ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๙
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มรดกที่ไม่มีพินัยกรรม ตกแก่ใครบ้าง เอกสารที่ใช้ประกอบการขอรับมรดก
เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ทันทีที่ตาย ทายาทโดยธรรมนั้นมี 6 ลำดับ
1. ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ
2.บิดามารดา
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
5.ปู่ ย่า ตา ยาย
6.ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทโดยธรรม
การแบ่งมรดกในลำดับชั้นต่าง ๆ
-ถ้าเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมหลายลำดับ ทายาทในลำดับต้นจะได้รับมรดกไปก่อน ทายาทในลำดับรองลงมาไม่มีสิทธิได้รับมรดก
ยกเว้นกรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทลำดับที่ 1 หรือทายาทลำดับที่ 1 ตายแต่มีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้ว และบิดาหรือมารดาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 2 ยังมีชีวิตอยู่ บิดาหรือมารดาจะได้รับมรดกเหมือนเป็นทายาทชั้นบุตร(สรุปย่อ ถ้าบุตรและบิดาหรือมารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ บิดาหรือมารดามีสิทธิ์รับมรดก)
การรับมรดกแทนที่
-ถ้าทายาทลำดับที่ 1 , 3 , 4 หรือ 6 ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย ให้ผู้สืบสันดานของทายาทนั้นรับมรดกแทนที่ หากผู้สืบสันดานตายเช่นเดียวกันก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ สืบต่อกันเช่นนี้จนหมดสาย
-ถ้าทายาทลำดับที่ 2 หรือลำดับที่ 5 ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป