ความผิดฐานฉ้อโกง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑

มาตรา ๓๔๑ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี 

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341
          1. ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
          2. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
               (1) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
               (2) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
          3. โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10577/2557
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์ และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2560
การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560
พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560
แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า