ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 57
มาตรา 57 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 80 มาตรา 92 และมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะจับ ขัง จำคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลสำหรับการนั้น”
มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80
(2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
(4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117″
เหตุแห่งการออกหมายจับ
มาตรา 66 “เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”
สำหรับข้อยกเว้นที่ให้อำนาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้น ได้แก่ กรณีตามมาตรา 78 (1) ถึง (4) กล่าวคือ
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
(2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
(4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117
ความผิดซึ่งหน้าตามมาตรา 80
มาตรา 80 “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ
อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดั่งระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดั่งนี้
(1) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดั่งผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
(2) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น”
กรณีเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558
เจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8764/2554
หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกสกัดจับคนร้ายในเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบหนี ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจรับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถจักยานยนต์ของคนร้ายและของผู้เสียหายจากผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งออกมาสกัดจับคนร้ายที่พบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยทั้งสองคันตามที่ได้รับแจ้งในเวลาต่อเนื่องกัน และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ชิงมาได้หลบหนีฝ่าด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งพบเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามพฤติการณ์แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 (2) ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำการจับกุมจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (3)