่ายก็ดี ผู้รับรองก็ดี ผู้สลักหลังคนก่อนก็ดี ซึ่งเขาสลักหลังหรือโอนตั๋วแลกเงินให้อีกทอดหนึ่งนั้น หามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนย่อมต้องรับผิดต่อเขาอยู่ก่อนแล้วตามตั๋วเงินนั้นได้ไม่

                   มาตรา 972  ในกรณีใช้สิทธิไล่เบี้ยภายหลังการรับรองแต่บางส่วนท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายซึ่งใช้เงินอันเป็นจำนวนเขาไม่รับรองนั้น อาจจะเรียกให้จดระบุความที่ใช้เงินนี้ลงไว้ในตั๋วเงิน และเรียกให้ทำใบรับให้แก่ตนได้อนึ่งผู้ทรงตั๋วเงินต้องให้สำเนาตั๋วเงินอันรับรองว่าถูกต้องแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้นพร้อมทั้งคำคัดค้านด้วย เพื่อให้เขาสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยในภายหลังได้สืบไป

                   มาตรา 973  เมื่อกำหนดเวลาจำกัดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ได้ล่วงพ้นไปแล้ว คือ

                   (1) กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วแลกเงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นหรือในระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งภายหลังได้เห็น

                   (2) กำหนดเวลาสำหรับทำคำคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงิน

                   (3) กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วเพื่อให้ใช้เงิน ในกรณีที่มีข้อกำหนดว่า “ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน”

                   ท่านว่าผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่เหล่าผู้สลักหลังผู้สั่งจ่ายและคู่สัญญาอื่น ๆ ผู้ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้รับรอง

                   อนึ่งถ้าไม่ยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองภายในเวลาจำกัดดั่งผู้สั่งจ่ายได้กำหนดไว้ ท่านว่าผู้ทรงย่อมเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยทั้งเพื่อการที่เขาไม่ใช้เงิน และเพื่อการที่เขาไม่รับรอง เว้นแต่จะปรากฏจากข้อกำหนดว่า ผู้สั่งจ่ายหมายเพียงแต่จะปลดตนเองให้พ้นจากประกันการรับรอง

                   ถ้าข้อกำหนดจำกัดเวลายื่นตั๋วแลกเงินนั้นมีอยู่ที่คำสลักหลัง ท่านว่าเฉพาะแต่ผู้สลักหลังเท่านั้นจะอาจเอาประโยชน์ในข้อกำหนดนั้นได้

                   มาตรา 974  การยื่นตั๋วแลกเงินก็ดี การทำคำคัดค้านก็ดี ถ้ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้มาขัดขวางมิให้ทำได้ภายในกำหนดเวลาจำกัดสำหรับการนั้นไซร้ ท่านให้ยืดกำหนดเวลาออกไปอีกได้

                   เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ดั่งว่ามานั้น ผู้ทรงต้องบอกกล่าวแก่ผู้สลักหลังคนถัดตนขึ้นไปโดยไม่ชักช้า และคำบอกกล่าวนั้นต้องเขียนระบุลงในตั๋วเงิน หรือใบประจำต่อต้องลงวันและลงลายมือชื่อของผู้ทรง การอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวนี้ ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 963

                   เมื่อเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นสุดสิ้นลงแล้ว ผู้ทรงต้องยื่นตั๋วเงินให้เขารับรองหรือใช้เงินโดยไม่ชักช้า และถ้าจำเป็นก็ทำคำคัดค้านขึ้น

                   ถ้าเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้น ยังคงมีอยู่ต่อไปจนเป็นเวลากว่าสามสิบวันภายหลังตั๋วเงินถึงกำหนดไซร้ ท่านว่าจะใช้สิทธิไล่เบี้ยก็ได้ และถ้าเช่นนั้นการยื่นตั๋วเงินก็ดีการทำคำคัดค้านก็ดี เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำ

                   ในส่วนตั๋วเงินชนิดที่ให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น หรือให้ใช้เงินในระยะเวลาอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังได้เห็นนั้น กำหนดสามสิบวันเช่นว่ามานี้ท่านให้นับแต่วันที่ผู้ทรงได้ให้คำบอกกล่าวเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นแก่ผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไป และถึงแม้ว่าจะเป็นการก่อนล่วงกำหนดเวลายื่นตั๋วเงิน ก็ให้นับเช่นนั้น

ส่วนที่ 7

ตั๋วแลกเงินเป็นสำรับ

                   มาตรา 975  อันตั๋วแลกเงินนั้น นอกจากชนิดที่สั่งจ่ายแก่ผู้ถือแล้วจะออกไปเป็นคู่ฉีกความต้องกันสองฉบับหรือกว่านั้นก็อาจจะออกได้

                   คู่ฉีกเหล่านี้ต้องมีหมายลำดับลงไว้ในตัวตราสารนั้นเอง มิฉะนั้นคู่ฉีกแต่ละฉบับย่อมใช้ได้เป็นตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่ง ๆ แยกเป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน

                   บุคคลทุกคนซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วเงินอันมิได้ระบุว่าได้ออกเป็นตั๋วเดี่ยวนั้นจะเรียกให้ส่งมอบคู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นแก่ตนก็ได้ โดยยอมให้คิดค่าใช้จ่ายเอาแก่ตน ในการนี้ผู้ทรงต้องว่ากล่าวไปยังผู้สลักหลังคนถัดตนขึ้นไป และผู้สลักหลังคนนั้นก็จำต้องช่วยผู้ทรงว่ากล่าวไปยังผู้ที่สลักหลังให้แก่ตนต่อไปอีกสืบเนื่องกันไปเช่นนี้ตลอดสายจนกะทั่งถึงผู้สั่งจ่าย อนึ่งผู้สลักหลังทั้งหลายจำต้องเขียนคำสลักหลังของตนเป็นความเดียวกันลงในฉบับคู่ฉีกใหม่แห่งตั๋วสำรับนั้นอีกด้วย

                   มาตรา 976  ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินสำรับหนึ่งสลักหลังคู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นให้แก่บุคคลต่างคนกัน ท่านว่าผู้ทรงย่อมต้องรับผิดตามคู่ฉีกเช่นว่านั้นทุก ๆ ฉบับ และผู้สลักหลังภายหลังผู้ทรงทุก ๆ คนก็ต้องรับผิดตามคู่ฉีกอันตนเองได้สลักหลังลงไปนั้น เสมือนดั่งว่าคู่ฉีกที่ว่านั้นแยกเป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน

                   มาตรา 977  ถ้าคู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นในสำรับหนึ่งได้เปลี่ยนมือไปยังผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายต่างคนกันไซร้ในระวางผู้ทรงเหล่านั้นด้วยกันคนใดได้ไปเป็นสิทธิก่อนท่านให้ถือว่าคนนั้นเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งตั๋วเงินนั้นแต่ความใด ๆ ในบทมาตรานี้ไม่กะทบกะทั่งถึงสิทธิของบุคคลผู้ทำการโดยชอบด้วยกฎหมายรับรองหรือใช้เงินไปตามคู่ฉีกฉบับซึ่งเขายื่นแก่ตนก่อน

                   มาตรา 978  คำรับรองนั้นจะเขียนลงในคู่ฉีกฉบับใดก็ได้ และจะต้องเขียนลงในคู่ฉีกแต่เพียงฉบับเดียวเท่านั้น

                   ถ้าผู้จ่ายรับรองลงไปกว่าฉบับหนึ่ง และคู่ฉีกซึ่งรับรองเช่นนั้นตกไปถึงมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายต่างคนกันไซร้ ท่านว่าผู้จ่ายจะต้องรับผิดตามคู่ฉีกนั้น ๆ ทุกฉบับ เสมือนดั่งว่าแยกเป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน

                   มาตรา 979  ถ้าผู้รับรองตั๋วเงินซึ่งออกเป็นสำรับใช้เงินไปโดยมิได้เรียกให้ส่งมอบคู่ฉีกฉบับซึ่งมีคำรับรองของตนนั้นให้แก่ตนและในเวลาตั๋วเงินถึงกำหนด คู่ฉีกฉบับนั้นไปตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนใดคนหนึ่งไซร้ท่านว่าผู้รับรองจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงคู่ฉีกฉบับนั้น

                   มาตรา 980  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายซึ่งกล่าวมาก่อนนั้นถ้าคู่ฉีกฉบับใดแห่งตั๋วเงินออกเป็นสำรับได้หลุดพ้นไปด้วยการใช้เงินหรือประการอื่นฉบับหนึ่งแล้วท่านว่าตั๋วเงินทั้งสำรับก็ย่อมหลุดพ้นไปตามกัน

                   มาตรา 981  คู่สัญญาซึ่งส่งคู่ฉีกฉบับหนึ่งไปให้เขารับรองต้องเขียนแถลงลงในคู่ฉีกฉบับอื่นว่าคู่ฉีกฉบับโน้นอยู่ในมือบุคคลชื่อไร ส่วนบุคคลคนนั้นก็จำต้องสละตั๋วให้แก่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายแห่งคู่ฉีกฉบับอื่นนั้น

                   ถ้าบุคคลคนนั้นบอกปัดไม่ยอมให้ ท่านว่าผู้ทรงยังจะใช้สิทธิไล่เบี้ยไม่ได้จนกว่าจะได้ทำคัดค้านระบุความดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) ว่าคู่ฉีกฉบับซึ่งได้ส่งไปเพื่อรับรองนั้น เขาไม่สละให้แก่ตนเมื่อทวงถาม

                   (2) ว่าไม่สามารถจะให้เขารับรองหรือใช้เงินด้วยคู่ฉีกฉบับอื่นได้

หมวด 3

ตั๋วสัญญาใช้เงิน

                   มาตรา 982  อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับเงิน

                   มาตรา 983  ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต้องมีรายการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน

                   (2) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน

                   (3) วันถึงกำหนดใช้เงิน

                   (4) สถานที่ใช้เงิน

                   (5) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน

                   (6) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน

                   (7) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว

                   มาตรา 984  ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน เว้นแต่ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น

                   ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตราสารนั้นเป็นสถานที่ใช้เงิน

                   ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ระบุสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วนั้นได้ออกณ ภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว

                   ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

                   มาตรา 985  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 ว่าด้วยตั๋วแลกเงินดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้คือบทมาตรา 911, 913, 916, 917, 919, 920,922 ถึง 926, 938 ถึง 947, 949, 950, 954 ถึง 959, 967 ถึง 971

                   ถ้าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติต่อไปนี้มาใช้บังคับด้วย คือบทมาตรา 960 ถึง 964, 973, 974

                   มาตรา 986  ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้รับรองตั๋วแลกเงิน

                   ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้นต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้ภายในจำกัดเวลาดั่งกำหนดไว้ในมาตรา 928 กำหนดเวลานี้ให้นับแต่วันจดรับรู้ซึ่งลงลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว ถ้าผู้ออกตั๋วบอกปัดไม่ยอมจดรับรู้และลงวันไซร้ การที่เขาบอกปัดเช่นนี้ท่านว่าต้องทำให้เป็นหลักฐานขึ้นด้วยคำคัดค้าน และวันคัดค้านนั้นให้ถือเป็นวันเริ่มต้นในการนับ

กำหนดเวลาแต่ได้เห็น

หมวด 4

เช็ค

                   มาตรา 987  อันว่าเช็คนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง อันเรียกว่าผู้รับเงิน

                   มาตรา 988  อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค

                   (2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน

                   (3) ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร

                   (4) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

                   (5) สถานที่ใช้เงิน

                   (6) วันและสถานที่ออกเช็ค

                   (7) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

                   มาตรา 989  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923, 925, 926, 938 ถึง940, 945, 946, 959, 967, 971

                   ถ้าเป็นเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติดั่งต่อไปนี้มาใช้บังคับด้วย คือบทมาตรา 924, 960 ถึง 964, 973 ถึง 977, 980

                   มาตรา 990  ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือนถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด

แก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น

                   อนึ่งผู้ทรงเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดไปแล้วนั้น ท่านให้รับช่วงสิทธิของผู้สั่งจ่ายคนนั้นอันมีต่อธนาคาร

                   มาตรา 991  ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น คือ

                   (2) เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ

                   (3) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป

                   มาตรา 992  หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น ท่านว่าเป็นอันสุดสิ้นไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

                   (2) รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย

                   (3) รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น

                   มาตรา 993  ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคำว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคำใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกันท่านว่าธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น

                   ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้จัดการให้ธนาคารลงข้อความรับรองดั่งว่านั้นท่านว่าผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังทั้งปวงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คนั้น

                   ถ้าธนาคารลงข้อความรับรองดั่งนั้นโดยคำขอร้องของผู้สั่งจ่าย ท่านว่า ผู้สั่งจ่ายและปวงผู้สลักหลังก็หาหลุดพ้นไปไม่

                   มาตรา 994  ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า “และบริษัท” หรือคำย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

                   ถ้าในระวางเส้นทั้งสองนั้นตรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะเช็คเช่นนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น

                   มาตรา 995 (1) เช็คไม่มีขีดคร่อม ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนใดคนหนึ่งจะขีดคร่อมเสียก็ได้ และจะทำเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

                   (2) เช็คขีดคร่อมทั่วไป ผู้ทรงจะทำให้เป็นขีดคร่อมเฉพาะเสียก็ได้

                   (3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้

                   (4) เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารใด ธนาคารนั้นจะซ้ำขีดคร่อมเฉพาะให้ไปแก่ธนาคารอื่นเพื่อเรียกเก็บเงินก็ได้

                   (5) เช็คไม่มีขีดคร่อมก็ดี เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ส่งไปยังธนาคารใดเพื่อให้เรียกเก็บเงิน ธนาคารนั้นจะลงขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนเองก็ได้

                   มาตรา 996  การขีดคร่อมเช็คตามที่อนุญาตไว้ในมาตราก่อนนั้นท่านว่าเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของเช็ค ใครจะลบล้างย่อมไม่เป็นการชอบด้วยกฎหมาย

                   มาตรา 997  เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไปเมื่อนำเบิกเอาแก่ธนาคารใด ท่านให้ธนาคารนั้นบอกปัดเสียอย่าใช้เงินให้เว้นแต่ที่ขีดคร่อมให้แก่ธนาคารในฐานเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงิน

                   ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดี ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่งก็ดี ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปดั่งกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น ในการที่เขาต้องเสียหายอย่างใด ๆ เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คดั่งนั้น

