เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามมาตรา 157 แบ่งได้ 2 ฐานคือ
1. ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
2. ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตทั้งสองฐานความผิดจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ
1. เป็นเจ้าพนักงาน
2.ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3135/2535
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าเป็นการกระทำนอกหน้าที่ไม่ผิดมาตรานี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นอันยุติได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับคดีที่คนร้ายลักกระบือของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับการปล่อยคืนรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157

คำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2549
จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่งบางคนก็โต้แย้งว่า การกระทำใดๆ ที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทำ แต่กระทำการที่นอกเหนือที่กฎหมายให้อำนาจ ถือว่า เป็นการนอกหน้าที่ ไม่เป็นการกระทำผิดหน้าที่ กล่าวง่ายๆ ว่า “เมื่อไม่มีอำนาจ ก็ไม่มีหน้าที่ จึงไม่ผิดมาตรา 157” เช่น พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบในความผิดมาตรา 157 ของข้าราชการการเมือง แต่ไปการสอบสวนผู้ต้องหาในความผิดมาตรา 157 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 157 ดังนี้ ข้ออ้างดังกล่าวจะฟังขึ้นหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2530

การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสรรพากรจังหวัดสั่งให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 3 เสนอสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรของห้าง จ.ต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็ปฏิบัติตาม โดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด ตามคำสั่งและระเบียบปฏิบัติของทางราชการนั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งการใดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามได้ เพื่อให้งานดำเนินไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเกิดผลดีแก่ทางราชการทั้งนี้เพราะคำสั่งและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ย่อมมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นเพิ่งจะเข้ารับราชการ ย่อมจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงาน ประกอบกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากรของห้างดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนการที่จำเลยที่ 2 รายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากรว่า โจทก์ได้มอบเงินแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ช่วยเหลือในการชำระภาษีอากรของห้าง จ. นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ดังที่จำเลยที่ 2 รายงานโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์เป็นส่วนตัวแกล้งรายงานดังกล่าวจนโจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการบรรยายฟ้องในเรื่องแกล้งรายงานของจำเลยที่ 2 นี้ เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 อีกกระทงหนึ่ง นอกเหนือจากข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 157 ได้
เมื่อการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับจำเลยที่ 2 รับราชการมานาน ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นสรรพากรจังหวัด กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า