การรับมรดกแทนที่กัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๓๙

การรับมรดกแทนที่กัน
มาตรา ๑๖๓๙ ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) (๓) (๔) หรือ (๖) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา ๑๖๔๐ เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้
มาตรา ๑๖๔๑ ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) หรือ (๕) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป
มาตรา ๑๖๔๒ การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา ๑๖๔๓ สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรงผู้บุพการีหามีสิทธิดั่งนั้นไม่
มาตรา ๑๖๔๔ ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก
มาตรา ๑๖๔๕ การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะรับมรดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกบุคคลอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2559         
โจทก์อุทธรณ์ว่า จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ตนเองโดยแจ้งในบัญชีเครือญาติว่าบุตรผู้ตายอีก 8 คน ถึงแก่ความตาย เหลือ จ. เพียงคนเดียว โดยไม่ระบุบุตรผู้ตาย และในคดีขอจัดการมรดก จ. ระบุว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 2 คน ถือเป็นการปิดบังมรดก แต่ในคำฟ้องของโจทก์อ้างสาเหตุที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่ต้องกำจัด จ. เพราะว่า จ. โอนทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่โอนให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่มิได้อ้างมาในคำฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ไม่ชอบอย่างไร แท้จริงแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมาอุทธรณ์ แต่โจทก์ยังคงฎีกาว่า ตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานในสำนวนถือว่า จ. มีพฤติกรรมในการปิดบังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัด จึงถือว่าเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย  
         สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทชั้นอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน โดย ป.พ.พ. มาตรา 1632 และ 1633 บัญญัติว่า หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งปันทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่ จ. ก็มีผลเท่ากับว่า จ. ได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย ทั้งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2558     
แม้โจทก์ทั้งสี่จะไม่ใช่คู่ความในคดีก่อน แต่มูลแห่งสิทธิอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้อง คือ สิทธิแห่งทายาทในการรับมรดกแทนที่บิดามารดาของตน เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเดียวกันของผู้ตายเช่นเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน จึงเป็นกรณีทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทในลำดับเดียวใช้สิทธิแห่งความเป็นทายาทของผู้ที่ตนเข้าแทนที่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดก ถือว่าเป็นการฟ้องในนามทายาททุกคน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสามชนะคดี คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความรวมถึงทายาทที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นเช่นเดียวกับคู่ความด้วย คำฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556
ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า