จำนอง
มาตรา ๗๐๒ อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา ๗๐๘ สัญญาจำนองนั้นต้องมีจำนวนเงินระบุไว้เป็นเรือนเงินไทยเป็นจำนวนแน่ตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองนั้นตราไว้เป็นประกัน
มาตรา ๗๑๔ อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๗๑๔/๑ บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา ๗๒๘ มาตรา ๗๒๙ และมาตรา ๗๓๕ เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2551
โจทก์ไม่สามารถสืบให้สมตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงหรือไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน และจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองอีกด้วย เพราะตาม ป.พ.พ.มาตรา 702 บัญญัติว่า “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง” เมื่อการจำนองมิได้เป็นการประกันการชำระหนี้กู้ยืม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง เนื่องจากจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานอันเป็นหนี้กู้ยืม เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดตามหนี้ประธาน จำเลยก็หาจำต้องรับผิดในหนี้อุปกรณ์ต่อโจทก์ด้วยไม่
หนี้ประธานในกรณีที่จำเลยจดทะเบียนจำนองนั้นเป็นหนี้การประกันดอกเบี้ยเงิน กู้ยืม เมื่อหนี้ประธานยังมิได้มีกำหนดจำนวนที่แน่นอน ศาลย่อมมิอาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดในหนี้จำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้เนื่อง จากยังไม่ปรากฏหนี้อันเป็นที่แน่ชัดว่ามีจำนวนค้างชำระ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2551
ค. กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท มีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสามยินยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์มีการทำ รายการคิดการชำระเงินกัน กำหนดค่าไถ่ถอน 3,500,000 บาท และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าจำนวน 300,000 บาท ด้วย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ ประกอบกับโจทก์เองเบิกความรับว่า ค. ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดิน และบ้านพิพาทเป็นประกัน จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2121/2551
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิขอให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองมาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้สามัญ แต่เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่โจทก์มีสิทธิขอให้นำไปชำระหนี้นี้หมายถึงเงินรายได้สุทธิที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขายทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ซึ่งรวมถึงค่าภาษีที่เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองตาม ป.รัษฎากรด้วย
ภาษีเงินได้ของจำเลยที่เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองเป็นภาษีที่จะต้องนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน มิใช่เป็นหนี้ภาษีอากรที่จำเลยค้างชำระ แม้ผู้ซื้อทรัพย์จะเป็นผู้ชำระแต่มีคำสั่งกรมบังคับคดีให้สิทธิผู้ซื้อทรัพย์นำใบเสร็จรับเงินที่มีรายการชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาขอคืนภาษีและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีลงรายการดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ค่าภาษีเงินได้พึงประเมินของจำเลยจึงถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขายที่ดิน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินไปหักชำระภาษีดังกล่าวโดยคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งได้ชำระค่าภาษีแทนจำเลยไปแล้วนำเงินส่วนที่เหลือซึ่งเป็นรายได้สุทธิจากการขายที่ดินไปชำระหนี้จำนองแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนอง ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียด ของคำฟ้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
–การบอกกล่าวบังคับจำนอง
-การบังคับจำนอง
–การจดจำนองที่ดิน มีอายุกี่ปี
–หนี้ประธานขาดอายุความ