ผู้จัดการมรดก ไม่แบ่งมรดก ทำอย่างไร

ผู้จัดการมรดก ไม่แบ่งมรดก ทำอย่างไร หน้าที่ผู้จัดการมรดกคือแบ่งมรดก เมื่อไม่แบ่งมรดกให้ทายาทก็เป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ทายาทโดยธรรมซึ่งผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

คำพิพากษาฎีกา การที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยกับนายลับเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย เมื่อปี 2534 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนายลับกับจำเลยให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมฮวย ต่อมานายลับได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีมรดกอีกคดีหนึ่ง แล้วบุคคลทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยนายลับตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางกิมฮวยให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อปี 2543 จำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเป็นของจำเลย โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้ง 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ศาลมีคำสั่งยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินจำนวน 200,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสามคนละ 50,000 บาท

จำเลยให้การว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ดังนั้น ทรัพย์สินและเงินสดที่จำเลยได้รับจากนายลับตามสัญญา จึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย มิใช่ทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย ซึ่งจะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดิน 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเลขที่ 1475 ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลย คนละส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยไม่ดำเนินการหรือไม่สามารถแบ่งได้ ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาด และนำเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินสดให้โจทก์ทั้งสาม คนละ 50,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์คนละ 1,000 บาท

       โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายลับกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น เมื่อจำเลยและนายลับแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง และเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยได้รับไปได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่นายลับยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่านายลับสละมรดก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า เจ้ามรดกยังมีนายลับเป็นคู่สมรส นายลับย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) อีกกึ่งหนึ่งคงตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 4 แปลง และเงินสดให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน จึงชอบแล้ว

เรียบเรียงโดย นาย.ฤทธิกร อ่อนน้อม
สำนักงานทนายความ อธิวัฒน์ ช่อผูก

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin