พระราชบัญญัติ ทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘

พระราชบัญญ
ทนายความ
พ.ศ. ๒๕๒๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘
เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลปัจจุบัน 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทนายความ และให้มีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.๒๕๒๘” 
มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.๒๕๐๘ และพระราชบัญญัติทนายความ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๑๔

บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“ทนายความ” หมายความว่า ผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
“สภานายกพิเศษ” หมายความว่า สภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ
“นายก” หมายความว่า นายกสภาทนายความ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาทนายความ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาทนายความ
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาทนายความ
“ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับสภาทนายความ
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

สภาทนายความ

มาตรา ๖  ให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า “สภาทนายความ” ประกอบด้วยคณะกรรมการสภาทนายความและสมาชิกสภาทนายความ มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ให้สภาทนายความเป็นนิติบุคคล

มาตรา ๗  สภาทนายความมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพทนายความ
(๒) ควบคุมมรรยาทของทนายความ
(๓) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ
(๔) ส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาทนายความ
(๕) ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย

มาตรา ๘  สภาทนายความมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) จดทะเบียนและออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาทนายความและตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๙  สภาทนายความอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(๓) รายได้จากทรัพย์สินหรือกิจการอื่น
(๔) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์

มาตรา ๑๐  ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความและมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒

สมาชิกสภาทนายความ

มาตรา ๑๑  สมาชิกสภาทนายความได้แก่ ทนายความตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๒  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาทนายความ มีดังนี้

(๑) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของสภาทนายความ โดยส่งไปยังคณะกรรมการสภาทนายความและในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า
(๒) ซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปของสภาทนายความ ในการประชุมใหญ่ของสภาทนายความ
(๓) เลือกหรือรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการสภาทนายความ
(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๓  สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ตาย
(๒) ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา ๔๔

หมวด ๓

คณะกรรมการสภาทนายความ

มาตรา๑๔  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสภาทนายความ” ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงยุติธรรมหนึ่งคนและผู้แทนเนติบัณฑิตยสภาหนึ่งคน เป็นกรรมการ และนายกและกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบสามคนซึ่งสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศได้เลือกตั้งขึ้นโดยกรรมการดังกล่าวไม่น้อยกว่าเก้าคนจะต้องมีสำนักงานประจำอยู่ตามภาคต่างๆ ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละหนึ่งคน

มาตรา ๑๕  ให้นายกแต่งตั้งกรรมการอื่นตามมาตรา ๑๔ เป็นอุปนายก เลขาธิการ นายทะเบียน เหรัญญิก สวัสดิการ ประชาสัมพันธ์และตำแหน่งอื่นตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการโดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๑๖  ให้นายกและกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้

มาตรา ๑๗  ทนายความที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตก่อนวันเลือกตั้งนายก หรือกรรมการ ไม่น้อยกว่าสามสิบวันมีสิทธิเลือกตั้งนายกและหรือกรรมการ

ทนายความผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียน และรับใบอนุญาตมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันเลือกตั้งนายกหรือกรรมการ

มาตรา ๑๘  การเลือกตั้งนายกและกรรมการตามมาตรา ๑๔ ทนายความต้องมาใช้สิทธิด้วยตนเองโดยการลงคะแนนลับ

ทนายความที่มีสำนักงานอยู่ ณ จังหวัดใด ให้ออกเสียงลงคะแนนที่จังหวัดนั้นหรือจะไปออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ก็ได้

หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งนายกและกรรมการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๑๙  ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งนายกและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ

มาตรา ๒๐  เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ นายก หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งกระทำผิดวัตถุประสงค์ของสภาทนายความหรือกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงแก่สภาทนายความ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการ นายกหรือกรรมการคนนั้นออกจากตำแหน่งได้

ในกรณีที่รัฐมนตรีจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้แทนกระทรวงยุติธรรมหนึ่งคน ผู้แทนเนติบัณฑิตยสภาซึ่งเป็นข้าราชการอัยการหนึ่งคน และซึ่งเป็นทนายความหนึ่งคน กับทนายความอื่นอีกสี่คนเป็นคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนต้องรีบทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ

คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๑  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ นายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัว เมื่อ

(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง
(๔) รัฐมนตรีมีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา ๒๐
(๕) ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา ๔๔
(๖) เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๗) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ
(๘) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

มาตรา ๒๒  ในกรณีที่คณะกรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งและยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่ ให้คณะกรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที่เว้นแต่กรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที่โดยให้ประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความปฏิบัติหน้าที่นายก

ในการปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนระหว่างที่คณะกรรมการใหม่ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งหรือคณะกรรมการมรรยาททนายความ แล้วแต่กรณี มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๗ (๑) เฉพาะกิจการที่มีลักษณะต่อเนื่องและเท่าที่จำเป็นเพื่อให้งานประจำของคณะกรรมการดำเนินไปได้โดยไม่เป็นที่เสียหายหรือหยุดชะงัก กับจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการเดิมนั้นพ้นจากตำแหน่ง โดยจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อช่วยเหลือจัดการเลือกตั้งดังกล่าวด้วยก็ได้

มาตรา ๒๓  เมื่อนายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้เลือกตั้งนายกหรือกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนายกหรือกรรมการนั้นว่างลง เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

ให้ผู้ซึ่งเป็นนายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งตามวาระของนายกหรือกรรมการซึ่งตนแทน

มาตรา ๒๔  การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นายกหรือผู้รักษาการแทนเป็นประธานในที่ประชุม

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๕  ในกรณีที่นายกพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกเป็นผู้รักษาการแทน ถ้าอุปนายกพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรืออุปนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน

มาตรา ๒๖  สภานายกพิเศษหรือผู้แทนจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาทนายความในเรื่องใดๆ ก็ได้แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา ๒๗  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารกิจการของสภาทนายความตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา ๗
(๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่างๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ เว้นแต่กิจการซึ่งมีลักษณะหรือสภาพที่ไม่อาจมอบหมายให้กระทำการแทนกันได้
(๓) ออกข้อบังคับสภาทนายความเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และข้อบังคับว่าด้วย
(ก) การเป็นสมาชิกและการขาดจากสมาชิกของสภาทนายความ
(ข) การเรียกเก็บและชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่างๆ
(ค) การแจ้งย้ายสำนักงานของทนายความ
(ง) การประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
(จ) เรื่องอื่นๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ หรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาทนายความตามกฎหมายอื่นรวมทั้งการแต่งตั้ง การบังคับบัญชาการรักษาวินัย และการออกจากตำแหน่งของพนักงานสภาทนายความ

มาตรา ๒๘  ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๙  ให้นายกเสนอร่างข้อบังคับต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้พร้อมทั้งแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด ในกรณีที่มิได้มีการยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกเสนอ ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบในร่างข้อบังคับนั้น

มาตรา ๓๐  ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งโดยพิจารณาเหตุผลของสภานายกพิเศษประกอบด้วย ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันถึงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้นายกเสนอร่างข้อบังคับนั้นต่อสภานายกพิเศษอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภานายกพิเศษไม่ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบังคับหรือไม่คืนร่างข้อบังคับนั้นมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกเสนอ ให้นายกดำเนินการประกาศใช้ข้อบังคับนั้นในราชกิจจานุเบกษาต่อไปได้

มาตรา ๓๑  ทนายความไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับได้

มาตรา ๓๒  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้นายกมีอำนาจกระทำการแทนสภาทนายความ แต่นายกจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้

หมวด ๔

การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ

มาตรา ๓๓  ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น

มาตรา ๓๔  การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต การรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอบอกเลิกจากการเป็นทนายความ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๓๕  ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต
(๓) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาทางนิติศาสตร์หรือประกาศนียบัตรในวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรืออนุปริญญาจากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาทนายความเห็นว่าสถาบันการศึกษานั้นมีมาตรฐานการศึกษาที่ผู้ได้รับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรควรเป็นทนายความได้ และเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
(๔) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่อง ในศีลธรรมอันดีและไม่เป็นผู้ได้กระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
(๕) ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(๗) ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
(๘) ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(๙) ไม่เป็นผู้มีกายพิการหรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพทนายความ
(๑๐) ไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำเว้นแต่ข้าราชการการเมือง
(๑๑) ไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตตามมาตรา ๗๑

มาตรา ๓๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๓๘ เมื่อคณะกรรมการได้รับคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตแล้ว เห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๕ ให้คณะกรรมการพิจารณารับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอโดยเร็ว

