ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖
มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๒๗ ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น
องค์ประกอบภายนอก
1) ผู้ใส่ความ :ผู้กระทำ(ผู้กระทำการหมิ่นประมาท
2) มีการใส่ความ:การกระทำ(การหมิ่นประมาท
3) ผู้อื่น:กรรมของการกระทำ(ผู้ถูกใส่ความ
4) ต่อบุคคลที่สาม (เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เข้าตามมาตรานี้)
5)โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นได้รับความเสียหาย:เกิดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (เกิดความเสียหายจากการกระทำหมิ่นประมาทนั้นโดยตรง)
องค์ประกอบภายใน
–มีการกระทำโดยเจตนา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541
จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายเมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูด นอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติจำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า “มึงเป็นเมียน้อยสารวัตรส.อย่ามาทำใหญ่ให้กู้เห็นนะ”ต่อหน้า พ.ซึ่งมากับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด
ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2542
การใช้นามปากกาแทนชื่อจริง บุคคลทั่วไปจะรู้จักแต่นามปากกาไม่สามารถรู้ชื่อจริงได้ แม้จะเป็นบุคคลหรือเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่นั้นก็ตาม เพราะการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่นั้นไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ขึ้นมา ได้ว่านามปากกาใดเป็นของผู้ใด คำเบิกความของ พันตำรวจโท อ. ไม่ได้แสดงเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่าตนรู้ได้อย่างไรว่าจำเลยที่ 2 ใช้นามปากกาว่าคมแฝกพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนัก คดีรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียนคอลัมน์สังคมบ้านเรา ในหนังสือพิมพ์บ.โดยใช้นามปากกาว่าคมแฝก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2521
จำเลยฟ้องขอหย่าขาดกับสามีโดยอ้างเหตุว่าสามีไปติดพันหญิงอื่นคือโจทก์และสามีได้ไปอยู่กินกับโจทก์อย่างเปิดเผย ดังนี้ เป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยมีความจำเป็นจะต้องกล่าวในฟ้องให้สามีจำเลยเข้าใจข้อหาโดยชัดเจน ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต จึงถือไม่ได้ด้วยว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาฎีกา 10511/2555
การที่จำเลยนำรูปถ่ายเอกสารของผู้เสียหายติดไว้ในสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 522/2546 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งเขียนข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อบิดามารดารวมทั้งวันเดือนปีเกิดของผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับคดีความแล้วใช้ปากกาเน้นข้อความสีเหลืองสะท้อนแสงระบายข้อความในสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวตรงคำว่า เรื่อง ยืมและจำนวนเงินที่ผู้เสียหายจะต้องชำระ รวมทั้งข้อความที่เขียนเพิ่มเติมทั้งหมด จากนั้นนำสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวติดไว้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ตั้งอยู่ในตลาดซึ่งมีประชาชนผ่านไปมา จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยการโฆษณา และไม่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329(4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2503
จำเลยซึ่งเป็นครูใหญ่ประชาบาล กล่าวว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยบังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกคนที่ผู้เสียหายชอบ ถ้าใครไม่เลือกก็ไม่ขอเงินเดือนขึ้นให้ นั้น ถ้อยคำที่กล่าวนี้ ถ้าเป็นความจริง ก็ถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนเพราะการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอันเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
อนึ่ง ที่จำเลยกล่าวว่า “การทำทำนบผู้เสียหายไม่ทำตามคำพูด ทำงานไม่ขาวสอาด” นั้น เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายเป็นกรรมการขุดบ่อน้ำ ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินขุดสระแต่ใช้ไปครึ่งเดียว จำเลยซึ่งเป็นกรรมการร่วมด้วยรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านได้ขอให้ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือมาทำทำนบเพื่อกักน้ำไว้บริโภคโดยผู้เสียหายตกลงจะซื้อปูนซิเมนต์ส่งมาให้ แต่ผู้เสียหายได้เอาเงินที่เหลือไปใช้จ่ายทางอื่นโดยมิได้ให้จำเลยทราบ การทำทำนบจึงไม่เสร็จ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการกล่าวโดยสุจริตและอยู่ในวิสัยของการติชม ไม่เป็นผิดฐานหมิ่นประมาท
การกล่าวที่จะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 ต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ถ้าเป็นการนอกหน้าที่แล้ว กรณีหาเข้ามาตรานี้ไม่