คนไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28

มาตรา ๒๘  บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้
บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล และการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้

การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

โดยหลักกฎหมายแพ่งคุ้มครองบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลอื่น โดยกฎหมายกำหนดให้ทำนิติกรรมบางอย่างได้นั้น คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการได้ หรือศาลมีคำสั่งให้ผู้พิทักษ์มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ส่วนคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล โดยเหตุที่ปัจจุบันนี้มีบิดามารดา หรือผู้ดูแลของบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล ให้แก่บุคคลซึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ จึงต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถเสียก่อน

คนไร้ความสามารถ

คือ เป็นบุคคลวิกลจริต และ

  1. ต้องเป็นอย่างมาก คือ วิกลจริตชนิดที่พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้สึกผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง
  2. เป็นอยู่ประจำ คือ วิกลจริตอยู่สม่ำเสมอ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นอยู่ตลอดเวลา อาจมีเวลาที่มีสติอย่างคนธรรมดาบางเวลา ในเวลาต่อมาก็เกิดวิกลจริตอีก เช่นนี้เรื่อยไป

คนเสมือนไร้ความสามารถ

1. มีเหตุบกพร่องบางอย่าง ได้แก่

1.1 กายพิการ ไม่ว่าส่วนไหนของร่างกายจะพิการก็ได้ เช่น หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แขนขาด ขาขาด ซึ่งอาจเป็นมาโดยกำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น เกิดจากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ หรือชราภาพ
1.2 จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หมายถึงบุคคลที่จิตผิดปกติ สมองพิการ แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกลจริต ยังมีความคิดคำนึงอยู่บ้าง และสามารถทำกิจกรรมหลายอย่างได้ด้วยตนเอง
1.3 ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะอยู่เป็นประจำ ซึ่งทำให้ทรัพย์สมบัติร่อยหรอลงไปทุกวัน ในที่สุดก็จะหมดตัว และการใช้จ่ายดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
1.4 ติดสุรายาเมา เช่น ดื่มสุราจัด เมาตลอดเวลา ติดฝิ่น เฮโรอีน เป็นประจำจนละเว้นเสียไม่ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ความรู้สึกผิดชอบลดน้อยลงไป
1.5 มีเหตุอื่น ทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วใน 1.1 – 1.4

2. ไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เพราะเมื่อมีเหตุบกพร่อง 5 ประการดังกล่าวแล้ว บุคคลนั้นยังต้องไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว

บุคคลที่มีสิทธิร้องขอ

  1. คู่สมรส
  2. ผู้บุพการี คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
  3. ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
  4. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์
  5. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่
  6. พนักงานอัยการ

ผลของคำสั่งศาล

  1. บุคคลไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล บุคคลเสมือนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความพิทักษ์ของผู้พิทักษ์
  2. ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในกาความสามารถในการทำนิติกรรม หรือไม่สามารถทำนิติกรรมบางชนิด หรือต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์เสียก่อน หรือผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2534             
โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วของส. ผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งหากเป็นจริงก็เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้ ส.ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 ได้ และโดยนัยเดียวกันแม้จำเลยเป็นผู้อนุบาลของ ส. ตามคำสั่งศาลอยู่แล้วก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควร โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลและตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530    
จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตามเมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้วตั้งโจทก์เป็นแทน

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า