อายุความคดีจ้างทำของ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ❯ มาตรา 193/34

มาตรา 193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(2) ผู้ประกอบเกษตรกรรมหรือการป่าไม้ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบอันเป็นผลิตผลทางเกษตรหรือป่าไม้ เฉพาะที่ใช้สอยในบ้านเรือนของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(3) ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(4) ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือหอพัก ผู้ประกอบธุรกิจในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือผู้ประกอบธุรกิจสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเรียกเอาค่าที่พัก อาหารหรือเครื่องดื่ม ค่าบริการหรือค่าการงานที่ได้ทำให้แก่ผู้มาพักหรือใช้บริการ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(5) ผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือสลากที่คล้ายคลึงกัน เรียกเอาค่าขายสลาก เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อ
(6) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า
(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(8) ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(10) ครูสอนผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าฝึกสอนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่ได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(11) เจ้าของสถานศึกษาหรือสถานพยาบาล เรียกเอาค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(12) ผู้รับคนไว้เพื่อการบำรุงเลี้ยงดูหรือฝึกสอน เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(13) ผู้รับเลี้ยงหรือฝึกสอนสัตว์ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(14) ครูหรืออาจารย์ เรียกเอาค่าสอน
(15) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(16) ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือคู่ความเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(17) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานดังกล่าวเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

ความหมายของสัญญาจ้างทำของสัญญาว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นสาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของ มีดังนี้
1. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทนกล่าวคือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างดังกล่าวอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน
2. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญกล่าวคือ วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ “ผลสำเร็จของงาน” ไม่ใช่ต้องการ เฉพาะแต่แรงงานของผู้รับจ้างเท่านั้น เช่น จ้างก่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ติดกระจก ซ่อมหลังคาบ้าน จ้างตัดเสื้อผ้า หรือจ้างว่าความ เมื่อไม่ใช่การจ้างแรงงาน นายจ้างจึงไม่ต้อง รับผิดร่วมกับลูกจ้างใน ผลแห่งการละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้รับจ้างจึงมีอิสระในการทำงาน มากกว่าลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุม บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงาน หรือบงการผู้รับจ้าง
3. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบกล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจากสามารถ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552

สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้มิได้มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้ต้องทวงถามลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้เสียก่อนแต่ประการใด จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์อันจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเสียก่อน และเมื่อระยะเวลาที่ได้ทวงถามนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วจึงได้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13
โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างจากจำเลยทั้งสามได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยทั้งสามรับมอบการงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการตกลงว่าจ้างกันด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 มิใช่ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ให้เวลาจำเลยทั้งสามชำระหนี้หลังจากที่จำเลยทั้งสามรับทราบการกำหนดราคาหรือประเมินค่าจ้างจากโจทก์ เพราะหากกรณีเป็นดังที่โจทก์ต่อสู้แล้วก็เท่ากับโจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปหรืออีกนัยหนึ่งคืออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องได้ด้วยตนเองตามอำเภอใจนั่นเอง และตราบใดที่โจทก์ยังไม่ประสงค์ที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม โจทก์ก็ยังไม่ต้องส่งหนังสือทวงถามหรือไม่ต้องส่งหนังสือแจ้งการกำหนดราคาค่าจ้างไปให้ฝ่ายผู้ว่าจ้างทราบ
การกระทำเช่นนี้ย่อมขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีตามที่โจทก์อ้างก็เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติที่ทางราชการอนุโลมหรือผ่อนผันให้ใช้กับงานจ้างของหน่วยงานราชการ ไม่มีผลไปยกเว้นหรือยกเลิกหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ต้องใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอภาคแต่ประการใด ข้อโต้แย้งของโจทก์นี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เอกสารการส่งมอบและรับสินค้า ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามตกลงหรือขอให้โจทก์หักหนี้ค่าจ้างที่จำเลยทั้งสามค้างชำระกับหนี้สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยทั้งสาม กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ส่วนใบเซ็นรับเอกสารการประมาณการค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารไว้นั้น ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุหรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามที่โจทก์อ้าง
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากสงสัยที่แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีตามที่โจทก์อ้างจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และการรับสภาพหนี้จะต้องเป็นการกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ตั้งแต่จำเลยทั้งสามรับมอบงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จ้างทำของทั้ง 3 รายการของโจทก์จึงขาดอายุความ

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า