ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ❯ มาตรา ๕๓๑
คดีฟ้องขอถอนคืนการให้
การให้ คือ สัญญาซึ่งผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ซึ่งจะถอนการให้ไม่ได้ เว้นแต่เหตุผู้รับเนรคุณ
ความสมบูรณ์ : ต่อเมื่อ “ส่งมอบทรัพย์สินให้”
» อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม หรือตึกแถว ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
» ที่ดินมือเปล่า สมบูรณ์ด้วยการส่งมอบ เพราะถือว่าผู้ให้ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินแล้ว
» การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ทางสาธารณะ หรือที่ดินสำหรับสร้างวัด ย่อมตกเป็นของแผ่นดินตามเจตนาของผู้อุทิศทันที โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
อายุความ : ผู้ให้ต้องยังไม่ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้น และต้องฟ้องถอนคืนการให้ภายใน 6 เดือนนับแต่เมื่อทราบถึงเหตุประพฤติเนรคุณ แต่ไม่เกิน 10 ปี ภายหลังเหตุการณ์ประพฤติเนรคุณนั้น
การให้ที่ไม่สามารถที่จะฟ้องขอเพิกถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณ ได้แก่
1 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณแล้ว
2 เมื่อผู้ให้ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ฟ้องคดีไว้ ทายาทจะฟ้องเองไม่ได้
3 ให้เป็นบำเเหน็จสินจ้างโดยแท้ (ตอบแทนการทำงาน)
4 ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
5 ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ตามหน้าที่ศีลธรรม
6 ให้ในการสมรส
7 เมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้ว 6 เดือน นับแต่ได้ทราบเหตุเนรคุณ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เหตุเนรคุณนั้นเกิดขึ้น
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 388/2536
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 บัญญัติว่า อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้…(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ และมาตรา 533 บัญญัติว่า…หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุ – เช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าในชั่วชีวิตของโจทก์จะขอสิ่งจำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีวิตของโจทก์จากจำเลยได้เพียงครั้งเดียว การขาดแคลนสิ่งจำเป็นเพื่อเลี้ยงชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังมีชีวิตอยู่และยากไร้โจทก์ย่อมขอสิ่งเหล่านั้นจากจำเลยได้เสมอตามความจำเป็นและจำเลยยังสามารถให้ได้ การที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้เงินแก่โจทก์นำไปรักษาตัวเนื่องจากเจ็บป่วยก่อนโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ประมาณ 1 เดือน ในขณะที่โจทก์ยากไร้และชราภาพโดยมีอายุถึง 84 ปี และจำเลยอยู่ในฐานะจะให้เงินแก่โจทก์ได้ จึงเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ที่ดินจากจำเลยได้โดยคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2341/2537
การกล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ให้และเป็นผู้ยากไร้เมื่อจำเลยสามารถจะให้ได้นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ขอสิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตต่อจำเลยแล้ว จำเลยบอกปัดไม่ยอมให้และเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมิได้นำสืบและอุทธรณ์ในข้อนี้แสดงว่าจำเลยยอมรับ และมิใช่หน้าที่ศีลธรรมอันดีของผู้รับการให้จะพึงปฏิบัติต่อผู้ให้ด้วยการให้สิ่งตอบแทนแก่ผู้ให้ตามวิสัยแต่อย่างใดดังนั้น การที่โจทก์แยกไปอยู่กับ ซ. แล้วจำเลยไม่ตามไปเลี้ยงดูโจทก์ จะฟังว่าจำเลยแสดงเจตนาบอกปัดไม่ยอมเลี้ยงดูให้สิ่งของจำเป็นแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้ และจำเลยสามารถให้ได้อันเป็นการประพฤติเนรคุณที่จะเรียกถอนคืนการให้หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 412/2528
การที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดาจนได้รับอันตรายแก่กาย ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยขาดความกตัญญู แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่ถึงสาหัสก็ถือได้ว่าจำเลยได้ประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2553
ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า “อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้
ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 413 วรรคหนึ่งและมาตรา 534
- การครอบครองแทน
- ถอนคืนการให้
- คดีกู้ยืมเงิน
- คดีที่ดิน
- คดีครอบครองปรปักษ์ที่ดิน
- คดีจำนองที่ดิน
- คดีขายฝาก
- การขอรับชำระหนี้จำนอง
- ทางจำเป็น
- คดีภาระจำยอม
- บุกรุก
- คดีแบ่งกรรมสิทธิ์รวม
- ถอนคืนการให้
- การขอเฉลี่ยทรัพย์