การจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุด

การจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงอายุความ 5 ปี ยังไม่เริ่มนับ
ทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกอ้างว่าจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก อายุความที่มิให้ทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงนั้น เมื่อปรากฏว่ายังมีทรัพย์มรดกหลายรายการที่ผู้จัดการมรดกจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่อาจเริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ต้องรับผิดต่อทายาทในลักษณะตัวการตัวแทน การที่ผู้จัดการมรดกครอบครองที่ดินสองแปลง ซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท ตัวผู้จัดการมรดกจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่ 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4116/2550
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง เมื่อยังมีทรัพย์มรดกที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไมj
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดฎีกาโดยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะปัญหาเรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นเห็นว่าฎีกาของจำเลยมีข้อความไม่ถูกต้องและสั่งให้จำเลยทำฎีกามาใหม่ จำเลยยื่นฎีกาฉบับใหม่โดยมีประเด็นอื่นเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะแต่ข้อที่เกี่ยวกับอายุความ ส่วนฎีกาข้ออื่นถือว่ายื่นล่วงพ้นกำหนดฎีกาจึงไม่รับ คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขอแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญเลี้ยง รัชบุตร กับนางคำ รัชบุตร เมื่อนางคำถึงแก่ความตาย นายบุญเลี้ยงสมรสกับจำเลยและอยู่กินฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมานายบุญเลี้ยงถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเลี้ยงตามคำสั่งศาล ที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 เป็นสินสมรสของนายบุญเลี้ยงกับจำเลย ทรัพย์สินดังกล่าวกึ่งหนึ่งตกเป็นมรดกของนายบุญเลี้ยงที่จำเลยฎีกา นายบุญเลี้ยงมิได้ทำพินัยกรรม มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายบุญเลี้ยงหมายถึงแต่เฉพาะทรัพย์สินที่ระบุไว้ในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก การที่จำเลยครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเลี้ยงตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อปรากฏว่ายังมีทรัพย์มรดกหลายรายการที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่อาจเริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ต้องรับผิดต่อทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสี่ไม่ขาดอายุความ จึงชอบแล้ว”

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า