                   แต่หากเช็คใดเขานำยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และเมื่อยื่นไม่ปรากฏว่าเป็นเช็คขีดคร่อมก็ดี หรือไม่ปรากฏว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่นนอกจากที่อนุญาตไว้โดยกฎหมายก็ดี เช็คเช่นนี้ถ้าธนาคารใดใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ ท่านว่าธนาคารนั้นไม่ต้องรับผิดหรือต้องมีหน้าที่รับใช้เงินอย่างใด ๆ

                   มาตรา 998  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตาม

เช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้
จริงแล้ว

                   มาตรา 999  บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่า และไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

                   มาตรา 1000  ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ อันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้นต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

หมวด 5

อายุความ

                   มาตรา 1001  ในคดีฟ้องผู้รับรองตั๋วแลกเงินก็ดี ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้น ๆ ถึงกำหนดใช้เงิน

                   มาตรา 1002  ในคดีที่ผู้ทรงตั๋วเงินฟ้องผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันที่ได้ลงในคำคัดค้านซึ่งได้ทำขึ้นภายในเวลาอันถูกต้องตามกำหนด หรือนับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีที่มีข้อกำหนดไว้ว่า “ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน”

                   มาตรา 1003  ในคดีผู้สลักหลังทั้งหลายฟ้องไล่เบี้ยกันเองและไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายแห่งตั๋วเงิน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน หรือนับแต่วันที่ผู้สลักหลังนั้นเองถูกฟ้อง

                   มาตรา 1004  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเพราะการอันหนึ่งอันใดซึ่งกระทำแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านว่าย่อมมีผลสะดุดหยุดลงเพียงแต่แก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น

                   มาตรา 1005  ถ้าตั๋วเงินได้ทำขึ้นหรือได้โอนหรือสลักหลังไปแล้วในมูลหนี้อันหนึ่งอันใด และสิทธิตามตั๋วเงินนั้นมาสูญสิ้นไปเพราะอายุความก็ดี หรือเพราะละเว้นไม่ดำเนิรการให้ต้องตามวิธีใด ๆ อันจะพึงต้องทำก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ตามหลักกฎหมายอันแพร่หลายทั่วไป เท่าที่ลูกหนี้มิได้ต้องเสียหายแต่การนั้น เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

หมวด 6

ตั๋วเงินปลอม ตั๋วเงินถูกลัก และตั๋วเงินหาย

                   มาตรา 1006  การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมย่อมไม่กะทบกะทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น

                   มาตรา 1007  ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

                   แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดั่งว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้นก็ได้

                   กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงินสถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย

                   มาตรา 1008  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้

เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลยใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดีท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

                   แต่ข้อความใด ๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้ ท่านมิให้กะทบกะทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม

                   มาตรา 1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใด ๆ ได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตามท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

                   มาตรา 1010  เมื่อผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหายหรือถูกลักทราบเหตุแล้วในทันใดนั้นต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้ออกตั๋วเงิน ผู้จ่าย ผู้สมอ้างยามประสงค์ ผู้รับรองเพื่อแก้หน้าและผู้รับอาวัล ตามแต่มี เพื่อให้บอกปัดไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น

                   มาตรา 1011  ถ้าตั๋วเงินหายไปแต่ก่อนเวลาล่วงเลยกำหนดใช้เงินท่านว่าบุคคลซึ่งได้เป็นผู้ทรงตั๋วเงินนั้นจะร้องขอไปยังผู้สั่งจ่ายให้ ๆ ตั๋วเงินเป็นเนื้อความเดียวกันแก่ตนใหม่อีกฉบับหนึ่งก็ได้ และในการนี้ถ้าเขาประสงค์ก็วางประกันให้ไว้แก่ผู้สั่งจ่าย เพื่อไว้ทดแทนที่เขาหากจะต้องเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดในกรณีที่ตั๋วเงินซึ่งว่าหายนั้นจะกลับหาได้

                   อนึ่งผู้สั่งจ่ายรับคำขอร้องดั่งว่ามานั้นแล้ว หากบอกปัดไม่ยอมให้ตั๋วเงินคู่ฉบับเช่นนั้น อาจจะถูกบังคับให้ออกให้ก็ได้

ลักษณะ 22

หุ้นส่วนและบริษัท

หมวด 1

บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 1012  อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น

                   มาตรา 1013  อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท คือ

                   (1) ห้างหุ้นส่วนสามัญ

                   (2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด

                   (3) บริษัทจำกัด

                   มาตรา 1014  บรรดาสำนักงานสำหรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัททั้งหลายนั้น ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงซึ่งบัญชาการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทเป็นผู้ออกกฎข้อบังคับจัดตั้งขึ้น

                   มาตรา 1015  ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบัญญัติแห่ง

ลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น

                   มาตรา 1016  การจดทะเบียนนั้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ทำกิจการอยู่ ณ ตำบลใดในพระราชอาณาจักร ท่านให้จดทะเบียนณ หอทะเบียนสำหรับตำบลนั้น

                   การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนประการหนึ่งประการใดในกายหลังก็ดี กับทั้งแก้ไขการอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดอันบทบัญญัติแผนกนี้บังคับหรืออนุญาตให้จดทะเบียนก็ดี ก็ต้องจด ณ หอทะเบียนแห่งเดียวกัน

                   มาตรา 1017  ถ้าข้อความที่จดทะเบียน หรือประกาศโฆษณาเกิดขึ้นในต่างประเทศไซร้ ท่านให้นับกำหนดเวลาสำหรับการจดทะเบียนหรือประกาศโฆษณาข้อความนั้น ตั้งแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวการนั้นมาถึงตำบลที่จะจดทะเบียนหรือตำบลที่จะประกาศโฆษณานั้นเป็นต้นไป

                   มาตรา 1018  ในการจดทะเบียน ท่านให้เสียค่าธรรมเนียมตามกฎข้อบังคับซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงตั้งไว้

                   มาตรา 1019  ถ้าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารซึ่งต้องจดทะเบียนไม่มีรายการบริบูรณ์ตามที่บังคับไว้ในลักษณะนี้ว่าให้จดแจ้งก็ดี หรือถ้ารายการอันใดซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือในเอกสารนั้นข้อกับกฎหมายก็ดี หรือถ้าเอกสารใดซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ส่งด้วยกันกับคำขอจดทะเบียนยังขาดอยู่มิได้ส่งให้ครบก็ดี หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้ออื่นซึ่งกฎหมายบังคับไว้ก็ดี นายทะเบียนจะไม่ยอมรับจดทะเบียนก็ได้ จนกว่าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารนั้นจะได้ทำให้บริบูรณ์หรือแก้ไขให้ถูกต้อง หรือได้ส่งเอกสารซึ่งกำหนดไว้นั้นครบทุกสิ่งอันหรือได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนั้นแล้ว

                   มาตรา 1020  บุคคลทุกคน เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามกำหนดในกฎข้อบังคับของเสนาบดีเจ้ากระทรวงแล้ว ชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้นายทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ ให้ก็ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาหรือเนื้อความในเอกสารฉบับใด ๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้

                   มาตรา 1021  นายทะเบียนทุกคนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นคราว ๆ ตามแบบซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงจะได้กำหนดให้

                   มาตรา 1022  เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดาเอกสาร

และข้อความซึ่งลงทะเบียนอันได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วนหรือด้วยบริษัทนั้น หรือที่ไม่เกี่ยวข้อง

                   มาตรา 1023  ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาดั่งกล่าวแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

                   แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อนโฆษณานั้นย่อมไม่จำต้องคืน

                   มาตรา 1024  ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันก็ดี หรือในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนก็ดี ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาสมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือของผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ นั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ในนั้นทุกประการ

หมวด 2

ห้างหุ้นส่วนสามัญ

ส่วนที่ 1

บทวิเคราะห์

                   มาตรา 1025  อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด

ส่วนที่ 2

ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง

                   มาตรา 1026  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน

                   สิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยนั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้

                   มาตรา 1027  ในเมื่อมีกรณีเป็นข้อสงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นด้วยกันนั้นมีค่าเท่ากัน

                   มาตรา 1028  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้ลงแต่แรงงานของตนเข้าเป็นหุ้น และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้ตีราคาค่าแรงไว้ ท่านให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้น เสมอด้วยส่วนถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สินเข้าหุ้นในการนั้น

                   มาตรา 1029  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งเอาทรัพย์สินมาให้ใช้เป็นการลงหุ้นด้วยไซร้ ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยเช่าทรัพย์

                   มาตรา 1030  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งเป็นการลงหุ้นด้วยไซร้ ความเกี่ยวพันระวางผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดีความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยซื้อขาย

                   มาตรา 1031  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลย ท่านว่าต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้น ให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนมาภายในเวลาอันสมควรมิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ จะลงเนื้อเห็นพร้อมกัน หรือโดยเสียข้างมากด้วยกันสุดแต่ข้อสัญญา ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียได้

                   มาตรา 1032  ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการ นอกจากด้วยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1033  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้

                   ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน

                   มาตรา 1034  ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นจักให้เป็นไปตามเสียงข้างมากแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนไซร้ ท่านให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงเป็นคะแนนหนึ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ลงหุ้นด้วยมากหรือน้อย

                   มาตรา 1035  ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าจะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหลายคนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ หุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนจะจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้ แต่หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งคนใดจะทำการอันใดซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้

                   มาตรา 1036  อันหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น จะเอาออกจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมกันเว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1037  ถึงแม้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนนอกจากผู้จัดการย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงานของห้างหุ้นส่วนที่จัดอยู่นั้นได้ทุกเมื่อและมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุด บัญชี และเอกสารใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนได้ด้วย

                   มาตรา 1038  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

                   ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วน

คนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

                   มาตรา 1039  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำต้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนด้วยความระมัดระวังให้มากเสมือนกับจัดการงานของตนเองฉะนั้น

                   มาตรา 1040  ห้ามมิให้ชักนำเอาบุคคลผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1041  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งโอนส่วนกำไรของตนในห้างหุ้นส่วนทั้งหมดก็ดี หรือแต่บางส่วนก็ดีให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกนั้นจะกลายเป็นเข้าหุ้นส่วนด้วยก็หามิได้

                   มาตรา 1042  ความเกี่ยวพันระวางหุ้นส่วนผู้จัดการกับผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน

                   มาตรา 1043  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนอันมิได้เป็นผู้จัดการเอื้อมเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้จัดการกระทำล่วงขอบอำนาจของตนก็ดี ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง

                   มาตรา 1044  อันส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดี ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คนนั้น ย่อมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้น

                   มาตรา 1045  ถ้าหุ้นส่วนของผู้ใดได้กำหนดไว้แต่เพียงข้างฝ่ายกำไรว่าจะแบ่งเอาเท่าไร หรือกำหนดแต่เพียงข้างขาดทุนว่าจะยอมขาดเท่าไรฉะนี้ไซร้ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหุ้นส่วนของผู้นั้นมีส่วนกำไรและส่วนขาดทุนเป็นอย่างเดียวกัน

                   มาตรา 1046  ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ว่าคนหนึ่งคนใดหามีสิทธิจะได้รับบำเหน็จเพื่อที่ได้จัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ เว้นแต่จะได้มีความตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1047  ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงใช้เรียกขานติดเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนอยู่ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้

                   มาตรา 1048  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะเรียกเอาส่วนของตนจากหุ้นส่วนอื่น ๆ แม้ในกิจการค้าขายอันใดซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนก็ได้

ส่วนที่ 3

ความเกี่ยวพันระวางผู้เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอก

                   มาตรา 1049  ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่

                   มาตรา 1050  การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

                   มาตรา 1051  ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป

                   มาตรา 1052  บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

                   มาตรา 1053  ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่

                   มาตรา 1054  บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน

                   ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดี หาทำให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มฤดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใด ๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่

ส่วนที่ 4

การเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ

                   มาตรา 1055  ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุดั่งกล่าวต่อไปนี้

                   (1) ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น

                   (2) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น

                   (3) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียวเมื่อเสร็จการนั้น

                   (4) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ตามกำหนดดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 1056

                   (5) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้

ความสามารถ

                   มาตรา 1056  ถ้าห้างหุ้นส่วนได้ตั้งขึ้นไม่มีกำหนดการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ท่านว่าจะเลิกได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งบอกเลิกเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้น และผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน

                   มาตรา 1057  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ

                   (1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสารสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง

                   (2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและ

ไม่มีหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้อีก

                   (3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

                   มาตรา 1058  เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งซึ่งตามความในมาตรา 1057 หรือ มาตรา 1067 เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ไซร้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ท่านว่าศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุคนนั้นออกเสียจากห้างหุ้นส่วนแทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้

                   ในการแบ่งทรัพย์สินระวางห้างหุ้นส่วนกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถูกกำจัดนั้นท่านให้ตีราคาทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนตามราคาที่เป็นอยู่ในเวลาแรกยื่นคำร้องขอให้จำกัด

                   มาตรา 1059  ถ้าเมื่อสิ้นกำหนดกาลซึ่งได้ตกลงกันไว้และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเคยได้จัดการอยู่ในระวางกำหนดนั้นยังคงดำเนินการค้าของห้างหุ้นส่วนอยู่ต่อไปโดยมิได้ชำระบัญชีหรือชำระเงินกันให้เสร็จไปไซร้ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งปวงได้ตกลงคงทำการเป็นหุ้นส่วนกันสืบไปโดยไม่มีกำหนดกาล

                   มาตรา 1060  ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 1055 อนุมาตรา 4 หรืออนุมาตรา 5 นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไปไซร้ ท่านว่าสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ยังคงใช้ได้ต่อไปในระวางผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่ด้วยกัน

                   มาตรา 1061  เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระวางผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย

                   ถ้าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้เป็นไปโดยที่เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็น

หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ให้คำบอกกล่าวก็ดี หรือโดยที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง

ล้มละลายก็ดี ท่านว่าจะงดการชำระบัญชีเสียได้ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนนั้น หรือ

เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ยินยอมด้วย

                   การชำระบัญชีนั้น ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ

                   การตั้งแต่งผู้ชำระบัญชี ให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน

                   มาตรา 1062  การชำระบัญชี ให้ทำโดยลำดับดั่งนี้ คือ

                   (1) ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก

                   (2) ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง

                   (3) ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น

                   ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน

                   มาตรา 1063  ถ้าเมื่อได้ชำระหนี้ซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอกและชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายแล้ว สินทรัพย์ที่ยังอยู่ไม่พอจะคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนให้ครบจำนวนที่ลงหุ้นไซร้ ส่วนที่ขาดนี้คือขาดทุน ซึ่งต้องคิดเฉลี่ยช่วยกันขาด

ส่วนที่ 5

การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ

                   มาตรา 1064  อันห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น จะจดทะเบียนก็ได้

                   การลงทะเบียนนั้น ท่านบังคับให้มีรายการดั่งนี้ คือ

                   (1) ชื่อห้างหุ้นส่วน

                   (2) วัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วน

                   (3) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาทั้งปวง

                   (4) ชื่อและที่สำนักกับทั้งอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คน ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดมีชื่อยี่ห้อ ก็ให้ลงทะเบียนทั้งชื่อและยี่ห้อด้วย

                   (5) ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ในเมื่อได้ตั้งแต่งให้เป็นผู้จัดการแต่เพียงบางคน

                   (6) ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการประการใดให้ลงไว้ด้วย

                   (7) ตราซึ่งใช้เป็นสำคัญของห้างหุ้นส่วน

                   ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้น จะลงรายการอื่น ๆ อีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบด้วยก็ได้

                   การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย

                   ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้นฉบับหนึ่ง

                   มาตรา 1065  ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือประโยชน์แก่บุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นได้มา แม้ในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน

                   มาตรา 1066  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่นหรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นเว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด

                   แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้ ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก

                   มาตรา 1067  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตราก่อนนี้ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น

                   แต่ทั้งนี้ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

                   อนึ่งบทบัญญัติมาตรานี้ไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน

                   มาตรา 1068  ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้นย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน

                   มาตรา 1069  นอกจากในกรณีทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1055 ท่านว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนย่อมเลิกกัน เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลาย

                   มาตรา 1070  เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

                   มาตรา 1071  ในกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 1070 นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนนำพิสูจน์ได้ว่า

                    (1) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วนและ

                   (2) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้

                   ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้ สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร

                   มาตรา 1072  ถ้าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังมิได้เลิกกันตราบใดเจ้าหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัวย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงในผลกำไรหรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชำระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิได้ตลอดจนถึงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นอันมีในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน

ส่วนที่ 6

การควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเข้ากัน

                   มาตรา 1073  ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหนึ่งจะควบเข้าเป็นอันเดียวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอีกห้างหนึ่งก็ได้ โดยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1074  เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างใดปลงใจจะควบเข้ากันกับห้างอื่น ห้างหุ้นส่วนนั้นต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่นั้นสองครั้งเป็นอย่างน้อย และส่งคำบอกกล่าวความประสงค์ที่จะควบเข้ากันนั้นแก่บรรดาผู้ซึ่งห้างหุ้นส่วนรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการที่จะทำนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในสามเดือนนับแต่วันบอกกล่าว

                   ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดค้าน

                   ถ้ามีคัดค้านไซร้ ท่านมิให้ห้างหุ้นส่วนจัดการควบเข้ากันเว้นแต่จะได้ใช้หนี้ที่เรียกร้องหรือให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว

                   มาตรา 1075  เมื่อห้างได้ควบเข้ากันแล้ว ต่างห้างก็ต่างมีหน้าที่จะต้องนำความนั้นไปจดทะเบียนว่าได้ควบเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนขึ้นใหม่

                   มาตรา 1076  ห้างหุ้นส่วนใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิทั้งต้องอยู่ในความรับผิดของห้างหุ้นส่วนเดิมที่ได้ควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น

หมวด 3

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

                   มาตรา 1077  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่งซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวกดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ

                   (2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง

                   มาตรา 1078  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านบังคับว่าต้องจดทะเบียน

                   การลงทะเบียนนั้น ต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อห้างหุ้นส่วน

                   (2) ข้อแถลงความว่าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนนั้น

                   (3) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาทั้งปวง

                   (4) ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและจำนวนเงินซึ่งเขาเหล่านั้นได้ลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน

                   (5) ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด

                   (6) ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ

                   (7) ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการอันจะผูกพันห้างหุ้นส่วนนั้นประการใด

ให้ลงไว้ด้วย

                   ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้น จะลงรายการอื่น ๆ อีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบด้วยก็ได้

                   การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย

                   ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วน

นั้นฉบับหนึ่ง

                   มาตรา 1079  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใดท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน

                   มาตรา 1080  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้น

หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

                   ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน

                   มาตรา 1081  ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง

                   มาตรา 1082  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดั่งว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น

                   แต่ในระวางผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้

ท่านให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน

                   มาตรา 1083  การลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้นท่านว่าต้องให้ลงเป็นเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ

                   มาตรา 1084  ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด นอกจากผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้

                   ถ้าทุนของห้างหุ้นส่วนลดน้อยลงไปเพราะค้าขายขาดทุน ท่านห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จนกว่าทุนซึ่งขาดไปนั้นจะได้คืนมาเต็มจำนวนเดิม

                   แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยไปแล้วโดยสุจริต ท่านว่าหาอาจจะบังคับให้เขาคืนเงินนั้นได้ไม่

                   มาตรา 1085  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความหรือด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใด ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนเพียงนั้น

                   มาตรา 1086  ข้อซึ่งตกลงกันในระวางผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายเพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเภททรัพย์สินที่ลงหุ้น หรือเพื่อจะลดจำนวนลงหุ้นแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนหนึ่งคนใดนั้น ท่านว่ายังไม่เป็นผลแก่บุคคลภายนอกจนกว่าจะได้จดทะเบียน

                   เมื่อได้จดทะเบียนแล้วไซร้ ข้อตกลงนั้น ๆ ก็ย่อมมีผลแต่เพียงเฉพาะแก่หนี้อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังเวลาที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

                   มาตรา 1087  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ

                   มาตรา 1088  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

                   แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่

                   มาตรา 1089  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้น จะตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนก็ได้

                   มาตรา 1090  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใด ๆ เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับการค้าขายของห้างหุ้นส่วนก็ไม่ห้าม

                   มาตรา 1091  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ๆ ก็โอนได้

                   มาตรา 1092  การที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามก็ดีล้มละลายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถก็ดี หาเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1093  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดตายท่านว่าทายาทของผู้นั้นย่อมเข้าเป็นหุ้นส่วนแทนที่ผู้ตาย เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1094  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดล้มละลายท่านว่าต้องเอาหุ้นของผู้นั้นในห้างหุ้นส่วนออกขายเป็นสินทรัพย์ในกองล้มละลาย

                   มาตรา 1095  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

                   แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดั่งนี้ คือ

                   (1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน

                   (2) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน

                   (3) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและ
ฝ่าฝืนต่อบทมาตรา 1084

หมวด 4

บริษัทจำกัด

ส่วนที่ 1

สภาพและการตั้งบริษัทจำกัด

                   มาตรา 1096  อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ

                   มาตรา 1097  บุคคลใด ๆ ตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ด้วยเข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณสนธิ และกระทำการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้

                   มาตรา 1098  หนังสือบริคณสนธินั้น ต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อบริษัทอันคิดจะตั้งขึ้น ซึ่งต้องมีคำว่า “จำกัด” ไว้ปลายชื่อนั้นด้วยเสมอไป

                   (2) ที่สำนักงานของบริษัทซึ่งบอกทะเบียนนั้นจะตั้งอยู่ ณ ที่ใดในพระราชอาณาเขต

                   (3) วัตถุที่ประสงค์ทั้งหลายของบริษัท

                   (4) ถ้อยคำสำแดงว่า ความรับผิดของผู้ถือหุ้นจะมีจำกัด

                   (5) จำนวนทุนเรือนหุ้นซึ่งบริษัทคิดกำหนดจะจดทะเบียนแบ่งออกเป็นหุ้น

มีมูลค่ากำหนดหุ้นละเท่าไร

                   (6) ชื่อ สำนัก อาชีวะ และลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ ทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อซื้อไว้คนละเท่าใด

                   มาตรา 1099  หนังสือบริคณสนธินั้น ท่านให้ทำเป็นต้นฉบับไว้ไม่น้อยกว่าสองฉบับ และให้ลงลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ และลายมือชื่อทั้งปวงนั้นให้มีพยานลงชื่อรับรองด้วยสองคน

                   หนังสือบริคณสนธิซึ่งได้ทำนั้น ท่านบังคับให้นำฉบับหนึ่งไปจดทะเบียนและมอบไว้ ณ หอทะเบียนในส่วนพระราชอาณาเขตซึ่งบ่งไว้ว่าจะบอกทะเบียนตั้งสำนักงานของบริษัทนั้น

                   มาตรา 1100  ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องลงชื่อซื้อหุ้น ๆ หนึ่งเป็นอย่างน้อย

                   มาตรา 1101  บุคคลซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดจะรับผิดโดยไม่จำกัดก็ได้ ถ้ากรณีเป็นเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าต้องจดแถลงความรับผิดเช่นนั้นลงไว้ในหนังสือบริคณสนธิด้วย

                   อันความรับผิดโดยไม่จำกัดของผู้เป็นกรรมการนั้น ย่อมถึงที่สุดเมื่อล่วงเวลาสองปีนับแต่วันที่ตัวเขาออกจากตำแหน่งกรรมการ

                   มาตรา 1102  ห้ามมิให้โฆษณาชวนคนให้เข้าชื่อซื้อหุ้นก่อนได้จดทะเบียนหนังสือบริคณสนธิของบริษัท

                   มาตรา 1103  บรรดาหนังสือชี้ชวนและหนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง หรือหนังสืออย่างอื่นในการชวนให้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุก ๆ ฉบับ ต้องลงวันและลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการบริษัท และต้องนำไปจดทะเบียนก่อนแล้วจึงโฆษณา

                   ในหนังสือเช่นกล่าวมานั้น ต้องแถลงความเหล่านี้ คือ

                   (1) ข้อความในหนังสือบริคณสนธิ

                   (2) จำนวนเงินที่จะต้องใช้ในหุ้นหนึ่ง ๆ ก่อนบริษัทจดทะเบียน

                   (3) จำนวนและมูลค่าแห่งหุ้นบุริมสิทธิ ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัทให้บอกสภาพและบุริมสิทธิซึ่งจะพึงได้แก่หุ้นนั้นสถานใดเพียงใด และเพราะเหตุใดจึงได้คิดจะให้มีหุ้นบุริมสิทธิเช่นนั้น

                   (4) จำนวนและมูลค่าแห่งหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งจะออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว เพราะใช้ให้ด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัทไซร้ ให้แถลงว่าจะถือเอาเป็นอันได้ใช้เงินแล้วเพียงใด และคิดจะออกหุ้นเช่นนั้นให้เพื่อแทนคุณแรงงานหรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใด

                   (5) จำนวนเงินใช้จ่ายหรือประมาณว่าจะใช้จ่ายในชั้นแรก

                   (6) ถ้ามีเจตนาจะให้เงินแก่ผู้เริ่มก่อการคนใดคนหนึ่งไซร้ จำนวนเงินนั้นเท่าใดและจะให้เพราะเหตุใด

                   (7) ผู้เริ่มก่อการได้ทำสัญญาเป็นข้อสำคัญไว้ประการใดบ้าง ทำในนามของตนเองก็ดี หรือในนามของบริษัทก็ดี อันเนื่องในก่อการหรือจัดการบริษัทนั้นหรือเนื่องในการค้าขายของบริษัทนั้นในภายหน้า ให้แถลงรายการและสภาพทั้งกำหนดแห่งสัญญานั้น ๆ จงเต็มทุกประการ

                   มาตรา 1104  จำนวนหุ้นทั้งหมดซึ่งบริษัทคิดจะจดทะเบียนนั้น ต้องมีผู้เข้าชื่อซื้อหรือออกให้กันเสร็จก่อนการจดทะเบียนของบริษัท

                   มาตรา 1105  อันหุ้นนั้น ท่านห้ามมิให้ออกโดยราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้

                   การออกหุ้นโดยราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้นั้น หากว่าหนังสือบริคณสนธิให้อำนาจไว้ ก็ให้ออกได้ และในกรณีเช่นนั้น ต้องส่งใช้จำนวนที่ล้ำมูลค่าพร้อมกันไปกับการส่งใช้เงินคราวแรก

                   อนึ่งเงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรกนั้น ต้องมิให้น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้

                   มาตรา 1106  การที่เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้นย่อมผูกพันผู้เข้าชื่อโดยเงื่อนไขว่าถ้าบริษัทตั้งขึ้นแล้วจะใช้จำนวนเงินค่าหุ้นนั้น ๆ ให้แก่บริษัทตามหนังสือชี้ชวนและข้อบังคับของบริษัท

                   มาตรา 1107  เมื่อหุ้นชนิดซึ่งจะต้องลงเงินนั้นได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหมดแล้วผู้เริ่มก่อการต้องนัดบรรดาผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่โดยไม่ชักช้า ประชุมอันนี้ให้เรียกว่าประชุมตั้งบริษัท

                   อนึ่งให้ผู้เริ่มก่อการส่งรายงานการตั้งบริษัทมีคำรับรองของตนว่าถูกต้องและมีข้อความที่เกี่ยวแก่กิจการอันจะพึงกระทำในที่ประชุมตั้งบริษัททุก ๆ ข้อตามความในมาตราต่อไปนี้ ไปยังผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันนัดประชุม

                   เมื่อได้ส่งรายงานตั้งบริษัทแก่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดส่งสำเนารายงานอันมีคำรับรองว่าถูกต้องตามที่บังคับไว้ในมาตรานี้ไปยังนายทะเบียนบริษัทโดยพลัน

                   อนึ่งให้ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีบัญชีแถลงรายชื่อ ฐาน และสำนักของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นกับจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนได้ลงชื่อซื้อไว้เพื่อเสนอต่อที่ประชุมนั้นด้วย

                   บทบัญญัติทั้งหลายแห่งมาตรา 1176, 1187, 1188, 1189, 1191,1192 และ 1195 นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่การประชุมตั้งบริษัทด้วยโดยอนุโลม

                   มาตรา 1108  กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น คือ

                   (1) ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท

                   (2) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท

                   (3) วางกำหนดจำนวนเงินซึ่งจะให้แก่ผู้เริ่มก่อการ ถ้าหากมีเจตนาว่าจะให้

                   (4) วางกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิแห่งหุ้นนั้น ๆ ว่าเป็นสถานใดเพียงใด ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท

                   (5) วางกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว เพราะใช้ให้ด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน และกำหนดว่าเพียงใดซึ่งจะถือเอาเป็นว่าได้ใช้เงินแล้ว ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท

                   ให้แถลงในที่ประชุมโดยเฉพาะว่า ซึ่งจะออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินแล้วเช่นนั้น เพื่อแทนคุณแรงงานหรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใด ให้พรรณนาจงชัดเจนทุกประการ

                   (6) เลือกตั้งกรรมการและพนักงานสอบบัญชีอันเป็นชุดแรกของบริษัทและวางกำหนดอำนาจของคนเหล่านี้ด้วย

                   มาตรา 1109  ผู้เริ่มก่อการหรือผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้ ถ้าตนมีส่วนได้เสียโดยพิเศษในปัญหาที่ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น

                   อนึ่งมติของที่ประชุมตั้งบริษัทย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ที่ประชุมจะได้ลงมติ

โดยเสียงข้างมาก อันมีคะแนนของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหมดซึ่งมีสิทธิลงคะแนนได้ และคิดตามจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นนั้น ๆ ทั้งหมดด้วยกัน

                   มาตรา 1110  เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัทแล้ว ให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทมอบการทั้งปวงให้แก่กรรมการของบริษัท

                   เมื่อกรรมการได้รับการแล้ว ก็ให้ลงมือจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหลายใช้เงินในหุ้นซึ่งจะต้องใช้เป็นตัวเงิน เรียกหุ้นหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า ตามที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนบอกกล่าวป่าวร้องหรือหนังสือชวนให้ซื้อหุ้น

                   มาตรา 1111  เมื่อจำนวนเงินซึ่งว่าไว้ในมาตรา 1110 ได้ใช้เสร็จแล้วกรรมการต้องไปขอจดทะเบียนบริษัทนั้น

                   คำขอและข้อความที่ลงในทะเบียนนั้น ให้ระบุรายการตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมตั้งบริษัท ดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) จำนวนหุ้นทั้งสิ้นซึ่งได้มีผู้เข้าชื่อซื้อ หรือได้จัดออกให้แล้ว แยกให้ปรากฏว่าเป็นชนิดหุ้นสามัญเท่าใด หุ้นบุริมสิทธิเท่าใด

                   (2) จำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว นอกจากที่ใช้เป็นตัวเงิน และหุ้นที่ได้ใช้แต่บางส่วนนั้น ให้บอกว่าได้ใช้แล้วเพียงใด

                   (3) จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วหุ้นละเท่าใด

                   (4) จำนวนเงินที่ได้รับไว้เป็นค่าหุ้นรวมทั้งสิ้นเท่าใด

                   (5) ชื่อ อาชีวะ และที่สำนักของกรรมการทุกคน

                   (6) ถ้าให้กรรมการต่างมีอำนาจจัดการของบริษัทได้โดยลำพังตัวให้แสดงอำนาจของกรรมการนั้น ๆ ว่าคนใดมีเพียงใดและบอกจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งจะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันบริษัทได้นั้นด้วย

                   (7) ถ้าตั้งบริษัทขึ้นชั่วกาลกำหนดอันหนึ่ง ให้บอกกาลกำหนดอันนั้นด้วย

                   (8) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาทั้งปวง

                   การลงทะเบียนจะมีรายการอย่างอื่นซึ่งกรรมการเห็นสมควรจะให้ทราบแก่ประชาชนก็ลงได้

                   ในการขอจดทะเบียนนั้น ถ้าได้ทำข้อบังคับของบริษัทไว้ประการใดบ้างต้องส่งสำเนาข้อบังคับนั้น ๆ ไปด้วย กับทั้งสำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัทหนังสือทั้งสองนี้กรรมการต้องลงลายมือชื่อรับรองคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย

                   ในเวลาเดียวกันนั้น กรรมการต้องนำฉบับตีพิมพ์แห่งหนังสือบริคณสนธิและข้อบังคับ ถ้าหากมีมอบไว้แก่หอทะเบียนอย่างละสิบฉบับ

                   ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่บริษัทฉบับหนึ่ง

                   มาตรา 1112  ถ้าการจดทะเบียนมิได้ทำภายในสามเดือนนับแต่ประชุมตั้งบริษัทไซร้ ท่านว่าบริษัทนั้นเป็นอันไม่ได้ตั้งขึ้น และบรรดาเงินที่ได้รับไว้จากผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้นต้องใช้คืนเต็มจำนวนมิให้ลดเลย

                   ถ้ามีจำนวนเงินเช่นว่านั้นค้างอยู่มิได้คืนในสามเดือนภายหลังการประชุมตั้งบริษัทไซร้ ท่านว่ากรรมการของบริษัทต้องรับผิดร่วมกันที่จะใช้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาสิ้นกำหนดสามเดือนนั้น

                   แต่ถ้ากรรมการคนใดพิสูจน์ได้ว่า การที่เงินขาดหรือที่ใช้คืนช้าไปมิได้เป็นเพราะความผิดของตนไซร้ กรรมการคนนั้นก็ไม่ต้องรับผิดในการใช้ต้นเงินหรือดอกเบี้ย

                   มาตรา 1113  ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท

                   มาตรา 1114  เมื่อบริษัทได้จดทะเบียนแล้ว ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่ตนได้เข้าชื่อซื้อ โดยยกเหตุว่าสำคัญผิด หรือต้องข่มขู่หรือถูกลวงล่อฉ้อฉลนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่

                   มาตรา 1115  ถ้าหากว่าชื่อบริษัทซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณสนธิพ้องกับชื่อบริษัทอื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วก็ดี หรือพ้องกับชื่อซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณสนธิฉบับอื่นอันได้จดทะเบียนแล้วก็ดี หรือคล้ายคลึงกับชื่อเช่นกล่าวนั้นจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้ที่มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ได้ และจะร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้เปลี่ยนชื่อนั้นเสียใหม่ก็ได้

                   เมื่อศาลมีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องบอกชื่อซึ่งเปลี่ยนใหม่นั้นจดทะเบียนแทนชื่อเก่า และต้องแก้ใบสำคัญการจดทะเบียนด้วยตามกันไป

                   มาตรา 1116  บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งปรารถนาจะได้สำเนาหนังสือบริคณสนธิ และข้อบังคับบรรดามีในบริษัทหนึ่งบริษัทใด ก็ชอบที่จะเรียกได้จากบริษัทนั้นในการนี้บริษัทจะเรียกเอาเงินไม่เกินฉบับละบาทหนึ่งก็ได้

ส่วนที่ 2

หุ้นและผู้ถือหุ้น

                   มาตรา 1117  อันมูลค่าของหุ้น ๆ หนึ่งนั้น ท่านมิให้ต่ำกว่าห้าสิบบาท

                   มาตรา 1118  อันหุ้นนั้น ท่านว่าจะแบ่งแยกหาได้ไม่

                   ถ้าบุคคลมีจำนวนแต่สองคนขึ้นไปถือหุ้น ๆ เดียวร่วมกัน ท่านว่าต้องตั้งให้คนใดคนหนึ่งในจำนวนนั้นแต่คนเดียวเป็นผู้ใช้สิทธิในฐานเป็นผู้ถือหุ้น

                   อนึ่งบุคคลทั้งหลายซึ่งถือหุ้น ๆ เดียวร่วมกัน ต้องร่วมกันรับผิดต่อบริษัทในการส่งใช้มูลค่าของหุ้น

                   มาตรา 1119  หุ้นทุก ๆ หุ้นจำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221

                   ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่

                   มาตรา 1120  บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

                   มาตรา 1121  การเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้น ท่านบังคับว่าให้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่ายี่สิบเอ็ดวันด้วย จดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่เรียกนั้น สุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใด ณ ที่ใดและเวลาใด

                   มาตรา 1122  ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้นผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนดไซร้ ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ

                   มาตรา 1123  ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้

                   ในคำบอกกล่าวอันนี้ ให้กำหนดเวลาไปพอสมควรเพื่อให้ใช้เงินที่เรียกกับทั้งดอกเบี้ย และต้องบอกไปด้วยว่าให้ส่งใช้ ณ สถานที่ใด อนึ่งในคำบอกกล่าวนั้นจะแจ้งไปด้วยก็ได้ว่า ถ้าไม่ใช้เงินตามเรียกหุ้นนั้นอาจจะถูกริบ

                   มาตรา 1124  ถ้าในคำบอกกล่าวมีข้อแถลงความถึงการริบหุ้นด้วยแล้วหากเงินค่าหุ้นที่เรียกกับทั้งดอกเบี้ยยังคงค้างชำระอยู่ตราบใด กรรมการจะบอกริบหุ้นนั้น ๆ เมื่อใดก็ได้

                   มาตรา 1125  หุ้นซึ่งริบแล้วนั้นให้เอาออกขายทอดตลาดโดยไม่ชักช้าได้จำนวนเงินเท่าใดให้เอาหักค่าใช้ค่าหุ้นที่เรียกกับดอกเบี้ยค้างชำระ ถ้ายังมีเงินเหลือเท่าใดต้องส่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น

                   มาตรา 1126  แม้ว่าวิธีการริบหุ้นขายหุ้นจะไม่ถูกต้องด้วยระเบียบก็ดีท่านว่าหาเป็นเหตุให้สิทธิของผู้ซื้อหุ้นซึ่งริบนั้นเสื่อมเสียไปอย่างไรไม่

                   มาตรา 1127  ให้บริษัททำใบหุ้น คือใบสำคัญสำหรับหุ้นใบหนึ่งหรือหลายใบ อบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้นจงทุก ๆ คน

                   เมื่อมอบใบหุ้นนั้น จะเรียกค่าธรรมเนียมก็ได้ สุดแต่กรรมการจะกำหนด แต่มิให้เกินห้าสิบสตางค์

                   มาตรา 1128  ในใบหุ้นทุก ๆ ใบ ท่านให้กรรมการลงลายมือชื่อเองคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย และประทับตราของบริษัทเป็นสำคัญ

                   ในใบหุ้นนั้นต้องมีข้อความต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อบริษัท

                   (2) เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงในใบหุ้นนั้น

                   (3) มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด

                   (4) ถ้าและเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินเสร็จ ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้วหุ้นละเท่าใด

                   (5) ชื่อผู้ถือหุ้น หรือคำแถลงว่าได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ

                   มาตรา 1129  อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

                   การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้วท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

                   การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

                   มาตรา 1130  หุ้นใดเงินที่เรียกค่าหุ้นยังชำระอยู่หุ้นนั้นบริษัทจะไม่ยอมรับจดทะเบียนให้โอนก็ได้

                   มาตรา 1131  ในระวางสิบสี่วันก่อนการประชุมใหญ่สามัญ บริษัทจะปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเสียก็ได้

                   มาตรา 1132  ในเหตุบางอย่างเช่นผู้ถือหุ้นตายก็ดี หรือล้มละลายก็ดีอันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นขึ้นนั้น หากว่าบุคคลนั้นนำใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทำได้ ทั้งได้นำหลักฐานอันสมควรมาแสดงด้วยแล้วก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป

                   มาตรา 1133  หุ้นซึ่งโอนกันนั้น ถ้าเป็นหุ้นอันมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้น ท่านว่าผู้โอนยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้นแต่ว่า

                   (1) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้อันหนึ่งอันใดของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้น

ภายหลังโอน

                   (2) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้ เว้นแต่ความปรากฏขึ้นแก่ศาลว่า

บรรดาผู้ที่ยังถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้

                   ในข้อความรับผิดเช่นว่ามานั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้โอนเมื่อพ้นสองปีนับแต่ได้จดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

                   มาตรา 1134  ใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น จะออกได้ก็แต่เมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ และจะออกให้ได้แต่เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้เต็มค่าแล้วในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมมีสิทธิจะได้รับใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ เมื่อเวนคืนใบหุ้นชนิดระบุชื่อนั้นให้ขีดฆ่าเสีย

                   มาตรา 1135  หุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้เพียงด้วยส่งมอบใบหุ้นแก่กัน

                   มาตรา 1136  ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือย่อมมีสิทธิจะมาขอเปลี่ยนเอาใบหุ้นชนิดระบุชื่อได้ เมื่อเวนคืนใบหุ้นฉบับออกให้แก่ผู้ถือนั้นให้ขีดฆ่าเสีย

                   มาตรา 1137  ถ้าข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดไว้เป็นองคคุณอันหนึ่งสำหรับผู้จะเป็นกรรมการ ว่าจำจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าหนึ่งใดไซร้หุ้นเช่นนี้ท่านว่าต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อ

                   มาตรา 1138  บริษัทจำกัดต้องมีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อและสำนัก กับอาชีวะ ถ้าว่ามี ของผู้ถือหุ้น ข้อแถลงเรื่องหุ้นของผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ๆ แยกหุ้นออกตามเลขหมายและจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วหรือที่ได้ตกลงกันให้ถือว่าเป็นอันได้ใช้แล้วในหุ้นของผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ๆ

                   (2) วันเดือนปีซึ่งได้ลงทะเบียนบุคคลผู้หนึ่ง ๆ เป็นผู้ถือหุ้น

                   (3) วันเดือนปีซึ่งบุคคลคนใดคนหนึ่งขาดจากเป็นผู้ถือหุ้น

                   (4) เลขหมายใบหุ้นและวันที่ลงในใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ และเลขหมายของหุ้นซึ่งได้ลงไว้ในใบหุ้นนั้น ๆ

                   (5) วันที่ได้ขีดฆ่าใบหุ้นชนิดระบุชื่อ หรือชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

                   มาตรา 1139  สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเริ่มแต่วันจดทะเบียนบริษัทนั้นให้รักษาไว้ ณ สำนักงานของบริษัทแห่งที่ได้บอกทะเบียนไว้ สมุดทะเบียนนี้ให้เปิดให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายดูได้ในระวางเวลาทำการโดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด แต่กรรมการจะจำกัดเวลาลงไว้อย่างไรพอสมควรก็ได้หากไม่น้อยกว่าวันละสองชั่วโมง

                   ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นจำเดิมแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วมานั้น ไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง และมิให้ช้ากว่าวันที่สิบสี่นับแต่การประชุมสามัญ บัญชีรายชื่อนี้ให้มีรายการบรรดาที่ระบุไว้ในมาตราก่อนนั้นทุกประการ

                   มาตรา 1140  ผู้ถือหุ้นชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบสำเนาทะเบียนเช่นว่านั้นหรือแต่ตอนหนึ่งตอนใดแก่ตนได้ เมื่อเสียค่าคัดสำเนาห้าสิบสตางค์ต่อร้อยคำ

                   มาตรา 1141  สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกะทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับ หรือให้อำนาจให้เอาลงในทะเบียนนั้น

                   มาตรา 1142  ถ้าบริษัทได้ออกหุ้นบุริมสิทธิไปแล้ว ได้กำหนดไว้ว่าบุริมสิทธิจะมีแก่หุ้นนั้น ๆ เป็นอย่างไร ท่านห้ามมิให้แก้ไขอีกเลย

                   มาตรา 1143  ห้ามมิให้บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเอง หรือรับจำนำหุ้นของตนเอง

ส่วนที่ 3

วิธีจัดการบริษัทจำกัด

1.บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

                   มาตรา 1144  บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง

                   มาตรา 1145  จำเดิมแต่ได้จดทะเบียนบริษัทแล้ว ท่านห้ามมิให้ตั้งข้อบังคับใหม่ หรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณสนธิแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่จะได้มีการลงมติพิเศษ

                   มาตรา 1146  บรรดาข้อบังคับอันได้ตั้งขึ้นใหม่ หรือได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง

นั้น เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะจัดให้ไปจดทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ

                   มาตรา 1147  บรรดาข้อบังคับอันได้ตั้งขึ้นใหม่ หรือหนังสือบริคณสนธิหรือข้อบังคับซึ่งได้เปลี่ยนแปลงนั้น ให้บริษัทส่งมอบฉบับตีพิมพ์ ไว้ ณ หอทะเบียนอย่างละสิบฉบับในเวลาเดียวกับที่ขอจดทะเบียน

                   มาตรา 1148  บรรดาบริษัทจำกัด ต้องมีสำนักงานบอกทะเบียนไว้แห่งหนึ่งซึ่งธุรการติดต่อและคำบอกกล่าวทั้งปวงจะส่งถึงบริษัทได้ ณ ที่นั้น

                   คำบอกกล่าวสถานที่ตั้งแห่งสำนักงานที่ได้บอกทะเบียนไว้ก็ดี หรือเปลี่ยนย้ายสถานที่ก็ดี ให้ส่งแก่นายทะเบียนบริษัทและให้นายทะเบียนจดข้อความนั้นลงในทะเบียน

                   มาตรา 1149  ตราบใดหุ้นทั้งหลายยังมิได้ชำระเงินเต็มจำนวน ท่านว่าตราบนั้นบริษัทจะลงพิมพ์หรือแสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทในหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดเช่นในคำบอกกล่าวป่าวร้องก็ดี ในตั๋วเงินและบัญชีสิ่งของก็ดี ในจดหมายก็ดี ต้องแสดงไว้ให้ชัดเจนด้วยในทีเดียวกันว่า จำนวนเงินต้นทุนได้ชำระแล้วเพียงกี่ส่วน

2.กรรมการ

                   มาตรา 1150  ผู้เป็นกรรมการจะพึงมีจำนวนมากน้อยเท่าใด และจะพึงได้บำเหน็จเท่าใด ให้สุดแล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะกำหนด

                   มาตรา 1151  อันผู้เป็นกรรมการนั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้

                   มาตรา 1152  ในเมื่อมีการประชุมสามัญครั้งแรกภายหลังแต่จดทะเบียน

บริษัทก็ดี และในเมื่อมีการประชุมสามัญครั้งแรกในปีทุก ๆ ปีต่อไปก็ดี ผู้เป็นกรรมการต้องออกจากตำแหน่งโดยจำนวนหนึ่งในสามเป็นอัตรา ถ้าและจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นส่วนสามไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม

                   มาตรา 1153  ตัวกรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น ถ้ากรรมการมิได้ตกลงกันไว้เองเป็นวิธีอื่นไซร้ ก็ให้จับสลากกัน ส่วนปีหลัง ๆ ต่อไปให้กรรมการคนที่ได้อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นผู้ต้องออก

                   กรรมการผู้ออกไปนั้นจะเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้

                   มาตรา 1154  ถ้ากรรมการคนใดล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถไซร้ ท่านว่ากรรมการคนนั้นเป็นอันขาดจากตำแหน่ง

                   มาตรา 1155  ถ้าตำแหน่งว่างลงในสภากรรมการเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวรไซร้ ท่านว่ากรรมการจะเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างก็ได้ แต่บุคคลที่ได้เป็นกรรมการใหม่เช่นนั้น ให้มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่กรรมการผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้

                   มาตรา 1156  ถ้าที่ประชุมใหญ่ถอนกรรมการผู้หนึ่งออกก่อนครบกาลกำหนดของเขา และตั้งคนอื่นขึ้นไว้แทนที่ไซร้ ท่านว่าบุคคลที่เป็นกรรมการใหม่นั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่กรรมการผู้ถูกถอนนั้นชอบที่จะอยู่ได้

                   มาตรา 1157  การตั้งกรรมการขึ้นใหม่นั้น ตั้งใครเมื่อใดท่านให้นำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ตั้งจงทุกครั้ง

                   มาตรา 1158  นอกจากจะมีข้อบังคับของบริษัทไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่ากรรมการมีอำนาจดั่งพรรณาไว้ในหกมาตรา ต่อไปนี้

                   มาตรา 1159  ในจำนวนกรรมการนั้น แม้ตำแหน่งจะว่างไปบ้าง กรรมการ

ที่มีตัวอยู่ก็ย่อมทำกิจการได้ แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมได้ตลอดเวลาเช่นนั้น กรรมการที่มีตัวอยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะเพิ่มกรรมการขึ้นให้ครบจำนวนหรือนัดเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทเท่านั้น จะกระทำกิจการอย่างอื่นไม่ได้

                   มาตรา 1160  กรรมการจะวางกำหนดไว้ก็ได้ว่า จำนวนกรรมการเข้าประชุมกี่คนจึงจะเป็นองค์ประชุมทำกิจการได้ ถ้าและมิได้กำหนดไว้ดั่งนั้นไซร้ (เมื่อจำนวนกรรมการเกินกว่าสามคน) ท่านว่าต้องมีกรรมการเข้าประชุมสามคนจึงจะเป็นองค์ประชุมได้

                   มาตรา 1161  ข้อปรึกษาซึ่งเกิดเป็นปัญหาในประชุมกรรมการนั้น ให้ชี้ขาดตัดสินเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถ้าและคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด

                   มาตรา 1162  กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้

                   มาตรา 1163  กรรมการจะเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานที่ประชุม และจะกำหนดเวลาว่าให้อยู่ในตำแหน่งเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าหากมิได้เลือกกันไว้เช่นนั้น หรือผู้เป็นประธานไม่มาประชุมตามเวลาที่ได้นับหมายไซร้กรรมการที่มาประชุมนั้นจะเลือกกันคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในการประชุมเช่นนั้นก็ได้

                   มาตรา 1164  กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการ หรือให้แก่อนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ ในการใช้อำนาจซึ่งได้มอบหมายเช่นนั้น ผู้จัดการทุกคนหรืออนุกรรมการทุกคนต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้ทุกอย่างทุกประการ

                   มาตรา 1165  ถ้าการมอบอำนาจมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นไซร้ข้อปรึกษาซึ่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นในที่ประชุมอนุกรรมการทั้งหลายให้ตัดสินเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถ้าและคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานชี้ขาด

                   มาตรา 1166  บรรดาการซึ่งกรรมการคนหนึ่งได้ทำไปแม้ในภายหลังความปรากฏว่าการตั้งแต่งกรรมการคนนั้นมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ดี หรือเป็นผู้บกพร่องด้วยองคคุณควรแก่ตำแหน่งกรรมการก็ดี ท่านว่าการที่ได้ทำนั้นย่อมสมบูรณ์เสมือนดั่งว่าบุคคลผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องและบริบูรณ์ด้วยองคคุณของกรรมการ

                   มาตรา 1167  ความเกี่ยวพันกันในระวางกรรมการและบริษัทและคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน

                   มาตรา 1168  ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง

                   ว่าโดยเฉพาะ กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันในประการต่าง ๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) การใช้เงินค่าหุ้นนั้น ได้ใช้กันจริง

                   (2) จัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารที่กฎหมายกำหนดไว้

                   (3) การแจกเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้

                   (4) บังคับการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามมติของที่ประชุมใหญ่

                   อนึ่งท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใด ๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น

                   บทบัญญัติที่กล่าวมาข้างบนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของกรรมการด้วย

                   มาตรา 1169  ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้องผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้

                   อนึ่งการเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้ของบริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่

                   มาตรา 1170  เมื่อการซึ่งกรรมการคนใดได้ทำไปได้รับอนุมัติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ท่านว่ากรรมการคนนั้นไม่ต้องรับผิดในการนั้นต่อผู้ถือหุ้นซึ่งได้ให้อนุมัติหรือต่อบริษัทอีกต่อไป

                   ท่านห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมิได้ให้อนุมัติด้วยนั้นฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ประชุมใหญ่ให้อนุมัติแก่การเช่นว่านั้น

3.ประชุมใหญ่

                   มาตรา 1171  ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัท และต่อนั้นไปก็ให้มีการประชุมเช่นนี้ครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน

                   การประชุมเช่นนี้ เรียกว่าประชุมสามัญ

                   การประชุมใหญ่คราวอื่นบรรดามีนอกจากนี้ เรียกว่าประชุมวิสามัญ

                   มาตรา 1172  กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร

                   ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจำนวนต้นทุน กรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันทีเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบการที่ขาดทุนนั้น

                   มาตรา 1173  การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้นในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัท ได้เข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด

                   มาตรา 1174  เมื่อผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญดั่งได้กล่าวมาในมาตราก่อนนี้แล้ว ให้กรรมการเรียกประชุมโดยพลัน

                   ถ้าและกรรมการมิได้เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้องไซร้ ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ รวมกันได้จำนวนดั่งบังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้

                   มาตรา 1175  คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวนั้น ให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนบรรดามีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

                   ในคำบอกกล่าวนั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันนั้นด้วย

                   มาตรา 1176  ผู้ถือหุ้นทั่วทุกคนมีสิทธิจะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด

                   มาตรา 1177  วิธีดั่งบัญญัติไว้ในมาตราต่อ ๆ ไปนี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่ เว้นแต่จะมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นข้อความขัดกัน

                   มาตรา 1178  ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจำนวนหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว ท่านว่าที่ประชุมอันนั้นจะปรึกษากิจการอันใดหาไม่

                   มาตรา 1179  การประชุมใหญ่เรียกนัดเวลาใด เมื่อล่วงเวลานัดนั้นไปแล้วถึงชั่วโมงหนึ่ง จำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาเข้าประชุมยังไม่ครบถ้วนเป็นองค์ประชุมดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 1178 นั้นไซร้ หากว่าการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ ท่านให้เลิกประชุม

                   ถ้าการประชุมใหญ่นั้นมิใช่ชนิดซึ่งเรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอไซร้ท่านให้เรียกนัดใหม่อีกคราวหนึ่งภายในสิบสี่วัน และการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ท่านไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม

                   มาตรา 1180  ในการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ทุก ๆ ครั้งให้ผู้เป็นประธานในสภากรรมการนั่งเป็นประธาน

                   ถ้าประธานกรรมการเช่นว่านี้ไม่มีตัวก็ดี หรือไม่มาเข้าประชุมจนล่วงเวลานัดไปแล้วสิบห้านาฑีก็ดี ให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในจำนวนซึ่งมาประชุมขึ้นนั่งเป็นประธาน

                   มาตรา 1181  ผู้นั่งเป็นประธานจะเลื่อนการประชุมใหญ่ใด ๆ ไปเวลาอื่นโดยความยินยอมของที่ประชุมก็ได้ แต่ในที่ประชุมซึ่งได้เลื่อนมานั้นท่านมิให้ปรึกษากิจการอันใดนอกไปจากที่ค้างมาแต่วันประชุมก่อน

                   มาตรา 1182  ในการลงคะแนนโดยวิธีชูมือนั้น ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทนมีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน แต่ในการลงคะแนนลับท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนมีคะแนนเสียงเสียงหนึ่งต่อหุ้นหนึ่งที่ตนถือ

                   มาตรา 1183  ถ้ามีข้อบังคับของบริษัทวางเป็นกำหนดไว้ว่า ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหุ้นแต่จำนวนเท่าใดขึ้นไปจึงให้ออกเสียงเป็นคะแนนได้ไซร้ท่านว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งไม่มีหุ้นถึงจำนวนเท่านั้นย่อมมีสิทธิที่จะเข้ารวมกันให้ได้จำนวนหุ้นดั่งกล่าว แล้วตั้งคนหนึ่งในพวกของตนให้เป็นผู้รับฉันทะออกเสียงแทนในการประชุมใหญ่ใด ๆ ได้

                   มาตรา 1184  ผู้ถือหุ้นคนใดยังมิได้ชำระเงินค่าหุ้นซึ่งบริษัทได้เรียกเอาแต่ตนให้เสร็จสิ้น ท่านว่าผู้ถือหุ้นคนนั้นไม่มีสิทธิออกเสียงเป็นคะแนน

                   มาตรา 1185  ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ท่านห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น

                   มาตรา 1186  ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือหาอาจออกเสียงเป็นคะแนนได้ไม่ เว้นแต่จะได้นำใบหุ้นของตนนั้นมาวางไว้แก่บริษัทแต่ก่อนเวลาประชุม

                   มาตรา 1187  ผู้ถือหุ้นทุกคนจะมอบฉันทให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้

แต่การมอบฉันทเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือ

                   มาตรา 1188  หนังสือตั้งผู้รับฉันทนั้น ให้ลงวันและลงลายมือชื่อผู้ถือหุ้นและให้มีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) จำนวนหุ้นซึ่งผู้มอบฉันทนั้นถืออยู่

                   (2) ชื่อผู้รับฉันท

                   (3) ตั้งผู้รับฉันทนั้นเพื่อการประชุมครั้งคราวใด หรือตั้งไว้ชั่วระยะเวลาเพียงใด

                   มาตรา 1189  อันหนังสือตั้งผู้รับฉันทนั้น ถ้าผู้มีชื่อรับฉันทประสงค์จะออกเสียงในการประชุมครั้งใด ต้องนำไปวางต่อผู้เป็นประธานแต่เมื่อเริ่มหรือก่อนเริ่มประชุมครั้งนั้น

                   มาตรา 1190  ในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนนท่านให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้นจะได้มีผู้ถือหุ้นสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ

                   มาตรา 1191  ในการประชุมใหญ่ใด ๆ เมื่อผู้เป็นประธานแสดงว่ามติอันใดนับคะแนนชูมือเป็นอันว่าได้หรือตกก็ดี และได้จดลงไว้ในสมุดรายงานประชุมของบริษัทดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือเป็นหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ตามนั้น

                   ถ้ามีผู้ติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับไซร้ ท่านให้ถือว่าผลแห่งคะแนนลับนั้นเป็นมติของที่ประชุม

                   มาตรา 1192  ถ้ามีผู้ติดใจร้องขอโดยชอบให้ลงคะแนนลับ การลงคะแนนเช่นนั้นจะทำด้วยวิธีใดสุดแล้วแต่ผู้เป็นประธานจะสั่ง

                   มาตรา 1193  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน จะเป็นในการชูมือก็ดี หรือในการลงคะแนนลับก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

                   มาตรา 1194  ถ้ามีประชุมใหญ่ได้ลงมติอันใดเป็นลำดับกันสองครั้งประชุมแล้ว มติอันนั้นท่านให้ถือว่าเป็นมติพิเศษเมื่อได้ทำให้เป็นไปโดยวิธีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   ข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมตินั้น ได้จดลงในคำบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่
ครั้งแรก

                   ที่ประชุมครั้งแรกได้ลงมติโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ส่วนของจำนวนเสียงทั้งหมด

                   การประชุมใหญ่ครั้งหลังนั้น ได้นัดเรียกและได้ประชุมกันในเวลาไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และไม่มากกว่าหกสัปดาห์ภายหลังการประชุมครั้งแรก

                   ข้อความอันที่ประชุมครั้งแรกได้ลงมตินั้น ได้จดลงไว้เต็มสำนวนในคำบอกกล่าว

นัดประชุมครั้งหลังด้วย

                   ที่ประชุมครั้งหลังได้ลงมติยืนตามมติของที่ประชุมครั้งแรกโดยคะแนนเสียง

ข้างมากนับได้ไม่น้อยกว่าสองในสามส่วนของจำนวนเสียงทั้งหมด

                   มาตรา 1195  การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

4.บัญชีงบดุล

                   มาตรา 1196  อันบัญชีงบดุลนั้น ท่านว่าต้องทำอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบ

สิบสองเดือน คือเมื่อเวลาสุดรอบสิบสองเดือนอันจัดว่าเป็นขวบปีในทางบัญชีเงินของบริษัทนั้น

                   อนึ่งงบดุลต้องมีรายการย่อแสดงจำนวนสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทกับทั้ง

บัญชีกำไรและขาดทุน

                   มาตรา 1197  งบดุลนั้นต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนตรวจสอบ

แล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ภายในสี่เดือนนับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น

                   อนึ่งให้ส่งสำเนางบดุลไปยังบุคคลทุกคนบรรดามีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่ก่อนวันนัดประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน

                   นอกจากนั้นให้มีสำเนางบดุลเปิดเผยไว้ในสำนักงานของบริษัทในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น เพื่อให้ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือนั้นตรวจดูได้ด้วย

                   มาตรา 1198  ในเมื่อเสนองบดุล กรรมการต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ แสดงว่าภายในรอบปีซึ่งพิจารณากันอยู่นั้นการงานของบริษัทได้จัดทำไปเป็นประการใด

                   มาตรา 1199  บุคคลใดปรารถนาจะได้สำเนางบดุลฉบับหลังที่สุดจากบริษัทใด ๆ ก็ชอบที่จะซื้อเอาได้โดยราคาไม่เกินกว่าฉบับละห้าสิบสตางค์

                   ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนางบดุลทุกฉบับไปยังนายทะเบียนไม่ช้ากว่าเดือนหนึ่งนับแต่วันซึ่งงบดุลนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่

5.เงินปันผลและเงินสำรอง

                   มาตรา 1200  การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวนซึ่งผู้ถือหุ้นได้ส่งเงินแล้วในหุ้นหนึ่ง ๆ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ

                   มาตรา 1201  ห้ามมิให้ประกาศอนุญาตเงินปันผล นอกจากโดยมติของที่ประชุมใหญ่

                   กรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระวางกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งเป็นคราวในเมื่อปรากฏแก่กรรมการว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้น

                   ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุน ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น

                   มาตรา 1202  ทุกคราวที่แจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท

                   ถ้าได้ออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ท่านให้บวกทบเข้าในทุนสำรองจนกว่าทุนสำรองจะมีจำนวนเท่าถึงที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน

                   มาตรา 1203  ถ้าจ่ายเงินปันผลไปโดยฝ่าฝืนความในมาตราทั้งสองซึ่งกล่าวมาไซร้ เจ้าหนี้ทั้งหลายของบริษัทชอบที่จะเรียกเอาเงินจำนวนซึ่งได้แจกไปคืนมายังบริษัทได้ แต่ว่าถ้าผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดยสุจริตท่านว่าจะกลับบังคับให้เขาจำคืนนั้นหาได้ไม่

                   มาตรา 1204  การบอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายนั้น ท่านให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งสองครั้งเป็นอย่างน้อยหรือมิฉะนั้นให้มีจดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นบรรดาปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นจงทุกคน

                   มาตรา 1205  เงินปันผลนั้น แม้จะค้างจ่ายอยู่ ท่านว่าหาอาจจะคิดเอาดอกเบี้ยแก่บริษัทได้ไม่

6.สมุดและบัญชี

                   มาตรา 1206  กรรมการต้องจัดให้ถือบัญชีซึ่งกล่าวต่อไปนี้ไว้ให้ถูกถ้วนจริง ๆ คือ

                   (1) จำนวนเงินที่บริษัทได้รับและได้จ่าย ทั้งรายการอันเป็นเหตุให้รับหรือจ่ายเงินทุกรายไป

                   (2) สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท

                   มาตรา 1207  กรรมการต้องจัดให้จดบันทึกรายงานการประชุม และข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นและของที่ประชุมกรรมการลงไว้ในสมุดโดยถูกต้อง สมุดนี้ให้เก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานที่ได้จดทะเบียนของบริษัท บันทึกเช่นนั้นอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อได้ลงลายมือชื่อของผู้เป็นประธานแห่งการประชุมซึ่งได้ลงมติ หรือซึ่งได้ดำเนิรการงานประชุมก็ดีหรือได้ลงลายมือชื่อของผู้เป็นประธานแห่งการประชุมถัดจากครั้งนั้นมาก็ดี ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น

หลักฐานอันถูกต้องแห่งข้อความที่ได้จดบันทึกลงในสมุดนั้น ๆ และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการลงมติและการดำเนิรของที่ประชุมอันได้จดบันทึกไว้นั้นได้เป็นไปโดยชอบ

                   ผู้ถือหุ้นคนใดจะขอตรวจดูเอกสารดั่งกล่าวมาข้างต้นในเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างเวลาทำการงานก็ได้

ส่วนที่ 4

การสอบบัญชี

                   มาตรา 1208  ผู้สอบบัญชีนั้น จะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ได้ แต่บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการงานที่บริษัททำโดยสถานอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากเป็นแต่ผู้ถือหุ้นในบริษัทเท่านั้นแล้ว ท่านว่าจะเลือกเอามาเป็นตำแหน่งผู้สอบบัญชีหาได้ไม่ กรรมการก็ดี หรือผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนหรือเป็นลูกจ้างของบริษัทก็ดีเวลาอยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ ก็จะเลือกเอามาเป็นตำแหน่งผู้สอบบัญชีของบริษัทหาได้ไม่

                   มาตรา 1209  ผู้สอบบัญชีนั้น ให้ที่ประชุมสามัญเลือกตั้งทุกปี

                   ผู้สอบบัญชีคนซึ่งออกไปนั้นจะเลือกกลับเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้

                   มาตรา 1210  ผู้สอบบัญชีควรจะได้สินจ้างเท่าใด ให้ที่ประชุมใหญ่กำหนด

                   มาตรา 1211  ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้สอบบัญชีให้กรรมการนัดเรียกประชุมวิสามัญ เพื่อให้เลือกตั้งขึ้นใหม่ให้ครบจำนวน

                   มาตรา 1212  ถ้ามิได้เลือกตั้งผู้สอบบัญชีโดยวิธีดั่งกล่าวมา เมื่อผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอ ก็ให้ศาลตั้งผู้สอบบัญชีประจำปีนั้น และกำหนดสินจ้างให้ด้วย

                   มาตรา 1213  ให้ผู้สอบบัญชีทุกคนเข้าตรวจสอบสรรพสมุดและบัญชีของบริษัทในเวลาอันสมควรได้ทุกเมื่อและในการอันเกี่ยวด้วยสมุดและบัญชีเช่นนั้นให้ไต่ถามสอบสวนกรรมการ หรือผู้อื่น ๆ ซึ่งเป็นตัวแทน หรือเป็นลูกจ้างของบริษัทได้ไม่ว่าคนหนึ่งคนใด

                   มาตรา 1214  ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานว่าด้วยงบดุลและบัญชียื่นต่อที่ประชุมสามัญ

                   ผู้สอบบัญชีต้องแถลงในรายงานเช่นนั้นด้วยว่าตนเห็นว่างบดุลได้ทำโดยถูกถ้วนควรฟังว่าสำแดงให้เห็นการงานของบริษัทที่เป็นอยู่ตามจริงและถูกต้องหรือไม่

ส่วนที่ 5

การตรวจ

                   มาตรา 1215  เมื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำเรื่องราวร้องขอไซร้ ให้เสนาบดีเจ้าหน้าที่ตั้งผู้ตรวจอันทรงความสามารถ จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ตามไปตรวจการงานของบริษัทจำกัดนั้นและทำรายงานยื่นให้ทราบ

                   ก่อนที่จะตั้งผู้ตรวจเช่นนั้น เสนาบดีจะบังคับให้คนทั้งหลายผู้ยื่นเรื่องราววางประกัน เพื่อรับออกเงินค่าใช้สอยในการตรวจนั้นก็ได้

                   มาตรา 1216  กรรมการก็ดี ลูกจ้างและตัวแทนของบริษัทก็ดี จำต้องส่งสรรพสมุดและเอกสารทั้งปวงซึ่งตนเก็บรักษาหรืออยู่ในอำนาจแห่งตนนั้นให้แก่ผู้ตรวจ

                   ผู้ตรวจคนหนึ่งคนใดจะให้กรรมการ ลูกจ้าง และตัวแทน ของบริษัทสาบานตัวแล้วสอบถามคำให้การในเรื่องอันเนื่องด้วยการงานของบริษัทนั้นก็ได้

                   มาตรา 1217  ผู้ตรวจต้องทำรายงานยื่น และรายงานนั้นจะเขียนหรือตีพิมพ์สุดแต่เสนาบดีเจ้าหน้าที่จะบัญชา สำเนารายงานนั้นให้เสนาบดีส่งไปยังสำนักงานบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้ กับทั้งส่งแก่ผู้ถือหุ้นซึ่งยื่นเรื่องราวขอให้ตรวจนั้นด้วย

                   มาตรา 1218  ค่าใช้สอยในการตรวจเช่นนี้ ผู้ยื่นเรื่องราวขอให้ตรวจต้องใช้ทั้งสิ้น เว้นแต่ถ้าบริษัทในคราวประชุมใหญ่ครั้งแรกเมื่อตรวจสำเร็จลงแล้วได้ยินยอมว่าจะจ่ายจากสินทรัพย์ของบริษัทนั้น

                   มาตรา 1219  เสนาบดีเจ้าหน้าที่โดยลำพังตนเอง จะตั้งผู้ตรวจคนเดียวหรือหลายคนให้ไปตรวจการของบริษัทเพื่อทำรายงานยื่นต่อรัฐบาลก็ได้ การตั้งผู้ตรวจเช่นว่ามานี้จะพึงมีเมื่อใดสุดแล้วแต่เสนาบดีจะเห็นสมควร

ส่วนที่ 6

การเพิ่มทุนและลดทุน

                   มาตรา 1220  บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น

                   มาตรา 1221  บริษัทจำกัดจะออกหุ้นใหม่ให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้ว หรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้วด้วยอย่างอื่นนอกจากให้ใช้เป็นตัวเงินนั้นไม่ได้เว้นแต่จะทำตามมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น

                   มาตรา 1222  ถ้าหากว่าที่ประชุมใหญ่มิได้วินิจฉัยไว้เป็นสถานอื่นไซร้บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้นต้องเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามส่วนจำนวนหุ้นซึ่งเขาถืออยู่

                   คำเสนอเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนระบุจำนวนหุ้นให้ทราบว่าผู้นั้นชอบที่จะซื้อได้กี่หุ้นและให้กำหนดวันว่าถ้าพ้นวันนั้นไปมิได้มีคำสนองมาแล้ว จะถือว่าเป็นอันไม่รับซื้อ

                   เมื่อวันที่กำหนดล่วงไปแล้วก็ดี  หรือผู้ถือหุ้นได้บอกมาว่าไม่รับซื้อหุ้นนั้นก็ดี กรรมการจะเอาหุ้นเช่นนั้นออกเสนอให้บุคคลภายนอกเข้าชื่อซื้อก็ได้

                   มาตรา 1223  บรรดาหนังสือชี้ชวน หนังสือบอกกล่าวป่าวร้องหรือหนังสืออย่างอื่นซึ่งชวนให้บุคคลภายนอกเข้าชื่อซื้อหุ้นใหม่นั้น กรรมการต้องลงลายมือชื่อและลงวันแล้วนำไปจดทะเบียนก่อนแล้วจึงโฆษณา

                   หนังสือเช่นกล่าวมานั้น ต้องมีรายการเหล่านี้ คือ

                   (1) ชื่อ อาชีวะ และสำนัก ทั้งของกรรมการและของผู้สอบบัญชีทั้งหลาย

                   (2) ข้อความในหนังสือบริคณสนธิ

                   (3) ทุนของบริษัทที่ได้จดทะเบียนแล้ว จำแนกให้ปรากฏจำนวนหุ้นสามัญ

และหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นที่ใช้ค่าแล้วด้วยอย่างอื่นนอกจากที่ใช้เป็นตัวเงิน

                   (4) ยอดจำนวนทีได้ใช้ตัวเงินเข้าในทุน

                   (5) ใจความของงบดุลฉบับหลังที่สุด แสดงสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท

                   (6) จำนวนหุ้นซึ่งจะออกใหม่มากน้อยเท่าใด เป็นจำนวนเงินเท่าใดและวัตถุที่ประสงค์ซึ่งออกหุ้นใหม่นั้นเพื่อการอันใด

                   (7) เงินค่าหุ้นซึ่งจะต้องส่งใช้เมื่อขอซื้อนั้นหุ้นละเท่าใดอนึ่งเงินจำนวนซึ่งจะต้องใช้เช่นนี้ท่านมิให้กำหนดน้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้

                   (8) ถ้าหุ้นใหม่นั้นเป็นหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องแสดงว่าบุริมสิทธิจะมีแก่หุ้นเช่นนี้สถานใด

                   (9) ถ้ามีหุ้นใหม่ซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้ว หรือได้ใช้แต่บางส่วนด้วยอย่างอื่นนอกจากใช้เป็นตัวเงิน ต้องแสดงให้ปรากฏว่ามีจำนวนหุ้นและเป็นมูลค่าเท่าใด และหุ้นเหล่านั้นได้จัดไว้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินแล้วเพียงใด เพื่อแทนคุณแรงงานหรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใด

                   มาตรา 1224  บริษัทจำกัดจะลดทุนของบริษัทลงด้วยลดมูลค่าแต่ละหุ้น ๆ ให้ต่ำลง หรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลงโดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้

                   มาตรา 1225  อันทุนของบริษัทนั้นจะลดลงไปให้ถึงต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดหาได้ไม่

                   มาตรา 1226  เมื่อบริษัทประสงค์จะลดทุน ต้องโฆษณาความประสงค์นั้นในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่เจ็ดครั้งเป็นอย่างน้อย และต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบรายการซึ่งประสงค์จะลดทุนลงและขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการลดทุนนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในสามเดือนนับแต่วันที่บอกกล่าวนั้น

                   ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาสามเดือน ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดค้าน

                   ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการลดทุนลงไม่ได้จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้น

                   มาตรา 1227  ถ้ามีเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดละเลยเสียมิได้คัดค้านในการที่บริษัทจะลดทุนลง เพราะเหตุว่าตนไม่ทราบความ และเหตุที่ไม่ทราบนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของเจ้าหนี้คนนั้นแต่อย่างใดไซร้ ท่านว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายบรรดาที่ได้รับเงินคืนไปตามส่วนที่ลดหุ้นลงนั้น ยังคงจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เช่นนั้นเพียงจำนวนที่ได้รับทุนคืนไปชั่วเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนการลดทุนนั้น

                   มาตรา 1228  มติพิเศษซึ่งอนุญาตให้เพิ่มทุนหรือลดทุนนั้น บริษัทต้องจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ลงมตินั้น

ส่วนที่ 7

หุ้นกู้

                   มาตรา 1229  บริษัทจะออกหุ้นกู้ไม่ได้ เว้นแต่มีมติพิเศษ

                   มาตรา 1230  จำนวนเงินที่จะออกหุ้นกู้นั้น ท่านมิให้เกินจำนวนเงินอันได้ส่งใช้เข้าในทุนของบริษัทแล้ว

                   ถ้าบัญชีงบดุลครั้งที่สุดแสดงจำนวนสินทรัพย์ว่าลดน้อยลงไปกว่าจำนวนเงินอันได้ส่งใช้เข้าในทุนของบริษัทแล้วไซร้ ท่านมิให้กำหนดจำนวนเงินที่จะออกหุ้นกู้ให้เกินไปกว่าจำนวนราคาสินทรัพย์นั้น

                   มาตรา 1231  มูลค่าหุ้นกู้ใบหนึ่งท่านมิให้ต่ำกว่าห้าสิบบาท

                   หุ้นกู้ทุก ๆ หุ้นต้องส่งใช้เป็นเงิน

                   มาตรา 1232  ก่อนที่จะออกหุ้นกู้ ท่านให้จดทะเบียนมีรายการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ยอดจำนวนเงินที่จะกู้

                   (2) ยอดจำนวนหุ้นกู้

                   (3) มูลค่าหุ้นกู้หุ้นหนึ่งเท่าใด

                   (4) อัตราดอกเบี้ย

                   (5) วิธีไถ่คืนหุ้นกู้ และกำหนดเวลาที่จะต้องไถ่คืน

                   (6) ถ้าบริษัทได้ออกหุ้นกู้ไว้ก่อนแล้ว ต้องแสดงจำนวนเงินที่บริษัทยังเป็นหนี้อยู่เพราะหุ้นกู้เท่านั้น

                   (7) กำหนดราคาที่จะออกหุ้นกู้นั้น

                   (8) วิธีส่งเงินใช้ค่าหุ้นกู้ และกำหนดเวลาที่จะต้องส่งใช้

                   (9) เงินทุนเรือนหุ้นของบริษัททีได้ออกเป็นหุ้น  และยอดเงินที่ได้ส่งใช้เข้าทุนแล้ว

                   (10) ราคาสินทรัพย์ของบริษัทดั่งที่แสดงไว้ในงบดุลครั้งที่สุด

                   มาตรา 1233  หนังสือชี้ชวนบอกกล่าวป่าวร้องหรือหนังสืออย่างอื่นซึ่งชวนให้เข้าชื่อซื้อหุ้นกู้นั้น กรรมการต้องลงลายมือชื่อ ลงวัน และจดทะเบียนเสียก่อนแล้วจึงโฆษณาและต้องมีข้อความตามรายการทีว่าไว้ในมาตรา 1232

                   มาตรา 1234  บทบัญญัติมาตรา 1118 ว่าด้วยหุ้นและบทบัญญัติแต่มาตรา 1127 ถึง 1130 กับมาตรา 1132 ถึงมาตรา 1136 ว่าด้วยใบหุ้นนั้นท่านให้ใช้บังคับแก่หุ้นกู้ด้วยโดยอนุโลม

                   มาตรา 1235  ใบสำคัญสำหรับหุ้นกู้ทุก ๆ ใบต้องมีข้อความตามรายการที่ว่าไว้ในอนุมาตรา 1 ถึง 5 แห่งมาตรา 1232

ส่วนที่ 8

เลิกบริษัทจำกัด

                   มาตรา 1236  อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกันเมื่อมีกรณีนั้น

                   (2) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น

                   (3) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียวเมื่อเสร็จการนั้น

                   (4) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก

                   (5) เมื่อบริษัทล้มละลาย

                   มาตรา 1237  นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท

                   (2) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม

                   (3) ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้

                   (4) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงเจ็ดคน

                   แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือให้มีการประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิกบริษัทก็ได้ แล้วแต่จะเห็นควร

ส่วนที่ 9

การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน

                   มาตรา 1238  อันบริษัทจำกัดนั้นจะควบเข้ากันมิได้เว้นแต่จะเป็นไปโดยมติพิเศษ

                   มาตรา 1239  มติพิเศษซึ่งวินิจฉัยให้ควบบริษัทจำกัดเข้ากันนั้น บริษัทต้องนำไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับตั้งแต่วันลงมติ

                   มาตรา 1240  บริษัทต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่เจ็ดครั้งเป็นอย่างน้อย และส่งคำบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทด้วยจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ บอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากันและขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการควบบริษัทเข้ากันนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในหกเดือนนับแต่วันที่บอกกล่าว

                   ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดด้าน

                   ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการควบเข้ากันมิได้ จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้น

                   มาตรา 1241  บริษัทได้ควบเข้ากันแล้วเมื่อใด ต่างบริษัทต้องนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ควบเข้ากัน และบริษัทจำกัดอันได้ตั้งขึ้นใหม่ด้วยควบเข้ากันนั้น ก็ต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่

                   มาตรา 1242  จำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทใหม่นั้นต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทเดิมอันมาควบเข้ากัน

                    มาตรา 1243  บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น

ส่วนที่ 10

หนังสือบอกกล่าว

                   มาตรา 1244  อันหนังสือบอกกล่าวซึ่งบริษัทจะพึงส่งถึงผู้ถือหุ้นนั้น ถ้าว่าได้ส่งมอบให้แล้วถึงตัวก็ดี หรือส่งไปโดยทางไปรษณีย์สลักหลังถึงสำนักอาศัยของผู้ถือหุ้นดั่งที่ปรากฏในทะเบียนของบริษัทแล้วก็ดี ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ส่งชอบแล้ว

                   มาตรา 1245  หนังสือบอกกล่าวใด ๆ เมื่อได้ส่งโดยทางไปรษณีย์สลักหลังถูกต้องแล้ว ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ส่งถึงมือผู้รับในเวลาที่หนังสือเช่นนั้นจะควรไปถึงได้ตามทางการปกติแห่งไปรษณีย์

ส่วนที่ 11

การถอนทะเบียนบริษัทร้าง

                   มาตรา 1246 (1) เมื่อใดนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว ท่านให้นายทะเบียนมีจดหมายส่งทางไปรษณีย์ไปยังบริษัทนั้น เพื่อไต่ถามว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการงานอยู่ประการใด หรือหาไม่

                   (2) ถ้านายทะเบียนส่งจดหมายไปแล้วมิได้รับตอบภายในเวลาเดือนหนึ่งไซร้ เมื่อสิ้นเวลาเดือนหนึ่งนั้นแล้วภายในสิบสี่วันต่อแต่นั้นไปให้นายทะเบียนมีจดหมายอีกฉบับหนึ่งส่งจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังบริษัท อ้างท้าวความถึงจดหมายฉบับแรกและแถลงว่ายังมิได้รับตอบหนังสือนั้นกับว่าถ้ามิได้รับตอบจดหมายฉบับที่สองนี้ภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ลงในจดหมายนั้นแล้ว จะได้ออกแจ้งความโฆษณาเพื่อการขีดชื่อบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน

                   (3) ถ้านายทะเบียนได้รับตอบจากบริษัทว่า บริษัทมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วก็ดี หรือมิได้รับตอบจดหมายฉบับที่สองนั้นเป็นประการหนึ่งประการใดภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ส่งไปก็ดี นายทะเบียนจะโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ และให้คำบอกกล่าวเป็นหนังสือจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังบริษัทก็ได้ ว่าเมื่อล่วงเวลาสามเดือนนับแต่วันบอกกล่าวบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและจะต้องเลิก เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็น

อย่างอื่น

                   (4) ถ้าในกรณีที่กำลังชำระสะสางบัญชีเลิกบริษัทนายทะเบียนมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ก็ดี หรือการงานของบริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้วแต่รายงานแถลงบัญชีอันท่านบังคับไว้ว่าผู้ชำระบัญชีจะพึงต้องทำนั้น ยังมิได้ทำขึ้นสำหรับระยะเวลาหกเดือนอันนับแต่วันนายทะเบียนทำคำบอกกล่าวเรียกเอารายงานบัญชีและส่งทางไปรษณีย์ไปยังบริษัท หรือส่งไปยังผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานชั้นที่สุดของเขานั้นก็ดีท่านว่านายทะเบียนจะโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่และส่งคำบอกกล่าวไปยังบริษัทเช่นอย่างที่ได้กล่าวมาในอนุมาตราก่อนนี้ก็ได้

                   (5) เมื่อสิ้นกำหนดเวลาดั่งจดแจ้งไปในคำบอกกล่าวนั้นแล้ว ถ้าบริษัทมิได้แสดงมูลเหตุมาเป็นอย่างอื่นก่อนนั้น ท่านว่านายทะเบียนจะขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียนก็ได้ และในการนี้ให้ออกแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และบริษัทนั้นก็ให้เป็นอันเลิกกันตั้งแต่เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษานั้น แต่ว่าความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการและของผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่เท่าไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับ

ได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิก

                   (6) ถ้าบริษัท หรือผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อจากทะเบียนนั้นไซร้ เมื่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอแก่ใจว่าในขณะที่ขีดชื่อบริษัทจากทะเบียนนั้นบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ก็ดี หรือมิฉะนั้นเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้บริษัทนั้นได้กลับคืนขึ้นทะเบียนก็ดี ท่านว่าศาลจะสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้และถ้าเช่นนั้นท่านให้ถือว่าบริษัทนั้นได้คงตั้งยืนยงตลอดมาเสมือนดั่งว่ามิได้มีการขีดชื่อออกเลย อนึ่งด้วยคำสั่งอันนั้นศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อจัดให้บริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ เข้าสู่ฐานอันใกล้ที่สุดกับฐานเดิมเสมือนดั่งว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย

หมวด 5

การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด

                   มาตรา 1247  การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้

                   เสนาบดีเจ้าหน้าที่จะออกกฎข้อบังคับว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนและบริษัทก็ออกได้

                   มาตรา 1248  เมื่อกล่าวถึงประชุมใหญ่ในหมวดนี้ท่านหมายความดั่งต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้าเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็คือการประชุมหุ้นส่วนทั้งปวงซึ่งอาศัยคะแนนเสียงข้างมากเป็นใหญ่ในการวินิจฉัย

                   (2) ถ้าเกี่ยวกับบริษัทจำกัด ก็คือการประชุมใหญ่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1171

                   มาตรา 1249  ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้ว่าจะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี

                   มาตรา 1250  หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น

                   มาตรา 1251  ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี ในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหรือกรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี เว้นไว้แต่ข้อสัญญาของห้าง หรือข้อบังคับบริษัทจะมีกำหนดไว้เป็นสถานอื่น

                   ถ้าไม่มีผู้ชำระบัญชีดั่งว่ามานี้ และเมื่อพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นผู้มีส่วนได้เสียในการนี้ร้องขอ ท่านให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี

                   มาตรา 1252  หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการบริษัทมีอำนาจโดยตำแหน่งเดิมฉันใด เมื่อเป็นผู้ชำระบัญชีก็ยังคงมีอำนาจอยู่ฉันนั้น

                   มาตรา 1253  ภายในสิบสี่วันนับแต่ได้เลิกห้างเลิกบริษัท หรือถ้าศาลได้ตั้งผู้ชำระบัญชีนับแต่วันที่ศาลตั้ง ผู้ชำระบัญชีต้องกระทำดั่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ

                   (1) บอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่สองครั้งเป็นอย่างน้อย ว่าห้างหุ้นส่วนนั้น หรือบริษัทนั้นได้เลิกกันแล้ว และให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชี

                   (2) ส่งคำบอกกล่าวอย่างเดียวกันเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุก ๆ คนบรรดามีชื่อปรากฏในสมุด บัญชี หรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น

                   มาตรา 1254  การเลิกหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำบอกให้จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เลิกกัน และในการนี้ต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุก ๆ คนให้จดลงทะเบียนไว้ด้วย

                   มาตรา 1255  ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลขึ้นโดยเร็วที่สุดที่เป็นวิสัยจะทำได้ ส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบลงสำคัญว่าถูกต้อง แล้วต้องเรียกประชุมใหญ่

                   มาตรา 1256  ธุรการอันที่ประชุมใหญ่จะพึงทำนั้น คือ

                   (1) รับรองให้หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัทคงเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไป หรือเลือกตั้งผู้ชำระบัญชีใหม่ขึ้นแทนที่และ

                   (2) อนุมัติบัญชีงบดุล

                   อนึ่งที่ประชุมใหญ่จะสั่งให้ผู้ชำระบัญชีทำบัญชีตีราคาทรัพย์สิน หรือให้ทำการใด ๆ ก็ได้สุดแต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร เพื่อชำระสะสางกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทให้เสร็จไป

