การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

พระราชบัญญัติล้มละลายฯ
มาตรา 27 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม”
มาตรา 28 “เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ  ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
ในคำโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย”
มาตรา 91 “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือนคำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของ ลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้”

มื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายเอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่ง หรือเจ้าหนี้ที่ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ฟ้องคดีแพ่งก็ตาม หากต้องการขอรับชำระหนี้ จะต้องปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91 คือ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขยายให้สำหรับเจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขยายกำหนดเวลาให้ได้ไม่เกิน 2 เดือน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2548/2536   จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว ต่อมาจำเลยถูกฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แม้โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก็ตามก็ไม่เป็นเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดีนั้นได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งแต่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจากจำเลยอีกต่อไปตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ อายัดเงินของจำเลยไปยังบุคคลภายนอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4667/2549  เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งดังกล่าว ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ตามมาตรา 27 และมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตรวจคำขอรับชำระหนี้ และสอบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วเสนอความเห็นต่อศาล ศาลมีอำนาจพิจารณามีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือยกคำร้องขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 106, 107 เจ้าหนี้จะดำเนินการแจ้งการประเมินตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ เพื่อเรียกให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หาใดไม่
          อย่างไรก็ตาม การขอรับชำระหนี้ที่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ตามมาตรา 91 นั้นหมายถึงหนี้เงินเท่านั้น แต่ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ใช่หนี้เงิน เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2509   เดิมผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยกับพวกขอให้โอนที่ดิน 1 แปลงให้ผู้ร้อง คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้ผู้ร้อง และให้ผู้ร้องจ่ายเงินให้จำเลยจำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยถูกโจทก์ฟ้องและศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องจึงร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำพิพากษาแทนผู้ล้มละลาย ดังนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะปฏิเสธต้องปฏิเสธภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่ทราบตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 122 ถ้าปฏิเสธเกินกำหนดหรือไม่ปฏิเสธเลย ก็ต้องผูกพันตามภาระนั้น และโดยที่มาตรา 22(1) ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการตามที่จำเป็นเพื่อให้กิจการที่ค้างอยู่เสร็จไป ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำบังคับในคดีที่ผู้ร้องชนะความนั้นได้ 
          การขอรับชำระหนี้เป็นเรื่องขอรับเงิน และผู้ขอจะได้รับชำระหนี้เงินตามส่วนเฉลี่ยจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ ฉะนั้น จะนำมาใช้แก่กรณีในเรื่องโอนที่ดินตามคำพิพากษามิได้

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า