ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕๒
มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
มาตรา 1452 กำหนดเงื่อนไขห้ามชายหรือหญิงทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายครอบครัวที่กำหนดให้มีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว หากทำการสมรสซ้อนหรือสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว การสมรสนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถกล่าวอ้างว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะ หรือจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะก็ได้ เมื่อมีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาแล้วการสมรสซ้อนนั้นย่อมเป็นอันเสียเปล่าตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ถ้ายังไม่มีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าชายหญิงในการสมรสครั้งหลังยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย
ซึ่งการสมรสซ้อนนี้แม้ชายหรือหญิงคู่สมรสจะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีการสมรสเดิมอยู่แล้ว ก็ยังคงเป็นโมฆะอยู่นั่นเอง ไม่มีทางที่จะทำให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามคู่สมรสผู้ทำการโดยสุจริตไม่เสื่อมเสียสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นก่อนที่ตนจะรู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2527
พ.จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ขณะที่ พ. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 อยู่แล้ว เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสและเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และ 1496 โจทก์คงเป็นภริยาของ พ. แต่ผู้เดียว
ถ้าขณะก่อนสมรสครั้งหลังชายหรือหญิงได้หย่ามาก่อนแล้ว เท่ากับการสมรสครั้งหลังย่อมมีผลสมบูรณ์ แม้จะมีการเพิกถอนการหย่าในภายหลังก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2537
แม้ภรรยาเดิมของจำเลยจะฟ้องเพิกถอนการหย่าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 และทำสัญญาประนีประนมอยอมความกันให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีก็ให้เพิกถอนการหย่าไปแล้ว เป็นการทำภายหลังที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พฤติการณ์ของภรรยาเดิมกับจำเลยที่กระทำดังกล่าวไม่อาจฟังได้ว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1496 ประกอบด้วยมาตรา 1452 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว