ความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน มาตรา 144
มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2547 การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้กระทำผิดมีหน้าที่ต้องเบิกความต่อศาลตามความสัจจริงในระหว่างเป็นพยานในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกฟ้อง เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่ หน้าที่ที่ต้องเบิกความตามความสัจจริงจึงไม่เป็นการกระทำการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ แม้จำเลยจะให้และรับว่าจะให้เงินแก่ร้อยตำรวจโท ท. กับพวก เพื่อจูงใจเจ้าพนักงานดังกล่าวเบิกความผิดไปจากความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2506 ความผิดฐานให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 จะต้องเป็นเรื่องให้หรือขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นเอง การที่จำเลยให้เงินกำนันเพื่อให้กำนันช่วยเหลือไปติดต่อกับเจ้าพนักงานอำเภอหรือพนักงานสอบสวนให้กระทำการให้คดีของจำเลยเสร็จไปในชั้นอำเภออย่าให้ต้องถึงฟ้องศาลเนื่องจากกำนันรายงานกล่าวโทษจำเลยไปอำเภอและอำเภอเรียกพยานทำการสอบสวนไปแล้วดังนี้ เป็นการพ้นอำนาจหน้าที่ของกำนันแล้วจำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2529 ข้อความในจดหมายที่จำเลยเขียนถึงบ.พนักงานสอบสวนมีลักษณะขอร้องให้บ.ช่วยเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปในชั้นสถานีตำรวจโดยไม่ต้องให้คดีถึงศาลเท่านั้น เพื่อทั้งฝ่ายผู้ต้องหาและฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจจะได้ไม่เสียเวลาและเป็นการประหยัดเพราะจำเลยมีความเห็นว่าไม่ว่าจะชั้นศาลหรือชั้นสถานีตำรวจก็ถูกลงโทษปรับเหมือนกัน จึงไม่พอแปลความหมายได้ว่าจำเลยขอให้หรือรับว่าจะให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บ.เพื่อจูงใจไม่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาดังกล่าว อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144,167
ฎีกาที่ 2221/2519 จำเลยเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเมืองทองการก่อสร้าง จำกัด ได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท แก่นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารในเขตเทศบาล เพื่อจูงใจให้นายกเทศมนตรีอนุมัติให้จำเลยปลูกสร้างอาคารโดยเร็ว ทั้งที่เรื่องราวหลักฐานการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารยังไม่เรียบร้อยพอที่จะอนุญาตได้ อันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144
ฎีกาที่ 3096/2552 จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจ ช. เพื่อขอให้ช่วยเหลือ พ. กับพวก โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีแมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเสนอให้เงิน 70,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ ช. ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อพันตำรวจตรี ต. ผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจ ช. ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจช.และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้นำเงินมอบให้ และจับกุมได้พร้อมเงินของกลาง จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ ช. และพันตำรวจตรี ต. เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144โจทก์ฟ้องว่า ดาบตำรวจ ช. ได้จับกุม พ. กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการปล่อยตัว พ. กับพวกซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
แต่ในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสองกระทำการเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ ช. ดำเนินการช่วยเหลือพ.กับพวกโดยเปลี่ยนข้อหาให้เบาลง ก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ปล่อยตัวหรือเปลี่ยนข้อหาก็ล้วนแต่เป็นการจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 เช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง