หลักกฎหมาย
มาตรา ๒๙๗ ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(๔) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(๕) แท้งลูก
(๖) จิตพิการอย่างติดตัว
(๗) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(๘) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๒๙๘ ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๒๙๗ ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5744/2555 โจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวยไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบัดขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ จำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น
ใช้มีดแทงเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหนีไป บาดแผลที่ถูกแทงไม่ลึกรักษาเพีบง 7 วันหาย เจตนาเพียงทำร้ายร่างกาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2554 ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ได้ระบุขนาดของบาดแผลเพียงแต่ระบุว่า บาดแผลไม่ผ่านเข้าปอด แสดงว่า บาดแผลไม่ได้มีความลึกถึงปอดอันเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญอันจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งบาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาหายภายใน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า หลังจากถูกแทงแล้วผู้เสียหายยังสามารถวิ่งไล่จำเลยที่ 1 ไปได้ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงนักทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วจึงมีการด่าทอและท้าทายกัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดจะมีมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางแทงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า
ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหลบหนีไปก่อนที่พวกของผู้เสียหายจะออกมาช่วย แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แทงผู้เสียหายไปเพียง 1 ครั้ง จำเลยที่ 1 ก็วิ่งหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะกระทำได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย
บาดแผลจากการถูกตบหน้าหลายครั้งที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตรและแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร รักษา 7 วันหาย เป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 อันเป็นความผิดลหุโทษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยพูดว่าจะฆ่า แต่ตามพฤติการณ์เป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธเพื่อให้พวกจำเลยสั่งสอนผู้เสียหายเท่านั้น จากนั้นพวกจำเลยมีการลงมือทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยจึงรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297(8)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17866/2555 การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า “กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย” นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหาย ถูก ส.ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และผู้เสียหายอ้างว่ายังมีคนร้ายอีกหลายคนร่วมทำร้ายร่างกายด้วย ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ต่อมา ส.ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเป็นเวลานานถึง 5 นาที ผู้เสียหายย่อมมีโอกาสจำเสียงของจำเลยได้ ซึ่งผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าเสียงที่ตะโกนด่าไล่หลังว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย เป็นเสียงของจำเลย และ ช. พยานโจทก์ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันเช่นเดียวกับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นคงมีแต่จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเท่านั้นโดยไม่มีพนักงานคนอื่นของบริษัทเข้าโต้เถียงกับผู้เสียหายด้วย และเหตุการณ์ที่ ส. กับลูกน้องของจำเลยอีกหลายคนเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายก็เกิดขึ้นทันทีหลังจากจำเลยตะโกนสั่ง รูปคดีบ่งชี้ว่าจำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายแล้วเกิดอารมณ์โกรธจึงตะโกนว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย และการที่ ส.กับลูกน้องของจำเลยคนอื่นๆ ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เป็นการกระทำตามที่จำเลยตะโกนสั่ง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเกิดขึ้นต่อเนื่องทันทีหลังจากมีเสียงตะโกนสั่งของจำเลย อีกทั้งโจทก์ยังมีรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมาแสดงเป็นพยานหลักฐานประกอบ โดยผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทันทีหลังจากเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามความเป็นจริงโดยไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวยังระบุคำพูดของจำเลยและรายละเอียดรวมทั้งขั้นตอนการกระทำความผิดสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. มีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวน ส. ให้การรับสารภาพว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเนื่องจากได้ยินเสียงจำเลยพูดทำนองว่าให้จัดการหน่อย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยสั่งให้ ส.กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษานานเกินกว่า 1 เดือน และได้ความจากผู้เสียหายว่ากระดูกข้อมือซ้ายหักต้องเข้าเฝือก ระหว่างนั้นยกของหนักไม่ได้ กว่าจะหายเป็นปกติใช้เวลารักษา 2 เดือน จึงฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ถือได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนคำพูดของจำเลยที่ว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธและเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง