การสั่งจ่ายเช็ค คือ การที่บุคคลใดลงลายมือชื่อในตราสารที่มีลักษณะเป็นเช็ค โดยมีสาระสำคัญเป็นการสั่งให้ธนาคารแห่งหนึ่งจ่ายเงินให้แก่บุคคลคนหนึ่งตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คนั้น ณ วันที่ระบุในเช็ค เพื่อเป็นการชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้นั้นตามกฎหมายเรียกว่าผู้ออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คว่า “ผู้สั่งจ่ายเช็ค” และเรียกบุคคลที่รับเช็คหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้นว่า “ผู้ทรงเช็ค” และผู้ทรงเช็คสามารถโอนเช็คนั้นให้บุคคลที่ 3 หรือที่ 4 หรือบุคคลต่อๆ ไปได้จนถึงผู้รับเช็คคนสุดท้าย ซึ่งบุคคลผู้นั้น
ก็คือผู้ทรงเช็ค เมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดตามที่ระบุในเช็ค ผู้ทรงเช็คก็มีสิทธินำเช็คนั้นไปขึ้นเงินหรือเรียกเก็บเงินจากธนาคารที่ระบุในเช็คนั้น ถ้าธนาคารนั้นปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ว่าด้วยเหตุใดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ผู้สั่งจ่ายเช็คก็ต้องรับผิดในทางแพ่งต้องชดใช้เงินตามจำนวนที่ระบุในเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็ค มิฉะนั้นผู้ทรงเช็คก็มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คหรือผู้ออกเช็คให้รับผิดทางแพ่งเพื่อขอให้ศาลบังคับให้ผู้สั่งจ่ายเช็คชดใช้เงินตามจำนวนที่ระบุในเช็ค มิฉะนั้นก็ขอให้บังคับยึดทรัพย์สินของผู้สั่งจ่ายเช็คขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ทรงเช็ค ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง และเป็นไปตามกฎหมายแพ่ง
ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่อง หมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องเช็ค ในส่วนของความรับผิดทางอาญาการออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็ค แล้วต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวนั้น นอกจากผู้สั่งจ่ายจะต้องรับผิดทางแพ่งแล้วผู้สั่งจ่ายยังอาจมีความผิดทางอาญาด้วย ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราช
บัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