มาตรา 266 ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้
- เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
- พินัยกรรม
- ใบหุ้น ใบหุ้นกู้หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ หรือ
- ตั๋วเงิน
- บัตรฝากเงิน
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
- เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ คือ เป็นทั้งเอกสารสิทธิและเป็นทั้งเอกสารราชการ เอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารราชการที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้คือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส.3 ก.) (ฎ. 1970/2530) โฉนดที่ดินและสัญญาจดทะเบียน อาชญาบัตรฆ่าสัตว์ สัญญาขายฝากทำที่อำเภอ อาชญาบัตรอากรค่าน้ำ ตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ ใบบอกธนาณัติซึ่งนายไปรษณีย์ทำเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่จะก่อสิทธิรับเงิน ธนาณัติ ใบรับเงินค่าภาษีอากร ใบรับเงินชำระค่าภาษีเทศบาลสำเนาใบรับเงินค่าปรับในการเปรียบเทียบคดีอาญา
คำพิพากษาฎีกาที่ 4492/2536 แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์เป็นเอกสารราชการ มิใช่เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
คำพิพากษาฎีกาที่ 3102/2539 ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ปรากฏว่าหมายเลขคดีที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่อ้างถึงหมายเลขคดีที่นอกสารบบ หรือกระทำขึ้นโดยมิได้มีอยู่จริงหรือปราศจากอำนาจ ตรงกันข้ามเลขคดีที่อ้างถึงเป็นเลขคดีที่แก้ไข และใช้อยู่ในสารบบของทางราชการ การที่เกี่ยวข้องจริง จังเป็นหมายเลขคดีที่แท้จริง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเก้าปฏิบัติหรือละเว้นไม่ปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุที่มีการร้องทุกข์อย่างไร อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคณะกรรการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162,165,264,265,266 และพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 70
- “พินัยกรรม” หมายความถึง เอกสารที่เจ้ามรดกกำหนดการเผื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646
ปัญหามีว่า ถ้าพินัยกรรมทำผิดแบบตกเป็นโมฆะ จะปลอมพินัยกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อนี้ อ.จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ถ้าปลอมพินัยกรรม แต่ถ้าพินัยกรรมนั้นผิดแบบอยู่ในตัว เช่นไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือครบถ้วนตามกฎหมาย ย่อมไม่เป็นเอกสารสิทธิแต่อาจเป็นปลอมเอกสารธรรมดาได้ข้อความนี้คงหมายความว่า ไม่ผิดฐานปลอมพินัยกรรม แต่อาจผิดฐานปลอมเอกสารธรรมดา
คำพิพากษาฎีกาที่ 3894/2525 จำเลยกับพวกทำพินัยกรรมปลอมขึ้น แล้วส่งอ้างเป็นพยานต่อศาล แม้ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคนนั้นมีลักษณะลายเส้นเลอะเลือนจนผู้ชำนาญการ พิเศษตรวจพิสูจน์ลงความเห็นไม่ได้ก็มีสภาพเป็นพินัยกรรม แต่เป็นพินัยกรรมที่จำเลยกับพวกทำปลอมขึ้น เมื่อนำส่งอ้างเป็นพยานต่อศาลต้องมีความผิดฐานใช้พินัยกรรมปลอมอีกระทงหนึ่ง กรณีไม่ใช่การกระทำโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แต่การกระทำการนั้นไม่บรรลุผลอย่างแน่แท้ตามมาตรา 81
กรณีที่จำเลยกับพวกอ้างส่งพินัยกรรมปลอมเป็นพยานต่อศาล แม้จำเลยจะได้กระทำในฐานะทนายความในคดีแพ่ง จำเลยก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันใช้พินัยกรรมปลอมตามมาตรา 83
- “ใบหุ้น ใบสำคัญของใบหุ้น” นั้น ป.พ.พ. มาตรา 1127 บัญญัติว่า ให้บริษัททำใบหุ้น คือใบสำคัญสำหรับหุ้นใบหนึ่งหรือหลายใบ มอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้นของทุกๆคน
คำพิพากษาฎีกาที่ 2917/2538 จำเลยว่าจ้าง จ. จัดพิมพ์ใบหุ้นธนาคาร ม. และบริษัท พ. ซึ่งเป็นแบบฟอร์ม ยังไม่ได้กรอกข้อความ โดยเจตนาจะนำไปกรอกข้อความรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อใช้อย่างใบหุ้นที่แท้จริง ซึ่งต่อมาก็มีการกรอกข้อความดังกล่าว แล้วนำไปขายฝากที่บริษัท ว. ดังนี้แสดงว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นในการกรอกข้อความ จังเป็นตัวการในความผิดฐานปลอมใบหุ้น
- คำว่า “ตั๋วเงิน” นั้น ป.พ.พ. มาตรา 898 บัญญัติว่า อันตั๋วเงินตาม ป.พ.พ.นี้มีสามประเภท ๆหนึ่ง คือ ตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่งคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่งคือเช็ค
มาตรา 908 บัญญัติว่า อันว่าตั๋วแลกเงินนั้นคือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้จ่ายให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
คำพิพากษาฎีกาที่ 1067/2507 การที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมลงในตั๋วแลกเงินของธนาคารออมสินนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่ต้องทำลงในเอกสารดังกล่าว เพื่อให้เอกสารนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อที่เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้ และก็ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่าเป็นผู้ทรงที่แท้จริง จึงได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไป ดังนี้ ย่อมเป็นไปโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีสิทธิรับเงินที่แท้จริงและแก่ธนาคารออมสินการกระทำของจำเลยผิดตามมาตรา 266(4) แต่การลงลายมือชื่อปลอมก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือเงิน อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งในกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 342 (1) จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงบทหนักตามมาตรา 90 แต่จำเลยไม่ผิดมาตรา 264
คำพิพากษาฎีกาที่ 1751/2515 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต่างลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่องค์การเชื้อเพลิงจัดพิมพ์ขึ้น สั่งให้ธนาคารโจทก์สาขาพระโขนงจ่ายเงินแก่องค์การเชื้อเพลิง และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินตามแบบพิมพ์ของบริษัท ม. สั่งให้ธนาคารโจทก์สาขาพระโขนงจ่ายเงินแก่บริษัท ม. จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการธนาคารสาขาพระโขนงได้ลงลายมือชื่อและประทับตรารับรองตั๋วแลกเงินทั้งหมดนี้ แล้วจำเลยอื่นนำตั๋วแลกเงินนี้ไปใช้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกตั๋วแลกเงินโดยลงลายมือชื่อตนเป็นผู้สั่งจ่ายในนามของตนเองจึงเป็นตั๋วแลกเงินอันแท้จริงไม่ใช่ทำปลอมในนามของบุคคลอื่น หรือเจตนาจะให้เห็นว่าเป็นตั๋วแลกเงินของบุคคลอื่น ลายมือชื่อผู้รับรองตั๋วแลกเงินก็เป็นลายมือชื่ออันแท้จริงของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำในฐานะผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาพระโขนง ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ ตราที่ประทับก็เป็นตราที่แท้จริงของธนาคาร แม้จะผิดระเบียบภายในเพราะเงินที่รับรองนั้นเกินอำนาจและไม่มีสมุห์บัญชีหรือผู้รักษาเงินลงลายมือชื่อร่วมด้วย ก็หาทำให้ตั๋วแลกเงินซึ่งจำเลยที่ 4 รับรองนั้นเป็นตั๋วแลกเงินปลอมขึ้นมาไม่ การกระทำของจำเลยทั้งหมดไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 264,265,266,268