เช่าซื้อรถยนต์ คืนอย่างไรไม่ต้องเสียส่วนต่างของราคา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2734/2561
ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๐ ระบุว่า “ถ้าหากผู้เช่าซื้อ (ก) ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ๓ งวด ติด ๆ กัน และเจ้าของได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ผิดนัดชำระภายในเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่ผู้เช่าซื้อยังคงเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ผิดนัดชำระให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด หรือ (ข) …ฯลฯ ให้เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้โดยทันที…” แม้จำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ๓ งวด ติดต่อกัน และโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๑ นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่หนังสือฉบับนี้ส่งถึงจำเลยที่ ๑ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วไม่ชำระถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๐ (ก) แล้ว อันสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ใช้บังคับในขณะนั้น อันเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองผู้บริโภคมิให้โจทก์บอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลา ๓๐ วัน ก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ ผู้บริโภคสามารถสละสิทธิความคุ้มครองตามสัญญาดังกล่าวได้

เมื่อจำเลยที่ ๑ นำรถที่เช่าซื้อไปส่งคืนแก่โจทก์ในวันเดียวกับวันที่ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ โดยโจทก์รับรถที่เช่าซื้อไว้โดยมิได้อิดเอื้อนหรือสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าเสียหายหรือค่าขาดราคา สัญญาเช่าซื้อจึงไม่ได้เลิกกันเพราะจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ และจะถือว่าจำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๓ มิได้ เพราะตามข้อสัญญาดังกล่าวระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียก็ได้ โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือให้เจ้าของซึ่งหมายถึงโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และส่งมอบรถคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และเจ้าของสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในสัญญาก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า ๗ วัน และโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งหรือสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าขาดราคาจากจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๓ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๑ นำรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์และโจทก์รับรถดังกล่าวไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ถือได้ว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาให้จำเลยทั้งห้ารับผิดต่อโจทก์

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin