ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๐
มาตรา ๓๓๐ ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
1. ผู้ที่ถูกหาว่ากระทำความผิด(ผู้กระทำการหมิ่นประมาท) ต้องพิสูจน์ว่า เรื่องที่ตนได้หมิ่นประมาทไปนั้นเป็นความจริง ผู้กระทำการหมิ่นประมาท ไม่ต้องรับโทษ (ยกเว้นโทษให้)
2.ข้อยกเว้น ของข้อยกเว้น คือ ผู้กระทำการหมิ่นประมาท ต้องรับโทษ ได้แก่กรณีที่
2.1 เรื่องที่หมิ่นประมาทเป็นเรื่องส่วนตัว กล่าวคือ ไม่ว่าเรื่องที่หมิ่นประมาทจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ห้ามพิสูจน์ เมื่อห้ามพิสูจน์ดังนี้แล้ว ผู้กระทำการหมิ่นประมาทจึงต้องรับโทษ ในเรื่องนี้กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะไม่ต้องการให้มีการเข้าไปยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลอันก้าวล่วงมิได้ แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า เมื่อมีการหมิ่นประมาทในเรื่องส่วนตัว หากผู้ที่เสียหายพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง คนที่หมิ่นประมาทจึงจะได้รับโทษ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น ขอให้ระลึกไว้เพียงว่า กรณีหมิ่นประมาทที่เป็นเรื่องส่วนตัว ยิ่งจริงก็ยิ่งผิด หรือ จะจริงหรือไม่ก็ผิด ทั้งสิ้น
2.2 การพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน กรณีอาจแบ่งได้เป็น 2 นัย นัยแรกคือ
-ห้ามพิสูจน์เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน หรือ อาจกล่าวได้ว่า หากเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผู้ที่กระทำการหมิ่นประมาทก็สามารถพิสูจน์ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความจริง และตนก็ไม่ต้องรับโทษ(เข้าข้อยกเว้นโทษ) เช่น ลงข่าวว่า นายพล ก ทุจริตในเรื่องการจัดซื้ออาวุธ กรณีนี้เป็นเรื่องที่ หากมีการเปิดเผยและตรวจสอบก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงสามารถพิสูจน์ได้ หรือ
-แต่ถ้าเรื่องที่หมิ่นประมาทนั้นแม้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่การเปิดเผยจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สามารถพิสูจน์ได้ เช่น ประธานาธิบดี ก มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาของตน แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวแต่ผู้นำต้องมีจริยธรรมในการดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี ดังนั้น กรณีนี้อาจถือได้ว่า เป็นเรื่องส่วนตัวแต่การพิสูจน์จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ผู้ที่หมิ่นประมาทจึงสามารถพิสูจน์ว่าเป็นความจริง เพื่อให้ตนได้รับการยกเว้นโทษได้
ข้อเท็จจริงที่จะเป็นหมิ่นประมาทหรือเป็นการใส่ความ
1. ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงคำหยาบหรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ด่าว่าไอ้เหี้ย หรือกล่าวหาเป็นผีปอบ ย่อมไม่ผิดหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 324/2490 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อันถ้อยคำที่บุคคลกล่าวตามภาษาไทยธรรมดานั้น จะมีความหมายอย่างไรคนธรรมดาจะเข้าใจได้ ศาลย่อมรู้ได้เอง คู่ความไม่ต้องนำสืบ เว้นแต่โจทก์จะกล่าวหาว่า ถ้อยคำนั้นมีความหมายเป็นพิเศษ คดีตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องกล่าวถ้อยคำตามธรรมดาสามัญ เมื่อพิเคราะห์คำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า “อ้ายครูกำจร ครูชาติหมา สอนให้เด็กชกต่อยกัน” แล้วเห็นว่า ถ้อยคำที่กล่าวนอกจากเป็นคำหยาบแล้ว มีความหมายเพียงว่า ครูสอนให้เด็กชกกัน ซึ่งคนทั่วไปย่อมไม่เห็นเป็นการใส่ร้ายอย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509 ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการแสดงข้อความให้คนฟังคนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกเกลียดชัง ดูหมิ่น ขึ้นได้ จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ เป็นชาติหมา ความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นอย่างใด และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต้องถือตามความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ได้เห็นได้ฟัง คำกล่าวของจำเลยจึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท
ความผิดฐานดูหมิ่น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ต้องเป็นกล่าวซึ่งหน้าตามมาตรา 393 โจทก์มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ มิใช่กล่าวซึ่งหน้า จึงไม่ผิดฐานดูหมิ่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550
คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า “โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย” ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้นแม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่
2. ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่คลุมเครือ เลื่อนลอย หรือกล่าวด้วยความน้อยใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2490
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในจดหมายของจำเลยหาได้มีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ร้ายปล้น ฉ้อ, ยักยอกดังกล่าวในฟ้องใน และโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ข้อความใด, วรรคใด, ตอนใด, ที่เป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์ และเรื่องนี้มิใช่กล่าวต่อหน้าหรือกล่าวต่อคนสองคน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2506 ถ
้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำ โจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทอง ไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำนั้น เป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอย ไม่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์นิสัยไม่ดีหรือมีความรู้สึกต่ำอย่างไร จึงไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ส่วนที่จำเลยกล่าวอีกว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทองนั้น จำเลยก็มิได้กล่าวถึงกับว่าโจทก์เป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัวและโจทก์ก็มิได้ฟ้องว่าจำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นหนี้เขาถึงขนาดนั้น การที่โจทก์กล่าวว่าจำเลยเป็นหนี้เขามาก ยังใช้ไม่หมด แล้วอวดมั่งมีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงความชั่วร้าย คดโกง ขาดความเชื่อถือไว้วางใจ อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังอย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยยังไม่มีความผิดดังฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426-427/2520