ในกรณีที่คณะกรรมการไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอคณะกรรมการต้องแสดงเหตุผลของการไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในกรณีเช่นนี้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์การไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตของสภาทนายความต่อสภานายกพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

คำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

มาตรา ๓๗  ให้ผู้ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความหรือผู้ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตแล้วเป็นสมาชิกสภาทนายความ

มาตรา ๓๘  ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความเป็นผู้ที่ไม่เคยเป็นทนายความ หรือไม่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา ตุลาการศาลทหาร พนักงานอัยการ อัยการทหารหรือทนายความตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาก่อน คณะกรรมการจะรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอได้ผ่านการฝึกอบรมมรรยาททนายความ หลักปฏิบัติเบื้องต้นในการว่าความ และการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายแล้ว เว้นแต่ผู้ยื่นคำขอจะได้ผ่านการฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

เมื่อเห็นเป็นการสมควร คณะกรรมการจะสั่งยกเว้นให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งก็ได้

การฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักสูตร วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๓๙  ใบอนุญาตให้มีอายุใช้ได้เป็นเวลาสองปีนับแต่วันออกใบอนุญาต เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทที่เสียค่าธรรมเนียมในอัตราตลอดชีพให้มีอายุตลอดชีพของผู้ได้รับใบอนุญาต

ทนายความผู้ใดที่ใบอนุญาตมีอายุใช้ได้เป็นเวลาสองปี หากประสงค์จะทำการเป็นทนายความต่อไป ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ การต่ออายุใบอนุญาตคราวหนึ่งให้ใช้ได้สองปีนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ

ในกรณีที่คณะกรรมการไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

มาตรา ๔๐  ทนายความที่ขาดต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง มีสิทธิได้รับการต่ออายุใบอนุญาต หากได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเวลาไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุและยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละยี่สิบของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น

มาตรา ๔๑  ใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในข้อบังคับโดยอย่างน้อยต้องมีชื่อวัน เดือน ปี เกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ที่ตั้งสำนักงาน รูปถ่ายของผู้ถือใบอนุญาต เลขหมายใบอนุญาต วันออกใบอนุญาต และวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ

ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือชำรุดเสียหาย

มาตรา ๔๒  ทนายความต้องมีสำนักงานที่จดทะเบียนเพียงแห่งเดียวตามที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือตามที่ได้แจ้งย้ายสำนักงานต่อนายทะเบียนทนายความในภายหลัง

ให้นายทะเบียนทนายความจดแจ้งสำนักงานทนายความตามวรรคหนึ่งไว้ในทะเบียนทนายความ

มาตรา ๔๓  เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๕ ไม่ว่าจะขาดคุณสมบัติก่อนหรือหลังจากจดทะเบียนและรับใบอนุญาต ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความ และให้คณะกรรมการจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ทนายความผู้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหลังจากทนายความผู้นั้นได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตแล้ว

เมื่อมีการจำหน่ายชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลมและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๐ มาใช้บังคับแก่การจำหน่ายชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

มาตรา ๔๔  ทนายความขาดจากการเป็นทนายความ เมื่อ

(๑) ตาย
(๒) ขอบอกเลิกจากการเป็นทนายความ
(๓) ขาดต่อใบอนุญาตตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง
(๔) ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความตามมาตรา ๔๓ หรือ
(๕) ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๖๙

หมวด ๕

การประชุมใหญ่ของสภาทนายความ

มาตรา ๔๕  การประชุมใหญ่ของสภาทนายความ ได้แก่การประชุมใหญ่สามัญประจำปี และการประชุมใหญ่วิสามัญ

มาตรา ๔๖  คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนเมษายนของทุกปี

มาตรา ๔๗  เมื่อมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการจะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้

เมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนเข้าชื่อร้องขอเป็นหนังสือให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ เว้นแต่คณะกรรมการเห็นว่าเรื่องที่ขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสภาทนายความหรือไม่มีเหตุอันสมควรที่จะได้รับการพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของสภาทนายความ

หนังสือร้องขอตามวรรคสองให้ระบุโดยชัดแจ้งว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องใดและด้วยเหตุอันสมควรอย่างใด

