ความผิดฐานชิงทรัพย์

ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 339
          มาตรา 339  “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
          (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
          (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
          (3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
          (4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
          (5) ให้พ้นจากการจับกุม
          ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335 หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”
          มาตรา 339 ทวิ  “ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต”

การจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
1. ต้องมีการลักทรัพย์ต่อเนื่องกับ
2. การใช้กำลังประทุษร้าย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2073/2556
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ชิงทรัพย์ ข้อเท็จจริง ขณะที่นางสาว ส. ผู้เสียหายที่ 1 กำลังยืนดูกล้วยไม้ซึ่งปลูกอยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้านขายของชำของผู้เสียหายกับนาง ฮ. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยเจ้าไปในร้านของผู้เสียหายทั้งสองและลักเอาเงินที่อยู่ในลิ้นชัก จำนวน 1,200 บาทของผู้เสียหายที่ 1 ไป ผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินเสียงเปิดลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินที่อยู่ภายในร้านจึงหันกลับไปดู เห็นจำเลยยืนอยู่ตรงบริเวณโต๊ะเก็บเงินผู้เสียหายที่ 1 จึงข้ามถนนกลับไปที่ร้าน ระหว่างนั้นจำเลยกำลังจะเดินออกจากร้าน ผู้เสียหายที่ 1 ถามจำเลยว่าเข้ามาในร้านทำไมขโมยเงินหรือ จำเลยพยายามจะเดินออกจากร้านแต่ผู้เสียหายที่ 1 กันไม่ให้จำเลยออกจากร้านได้ จากนั้นจำเลยล้วงกระเป๋ากางเกงเอาเงินจำนวน 1,200 บาท ส่งให้ผู้เสียหายที่ 1 แล้วเดินอย่างเร็วกลับไปที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้านของเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับร้าน ขณะที่จำเลยกำลังจะขับรถออกไปผู้เสียหายที่ 2 เดินออกมาที่หน้าร้านทราบเรื่องที่จำเลยเข้ามาขโมยเงินในร้าน จึงเข้าไปจับเหล็กท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อดึงรถไว้ไม่ให้จำเลยหลบหนี จำเลยใช้หมวกนิรภัยของตนเหวี่ยงไปทางผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้เสียหายที่ 2 หลบทัน จำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกไป ผู้เสียหายที่ 2 ปล่อยมือไม่ทันจึงเสียหลักล้มลงกับพื้นและได้รับบาดเจ็บไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ที่จำเลยลักเอาเงินที่อยู่ในลิ้นชักจำนวน 1,200 บาทของผู้เสียหายที่ 1 ไป เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ทราบเรื่องจำเลยจึงได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถือได้ว่าการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่ขณะที่จำเลยกำลังจะขับรถหลบหนีผู้เสียหายที่ 2 เข้าดึงท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยไว้เพื่อไม่ให้จำเลยหนี จำเลยจึงให้หมวกนิรภัยเหวี่ยงไปที่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้เสียหายที่ 2 หลบทัน จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกไปอย่างรวดเร็วทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เสียหลักล้มลงเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายนั้น เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องยังไม่ขาดตอนจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ถือได้ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 108/2546
 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15, 158 (5), 192  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 91, 295, 296, 335, 340 จำเลยได้รับแจ้งจาก ห. ว่าผู้เสียหายล่อลวง ห. ไปที่บังกะโลเพื่อล่วงเกินทางเพศ จำเลยโกรธแค้นจึงวางแผนให้ ห. โทรศัพท์ไปหลอกผู้เสียหายให้ออกจากบ้านไปหา ห.ที่จุดเกิดเหตุเพื่อทำร้ายสั่งสอนเป็นการแก้แค้นแทน ห. เมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปถึงที่เกิดเหตุจำเลยกับพวกที่รออยู่วิ่งเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายทันทีผู้เสียหายหลบหนีจำเลยกับพวกไล่ตามและจำเลยใช้มีดขู่เข็ญพาตัวผู้เสียหายไปแล้วพวกของจำเลยใช้ของแข็งตีศรีษะผู้เสียหายจนผู้เสียหายแกล้งทำเป็นหมดสติจากนั้นจำเลยกับพวกหนีไปโดยถือโอกาสเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปด้วยซึ่งการใช้มีดขู่เข็ญผู้เสียหายและการทำร้ายผู้เสียหายในตอนหลังเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากสาเหตุเดิมที่จำเลยโกรธแค้นผู้เสียหายหาใช่ว่าจะมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรกไม่การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ไม่ได้คงลงโทษได้ตามมาตรา 295 เท่านั้นและจำเลยยังมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามมาตรา 335 (1)ว รรคแรกด้วย แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธตามมาตรา 340 วรรคสอง เพียงกระทงเดียวศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นตามมาตรา 295 ประกอบด้วย มาตรา 83 กระทงหนึ่ง และฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามมาตรา 335(1) วรรคแรก อีกกระทงหนึ่งซึ่งมีโทษเบากว่าข้อหาฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่ว่าหลังจากมีเรื่องชกต่อยกับผู้เสียหายเมื่อเวลา 22.30 น.แล้วจำเลยขับรถกลับบ้านและไม่ได้ออกไปไหนอีกซึ่งเหตุการณ์ตอนนี้สิ้นสุดลงแล้วจำเลยจะมาฎีกาโต้แย้งว่าคืนเกิดเหตุเวลา 0.30 น.จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยบันดาลโทสะเพราะผู้เสียหายเหยียดหยามศักดิ์ศรีจำเลยโดยพา ห. เข้าบังกะโลเพื่อข่มขืนกระทำชำเราหาได้ไม่เพราะไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาฎีกาที่ 5838/2541
 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89, 295, 335 ขณะที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายนั้นนาฬิกาของผู้เสียหายหลุดจากข้อมือ จำเลยที่ 1 กับพวกมิได้เข้าหยิบฉวยนาฬิกาแต่อย่างใด กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนถึงปากซอย แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แต่เมื่อทำร้ายผู้เสียหาย แล้วเห็นนาฬิกาของผู้เสียหายตกอยู่จึงมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน และเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและฐานลักทรัพย์เท่านั้น การทำร้ายร่างกายและการลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องให้ลงโทษในการกระทำความผิดดังกล่าว ศาลก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์อันเป็นเหตุในลักษณะคดี ย่อมมีผลถึงจำเลยอื่นที่ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89 แม้จำเลยอื่นจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยอื่นได้

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า