ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท วรรคสอง ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
เมื่อบุคคลใดตายกองมรดกย่อมตกแก่ทายาททันทีตามกฎหมายไทยนั้นเมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกแก่ทายาท ไม่ว่าการตายนั้นจะตายโดยธรรมชาติหรือตายโดยผลของกฎหมาย(สาบสูญ) ส่วนกองมรดกนั้นได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดที่ผู้ตายมีอยู่ “ก่อน” ถึงแก่ความตาย ตลอดจนทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดอื่นๆที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตายด้วยเช่นกัน เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และความรับผิดนั้นจะเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ตัวอย่างเช่น ความรับผิดทางอาญา หรือความเป็นนายจ้างลูกจ้าง เป็นต้นดังนั้นหากเป็นทรัพย์สินที่ได้มา “หลัง” เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่ได้มานั้นไม่ถือเป็นมรดกไม่จำต้องแบ่งให้แก่ทายาท เช่น เงินที่ได้จากการประกันชีวิต หรือเงินค่าทำศพที่ได้จากองค์กรต่างๆ เป็นต้น ในกรณีนี้ทายาทไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันชีวิตได้ในฐานะที่เป็นทรัพย์มรดก
ส่วนบุคคลใดจะได้เงินจากประกันชีวิตนั้นย่อมเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ทายาทตามกฎหมายมีอยู่ 2 ประเภททายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ “ผู้รับพินัยกรรม” และ “ทายาทโดยธรรม”ผู้รับพินัยกรรมสิทธิของผู้รับพินัยกรรมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ก่อนตายเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เว้นเสียแต่ว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นตกเป็นอันไร้ผลตามกฎหมาย เช่น ผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ต้องปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมนั้นสู่กองมรดกเพื่อแจกจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไป และบุคคลที่เคยมีชื่อเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมก็มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้เช่นกันทายาทโดยธรรมสิทธิของทายาทโดยธรรมในการรับมรดกนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ตายตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำไว้แต่พินัยกรรมนั้นไร้ผลตามที่กล่าวมาข้างต้น และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นมีสภาพบุคคล คือ เกิดเป็นทารกแล้วในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนกรณีของทารกในครรภ์มารดาก็อาจเป็นทายาทโดยธรรมได้ หากภายหลังได้คลอดเป็นทารกภายใน 310 วัน นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมนั้นต้องแบ่งตามลำดับชั้นดังต่อไปนี้
1 ผู้สืบสันดาน คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย, บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
2 บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก
3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4 พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน หรือที่เรามักเรียกกันว่า “พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่” นั่นแหละ
5 ปู่ ย่า ตา ยาย
6 ลุง ป้า น้า อา