มาตรา ๔๘  ในกรณีที่คณะกรรมการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อคณะกรรมการได้รับคำร้องขอตามมาตรา ๔๗ วรรคสอง คณะกรรมการต้องแจ้งเหตุผลของการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวโดยชัดแจ้งไปยังสมาชิกคนใดคนหนึ่งซึ่งร่วมเข้าชื่อร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ในกรณีเช่นนี้สมาชิกผู้ร่วมเข้าชื่อร้องขอนั้นทั้งหมดมีสิทธิร่วมเข้าชื่อคัดค้านการไม่จัดการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นต่อสภานายกพิเศษได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

คำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด และในกรณีที่สภานายกพิเศษมีคำวินิจฉัยเห็นชอบด้วยกับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากสภานายกพิเศษ

มาตรา ๔๙  ในการประชุมใหญ่ของสภาทนายความ ต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองไม่น้อยกว่าสามร้อยคนจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าการประชุมคราวใดนายกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกและอุปนายกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก สมาชิกคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๕๐  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้การประชุมใหญ่ของสภาทนายความให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด ๖

มรรยาททนายความ

มาตรา ๕๑  ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับ

ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่สภาทนายความตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ

มาตรา ๕๒  โทษผิดมรรยาททนายความมี ๓ สถาน คือ

(๑) ภาคทัณฑ์

(๒) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ

(๓) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

ในกรณีประพฤติผิดมรรยาททนายความเล็กน้อยและเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าผู้มีอำนาจสั่งลงโทษตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ หรือมาตรา ๖๘ แล้วแต่กรณีเห็นว่ามีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้

มาตรา ๕๓  ข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ ต้องประกอบด้วยข้อกำหนดดังต่อไปนี้

(๑) มรรยาทของทนายความต่อศาลและในศาล
(๒) มรรยาทของทนายความต่อตัวความ
(๓) มรรยาทของทนายความต่อทนายความด้วยกัน
(๔) มรรยาทของทนายความต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี
(๕) มรรยาทเกี่ยวกับความประพฤติของทนายความ
(๖) การแต่งกายของทนายความ และ
(๗) การปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความคณะกรรมการ หรือสภานายกพิเศษ แล้วแต่กรณี

หมวด ๗

คณะกรรมการมรรยาททนายความ

มาตรา ๕๔  ให้มีคณะกรรมการมรรยาททนายความประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการมรรยาททนายความอื่นอีกไม่น้อยกว่าเจ็ดคนตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความจากทนายความซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นทนายความมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
(๒) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความ หรือถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

มาตรา ๕๕  การแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความตามมาตรา ๕๔ จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของสภานายกพิเศษ

มาตรา ๕๖  ให้นายกแจ้งการแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความตามมาตรา ๕๔ ต่อสภานายกพิเศษ โดยไม่ชักช้า ในกรณีที่สภานายกพิเศษไม่แจ้งผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบกลับมายังนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการแต่งตั้ง ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนั้น

ในกรณีที่สภานายกพิเศษแจ้งกลับมายังนายกภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งว่าไม่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความหรือกรรมการมรรยาททนายความคนใดคนหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการลงมติยืนยันการแต่งตั้งเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้นายกแจ้งการแต่งตั้งนั้นต่อสภานายกพิเศษ ถ้าสภานายกพิเศษไม่ให้ความเห็นชอบหรือไม่แจ้งกลับมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายก ให้นายกดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความ หรือกรรมการคนนั้นได้

มาตรา ๕๗  ประธานกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีมรรยาททนายความให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม และมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้หรือในข้อบังคับ

เมื่อประธานกรรมการมรรยาททนายความไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการมารยาททนายความปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการมรรยาททนายความถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการมรรยาททนายความไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการมรรยาททนายความ

มาตรา ๕๘  กรรมการมรรยาททนายความมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้

ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนถึงกำหนดวาระ ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งซ่อมเว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการมรรยาททนายความจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันคณะกรรมการจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งซ่อมก็ได้ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๕ และมาตรา ๕๖ มาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งซ่อมโดยอนุโลม

กรรมการมรรยาททนายความซึ่งได้รับแต่งตั้งซ่อมให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระของผู้ที่ตนแทน

มาตรา ๕๙  ในกรณีที่คณะกรรมการมรรยาททนายความพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความใหม่ ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการมรรยาททนายความคณะใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการมรรยาททนายความใหม่ภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมรรยาททนายความคณะเก่าพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๖๐  กรรมการมรรยาททนายความพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง หรือ
(๕) ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา ๔๔

มาตรา ๖๑  ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กรรมการมรรยาททนายความเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับแก่กรรมการมรรยาททนายความด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๖๒  คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจแต่งตั้งทนายความคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ให้กระทำกิจการใดกิจการหนึ่งในขอบอำนาจของคณะกรรมการมรรยาททนายความ เว้นแต่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีมรรยาททนายความ

มาตรา ๖๓  ในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ต้องมีกรรมการมรรยาททนายความมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดของคณะกรรมการมรรยาททนายความจึงจะเป็นองค์ประชุม

ภายใต้บังคับมาตรา ๖๔ วรรคสาม และมาตรา ๖๙ วรรคสาม การประชุมปรึกษา หรือการวินิจฉัยชี้ขาดคดีมรรยาททนายความของคณะกรรมการมรรยาททนายความให้ถือตามเสียงข้างมาก แต่กรรมการมรรยาททนายความฝ่ายข้างน้อยมีสิทธิทำความเห็นแย้งได้

มาตรา ๖๔  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายหรือทนายความมีสิทธิกล่าวหาทนายความว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ โดยทำคำกล่าวหาเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการมรรยาททนายความ

สิทธิกล่าวหาทนายความตามวรรคหนึ่งเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิกล่าวหารู้เรื่องการประพฤติผิดมรรยาททนายความ และเมื่อรู้ตัวผู้ประพฤติผิดแต่ต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันประพฤติผิดมรรยาททนายความ

การถอนคำกล่าวหาที่ได้ยื่นตามวรรคหนึ่ง จะเป็นเหตุให้คดีมรรยาททนายความระงับก็ต่อเมื่อคณะกรรมการมรรยาททนายความมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการมรรยาททนายความที่มาประชุม อนุญาตให้ผู้กล่าวหาถอนคำกล่าวหาได้

มาตรา ๖๕  เมื่อได้รับคำกล่าวหาตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง หรือเมื่อได้รับแจ้งจากศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน หรือเมื่อปรากฏแก่คณะกรรมการมรรยาททนายความว่ามีพฤติการณ์อันสมควรให้มีการสอบสวนมรรยาททนายความผู้ใด ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความ แต่งตั้งทนายความไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะกรรมการสอบสวน ทำการสอบสวน เพื่อการนี้ให้คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ และมีหนังสือแจ้งให้บุคคลใดๆ ส่งหรือจัดการส่งเอกสารหรือวัตถุเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนได้

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอเรื่องต่อประธานกรรมการมรรยาททนายความเพื่อพิจารณาสั่งการตามมาตรา ๖๖ ต่อไป

มาตรา ๖๖  ในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดี สั่งยกคำกล่าวหา หรือสั่งลงโทษหรือดำเนินการกับทนายความที่ถูกกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๕๒

มาตรา ๖๗  ในกรณีที่คณะกรรมการมรรยาททนายความมีคำสั่งตามมาตรา ๖๖ ให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความส่งสำนวนคดีมรรยาททนายความนั้นไปยังนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้คณะกรรมการทำการพิจารณาและจะสั่งยืน แก้ หรือกลับคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความ รวมทั้งสั่งลงโทษ หรือดำเนินการกับทนายความที่ถูกกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๕๒ ตามที่เห็นสมควรได้ และก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการอาจสั่งให้คณะกรรมการมรรยาททนายความทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้

เมื่อนายกได้รับสำนวนคดีมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่งแล้วหากคณะกรรมการมิได้วินิจฉัยและแจ้งคำวินิจฉัยมายังประธานกรรมการมรรยาททนายความภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับสำนวน ให้ถือว่าคณะกรรมการมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความ เว้นแต่กรณีที่มีการสอบสวนเพิ่มเติม ระยะเวลาหกสิบวันให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม

คำสั่งของคณะกรรมการที่ยืนตามให้จำหน่ายคดี หรือยกคำกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองให้เป็นที่สุด

มาตรา ๖๘  ทนายความซึ่งถูกสั่งลงโทษหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๕๒ อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อสภานายกพิเศษได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้สภานายกพิเศษทำการพิจารณาและมีคำสั่ง และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖๗ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการมีคำสั่งของสภานายกพิเศษโดยอนุโลม

คำสั่งของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด

มาตรา ๖๙  เมื่อทนายความผู้ใดต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษให้ศาลชั้นต้นที่อ่านคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น มีหนังสือแจ้งการต้องโทษจำคุกของทนายความผู้นั้นให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความทราบ

เมื่อได้รับหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความ เสนอเรื่องให้คณะกรรมการมรรยาททนายความสั่งลบชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ แต่คณะกรรมการมรรยาททนายความจะไม่สั่งลบชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความก็ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำความผิดของทนายความผู้นั้นไม่เป็นการกระทำที่ชั่วร้ายไม่เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าทนายความผู้นั้นไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นการกระทำที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

คำสั่งไม่ลบชื่อทนายความผู้กระทำผิดออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคสองต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดของคณะกรรมการมรรยาททนายความ

คำสั่งลบชื่อหรือไม่ลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความตามวรรคสองให้ประธานกรรมการมรรยาททนายความแจ้งต่อนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้คณะกรรมการทำการพิจารณา และจะสั่งยืน หรือกลับคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความก็ได้

มาตรา ๗๐  เมื่อมีคำสั่งอันถึงที่สุดลงโทษทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความ หรือมีคำสั่งลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความ ให้นายทะเบียนทนายความจดแจ้งคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนทนายความและแจ้งคำสั่งนั้นให้ทนายความผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาทราบ

ในกรณีที่คำสั่งตามวรรคหนึ่งเป็นคำสั่งห้ามทำการเป็นทนายความหรือคำสั่งลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ให้นายทะเบียนทนายความแจ้งคำสั่งนั้นให้ศาลทั่วราชอาณาจักรและเนติบัณฑิตยสภาทราบด้วย

มาตรา ๗๑  บุคคลที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความจะขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตอีกมิได้ เว้นแต่เวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันถูกลบชื่อ

มาตรา ๗๒  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้การประชุมปรึกษา การสอบสวน การพิจารณา และการวินิจฉัยชี้ขาดคดีมรรยาททนายความ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด ๘

กองทุนสวัสดิการทนายความ

มาตรา ๗๓  ให้มีกองทุนสวัสดิการทนายความ ประกอบด้วย

(๑) เงินที่สภาทนายความจัดสรรให้เป็นประจำปี
(๒) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ
(๓) ดอกผลของ (๑) และ (๒)

ทนายความที่ได้รับความเดือดร้อนหรือทายาทของทนายความที่ถึงแก่ความตายซึ่งได้รับความเดือดร้อน มีสิทธิขอรับการสงเคราะห์จากเงินกองทุนสวัสดิการทนายความโดยยื่นคำขอต่อสวัสดิการสภาทนายความ

การสงเคราะห์ การเก็บรักษา และการจ่ายเงินสวัสดิการทนายความให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด ๙

การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

มาตรา ๗๔  ให้มีคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประกอบด้วยนายก อุปนายก เลขาธิการ และบุคคลอื่นอีกไม่เกินแปดคนที่คณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้ที่เป็นทนายความมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี

ให้นายกเป็นประธานกรรมการ อุปนายกเป็นรองประธานกรรมการและเลขาธิการเป็นเลขานุการ

มาตรา ๗๕  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๘ และมาตรา ๖๐ มาใช้บังคับแก่กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง โดยอนุโลม

มาตรา ๗๖  คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ให้การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายตามมาตรา ๗๙
(๒) เก็บรักษาและจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายตามมาตรา ๗๗
(๓) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๗๗  ให้มีกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประกอบด้วย

(๑) เงินที่สภาทนายความจัดสรรให้เป็นประจำปีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของเงินรายได้ของสภาทนายความตามมาตรา ๙ (๑) ของปีที่ล่วงมา
(๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(๓) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ
(๔) ดอกผลของ (๑) (๒) และ (๓)

มาตรา ๗๘  ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายต้องเป็นผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม

มาตรา ๗๙  การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ได้แก่

(๑) การให้คำปรึกษา หรือแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย
(๒) การร่างนิติกรรมสัญญา
(๓) การจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่าง

คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายจะจัดให้มีทนายความประจำคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวด้วยก็ได้ โดยให้ได้รับค่าตอบแทนตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๘๐  เมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาทนายความคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายต้องมีหนังสือแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ยังเหลืออยู่ งบดุลและรายรับรายจ่ายของการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งมีคำรับรองของผู้สอบบัญชีสภาทนายความ รวมทั้งผลงานและอุปสรรคข้อขัดข้องของการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา

ให้ประธานกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายส่งสำเนาหนังสือแจ้งให้ที่ประชุมทราบตามวรรคหนึ่ง ไปยังรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย

มาตรา ๘๑  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ การประชุมของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด ๑๐

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๘๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๘๓  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกตามมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง ซึ่งให้มาเพื่อให้ถ้อยคำหรือให้ส่งหรือจัดการส่งเอกสารหรือวัตถุใดหรือมาตามหนังสือเรียกแล้วแต่ไม่ยอมให้ถ้อยคำ โดยปราศจากเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๘๔  ให้ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความชั้นหนึ่งหรือชั้นสองอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าใบอนุญาตเป็นทนายความนั้นๆ เป็นใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้มีอายุใช้ได้จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๕ (๓) ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตหรือเคยจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความชั้นสองอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีสิทธิขอต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ หรือขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตได้และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นทนายความตามพระราชบัญญัตินี้

ให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๓๕ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) มาใช้บังคับแก่ทนายความตามวรรคสองด้วย

มาตรา ๘๕  ให้เนติบัณฑิตยสภาส่งมอบทะเบียนทนายความและบรรดาเอกสารที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ การต่ออายุใบอนุญาตเป็นทนายความและการควบคุมมรรยาททนายความ เว้นแต่สำนวนคดีมรรยาททนายความที่ยังค้างพิจารณาอยู่ให้แก่สภาทนายความภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๘๖  ให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามมาตรา ๕๓ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่คณะกรรมการยังมิได้ออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าบทบัญญัติตามมาตรา ๑๒ (๑) (๒) (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พุทธศักราช ๒๔๗๗ และข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภาว่าด้วยมรรยาททนายความและการแต่งกายของทนายความที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นเสมือนข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๘๗  ให้มีคณะกรรมการมรรยาททนายความตามมาตรา ๕๔ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง

ให้บรรดาคดีมรรยาททนายความที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และคดีมรรยาททนายความที่เกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการมรรยาททนายความตามวรรคหนึ่งอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยทนายความที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะเสร็จการ

เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติวรรคสอง ให้คณะกรรมการมรรยาททนายความและบุคคล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีมรรยาททนายความอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งเพื่อการปฏิบัติตามบทบัญญัติวรรคสอง มีอำนาจกระทำการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยทนายความที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะเสร็จการ

มาตรา ๘๘  ในวาระเริ่มแรกให้รัฐมนตรีแต่งตั้งทนายความซึ่งมีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง จำนวนสิบห้าคน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นกรรมการบริหารของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เป็นคณะกรรมการตามมาตรา ๑๔ ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๘๙  ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๘๘ เลือกและแต่งตั้งกรรมการด้วยกันเองคนหนึ่งเป็นนายกตามมาตรา ๑๔ ทั้งนี้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามมาตรา ๑๔ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป. ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

(๑) การจดทะเบียนเป็นทนายความ                                ๘๐๐     บาท
(๒) การรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตลอดชีพ ฉบับละ           ๔,๐๐๐     บาท
(๓) การรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความสองปี ฉบับละ              ๘๐๐     บาท
(๔) การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ฉบับละ              ๘๐๐     บาท
(๕) การออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ฉบับละ              ๑๐๐     บาท

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยทนายความได้ใช้บังคับมานานแล้วและมีบทบัญญัติบางประการที่สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมเพื่อควบคุมและส่งเสริมการประกอบอาชีพทนายความ เช่น ให้มีสภาทนายความเพื่อควบคุมมรรยาทของทนายความ ให้มีกองทุนสงเคราะห์ทนายความเพื่อช่วยเหลือทนายความ เป็นต้น และสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายโดยตรง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้สามารถกระทำได้อย่างกว้างขวางและทันกับความต้องการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า