                   มาตรา 1257  ผู้ชำระบัญชีซึ่งมิใช่เป็นขึ้นเพราะศาลตั้งนั้น ท่านว่าจะถอนเสียจากตำแหน่งและตั้งผู้อื่นแทนที่ก็ได้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายออกเสียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นได้ลงมติดั่งนั้นแต่ศาลย่อมสั่งถอนผู้ชำระบัญชีจากตำแหน่งและตั้งผู้อื่นแทนที่ได้ ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้ชำระบัญชีซึ่งศาลตั้งหรือมิใช่ศาลตั้ง ในเมื่อมีคำร้องขอของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างคนใดคนหนึ่งหรือของผู้ถือหุ้นในบริษัทมีหุ้นรวมกันนับได้ถึงหนึ่งในยี่สิบแห่งทุนของบริษัท โดยจำนวนที่ส่งใช้เงินเข้าทุนแล้วนั้น

                   มาตรา 1258  เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีใหม่ครั้งใด ผู้ชำระบัญชีต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้เปลี่ยนตัวกันนั้น

                   มาตรา 1259  ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) แก้ต่างว่าต่างในนามของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในอรรถคดีพิพาทอันเป็นแพ่งหรืออาชญาทั้งปวงและทำปราณีประนอมยอมความ

                   (2) ดำเนิรกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามแต่จำเป็น เพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี

                   (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

                   (4) ทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็น เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี

                   มาตรา 1260  ข้อจำกัดอำนาจของผู้ชำระบัญชีอย่างใด ๆ จะอ้างเป็นสมบูรณ์ต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่

                   มาตรา 1261  ถ้ามีผู้ชำระบัญชีหลายคน การใด ๆ ที่ผู้ชำระบัญชีกระทำย่อมไม่เป็นอันสมบูรณ์นอกจากผู้ชำระบัญชีทั้งหลายจะได้ทำร่วมกัน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่หรือศาลจะได้กำหนดอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นในเวลาตั้งผู้ชำระบัญชี

                   มาตรา 1262  ถ้ามีมติของที่ประชุมใหญ่หรือคำบังคับของศาลให้อำนาจผู้ชำระบัญชีให้ทำการแยกกันได้ ท่านว่าต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันลงมติหรือออกคำบังคับนั้น

                   มาตรา 1263  ค่าธรรมเนียม ค่าภารติดพัน และค่าใช้จ่ายซึ่งต้องเสียโดยควรในการชำระบัญชีนั้น ท่านว่าผู้ชำระบัญชีต้องจัดการใช้ก่อนหนี้เงินรายอื่น ๆ

                   มาตรา 1264  ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้

                   มาตรา 1265  ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนยังค้างชำระอยู่นั้นก็ได้และเงินที่ค้างชำระนี้ ถึงแม้จะได้ตกลงกันไว้ก่อนโดยสัญญาเข้าหุ้นส่วน หรือโดยข้อบังคับของบริษัทว่าจะได้เรียกต่อภายหลังก็ตาม เมื่อเรียกเช่นนี้แล้ว ท่านว่าต้องส่งใช้ทันที

                   มาตรา 1266  ถ้าผู้ชำระบัญชีมาพิจารณาเห็นว่า เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สินไซร้ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันที เพื่อให้ออกคำสั่งว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นล้มละลาย

                   มาตรา 1267  ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานยื่นไว้ ณ หอทะเบียนทุกระยะสามเดือนครั้งหนึ่งว่าได้จัดการไปอย่างใดบ้างแสดงให้เป็นความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่นั้น และรายงานนี้ให้เปิดเผยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ทั้งหลายตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

                   มาตรา 1268  ถ้าการชำระบัญชีนั้นยังคงทำอยู่โดยกาลกว่าปีหนึ่งขึ้นไปผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุมใหญ่ในเวลาสิ้นปีทุกปีนับแต่เริ่มทำการชำระบัญชีและต้องทำรายงานยื่นที่ประชุมว่าได้จัดการไปอย่างไรบ้าง ทั้งแถลงให้ทราบความเป็นไปแห่งบัญชีโดยละเอียด

                   มาตรา 1269  อันทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือของบริษัทนั้น จะแบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น

                   มาตรา 1270  เมื่อการชำระบัญชีกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสำเร็จลง ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่า การชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใด และได้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นไปประการใด แล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้น และชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม

                   เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ให้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุมกันนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุม เมื่อได้จดทะเบียนแล้วดั่งนี้ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี

                   มาตรา 1271  เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ท่านให้มอบบรรดาสมุดและบัญชี และเอกสารทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นไว้แก่นายทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันดั่งกล่าวไว้ในมาตราก่อน และให้นายทะเบียนรักษาสมุดและบัญชี และเอกสารเหล่านั้นไว้สิบปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี

                   สมุดและบัญชีและเอกสารเหล่านี้ ให้เปิดให้แก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด

                   มาตรา 1272  ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี

                   มาตรา 1273  บทบัญญัติแห่งมาตรา 1172 ถึงมาตรา 1193 กับมาตรา1195 และมาตรา 1207 เหล่นี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่ซึ่งมีขึ้นในระหว่างชำระบัญชีด้วยโดยอนุโลม

ลักษณะ 23

สมาคม

                   มาตรา 1274  อันว่าสัญญาตั้งสมาคมนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหลายคนตกลงเข้ากันเพื่อทำการอันใดอันหนึ่งร่วมกัน อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรแบ่งปันกัน

                   มาตรา 1275  บรรดาสมาคมต้องมีข้อบังคับและต้องจดทะเบียน

                   มาตรา 1276  อันข้อบังคับของสมาคมนั้น อย่างน้อยต้องระบุข้อความที่กล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อสมาคม

                   (2) วัตถุที่ประสงค์ของสมาคม

                   (3) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของสมาคม

                   (4) ระเบียบวิธีรับสมาชิกเข้าสมาคมและระเบียบวิธีกำจัดสมาชิกออกจากสมาคม

                   (5) ระเบียบวิธีจัดการสมาคม โดยมีกรรมสัมปาทิกหรือกรรมการ หรือวิธีอื่นใด

                   มาตรา 1277  การขอจดทะเบียนสมาคมนั้น ต้องทำเป็นหนังสือ และต้องมีสมาชิกของสมาคมลงลายมือชื่อไม่น้อยกว่าสามคม กับต้องมีข้อบังคับของสมาคมส่งไปด้วยสามฉบับ

                   มาตรา 1278  การจดทะเบียนนั้น สมาคมตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ทำกิจการอยู่ ณ ท้องที่แห่งใดในพระราชอาณาเขต ท่านให้จดทะเบียน ณ หอทะเบียนสำหรับท้องที่แห่งนั้น ต่อไปภายหลังจะแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้อย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี จะจดทะเบียนข้อความใด ๆ อันบังคับไว้ในลักษณะนี้ว่าให้จดทะเบียนก็ดี ก็ต้องจด ณ หอทะเบียนแห่งเดียวกันนั้น

                   มาตรา 1279  ในการจดทะเบียน ท่านบังคับว่าต้องจดระบุข้อความซึ่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ชื่อสมาคม

                   (2) วัตถุที่ประสงค์ของสมาคม

                   (3) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของสมาคม

                   (4) ชื่อ สำนัก และอาชีวะ ของบรรดาบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้จัดการ

                   มาตรา 1280  ในการขอจดทะเบียนนั้น ถ้าได้แสดงเอกสารและข้อความดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 1276 และมาตรา 1279 และถ้าปรากฏว่าบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้จัดการของสมาคมนั้น เป็นคนมีหลักฐานสมควรแก่วัตถุที่ประสงค์และฐานของสมาคมนั้นแล้ว ก็ให้อนุญาตจดทะเบียนได้

                   มาตรา 1281  บุคคลทั้งปวงจะตรวจดูเอกสารของสมาคมใด ๆ ที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ก็ดี หรือต้องการใบสำคัญการจดทะเบียนหรือสำเนาเอกสารอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดของสมาคม ซึ่งจะขอให้นายทะเบียนคัดเป็นสำเนาเต็มความมีคำรับรองหรือคัดย่อแต่เนื้อความส่งมอบให้ก็ดี เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามข้อบังคับซึ่งเสนาบดีผู้รับผิดชอบในการปกครองท้องที่กำหนดไว้แล้ว ก็ให้ตรวจและขอได้

                   มาตรา 1282  เมื่อใดได้จดทะเบียนสมาคมแล้ว แต่นั้นสมาคมก็ชื่อว่าได้ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลต่างหากจากบุคคลทั้งหลายที่รวมเข้าอยู่ในนั้น

                   ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่สมาคมนั้นฉบับหนึ่ง

                   มาตรา 1283  ถ้ามิได้มีข้อบังคับของสมาคมบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้

แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคม นอกจากที่ประชุมสมาชิกของสมาคมจะได้ลงมติแก่การนั้นเป็นเสียงข้างมาก

                   อนึ่งต้องส่งสำเนาข้อบังคับที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมใหม่เช่นนั้นสามฉบับไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับตั้งแต่วันที่ได้ลงมติ

                   มาตรา 1284  การเปลี่ยนตัวบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้จัดการสมาคมนั้นต้องแจ้งแก่นายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้เปลี่ยน

                   ถ้านายทะเบียนไม่พอใจว่าผู้จัดการใหม่นั้นเป็นบุคคลอันมีหลักฐานสมควร

ดั่งว่าไว้ในมาตรา 1280 จะไม่ยอมรับจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ได้

                   มาตรา 1285  บรรดาบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการนั้น ได้ชื่อว่า

เป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก

                   มาตรา 1286  ความเกี่ยวพันในระหว่างสมาคมกับบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้จัดการก็ดี กับบุคคลภายนอกก็ดีท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน

                   มาตรา 1287  สมาชิกของสมาคมทุกคนชอบที่จะตรวจตราความเป็นอยู่แห่งกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้

                   มาตรา 1288  ถ้ามีระเบียบจะพึงส่งเงินค่าบำรุงเป็นระยะเวลาอย่างไรท่านว่าเงินค่าบำรุงนั้นถึงกำหนดจะต้องใช้เต็มจำนวนเมื่อเริ่มต้นระยะเวลาบำรุงนั้นทุกครั้งไป

                   มาตรา 1290  นอกจากจะได้มีข้อบังคับบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว ท่านว่า

ความรับผิดของสมาชิกในสมาคมแต่ละคนจำกัดเพียงจำนวนเงินค่าบำรุงที่สมาชิกนั้นค้างชำระอยู่

                   มาตรา 1291  ถ้าสมาคมลงมติโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมเองก็ดีหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายก็ดี เมื่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการร้องขอท่านให้ศาลเพิกถอนมตินั้นเสีย แต่การที่สมาชิกจะร้องขอต่อศาลเช่นนี้ ต้องร้องอย่าให้เนิ่นช้าเกินกว่าหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ลงมตินั้น

                   มาตรา 1292  สมาคมย่อมเลิกกันด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

                   (1) ถ้ามีข้อบังคับของสมาคมกำหนดไว้ให้เลิกในกรณีอันใด เมื่อมีกรณีอันนั้น

                   (2) ถ้าตั้งสมาคมขึ้นโดยมีกำหนดกาลอันใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลอันนั้น

                   (3) ถ้าสมาคมได้ตั้งขึ้นเพื่อทำกิจการอันหนึ่งอันเดียวเมื่อการอันนั้นสำเร็จแล้ว

                   (4) เมื่อที่ประชุมใหญ่แห่งสมาคมได้ลงมติให้เลิก

                   (5) เมื่อสมาคมต้องล้มละลาย

                   (6) เมื่อศาลสั่งให้เลิก

                   มาตรา 1293  ในกรณีอันใดอันหนึ่งซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อพนักงานอัยการหรือบุคคลใด ๆ ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอศาลจะสั่งให้เลิกสมาคมและตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้ คือว่า

                   (1) ถ้าวัตถุที่ประสงค์ของสมาคมผิดต่อกฎหมาย หรือกลายเป็นผิดต่อกฎหมาย

                   (2) ถ้าจะจัดการสมาคมนั้นต่อไปอีกไม่ได้ ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ

                   (3) ถ้าปรากฏว่าผู้ซึ่งจัดการสมาคมนั้น เป็นบุคคลอื่นมิใช่ผู้จัดการที่ได้จดทะเบียนไว้

                   (4) ถ้าปรากฏว่าสมาคมนั้นเป็นภัยอันตรายต่อสันติภาพของประชาชนหรืออาจจะกลายเป็นภัยอันตรายเช่นนั้น

                   มาตรา 1294  บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ 22 หมวด 5 อันว่าด้วยการชำระบัญชีเลิกห้างหุ้นส่วนและบริษัทนั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับในการชำระบัญชีสมาคมด้วยโดยอนุโลม

                   มาตรา 1295  เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ถ้ามีสินทรัพย์เหลืออยู่เท่าใดจะแบ่งให้แก่สมาชิกของสมาคมนั้นไม่ได้ สินทรัพย์ทั้งนั้นจะต้องโอนไปให้แก่นิติบุคคลอื่นตามที่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับของสมาคม หรือถ้าไม่ได้ระบุไว้ก็ตามแต่สมาคมจะตกลงในที่ประชุมใหญ่

                   มาตรา 1296  ถ้าในข้อบังคับของสมาคมหรือที่ประชุมใหญ่มิได้ระบุนิติบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้รับสินทรัพย์ที่เหลือไซร้ ท่านว่าสินทรัพย์ที่เหลือนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

                   มาตรา 1297  เสนาบดีผู้รับผิดชอบในการปกครองท้องที่มีอำนาจที่จะออกกฎข้อบังคับ เพื่อตั้งสำนักงานจดทะเบียน และเพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียในการจดทะเบียน

                   อนึ่งเสนาบดีนั้นมีอำนาจที่จะอนุญาตยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนแก่สมาคมใด ๆ ได้ด้วย เมื่อปรากฏว่าเป็นสมาคมตั้งขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์เช่นว่าเป็นสมาคมทำการกุศล หรือการศาสนาเป็นต้น”

บทเฉพาะกาล

พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บรรพ 3 และเลื่อนเวลาใช้บรรพ 1 และ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                   มาตรา 1  ให้เพิ่มบทบัญญัติแห่งบรรพ 3 ตั้งแต่มาตรา 453 ถึงมาตรา 1297 ดังตราไว้ต่อไปนี้ เข้าเป็นอีกส่วนหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2468เป็นต้นไป

พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บรรพ 3 และเลื่อนเวลาใช้บรรพ 1 และ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                   มาตรา 2  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 และ 2 ที่ได้ประกาศให้ใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467 นั้น ให้เลื่อนไปใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2468

เชิงอรรถ

                   *[1] แก้ไขโดย พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บรรพ 3 และเลื่อนเวลาใช้บรรพ 1 และ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                   *[2] แก้ไขโดย พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่

                   *[3] แก้ไขโดย พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ที่ได้ตรวจชำระใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า