เมื่อราคาทรัพย์ที่ได้จากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ของโจทก์ โจทก์ยังสามารถบังคับคดีเอากับทรัพย์ของจำเลยลูกหนี้ต่อไปได้อีก แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันก็ตาม ( เจ้าหนี้ผู้รับจำนอง) เพราะไม่จำเป็นที่โจทก์จะสามารถบังคับคดีได้แต่บ้านที่รับจำนองไว้เท่านั้น แต่โจทก์สามารถบังคับคดีกับทรัพย์อื่นได้อีก เพียงแต่การบังคับคดีกับทรัพย์อื่น โจทก์จะไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ที่สามารถรับเงินจากการ บังคับคดีได้เต็มจำนวนรายแรก
คำพิพากษาฎีกาที่ 6968/2559 (ประชุมใหญ่) เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม
หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง