ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ❯ มาตรา 193/33
มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
(3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6) (4) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5) สิทธิเรียกร้องตามตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี
1. บัตรเงินสดที่ให้บริการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของบัตรเครดิต จึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระหนี้หรือวันที่ผู้ถือบัตรเครดิตชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193 / 34 (1), (7)
คำพิพากษาฎีกา 3101/2551 โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิต มีลักษณะเป็นการทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้าและการใช้บริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนก็ดี หรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็ดี ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)
2. บัตรเครดิตประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีข้อตกลงการให้บริการสินเชื่อ ลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงินที่มีการผ่อนต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ บัตรเครดิตประเภทนี้จะมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ประกอบคำพิพากษาฎีกาที่ 6854 / 2553
3. บัตรกดเงินสด ที่มีข้อตกลงการให้บริการสินเชื่อ ลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน แบบไม่ต้องผ่อนต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ และไม่มีลักษณะเป็นการออกเงินทดรอง บัตรกดเงินสดประเภทนี้จะมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ประกอบคำพิพากษาฎีกาที่ 4088/2560