ความผิดฐานกรรโชก ประมวลกฎหมายอาญา 337
บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษ…
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
(1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
(2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องระวางโทษ…
องค์ประกอบความผิด
องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด คือ บุคคลผู้กระทำความผิด
2. ข่มขืนใจ (ให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน)
เป็นการบังคับจิตใจ ซึ่งการตัดสินใจยังอยู่ที่ตัวผู้กระทำเอง แค่ผู้กระทำถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจที่จะกระทำตามที่บังคับ และเป็นการที่ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพจนผู้เสียหายยอมให้ หรือ จะให้ ซึ่งความผิดในมาตรานี้ จะผิดมาตรา 309 ความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเสมอ เพราะเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทเพราะ 337 และ 309 ต่างข่มขืนใจมุ่งเอาประโยชน์ในทรัพย์สินด้วยกัน แต่มาตรา 309 จะรวมไปถึงถูกข่มขืนใจให้กระทำอย่างอื่นด้วยไม่จำต้องให้ได้มาเฉพาะทรัพย์สินเหมือนดั่ง 337
ซึ่งในมาตรานี้เพียงแค่ผู้เสียหายยอมจะให้ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำต้องได้ทรัพย์สินมาเหมือนดังความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559
ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. จะไม่ได้รถยนต์คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ การกระทำของ ว. ครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. ส่วนจำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่ จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือ การกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว
อีกทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชก หลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ได้
3. ผู้อื่น
4. โดย
– ใช้กำลังประทุษร้าย
ตามบทนิยามของมาตรา 1 (6) คือ การใช้กำลังประทุษร้ายแก่ร่างกาย หรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้รวมถึงการกระทำใดๆที่ทำให้บุคคลหนึ่งไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดก็ตาม
– ขู่เข็ญว่าจะอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม
เป็นการแสดงออกโดยทางวาจาหรือโดยทางกิริยาหรือทางอื่นให้ผู้ถูกขู่เข็ญเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตราย
5. จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
ต้องเป็นการกลัวจากการถูกข่มขืนใจจากตัวผู้กระทำผิดแล้วยอมทำตามนั้น หากไม่ได้มีการเกรงกลัวให้เพราะรำคาญก็ไม่ผิดมาตรานี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 22746/2555
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2555
จำเลยทั้งสามร่วมกันล่อหลอกให้ผู้เสียหายไปหา แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ ระหว่างอยู่ในรถมีทั้งการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขู่เข็ญให้ผู้เสียหายไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวิธีการที่จะให้ผู้เสียหายยอมให้หรือยอมจะให้พวกตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน และเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป พวกจำเลยยังนำบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินของผู้เสียหายออกมาและขู่เข็ญผู้เสียหายจนยอมที่จะให้เงินแก่พวกจำเลยเป็นการทดแทนที่จะให้ไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ แสดงว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะให้ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายมากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและจะให้ได้มาอย่างไร การกระทำความผิดมีลักษณะต่อเนื่องไม่ขาดตอน และการกระทำที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเกิดขึ้นซ้อนกัน ทั้งความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินที่พวกจำเลยเอาไปและยอมจะให้เงินแก่พวกจำเลยอีกในภายหลัง การที่จำเลยทั้งสามจะได้เงินส่วนที่ผู้เสียหายตกลงจะให้ในภายหลังหรือไม่ หามีผลให้การกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชกไม่เป็นความผิดสำเร็จไม่ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกรรโชกและร่วมกันปล้นทรัพย์จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385 – 2387/2554
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2553
จำเลยกับพวกวางแผนขับรถยนต์แท็กซี่ชนรถยนต์ปิกอัพของผู้เสียหาย แล้วลงจากรถเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายอ้างว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ขอเรียกเพียง 5,000 บาท ผู้เสียหายต่อรอง พวกของจำเลย พูดขู่ว่าหากพูดไม่รู้เรื่องจะเรียกตำรวจ ผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้ 500 บาท แล้วจำเลยกับพวกแยกย้ายหลบหนีไปทันที ดังนั้น การที่จำเลยขู่ว่าจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้เสียหาย เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินให้ ถือได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11052/2553 ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือมีครอบครองทรัพย์นั้น หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339 (2) โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฏว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้องเมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปในทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะถูกประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงชอบแล้ว