ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘
มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า “พราก” มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5989/2548
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 หมายความว่า ผู้กระทำความผิดได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดาหรือต่อผู้ปกครองหรือต่อผู้ดูแลของผู้เยาว์ คดีนี้บิดาของผู้เสียหายมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาผู้เสียหายจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่บิดาและมารดาของผู้เสียหายได้เลิกร้างกันมานานถึง 17 ปี โดยผู้เสียหายอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามาตลอด บิดาของผู้เสียหายจึงเป็นผู้ปกครองผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากผู้ปกครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8052/2549
ก่อนเกิดเหตุเด็กหญิง ท. ทะเลาะกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาและหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพัก โจทก์ร่วมยังเคยไปตามหาเด็กหญิง ท. ที่หอพักดังกล่าว แต่ไม่พบ บิดามารดายังเอาใจใส่ติดตามตัวอยู่ พฤติการณ์บ่งชี้แสดงให้เห็นว่าเด็กหญิง ท. ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ดังนั้นการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิง ท. ที่หอพักแล้วพาไปนั่งรถเล่นกับพาไปนั่งฟังเพลงต่อที่ห้องพักของเพื่อนจำเลย และขณะอยู่ในห้องพักจำเลยได้กอดจูบเด็กหญิง ท. จึงเป็นการพาเด็กหญิง ท. ออกจากหอพักไปเที่ยวเล่นโดยเจตนามุ่งหมายที่จะล่วงเกินทางเพศหรือกระทำอนาจารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดามารดา ย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ของบิดามารดาได้ถูกพรากจากไปโดยปริยาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมววลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517
บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2555
ผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยโดยจำเลยไม่ได้ชักชวนมา เพียงผู้เสียหายแวะมาซื้อขนมและมาเล่นเอง แต่จำเลยเป็นผู้พาผู้เสียหายเข้าไปในห้องนอนซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างแล้วกระทำอนาจารผู้เสียหาย ดังนั้น แม้จำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายในบ้านของจำเลยขณะนั้นก็ถือได้ว่าผู้เสียหายยังอยู่ในความปกครองดูแลของ บ. ผู้เป็นยาย การกระทำของจำเลยย่อมกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของ บ. เพราะแยกสิทธิปกครองของ บ. ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2554
ความผิดฐานพรากเด็กตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคหนึ่งนั้น เป็นการกระทำต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก จำเลยที่ 1 รู้ดีว่าผู้เสียหายยังเป็นเด็กอยู่และไม่สามารถตัดสินใจอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตคู่ ในกรณีนี้สมควรได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากมารดาหรือยายของผู้เสียหายก่อน ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่ามารดาและยายของผู้เสียหายมิได้อนุญาตหรือให้ความยินยอม ประกอบกับผู้เสียหายยังไม่สามารถทำการสมรสได้ตามกฎหมายเว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตอีกด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายไปอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยผู้เสียหายสมัครใจนั้น จึงเป็นการกระทำต่ออำนาจปกครองของมารดาและยายของผู้เสียหายโดยตรงและไม่มีเหตุอันสมควรกระทำได้โดยผลของการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากมารดาหรือผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคหนึ่ง