ส่งข่าวไปลงหนังสือพิมพ์ว่า ส. เป็นนายทุนขูดรีดจนถึงขนาดถูกสอบสวนว่าเป็นภัยต่อสังคม เป็นคำกล่าวหมิ่นประมาทและไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ส่วนที่กล่าวว่าเป็น ส.ส. ขบวนการปลาทู เป็นการเปรียบเทียบเลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เป็นหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4425/2545
จำเลยพูดกับชาวบ้านที่เดินผ่านมาว่า “ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง” พร้อมกับชี้มือมาที่โจทก์ คำพูดของจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อความประกอบให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีอาชีพทนายความสกปรกในเรื่องอะไร แม้จะเป็นคำเสียดสีโจทก์ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนคดโกงขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
โจทก์ยอมรับในคำฟ้องฎีกาว่า หากคนธรรมดาพูดเช่นนั้น ก็คงไม่เป็นการหมิ่นประมาท เท่ากับโจทก์เห็นว่าโดยสภาพของถ้อยคำดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น แม้จำเลยผู้พูดจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ทำให้ความหมายของถ้อยคำเปลี่ยนแปลงไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2537
จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อหน้าโจทก์ร่วมและลูกน้องของโจทก์ร่วมว่า”แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ตัดสินปัญหาไม่ได้ พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร.ส.พ.ทำงานกันอย่างนี้หรือ” โดยกล่าวในที่ทำงานของโจทก์ร่วมขณะที่โจทก์ร่วมกำลังปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นการสบประมาทโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมอับอายขายหน้าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ร่วมซึ่งหน้า ตาม ป.อ. มาตรา 393 และเนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเป็นการวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมที่กล่าวต่อโจทก์ร่วมโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
3. ข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีตหรือในปัจจุบัน ไม่ใช่การคาดคะเนหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503
มารดาถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ บุตรไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า ไม่มีใครนอกจากอ้ายแก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย ดังนี้ พฤติการณ์ในคดีแสดงว่าเป็นแต่เพียงคาดคะเนไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2531
จำเลยถาม ป. ว่า มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ให้เลิกเสีย ไม่ได้ยืนยันว่า ป. มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวเช่นนั้นต่อหน้าโจทก์จึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอีกเช่นกัน
การหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม คำว่า “ผู้อื่น” นั้น ต้องทราบว่าหมายถึงใคร แต่ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อคนนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2490
โจทก์บรรยายฟ้องใจความว่า จำเลยได้สมรู้ร่วมคิดกันออกคำสั่งและส่งข้อความทางวิทยุกระจายเสียงถึงคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดไม่ให้เชื่อฟังคำโฆษณาขอเสียงเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นพวกและพรรค “ประชาธิปัตย์” โดยจำเลยกล่าวว่า คำโฆษณาของพวกและพรรคประชาธิปัตย์เป็นการหลอกลวงราษฎรให้หลงเชื่อโจทก์ถือตัวว่าเป็นพวกหรือพรรคประชาธิปัตย์ คำกล่าวในคำสั่งนั้นเล็งถึงโจทก์หรืออาจเล็งถึงโจทก์และกระทบกระเทือนหรืออาจกระทบกระเทือนถึงโจทก์ ขอให้ลงโทษฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ทุจจริต ผิดพระราชบัญญัติเลือกตั้งและหมิ่นประมาท ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีเช่นนี้ต้องพิจารณาถึงข้อหาหมิ่นประมาทอันเป็นมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องก่อน ตามหลักกฏหมายการที่จะเป็นหมิ่นประมาทได้ จะต้องมุ่งต่อบุคคลใดโดยฉะเพาะและโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าตนเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึง ในคดีนี้ คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น กล่าวถึงการกระทำของบุคคลบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีข้อความอันใดที่กล่าวว่าเป็นการกระทำของโจทก์ทั้งไม่มีเหตุอะไรที่จะแสดงว่า เป็นการกล่าวเพ่งเล็งถึงโจทก์ซึ่งโจทก์ควรเป็นเจ้าของคดี ในฟ้องของโจทก์ก็มิได้ยืนยันว่าข้อความในคำสั่งนั้นเป็นการกล่าวโดยมุ่งหมายถึงโจทก์ การกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและไม่พอใจนั้นจะนับว่าเป็นผู้เสียหายยังไม่ได้ ส่วนข้อหาว่าละเมิดกฏหมายอื่นก็มิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายดุจกัน จึงพิพากษายืน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2522
จำเลยกล่าวถ้อยคำถึงราษฎร 2 อำเภอ ที่อพยพมาอยู่รวมกันในหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนประมาณ 4,000 คน ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนี้ คนธรรมดาสามัญย่อมไม่เข้าใจว่าเป็นการกล่าวพาดพิงหรือใส่ความบุคคลใด เพียงแต่โจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่รวมอยู่ในจำนวนคนเหล่านั้น จะว่าจำเลยใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยตรงหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เป็นผู้เสียหาย อันจะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2489
ได้ความว่า จำเลยได้กล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนในงานวัดญาโนทัยว่า “พระวัดนี้ดูหนัง พระวัดนี้เลวมากดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้างฯลฯ” ปรากฎว่าพระวัดที่กล่าวนี้มีอยู่ 5 รูป พระภิกษุแดงซึ่งเป็นพระอยู่ในวัดนี้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระภิกษุในวัดนั้นทุกรูป และพระในวัดนั้นก็มีอยู่เพียง 6 รูป พระภิกษุแดงย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้ เพราะเป็นผู้เสียหายด้วยผู้หนึ่ง ส่วนผู้เสียหายอื่นๆ จะไม่ร้องทุกข์ก็แล้วแต่ท่าน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลย