อายุความบัตรเครดิต

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ❯ มาตรา 193/34

มาตรา 193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(2) ผู้ประกอบเกษตรกรรมหรือการป่าไม้ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบอันเป็นผลิตผลทางเกษตรหรือป่าไม้ เฉพาะที่ใช้สอยในบ้านเรือนของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(3) ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(4) ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือหอพัก ผู้ประกอบธุรกิจในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือผู้ประกอบธุรกิจสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเรียกเอาค่าที่พัก อาหารหรือเครื่องดื่ม ค่าบริการหรือค่าการงานที่ได้ทำให้แก่ผู้มาพักหรือใช้บริการ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(5) ผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือสลากที่คล้ายคลึงกัน เรียกเอาค่าขายสลาก เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อ
(6) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า
(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(8) ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(10) ครูสอนผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าฝึกสอนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่ได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(11) เจ้าของสถานศึกษาหรือสถานพยาบาล เรียกเอาค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(12) ผู้รับคนไว้เพื่อการบำรุงเลี้ยงดูหรือฝึกสอน เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(13) ผู้รับเลี้ยงหรือฝึกสอนสัตว์ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(14) ครูหรืออาจารย์ เรียกเอาค่าสอน
(15) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(16) ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือคู่ความเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(17) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานดังกล่าวเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

อายุความ
บัตรเครดิตทั่วไป มีอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่ผิดนัดชำระหนี้งวดสุดท้าย กล่าวคือ วันครบกำหนดชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2547
จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 และชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ซึ่งตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2539 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ทั้งหมดทันที โดยไม่ต้องมีการทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป
จำเลยที่ 2 ใช้บัตรเสริมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2540 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่จำต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน อายุความสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเริ่มนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป
โจทก์มีวัตถุประสงค์ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยออกบัตรให้แก่สมาชิก แล้วสมาชิกสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตร โดยไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด โจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง ซึ่งโจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป จึงมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วม มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกัน ศาลจึงพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2550
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โจทก์ทำสัญญาให้สินเชื่อแก่จำเลยโดยให้จำเลยสมัครเป็นสมาชิก โจทก์เป็นผู้กำหนดวงเงินสินเชื่อซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของโจทก์ โจทก์ออกบัตรเครดิตพร้อมกำหนดรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อสามารถนำไปถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ได้ตามความต้องการของจำเลยภายใต้วงเงินที่โจทก์กำหนดให้ สัญญาดังกล่าวมีกำหนดเวลา 1 ปี โดยโจทก์คิดค่าธรรมเนียมจากจำเลยปีละ 500 บาท หากมีการต่อสัญญาออกไปจำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีในอัตราเดียวกันทุกปี การใช้สินเชื่อดังกล่าวจำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 26 ต่อปี และต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่โจทก์ออกใบแจ้งยอดบัญชีส่งให้จำเลยในแต่ละเดือน
แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ได้ความว่าจำเลยสามารถนำบัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ดังกล่าวไปซื้อสินค้าหรือบริการแทนเงินสดได้โดยตรงก็ตาม แต่ลักษณะที่โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์อำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยในการถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติได้ตามความต้องการของจำเลยโดยโจทก์เป็นผู้ควบคุมวงเงินที่จำเลยจะเบิกถอนได้ และคิดค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการดังกล่าวเป็นรายปีจากการที่จำเลยสมัครเป็นสมาชิกของโจทก์เพื่อใช้บริการสินเชื่อในลักษณะนี้ จึงมีลักษณะที่โจทก์ทดรองจ่ายเงินสดให้แก่จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกเพื่อให้จำเลยสามารถเบิกเงินสดได้ตามเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการของจำเลยเองเช่นกัน โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ ให้สมาชิก
การที่โจทก์ให้สมาชิกนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติได้แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีนี้จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) จำเลยใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 และต้องชำระเงินให้โจทก์ภายในวันที่ 7 เมษายน 2542 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงตั้งต้นนับแต่นั้น เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2545 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

แชร์ข้อมูลได้ที่นี่
Share on Facebook
Facebook
0Pin on Pinterest
Pinterest
0Tweet about this on Twitter
Twitter
Share on LinkedIn
Linkedin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า