การเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากคู่สมรสอีกฝ่าย ต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายถูกเรียกเป็นฝ่ายผิด อีกฝ่ายจึงสามารถเรียกร้องได้ โดยขณะที่อยู่ร่วมกันตลอดมานั้น ฝ่ายเรียกร้องมิได้ประกอบอาชีพ จำเป็นต้องอาศัยอีกฝ่ายอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งการหย่าทำให้ต้องขาดไร้อุปการะจากปกติ จึงทำให้ยากจนลง อีกฝ่ายจึงต้องรับผิดชอบในส่วนนี้
ฉะนั้น กรณีคู่สมรสสมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี แม้เป็นเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายได้ แต่ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
ส่วนฝ่ายที่เรียกร้องนั้นต้องมีฐานะที่แย่กว่า ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องด้วย
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4685/2540
มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่งเท่านั้น เมื่อการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยืดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1589/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง จะบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ แต่กรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ดังกล่าว
กฎหมายมิได้กำหนดให้ดูความเปลี่ยนแปลงของฐานะของคู่กรณีแต่เฉพาะทรัพย์ที่มีขึ้นภายหลังการหย่า จึงต้องคำนึงถึงทรัพย์สินทุกชนิดที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีอยู่ขณะที่พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลง เมื่อโจทก์ยังมีที่ดินเนื้อที่ 80 ตารางวา พร้อมบ้านสองชั้นมีราคาสูงกว่า 700,000 บาท ส่วนจำเลยมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจำนวนเดือนละ 15,380 บาท มีภริยาและบุตรอายุ 13 ปี ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาอีก 1 คน นอกจากนี้ยังเป็นหนี้สหกรณ์ 120,000 บาท โดยไม่มีทรัพย์สินใดๆ เป็นของตนเอง หากจำเลยต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือน เป็นเงินเดือนละ 5,383 บาท จำเลยจะเหลือเงินที่ใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท และเหลือเวลารับราชการอีกเพียง 4 ปี
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบฐานะของโจทก์กับจำเลยแล้วเห็นได้ว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ จึงถึงเวลาสมควรที่จะสั่งให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์แล้ว